เจ็บช่องคลอด เพราะอะไร? สาเหตุการเจ็บช่องคลอดในภาวะต่างๆ

เจ็บช่องคลอด เกิดได้จากการติดเชื้อ พฤติกรรม หรือฮอร์โมน ฯลฯ จำเป็นต้องไปพบและปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่แน่ชัด และรักษาอย่างถูกต้อง
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
เจ็บช่องคลอด เพราะอะไร? สาเหตุการเจ็บช่องคลอดในภาวะต่างๆ

อวัยวะสืบพันธ์ของผู้หญิงนั้นแบ่งได้เป็นสองส่วนหลักๆ คือ ที่อยู่ภายใน เช่น มดลูก ปีกมดลูก รังไข่ เป็นต้น และที่อยู่ภายนอก คือตั้งแต่ปากมดลูกจนกระทั้งออกมาจนถึงปากช่องคลอด แคมใหญ่ แคมเล็ก คลิตอริสและหัวหน่าว เป็นต้น

โดยบริเวณตั้งแต่ปากมดลูกภายในถึงปากช่องคลอดภายนอกนั้นเรียกว่า บริเวณช่องคลอด อาการปวดหรือความรู้สึกไม่สุขสบายที่เกิดขึ้นบริเวณนี้อาจจะมีสาเหตุมาได้จากหลายปัจจัย ทั้งทางกายและทางจิตใจ

การได้รับการตรวจหรือการรักษาแต่เนิ่นๆ จะสามารถช่วยลดอาการและความเสี่ยงของผลข้างเคียงร้ายแรงอื่นๆ ที่อาจจะตามมาได้

ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนจนถึงสูงอายุอาจจะประสบกับอาการเจ็บช่องคลอดได้บ่อยครั้ง และโดยส่วนมากจะมีความกลัวและอายที่จะเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในคลินิกสูตินรีเวช

นั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการของโรคไม่หายและก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงตามมาได้

อาการเจ็บช่องคลอดมีได้หลายลักษณะ โดยลักษณะอาการเจ็บที่เฉพาะเจาะจงนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุ เพราะฉะนั้นการที่ผู้ป่วยจดจำหรืออธิบายรายละเอียดของอาการเจ็บได้ครบถ้วนและถูกต้อง จะเป็นการช่วยแพทย์และเจ้าหน้าที่ในการวินิจฉัยถึงสาเหตุและจะได้เลือดแนวทางการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ลักษณะของอาการเจ็บช่องคลอด

ลักษณะของอาการของการเจ็บช่องคลอดที่พบได้ มีดังนี้

  • ปวดแสบปวดร้อนหรือปวดเหมือนโดนน้ำร้อนลวก
  • คันช่องคลอด
  • เจ็บจี๊ดๆ เหมือนมีแมลงกัด
  • เจ็บเหมือนมีอะไรสั่นหรือเขย่าอยู่ภายในช่องคลอด
  • เจ็บเฉพาะอวัยวะ เช่น คลิตอริส แคมเล็ก แคมใหญ่
  • เจ็บมากขณะมีอะไรมาสัมผัสหรือเสียดสีเช่น ขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือ ระหว่างการเช็ดล้างทำความสะอาด

สาเหตุของอาการเจ็บช่องคลอด

เจ็บช่องคลอด เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

เจ็บช่องคลอดจากการติดเชื้อ

สาเหตุของอาการเจ็บช่องคลอดที่พบได้บ่อยที่สุดคือการติดเชื้อ โดยที่พบมากที่สุดที่ทำให้มีการปวดช่องคลอดคือ การติดเชื้อรา

ประมาณ 75% ของผู้หญิงทั่วไปสามารถตรวจพบการติดเชื้อนี้ได้ อาการแสดง ได้แก่ คัน แสบ และมีตกขาวลักษณะสีขาวปริมาณมากภายในช่องคลอด

โดยปกติการติดเชื้อราไม่ใช่โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกคู่นอนมาตรวจหรือทำการรักษา

เชื้อลำดับถัดมาที่พบได้บ่อยก็คือการติดเชื้อแบคทีเรีย Bacterial vaginosis (BV) ซึ่งสามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย

โดยปกติ การติดเชื้อแบบนี้มักจะไม่มีอาการ แต่ในบางครั้งก็อาจจะมีอาการแสดงได้ เช่น ปวด คัน แสบร้อน หรือมีตกขาวมีกลิ่นเหม็นคาว

การติดเชื้ออื่นๆ ที่อาจทำให้มีอาการปวดช่องคลอดได้ เช่น โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์จากโปรโตซัว หนองในแท้ หนองในเทียม เป็นต้น

เจ็บช่องคลอดจากการได้รับบาดเจ็บ

อาการเจ็บช่องคลอด บางครั้งอาจมาจากการมีเพศสัมพันธ์ การคลอด การผ่าตัด หรือกระบวนการทางแพทย์อื่นๆ

ที่พบมากและบ่อยที่สุดคือ การบาดเจ็บและการปวดจากการตั้งครรภ์ และให้กำเนิดลูก ไม่ว่าจะจากการคลอดปกติหรือการผ่าตัดคลอด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่คลอดธรรมชาติ ซึ่งอาจมีการฉีกขาดของปากช่องคลอดเป็นครั้งแรก การฉีกขาดนี้อาจจะลึกลงไปถึงบริเวณรูทวารด้านในได้ หรืออาจจะมีการฉีกขาดขึ้นสูงไปถึงบริเวณอวัยวะเพศด้านบน

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของทารก ขนาดของอุ้งเชิงกราน และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยในการคลอดบุตร

เจ็บช่องคลอดเนื่องจากช่องคลอดแห้ง

หลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ฮอร์โมนเพศหญิงต่างๆ จะต่ำลง รวมถึงฮอร์โมนเอสโตเจน

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลทำให้เซลล์บริเวณผิดช่องคลอดบางลง ไม่แข็งแรง และไม่มีความชุ่มชื้น ประกอบกับต่อมเมือกต่างๆ ในช่องคลอดที่ผลิตสารหล่อลื่นต่างสำหรับช่องคลอดก็ผลิตน้อยลง

ส่งผลให้ช่องคลอดของผู้หญิงวัยทองแห้ง และอาจนำมาซึ่งอาการปวดแสบช่องคลอดขณะขยับเขยื้อนร่างกายหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์ได้

ภาวะเจ็บช่องคลอดเรื้อรัง

ภาวะเจ็บช่องคลอดเรื้อรัง (Vulvar vestibulitis) โดยส่วนใหญ่มักไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้

อาจพบในขณะทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือนั่งนาน ยืนนาน รวมถึงตอนขับขี่ยานพาหนะต่างๆ แม้ขณะมีประจำเดือนและใส่ผ้าอนามัยก็อาจเกิดภาวะนี้

เจ็บช่องคลอดจากมะเร็งปากมดลูก

หากเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะที่เป็นมาก อาจมีอาการแสดงอย่างหนึ่งคือ อาการปวดช่องคลอด โดยส่วนมากมันเป็นแบบเรื้อรัง ต้องได้รับยาแก้ปวดอย่างต่อเนื่อง หรือขนาดยาที่สูง

ผู้หญิงทั่วไปควรรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกๆ อาจจะยังไม่มีอาการแสดงออกมา

มีประวัติเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ

การเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศอาจนำมาทั้งปัญหาทางด้านจิตใจและร่างกาย เช่น อาการเจ็บปวดบริเวณช่องคลอด

ทั้งนี้ ควรได้รับการรักษาทั้งทางร่างกายรวมถึงบำบัดจิตใจควบคู่กันไป

แนวทางการรักษาภาวะเจ็บบริเวณช่องคลอด

ในการรักษาภาวะเจ็บบริเวณช่องคลอดนั้น ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจหาสาเหตุของอาการเจ็บดังกล่าวเพื่อกำหนดแนวทางการรักษาอย่างถูกต้อง

โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น ตรวจภายใน รวมทั้งอาจจะมีการอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอดหรือทางหน้าท้อง แล้วแต่กรณี เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด

หลังจากนั้นจึงจะเริ่มให้การรักษา โดยการรักษาอาจเริ่มตั้งแต่การให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง การรับยาทั้งการกินและการฉีด หรือการผ่าตัด

การรักษาอาการเจ็บช่องคลอดโดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

  • อย่าใช้น้ำยาล้างช่องคลอด พยายามล้างช่องคลอดด้วยน้ำเปล่า เช็ดให้แห้งแค่นี้ก็เพียงพอเนื่องจากในช่องคลอดจะมีสมดุลของเชื้อปกติอยู่แล้วการทำความสะอาดที่มากเกินควรจะทำให้สมดุลของเชื้อปกติดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปซึ่งอาจนำมาถึงอาการผิดปกติอื่นๆได้
  • ในการทำกิจกรรมเช่นการออกกำลังกายทั้งนอกบ้านหรือในบ้านต่างๆควรหลีกเลี่ยงการใส่ชุดที่แน่นไปหรือคับไปที่อาจทำให้เกิดการอับชื้นไปโดยเฉพาะชุดชั้นใน และจะดีเป็นอย่างยิ่งถ้าจะเปลี่ยนชุดชั้นในบ่อยๆ และทุกชุดควรซักและตากแดดจัดเพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการติดเชื้อในช่องคลอด
  • ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระแทกบริเวณอุ้งเชิงกรานและช่องคลอดโดยตรงเช่น การซ้อนจักรยานยนตร์ การขี่ม้า เป็นต้น
  • ขณะมีเพศสัมพันธ์ถ้ารู้สึกว่าช่องคลอดแห้งหรือเจ็บควรพิจาณาใช้เจลหล่อลื่นก่อน เพื่อลดอาการระคายเคืองเบื้องต้น
  • การประคบเย็นบริเวณช่องคลอดก็สามารถบรรเทาอาการเจ็บบริเวณช่องคลอดเบื้องต้นได้

การรักษาโดยการรับยา

ถ้าสาเหตุอาการเจ็บดังกล่าวได้รับการวินิจฉัยว่ามาจากการติดเชื้อ ทั้งเชื้อราหรือแบคทีเรีย การรักษาเริ่มต้นคือการรับประทานยาฆ่าเชื้อ

ซึ่งปริมาณ จำนวนวัน และลักษณะการกินยา จะขึ้นอยู่กับเชื้อสาเหตุที่แพทย์สงสัย และถ้าหลังจากได้รับการรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือเป็นแบบเรื้อรัง อาจพิจารณารับยาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจจะพิจารณาให้ยาชาเฉพาะที่ควบคู่กันไปกับการรักษาสาเหตุหลัก เช่น ในกรณีอาการเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในผู้ป่วยวัยทอง หรืออาจจะพิจารณาให้ยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อลดอาการระคายเคือง บวม หรืออักเสบได้

บางกรณีอาจพิจารณาให้ยาต้านอาการซึมเศร้า โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการปวดแบบเรื้อรัง

แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาทาประเภทครีมที่มีส่วนผสมของฮอร์โมน ในกรณีที่อาการปวดนั้นมาจากช่องคลอดแห้งจากวัยทอง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ผนังช่องคลอด ไม่ให้เปราะบางและระคายเคืองได้ง่าย

ทั้งนี้ การรับยาต่างๆ อาจมีผลข้างเคียงและผลที่ไม่พึงผลประสงค์อื่นๆ ตามมาได้ ก่อนรับประทานยาทุกครั้งจึงควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสมอ

การรักษาโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่

พบได้น้อยมากที่แพทย์จะแนะนำเรื่องการฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อรักษาอาการเจ็บหรือปวดช่องคลอด โดยการทำหัตถการนั้นก็คือการฉีดยาชาเข้าไปที่เส้นประสาทบริเวณช่องคลอดโดยตรง เพื่อกดอาการปวดบริเวณนั้น

ผู้ป่วยอาจจะชาบริเวณนั้นไปเลยหรือชั่วคราว ขึ้นกับปริมาณยาและตำแหน่งที่ทำการฉีด การทำหัตถกรรมดังกล่าวจะทำในกรณีที่เป็นการรักษาแบบเรื้อรัง หรือรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ แล้วไม่ดีขึ้น

รวมทั้งกรณีที่ปวดจากการเป็นมะเร็งปากมดลูก ก็อาจใช้ยาชาได้

การรักษาอาการเจ็บช่องคลอดโดยการผ่าตัด

ในบางกรณีที่ทราบสาเหตุของอาการเจ็บและตำแหน่งของโรคชัดเจน อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเอารอยโรคนั้นออกไปเช่น มีฝี หรือก้อนเนื้อที่อักเสบผิดปกติ อาจพิจารณาผ่าเจาะดูดเนื้อเยื้อที่มีการอักเสบนั้นออกไป

แต่ทั้งนี้ การผ่าตัดก็อาจจะไม่ใช่วิธีการรักษาแรก และไม่สามารถใช้ในการรักษาในผู้ป่วยทุกรายได้

การรักษาเสริมอื่นๆ

การรักษาอาการเจ็บช่องคลอด ที่เป็นการรักษาเสริม ได้แก่ การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า การฝังเข็มหรือการนวด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวสามารถรักษาอาการเจ็บได้เฉพาะบางกรณี และอาจรักษาได้เพียงชั่วคราว


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Zawn Villines, Medically reviewed by Valinda Riggins Nwadike, Vaginal pain: Causes and how to treat it (https://www.medicalnewstoday.com/articles/326977.php), 11 November 2019.
Rachel Nall, Medically reviewed by Debra Sullivan, PhD, MSN, RN, CNE, COI, What You Need to Know About Vaginal Pain (https://www.healthline.com/health/vaginal-pain), 28 June 2019.
Amber Brenza and Kristin Canning, Why Does My Vagina Hurt? 10 Possible Reasons For Pain Down There, According To Doctors, (https://www.womenshealthmag.com/health/a19909207/vagina-pain/), 28 October 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป