กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

โรคกระดูกคอ...ภัยร้ายที่มาพร้อม Gadgets

ก้มๆ เงยๆ ในอิริยาบถเดิมๆ วันละนานๆ ต้องระวัง เพราะเสี่ยงร่างพังและโรคกระดูกต้นคอถามหา
เผยแพร่ครั้งแรก 16 ส.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 25 ก.พ. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
โรคกระดูกคอ...ภัยร้ายที่มาพร้อม Gadgets

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ปัจจุบันนี้ สมาร์ทโฟนเป็นเหมือนอวัยะที่ 33 ไม่ว่าเราจะทำอะไรเรามักจะก้มหน้ากดโทรศัพท์ไปด้วย พฤติกรรมแบบนี้อาจนำไปสู่โรคกระดูกคอโดยไม่รู้ตัว
  • อาการปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่เรื้อรัง หรือปวดร้าวไปจนถึงท้ายทอยและแขน มีอาการชาและอ่อนแรง แปลว่าโรคกระดูกคอกำลังมาเยือนคุณแล้ว
  • นอกจากการก้มดูหน้าจอแล้ว การนอนหนุนหมอนสูงเกินไป หรือการนั่งอยู่ในอิริยาบถเดิมๆ โดยไม่เปลี่ยนท่าอาจเป็นสาเหตุของโรคกระดูกคอได้เช่นกัน
  • กลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ จะเป็นกลุ่มคนที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน
  • หากคุณมีอาการปวดคอ ปวดไหล่ จากการเล่นโทรศัพท์ หรือนั่งท่าเดิมนานๆ ดูแพ็กเกจนวดจัดกระดูกที่นี่

ปัจจุบันนี้น้อยคนนักที่จะไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารจำพวกไอแพด สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ขนาดต่างๆ  หรือที่เราเรียกกันรวม ๆ ว่า Gadgets ไว้ในครอบครองหรอก จริงไหม?   เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ประโยชน์และความสะดวกคล่องแคล่วในการใช้งานของอุปกรณ์ทั้งหลายเหล่านี้มีมากมายหลายข้อ ฉะนั้นหากจะเลิกใช้ชนิดหักดิบแล้วก็คงถือเป็นการตัดขาดจากโลกภายนอกเกินไป เนื่องจากเรายังจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้เป็นสื่อกลางในการเรียน การทำงาน การค้นคว้าหาข้อมูล การเข้าถึงข่าวสาร การทักทายพูดคุยกับคนที่อยู่ไกลกัน และการสร้างความบันเทิง เป็นต้น

ผลวิจัยค่าเฉลี่ยการใช้งานที่น่าตกใจ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญในวันนี้ที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญ คือ ความถี่ในการใช้งาน  ปัจจุบันมีโพลสำรวจและงานวิจัยจากหลายแห่งกำลังพูดถึงอัตราความถี่ของการใช้มือถือ หนึ่งในนั้นคือผลงานการวิจัยจากมหาวิทยาลัย Baylor มหาวิทยาลัยคริสเตียนในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า  "ผู้หญิงที่เรียนมหาวิทยาลัยใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 10 ชั่วโมงต่อวันกับโทรศัพท์มือถือของตัวเอง ส่วนผู้ชายนั้นจะใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง” 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ส่วนอีกผลสำรวจหนึ่งมาจาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) แสดงผลว่า “โดยเฉลี่ยคนไทยใช้อินเทอร์เน็ต เฉลี่ย 6.4 ชั่วโมงต่อวัน” 

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลการสำรวจเท่านั้น ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่ต่างเสพติดการเล่นอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารกันทั้งนั้น หลายคนให้เวลากับเจ้าจอสี่เหลี่ยมถึงขั้นลืมวันลืมคืน ใช้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเวลาทั้งก่อนตื่นนอน เข้าห้องน้ำ หลังอาบน้ำ มื้ออาหาร เดินทางโดยสารไปยังที่ต่าง ๆ รวมถึงก่อนเข้านอน 

ใช้มากๆ โรคกระดูกคอมาเยือน

นอกเหนือจากประโยชน์ที่จะได้รับจากอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารทั้งหลายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมา นั่นคือ "โรคกระดูกคอ"  หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่เรื้อรัง หรือปวดร้าวไปจนถึงท้ายทอยและแขน บ้างก็มีอาการชาและอ่อนแรง จนถึงขั้นยกแขนไม่ได้และทรงตัวในการเดินได้ยากลำบาก  อาการเหล่านี้คือสัญญาณเตือนภัยอันน่ากลัวที่จู่โจมคุณเข้าเสียแล้ว 

โรคนี้ไม่ได้พบเฉพาะในผู้สูงวัยเท่านั้น แต่กลับพบมากในเด็กตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป และรวมไปถึงหนุ่มสาววัยกำลังเรียนและวัยทำงาน  เมื่อก่อนสาเหตุหลักๆ ของโรคกระดูกต้นคอนั้นอาจมาจากการแบกหาม  การนอนหนุนหมอนสูงเกินไป หรือการนั่งอยู่ในอิริยาบถเดิมๆ โดยไม่เปลี่ยนท่า เป็นต้น แต่ทุกวันนี้สาเหตุหลัก ๆ ของโรคกระดูกคอคือ การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือพวกอุปกรณ์เทคโนโลยีมากเกินไปต่างหาก 

กลุ่มโรคเกี่ยวกับกระดูกคอที่พบบ่อย

กลุ่มโรคเกี่ยวกับกระดูกคอที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • Computer Syndrome 
    พนักงานเงินเดือน หรือใครก็ตามที่ต้องนั่งทำงานบนโต๊ะทำงานเป็นกิจวัตรประจำวันต้องระวังร่างกายของคุณไว้ให้ดี เพราะไม่ช้า หรือเร็ว คุณจะต้องประสบกับอาการปวดต่าง ๆ อย่างแน่นอน หากไม่รู้จักบริหารร่างกาย จัด work station ให้ถูกต้อง  และปรับเปลี่ยนท่านั่งให้ถูกต้องตั้งแต่วันนี้ไป
  • โรคปวดเรื้อรังและปวดศีรษะ
    คุณจะเกิดอาการปวดศีรษะไปจนถึงปวดท้ายทอย คุณจะรู้สึกหนักไปทั้งหัวและมีอาการตาพร่ามัว ปวดแน่นเบ้าตา และปวดเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณดวงตาไปหมด
  • กระดูกคอและกระดูกสันหลังเสื่อม
    เมื่อกระดูกคอและหมอนรองกระดูกเสื่อมจะทำให้ไปกดทับเส้นประสาท คุณจึงมีอาการปวดคอหรือปวดหลัง แล้วร้าวไปที่แขนและขา โรคนี้ส่วนมากแล้วมักเกิดจากปัจจัยอายุเป็นหลัก กล่าวคือ เมื่อคุณมีอายุมากขึ้น ข้อต่อต่างๆ ระหว่างกระดูกคอแต่ละปล้องซึ่งรับแรงกระแทกมานาน ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไป ส่งผลให้หมอนรองกระดูกสันหลังยุบและมีความยืดหยุ่นลดลง
  • Text Neck Syndrome 
    โรคยอดฮิตที่อินกระแสยุคเทคโนโลยีตอนนี้สุด ๆ “สังคมก้มหน้า” คือ ต้นเหตุของ Syndrome นี้นั่นเอง ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ทั้งตามท้องถนน ร้านอาหาร รถไฟฟ้า หรือไม่ว่าที่ใดก็ตาม ผู้คนต่างก้มหน้าก้มตาเพ่งเล็งไปบนหน้าจอสี่เหลี่ยมบนโทรศัพท์มือถือกันแทบทั้งสิ้น   ผลที่ตามมาคือ คุณจะมีอาการปวดเรื้อรังบริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ บางรายอาจรู้สึกชา หรือร้าวจากคอไปจนถึงมือ บ้างก็มีอาการแขนและมืออ่อนแรง

โรคเกี่ยวกับกระดูกคอข้างต้นเหล่านี้ เป็นเพียงโรคเกี่ยวกับกระดูกคอส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง โดยเฉพาะผู้คนในยุคสมัยนี้ที่เสพติดการก้มมอง Gadgets ในมือเป็นประจำ  หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่า โรคเหล่านี้มีความร้ายแรงและสาหัสเพียงใด แต่เชื่อเถิดว่า มันจะทรมานและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของคุณอย่างมาก  

ณ ตอนนี้ คุณอาจยังไม่มีอาการดังกล่าว เนื่องจากร่างกายของคุณยังสามารถพักตัวและฟื้นฟูได้ภายในเวลาอันสั้น แต่จงอย่าประมาท ลองถามตัวเองดูว่า ในหนึ่งวัน เราก้มหน้าและใช้เวลากับอุปกรณ์การสื่อสารทั้งหลายนี้กี่ชั่วโมง ถ้าคำตอบของคุณคือ มากกว่า 2 หรือ 3 ชั่วโมง (ซึ่งปราศจากการปรับเปลี่ยนท่านั่ง  หรือท่าดู หรือไม่บริหารร่างกายเลย) คุณควรพิจารณาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นเสียก่อนที่จะลุกลามไปจนเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ  เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกต้นคอในที่สุด  


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Christian Woiciechowsky et al., Degenerative spondylolisthesis of the cervical spine — symptoms and surgical strategies depending on disease progress (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3454058/), December 2004
ผศ. นพ. ต่อพงษ์ บุญมาประเสริฐ, โรคข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม (www.med.cmu.ac.th/.../DEGENERATIVE%20DISEASES%20OF%20THE%20CERV...)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป