โรคมะเร็งช่องคลอด (Vaginal cancer)

เผยแพร่ครั้งแรก 23 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 12 นาที
โรคมะเร็งช่องคลอด (Vaginal cancer)

หากเซลล์ภายในช่องคลอดเกิดการแบ่งตัวผิดปกติ และไม่สามารถควบคุมได้จะเรียกว่า โรคมะเร็งช่องคลอด โรคดังกล่าวมักทำให้เกิดเลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติ เช่น เลือดออกในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์

บทนำ

โรคมะเร็งช่องคลอด (Vaginal cancer) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบได้ยากโดยเริ่มต้นเป็นมะเร็งจากเซลล์ภายในช่องคลอด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิงวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 495 บาท ลดสูงสุด 79%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

มะเร็งที่เริ่มเกิดขึ้นในช่องคลอดเป็นแห่งแรกจะเรียกว่ามะเร็งช่องคลอดปฐมภูมิ (Primary vaginal cancer) ส่วนมะเร็งที่เริ่มเป็นในส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ปากมดลูก มดลูก หรือรังไข่แล้วเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังช่องคลอดเรียกว่าเป็น มะเร็งช่องคลอดทุติยภูมิ (Secondary vaginal cancer)

บทความนี้จะกล่าวถึงมะเร็งช่องคลอดปฐมภูมิเป็นหลักซึ่งจะมีบทความแยกต่างหากเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งมดลูกต่อไปในบทความอื่น

อาการและอาการแสดงของโรคมะเร็งช่องคลอด

อาการที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคมะเร็งช่องคลอด คือ เลือดออกอย่างผิดปกติจากช่องคลอด ได้แก่:

  • มีเลือดออกในช่วงระหว่างรอบเดือน หรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงวัยหมดประจำเดือน (Post-menopausal bleeding)

อาการอื่น ๆ นั้นได้แก่:

  • มีของเหลวกลิ่นเหม็นหรือคาวเลือดออกมาทางช่องคลอด
  • เกิดความเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • เกิดความเจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ
  • ต้องปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
  • พบเลือดปนในปัสสาวะของคุณ
  • อาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • คันหรือพบก้อนเนื้อในบริเวณช่องคลอดของคุณ

ให้เข้าพบแพทย์ประจำตัวของคุณโดยด่วน หากพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของช่วงรอบเดือน เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือประจำเดือนมามากกว่าปกติ หรือปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ

แม้ว่าจะมีอาการเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากโรคมะเร็งช่องคลอดก็ตาม แต่ก็ควรได้รับการตรวจสอบให้ชัดเจนจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำการรักษาสาเหตุอย่างเหมาะสม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สาเหตุของโรคมะเร็งช่องคลอด

สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งในช่องคลอดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งช่องคลอด ได้แก่

  • การติดเชื้อ Human papilloma virus (HPV) ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
  • อายุที่มากขึ้น - 7 คนจาก 10 คนที่เป็นโรคมะเร็งช่องคลอดมีอายุเกิน 60 ปี แม้ว่าจะมีโรคมะเร็งช่องคลอดบางประเภทที่พบได้ยาก สามารถส่งผลกระทบต่อหญิงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นได้เช่นกัน
  • ประวัติเคยเป็นภาวะเซลล์เยื่อบุผิวช่องคลอดเจริญผิดปกติ (Vaginal intraepithelial neoplasia: VAIN) หรือภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ (Cervical intraepithelial neoplasia: CIN) - เซลล์ที่ผิดปกติดังกล่าวในช่องคลอดหรือปากมดลูกอาจพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

เนื่องจากโรคนี้มีความสัมพันธ์กับเชื้อไวรัส HPV ดังนั้น จึงสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องคลอดได้โดยการมีเพศสัมพันธ์อย่างป้องกันและปลอดภัย

การฉีดวัคซีน HPV สามารถช่วยป้องกัน HPV 2 สายพันธุ์ ซึ่งสัมพันธ์กับสาเหตุในกรณีส่วนใหญ่ของมะเร็งช่องคลอดและมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน

การรักษามะเร็งช่องคลอด

การรักษามะเร็งช่องคลอดขึ้นอยู่กับว่าส่วนใดของช่องคลอดของคุณที่ได้รับผลกระทบ และระยะแพร่กระจายของมะเร็งดังกล่าวรุนแรงเท่าใด

ทางเลือกการรักษาหลักสำหรับโรคมะเร็งช่องคลอด ได้แก่:

  • การฉายรังสีรักษา - โดยใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
  • การผ่าตัด - เพื่อขจัดเซลล์มะเร็ง
  • เคมีบำบัด - ใช้ยาในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งมักใช้ร่วมกับรังสีรักษา

การรักษาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทั้งระยะสั้นและระยะยาว คุณควรปรึกษากับทีมดูแลโรคมะเร็งของคุณก่อนเริ่มการรักษา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

พยากรณ์โรคมะเร็งช่องคลอด

โอกาสของการรักษามะเร็งช่องคลอดให้หายขาดขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะของโรคมะเร็งขณะได้รับวินิจฉัย อายุ และสุขภาพโดยทั่วไปของคุณ

โดยรวมแล้ว ประมาณ 6 ในทุก 10 รายที่เป็นโรคมะเร็งช่องคลอดจะมีชีวิตอยู่อย่างน้อย 5 ปีหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค

สาเหตุของโรคมะเร็งช่องคลอด

โรคมะเร็งเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ในบริเวณร่างกายของคุณแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนมากเกินไปจนไม่สามารถควบคุมได้ ก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นรู้จักกันในชื่อว่าเนื้องอก

เหตุผลว่าทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยบางอย่างอาจเพิ่มโอกาสในการพัฒนาโรคมะเร็งให้เกิดขึ้นได้

การติดเชื้อ Human papilloma virus (HPV)

Human papilloma virus เป็นชื่อของกลุ่มไวรัสที่มีผลกระทบต่อเซลล์ผิวหนังและเยื่อบุผิวที่ชุ่มชื้นเช่นเดียวกับที่พบในปาก ปากมดลูก ทวารหนัก คอหอยและลำคอ เชื้อไวรัส HPV สามารถติดต่อกันได้ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางช่องคลอด ทางทวารหนักและทางช่องปาก

เชื้อไวรัส HPV มีหลายประเภท และมีคนทั่วไปอย่างน้อย 8 ใน 10 คนติดเชื้อไวรัสดังกล่าวชนิดใดชนิดหนึ่งในช่วงชีวิตหนึ่งของพวกเขา ในกรณีส่วนใหญ่ ไวรัสจะหายไปได้เองโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ และไม่ทำให้เกิดมะเร็งในช่องคลอด

อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัส HPV พบในผู้ป่วยหญิงที่เป็นโรคมะเร็งช่องคลอดสูงถึงสองในสาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวบางสายพันธุ์สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งช่องคลอดได้

เชื้อไวรัส HPV เป็นที่รู้จักกันดีว่าสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเซลล์เยื่อบุปากมดลูก ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก และคาดว่าไวรัสดังกล่าวอาจส่งผลเช่นเดียวกันกับเซลล์เยื่อบุผิวช่องคลอดเช่นเดียวกัน

เซลล์ผิดปกติในปากมดลูกหรือช่องคลอด

คุณมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมะเร็งในช่องคลอดมากขึ้น หากพบว่าคุณมีเซลล์ผิดปกติใน:

  • ปากมดลูก - เรียกว่าภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ (Cervical intraepithelial neoplasia: CIN)
  • ช่องคลอด - เรียกว่าภาวะเซลล์ช่องคลอดเจริญผิดปกติ (Neoplasia intraepithelial neoplasia: VAIN)

CIN และ VAIN เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในการอธิบายถึงการพบเซลล์ที่มีความผิดปกติ แต่ไม่รุนแรงมากพอที่จะถือว่าเป็นเซลล์มะเร็ง ภาวะทั้งสองนั้นมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการติดเชื้อไวรัส HPV ซ้ำ ๆ

โดยทั่วไป เซลล์ผิดปกติมักไม่ทำให้เกิดปัญหาใด ๆ และอาจถูกตรวจพบได้เฉพาะช่วงระหว่างการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แต่หากภาวะเซลล์ผิดปกติดังกล่าวไม่ได้รับการรักษาก็มีโอกาสเล็กน้อยที่จะพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

หากคุณพบว่ามีภาวะ CIN หรือ VAIN อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด หรือกระบวนการในการกำจัดหรือทำลายเซลล์ที่ผิดปกติเพื่อป้องกันโรคในอนาคต

ยา Diethylstilbestrol

ยาชื่อว่า diethylstilbestrol เป็นที่รู้จักกันดีว่าสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งช่องคลอด ยาดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในการใช้ในสตรีตั้งครรภ์ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2514 เพราะแพทย์ในสมัยนั้นคิดว่ายาดังกล่าวสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการแท้งบุตรได้

อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ.2514 นักวิจัยพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างยา diethylstilbestrol กับโรคมะเร็งในเด็กผู้หญิงที่ได้รับยาดังกล่าว การใช้ diethylstilbestrol ในหญิงตั้งครรภ์จึงถูกจำกัดการใช้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งช่องคลอดที่สัมพันธ์กับยา diethylstilbestrol มีน้อยมากและกว่า 40 ปีแล้วที่ยาดังกล่าวถูกห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้น กรณีของโรคมะเร็งช่องคลอดที่สัมพันธ์กับยาดังกล่าวจึงพบได้ยากมาก

ปัจจัยที่เป็นไปได้อื่น ๆ

ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งช่องคลอด ได้แก่ :

  • อายุของคุณ - 7 ใน 10 รายของผู้ป่วยมะเร็งในช่องคลอดเกิดขึ้นในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 60 ปี และพบโรคดังกล่าวน้อยมากในสตรีอายุต่ำกว่า 40 ปี
  • มีประวัติเกี่ยวกับโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์อื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งปากมดลูกหรือโรคมะเร็งปากช่องคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีรักษาร่วมด้วย
  • การสูบบุหรี่
  • การติดเชื้อเอชไอวี

การวินิจฉัยโรคมะเร็งช่องคลอด

เพื่อประกอบการตัดสินใจวินิจฉัยโรคมะเร็งช่องคลอด แพทย์ประจำตัวของคุณจะซักถามคุณเกี่ยวกับอาการของคุณ และอาจทำการตรวจร่างกายเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังอาจแนะนำให้คุณตรวจเลือดเพื่อขจัดสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ของอาการของคุณออกไป เช่น การติดเชื้อ

 

หากแพทย์ประจำตัวของคุณไม่สามารถคาดหาสาเหตุของอาการของคุณได้อย่างแน่ชัด พวกเขาอาจจะแนะนำให้คุณไปหาสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจทดสอบต่อไป สูตินรีแพทย์เป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

หากแพทย์ประจำตัวคุณแจ้งว่าคุณอาจเป็นโรคมะเร็งช่องคลอด ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่ออย่างเร่งด่วนภายใน 2 สัปดาห์

การเข้าพบสูตินรีแพทย์

หากคุณถูกส่งตัวไปสูสูตินรีแพทย์คุณอาจได้รับการตรวจเพิ่มเติมดังนี้:

  • การตรวจช่องคลอดทั้งลักษณะภายนอกและลักษณะภายในเพื่อค้นหาก้อนเนื้อหรืออาการบวมที่ผิดปกติ
  • การส่องตรวจช่องคลอด (Colposcopy)- การตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษชื่อว่าคอลโปสโคป (colposcope) ที่ทำหน้าที่เหมือนแว่นขยายเพื่อศึกษาลักษณะภายในช่องคลอดของคุณโดยละเอียด

หากสูตินรีแพทย์คาดว่าอาจมีเนื้อเยื่อที่ผิดปกติอยู่ในช่องคลอดของคุณ จะมีการผ่าตัดเพื่อตัดนำตัวอย่างเนื้อเยื่อเล็ก ๆ ออกมาศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเซลล์มะเร็ง กระบวนการนี้เรียกว่า การตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy)

หากผลการตัดตรวจชิ้นเนื้อบ่งชี้ว่า คุณเป็นมะเร็ง คุณอาจได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปตำแหน่งอื่นบ้างหรือไม่

การตรวจเหล่านี้อาจได้แก่ การตรวจภายในช่องคลอดอย่างละเอียดเพิ่มเติมซึ่งดำเนินการภายใต้การดมยาสลบภายในห้องผ่าตัด การถ่ายภาพรังสีเอกซ์ การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการทำซีที (CT scans) และการสแกนภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือการทำเอ็มอาร์ไอ (MRI)

การจัดระยะโรคมะเร็งช่องคลอด

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลโรคมะเร็งจะใช้ระบบการจัดระยะของโรคเพื่ออธิบายว่ามะเร็งช่องคลอดมีการลุกลามไปมากน้อยเพียงใด

  • ระยะ 1 - มะเร็งเพิ่งเริ่มเติบโตขึ้นในผนังช่องคลอด
  • ระยะ 2 - มะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปนอกช่องคลอดเข้าไปสู่เนื้อเยื่อรอบข้าง
  • ระยะ 3 - มะเร็งได้แพร่กระจายเข้าไปในบริเวณอุ้งเชิงกรานของคุณ และอาจแพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง
  • ระยะ 4a - มะเร็งได้แพร่กระจายไปไกลกว่าช่องคลอด และเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ตรง
  • ระยะ 4b - มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะสำคัญต่าง ๆ เช่น ปอด

ระยะของโรคมะเร็งของคุณมีความสำคัญในการพิจารณาว่าการรักษาแบบใดเหมาะสมกับคุณมากที่สุด และเพื่อประเมินว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งดังกล่าวได้หายขาดหรือไม่ โดยทั่วไป ยิ่งระยะของโรคมะเร็งตอนได้รับการวินิจฉัยต่ำมากเท่าใด มะเร็งมีโอกาสหายขาดมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าการรักษาให้หายขาดไม่สามารถทำได้ ยังมีการรักษาที่สามารถช่วยบรรเทาอาการและชะลอการแพร่กระจายของมะเร็งได้ เรียกว่าการดูแลรักษาแบบประคับประคอง

การรักษาโรคมะเร็งช่องคลอด

การรักษามะเร็งช่องคลอดจะขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งอยู่ตำแหน่งใดภายในช่องคลอดของคุณ และแพร่กระจายไปได้ไกลมากแค่ไหน ทางเลือกในการรักษาที่มักใช้ ได้แก่ การรักษาด้วยการฉายรังสี การผ่าตัด และเคมีบำบัด

เมื่อคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งช่องคลอด คุณจะได้รับการดูแลจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายสาขาร่วมกันซึ่งเรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพ

ทีมสหสาขาวิชาชีพของคุณจะมีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ มากมาย เช่น ศัลยแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง เป็นต้น

ทีมดูแลของคุณจะแนะนำแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ แต่การตัดสินใจว่าจะเข้ารับการรักษาหรือไม่ และอย่างไรจะเป็นของคุณ

ก่อนที่จะไปโรงพยาบาลเพื่อหารือเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาของคุณ คุณอาจพบว่าการเขียนรายการคำถามเพื่อถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นประโยชน์อย่างมาก ตัวอย่างเช่น คุณอาจต้องการทราบข้อดีและข้อเสียของการรักษาบางอย่างที่อาจต้องทำ หรือได้ยินมา

การฉายรังสีรักษา

รังสีรักษาเป็นทางเลือกการรักษาหลักของโรคมะเร็งช่องคลอด โดยอาจใช้เพื่อ:

  • เป็นการรักษาเริ่มต้นในการรักษามะเร็ง
  • ทำร่วมกับเคมีบำบัด
  • ทำหลังการผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ
  • เพื่อควบคุมอาการเมื่อไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เรียกว่า การรักษาด้วยรังสีรักษาแบบประคับประคอง

ประเภทของการฉายรังสีรักษา

มี 2 วิธีหลัก ๆ ที่สามารถให้การฉายรังสีรักษามะเร็งช่องคลอด:

  • การฉายรังสีรักษาภายนอก -เครื่องผลิตรังสีที่มีพลังงานสูงจะยิงส่งลำรังสีไปยังช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานของคุณ
  • การฉายรังสีรักษาจากภายใน - อุปกรณ์กักเก็บกัมมันตภาพรังสีขนาดเล็กซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแท่งผ้าอนามัยจะถูกใส่เข้าไปในช่องคลอดของคุณเพื่อปลดปล่อยรังสีออกมาฆ่าเซลล์มะเร็ง

ประเภทของการฉายรังสีรักษาที่คุณจะได้รับขึ้นอยู่กับว่าตำแหน่งของมะเร็งของคุณนั้นอยู่ตำแหน่งใด ตัวอย่างเช่น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้การฉายรังสีจากภายในหากมะเร็งยังอยู่เพียงผิวช่องคลอดของคุณ และอาจแนะนำให้ทำการฉายรังสีจากภายนอกหากก้อนมะเร็งอยู่ลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อของช่องคลอดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหญิงหลายคนได้รับรังสีรักษาทั้งภายในและภายนอกร่วมกันเพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

โดยปกติ การฉายรังสีภายนอกจะใช้เวลาสั้น ๆ และทำต่อเนื่องประมาณ 4-6 สัปดาห์ ทุกวันตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ คุณสามารถกลับบ้านได้หลังจากรับรังสีรักษาและมีช่วงหยุดพักช่วงสุดสัปดาห์เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว

ส่วนการรักษาด้วยการฉายรังสีจากภายในนั้นจะใช้ช่วงระยะเวลาการรักษาที่ยาวนานมากขึ้น และคุณจำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาล 24 ชั่วโมง หรือมารับการรักษาช่วงสั้น ๆ แต่หลายวันมากขึ้น

ผลข้างเคียงของการฉายรังสีรักษา

หลังจากได้รับรังสีรักษาแล้วคุณอาจเกิดผลข้างเคียงบางอย่าง ผลข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากการฉายรังสีรักษาทำให้เซลล์บางส่วนที่ปกติถูกทำลายไปด้วยบางส่วน

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นของการฉายรังสีสำหรับมะเร็งช่องคลอด ได้แก่ :

  • ผิวหนังแสบแดงคล้ายกับการถูกแดดเผา
  • อาการตกขาว
  • เจ็บปวดขณะปัสสาวะ
  • อาการท้องร่วง
  • เมื่อยล้าหมดแรง
  • คลื่นไส้
  • ช่องคลอดแคบลง
  • เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนวัย และภาวะเป็นหมัน

ผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์

การฉายรังสีรักษาอาจทำให้คุณหมดอารมณ์ทางเพศโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเกิดอาการข้างเคียงขึ้น เช่น หมดแรงเมื่อยล้า หรืออาการคลื่นไส้ หรือคุณกังวลเกี่ยวกับภาวะของโรคหรือขั้นตอนการรักษาของคุณ

การฉายรังสีรักษายังสามารถทำให้เกิดแผลหรือแผลเป็นในช่องคลอดของคุณซึ่งจะทำให้ทางช่องคลอดแคบลง และทำให้การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องยากหรือไม่สะดวก

หากคุณรู้สึกว่ายังมีอารมณ์และพร้อมกับการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติ ทีมแพทย์ผู้ดูแลของคุณอาจแนะนำให้คุณมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอในระหว่างการรักษา เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้การมีแผลเป็นและการหดลงของช่องคลอด นอกจากนี้ ยังสามารถใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าเครื่องขยาย (Dilator) สอดเข้าไปในช่องคลอดภายหลังจากการทำรังสีรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้ช่องคลอดของคุณตีบแคบลง

นอกจากนี้ คุณยังอาจพบว่าช่องคลอดของคุณแห้งหรือมีอาการเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น คุณสามารถลองใช้เจลหล่อลื่นหรือแจ้งให้ทีมดูแลของคุณทราบเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการรักษาที่เป็นไปได้

วัยหมดประจำเดือนและการเป็นหมัน

หากคุณได้รับการฉายรังสีรักษาภายนอกไปยังบริเวณอุ้งเชิงกราน คุณอาจพบว่าตนเองเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร หากคุณยังไม่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

ซึ่งหมายความว่าคุณจะไม่สามารถมีบุตรได้อีกต่อไป หรือเรียกว่าเป็นหมัน ภาวะดังกล่าวอาจทำให้คุณรู้สึกแย่โดยเฉพาะหากคุณเป็นผู้หญิงที่ยังอายุน้อยและต้องการมีบุตร ก่อนเข้ารับการรักษา ผู้ดูแลโรคมะเร็งของคุณจะปรึกษาและอธิบายว่ามีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง และหารือเกี่ยวกับทางเลือกการรักษาและการสนับสนุนอื่น ๆ

การผ่าตัด

มีการผ่าตัด 4 ประเภทหลักที่ใช้ในการรักษามะเร็งช่องคลอด:

  • การตัดช่องคลอดบางส่วน (Partial vaginectomy) - การผ่าตัดเพื่อกำจัดส่วนบนของช่องคลอดออก
  • การตัดช่องคลอดแบบกว้าง (Radical vaginectomy) - การผ่าตัดเพื่อกำจัดช่องคลอดทั้งหมดและตัดต่อมน้ำเหลืองในกระดูกเชิงกรานทั้งหมดออก
  • การตัดช่องคลอดแบบกว้างและการผ่าตัดตัดมดลูกแบบกว้าง (Radical vaginectomy and hysterectomy) - การกำจัดทั้งส่วนช่องคลอด มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ และต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออกทั้งหมด
  • การผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบกว้าง (Pelvic Exenteration) - การผ่าตัดเพื่อกำจัดช่องคลอดและเนื้อเยื่อโดยรอบออกทั้งหมด รวมทั้งกระเพาะปัสสาวะและ / หรือลำไส้ตรง

การตัดช่องคลอดบางส่วน (Partial vaginectomy)

การตัดช่องคลอดบางส่วนสามารถใช้ในการรักษามะเร็งช่องคลอดระยะที่ 1 หากการรักษาด้วยรังสีรักษาล้มเหลวในการกำจัดเซลล์มะเร็ง หรือผู้ป่วยต้องการผ่าตัดมากกว่าการฉายรังสีเพราะยังต้องการมีบุตรและไม่อยากเสี่ยงต่อการเป็นหมัน

ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดส่วนช่องคลอดที่เป็นมะเร็งออกรวมทั้งเนื้อเยื่อที่มีสุขภาพดีโดยรอบออกไปบางส่วนในกรณีที่คาดว่ามีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งออกไปเพียงเล็กน้อย

ศัลยแพทย์ของคุณจะซ่อมแซมส่วนของผนังช่องคลอดที่เสียหายไปด้วย หมายความว่าคุณจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อีกครั้งหลังจากที่คุณฟื้นตัวจากการผ่าตัดแล้ว

การตัดช่องคลอดแบบกว้าง (Radical vaginectomy)

การผ่าตัดตัดช่องคลอดแบบกว้างอาจใช้เพื่อรักษามะเร็งในช่องคลอดระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ศัลยแพทย์จะตัดเอาส่วนใหญ่หรือทั้งหมดของช่องคลอดของคุณออก

ศัลยแพทย์พลาสติกอาจสามารถสร้างช่องคลอดขึ้นใหม่โดยใช้ผิวหนัง กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนที่นำมาจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกายของคุณ โดยปกติจะเป็นจากต้นขาหรือก้นของคุณ

คุณยังคงสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หลังจากการผ่าตัดเสริมสร้างฟื้นฟูช่องคลอดของคุณแล้ว แต่คุณจะต้องใช้สารหล่อลื่นเพราะเยื่อบุช่องคลอดใหม่นั้นไม่สามารถสร้างสารหล่อลื่นได้ตามธรรมชาติอีกต่อไป

การผ่าตัดตัดมดลูกแบบกว้าง (Radical Hysterectomy)

การผ่าตัดมดลูกแบบกว้างจะทำไปพร้อมกับการผ่าตัดช่องคลอดแบบกว้าง ระหว่างการผ่าตัด อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบการสืบพันธุ์ทั้งหมดจะถูกกำจัดออกรวมถึงมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่และต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง

การผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบกว้าง (Pelvic Exenteration)

การผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบกว้างใช้ในผู้ป่วยบางกรณีที่โรคมะเร็งลุกลามรุนแรงหรือกลับมาเป็นซ้ำ

หากคุณถูกกำจัดกระเพาะปัสสาวะออกไป คุณจะต้องสร้างช่องทางอื่นเพื่อขับปัสสาวะ ทางเลือกที่ศัลยแพทย์ของคุณจะทำคือสร้างรูเปิดบริเวณหน้าท้อง (stoma) จากนั้นจะใช้ถุงต่อติดกับ รูเปิดดังกล่าวเพื่อให้ปัสสาวะสามารถผ่านออกมาได้ ถุงที่ใช้มีชื่อว่าถุงปัสสาวะหน้าท้อง (Urostomy Bag)

ในทำนองเดียวกัน ลำไส้ตรงอาจถูกกำจัดออกไปด้วย ดังนั้น คุณจำเป็นต้องมีทางกำจัดอุจจาระออกไปเช่นเดียวกัน ศัลยแพทย์สามารถทำรูเปิดบริเวณหน้าท้องอีกรูหนึ่ง และติดกับถุงสำหรับเก็บอุจจาระหน้าท้อง (Colostomy bag)

การผ่าตัดสร้างช่องคลอด (Vaginal reconstruction) อาจสามารถทำได้หลังจากการผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบกว้าง โดยอาจจะทำการสร้างทวารหนักของคุณใหม่และเชื่อมติดส่วนดังกล่าวไปกับส่วนที่เหลือของลำไส้ของคุณในกรณีดังกล่าว คุณจำเป็นต้องใช้ถุงสำหรับเก็บอุจจาระหน้าท้องเพียงชั่วคราวเท่านั้น

เนื่องจากการผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบกว้างเป็นวิธีการผ่าตัดใหญ่มาก และอาจใช้เวลาหลายเดือนในการฟื้นตัวจากการผ่าตัด

เคมีบำบัด

ยาเคมีบำบัดมักใช้ร่วมกับการฉายรังสีรักษาหรือเพื่อควบคุมอาการเมื่อไม่สามารถรักษาได้ เรียกว่า เคมีบำบัดแบบประคบประคอง โดยปกติจะได้รับโดยผ่านการฉีดเรียกว่าการได้รับเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำ

เช่นเดียวกับการฉายรังสีรักษา ยารักษามะเร็งที่มีฤทธิ์แรงดังกล่าวในเคมีบำบัดสามารถทำลายเนื้อเยื่อที่มีสุขภาพดี และก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยเคมีบำบัดสำหรับโรคมะเร็งช่องคลอดที่อาจเกิดขึ้นได้แก่:

  • อาการเมื่อยล้าหมดแรง
  • อาการคลื่นไส้
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • อาการท้องร่วง
  • ผมร่วง

การรับมือกับการรักษา

การรักษาโรคมะเร็งช่องคลอดอาจส่งผลกระทบทางอารมณ์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควรเนื่องจากผลกระทบของการรักษาโรคมะเร็งดังกล่าว

การผ่าตัดตัดช่องคลอดบางส่วนหรือตัดช่องคลอดทั้งหมดอาจเป็นอันตรายต่อผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนและหลังวัยหมดประจำเดือนได้เช่นกัน และผู้ป่วยบางคนจะรู้สึกเป็น "ผู้หญิง" น้อยกว่าที่เคยเป็นมาก่อน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะสัมผัสถึงความสูญเสียและการเสียสมาธิหลังจากการรักษา ในสตรีบางรายอาจเกิดภาวะซึมเศร้า

คุณอาจพบว่าการพูดคุยกับผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่ได้รับการรักษาแบบเดียวกันนั้นเป็นประโยชน์ แพทย์ประจำตัวของคุณหรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลของคุณอาจสามารถแนะนำกลุ่มสนับสนุนในท้องถิ่นที่เหมาะสมได้

หากคุณรู้สึกว่าตนเองเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าอยู่ ให้พูดคุยกับแพทย์ประจำตัวของคุณเกี่ยวกับการรักษาและการสนับสนุนที่มีอยู่

https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/cancer/cancer-types-in-adults/vaginal-cancer#treatment


11 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Signs and Symptoms of Vaginal Cancer. American Cancer Society. (https://www.cancer.org/cancer/vaginal-cancer/detection-diagnosis-staging/signs-symptoms.html)
Vaginal Cancer | HPV | Pap Smear. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/vaginalcancer.html)
Vaginal cancer. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/vaginal-cancer/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป