กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ. ธนู โกมลไสย แพทย์ทั่วไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ. ธนู โกมลไสย แพทย์ทั่วไป

การตรวจไขมันในเลือด บอกโรคได้ !

ไขมันจำเป็นต่อร่างกาย แต่ถ้ามีมากเกินไปก็อาจกลายเป็นผู้ร้ายได้เช่นกัน
เผยแพร่ครั้งแรก 6 พ.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 11 ก.พ. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 19 พ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
การตรวจไขมันในเลือด บอกโรคได้ !

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ไขมันที่มีประโยชน์ เป็นไขมันที่ช่วยในเรื่องของ ฮอร์โมน ซ่อมแซมส่วนที่ร่างกายสึกหรอ รวมไปถึงระบบสืบพัันธุ์ โดยปกติแล้วผู้หญิงจะมีไขมันจำเป็นมากกว่าผู้ชาย
  • ไขมันส่วนเกิน มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อไขมัน ทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ไขมันหน้าท้อง หรือหน้าอก เป็นต้น หากมีไขมันส่วนเกินมากเกินไป อาจก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ตามมาได้ด้วย
  • การตรวจไขมันในเลือด ตรวจเพื่อหาค่าขององค์ประกอบสำคัญของไขมันทุกตัวในเลือด และการรู้ค่าระดับไขมันทุกชนิดในเลือดที่ผิดปกติแต่เนิ่นๆ ทำให้เราควบคุมระดับไขมันลดลงมาสู่ระดับปกติได้
  • ไขมันในเลือดสูง คือ ไขมันที่มีปริมาณสูงมากเกินไป และเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น คอเรสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ LDL
  • การตรวจสุขภาพประจำปี มีการตรวจระดับไขมัน ระดับน้ำตาลในร่างกาย ทำให้เราควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้พอดี ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่

แค่เอ่ยคำว่า "ไขมัน" ขึ้นมา บางคนก็รู้สึกรังเกียจ รู้สึกว่าอ้วน รุู้สึกว่าเป็นผู้ร้าย ฯลฯ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น ไขมันนับเป็นสารอาหารจำเป็น เมื่อร่างกายย่อยสลายให้เป็นโมเลเกุลเล็กที่สุดจะเรียกว่า “Fatty acid” หรือ กรดไขมัน

ร่างกายจะต้องได้รับกรดไขมันจากการรับประทานเข้าไปเท่านั้นและร่างกายจำเป็นต้องมีกรดไขมันเพื่อใช้ประโยชน์มากมายนับตั้งแเต่เป็นวัตถุดิบสร้างผนังเซลล์ของทุกๆ เซลล์ทั่วร่างกาย กรดไขมันจำเป็น (Essential Fatty Acid) คือ กรดไขมันที่ร่างกายขาดไม่ได้

อาหารไขมันนอกจากจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกายแล้วยังช่วยให้อาหารอร่อย กลืนลงคอง่าย มนุษย์ยุคใหม่จึงกินไขมันกันมากเกินความจำเป็น จนในที่สุดไขมันก็สร้างพิษภัยต่อร่างกายแทนที่จะให้ประโยชน์ หากอยากรู้ว่า เรามีไขมันในร่างกายมากน้อยอย่างไร ชนิดไหนเกิน ชนิดไหนขาด ควรเจาะเลือดเพื่อตรวจสอบไขมันในเลือด เพราะบางคนกว่าจะรู้ตัวว่าไขมันในเลือดสูงก็เข้าข่ายเป็นโรคเสียแล้ว

การตรวจไขมันในเลือด (Lipid Profile) 

คำแนะนำ: ต้องงดอาหารก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

วัตถุประสงค์

  • เพื่อต้องการทราบค่าขององค์ประกอบที่สำคัญของไขมันทุกตัวในกระแสเลือด
  • การได้ทราบค่าระดับไขมันทุกชนิดในเลือดที่ผิดปกติแต่เนิ่นๆ ย่อมช่วยให้มีโอกาสที่จะแก้ไข เยียวยา หรือรักษา ให้ไขมันลดลงมาสู่ระดับปกติได้ ทั้งนี้ย่อมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease: CAD) โรคลมปัจจุบัน หรือโรคอุบัติเหตุขาดเลือดในสมอง (cerebrovascular accident: CVA) ได้

คำอธิบายอย่างสรุป

1. ตามตำราโดยทั่วไปคำว่า Lipid Profile จะประกอบด้วยการวัดค่าไขมัน 5 ตัว ดังนี้

2. ตามแบบฟอร์มใบตรวจเลือดของโรงพยาบาลทั่วไป ท่านต้องการทราบผลของไขมันในเลือดเฉพาะที่สำคัญเพียง 4 ตัว

  • คอเลสเตอรอล (Cholesterol)
  • ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)
  • เอชดีแอล  (HDL-c) 
  • แอลดีแอล (LDL-c) 

คอเลสเตอรอล (Cholesterol)

Cholesterol เป็นคำนามเฉพาะที่เกิดจากการประสมคำโดยนักวิจัยชาวฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1769 ซึ่งพบว่า นิ่วในถุงน้ำดี (gallstone) นั้นประกอบด้วยสารเคมีอันมีชื่อตรงกับคำในภาษากรีก กล่าวคือ

Chole   =       bile (น้ำดีจากตับ)
Stereos            =                      solid (ของแข็ง)
Ol                     =                      (suffix) แสดงว่าแอลกอฮอลล์

การวิจัยต่อมาทำให้ทราบว่าคอเลสเตอรอลเป็นสารตั้งต้นของน้ำดี หรือกรดน้ำดี หากน้ำดีอยู่ในถุงน้ำดีจนมีความเข้มข้นมากขึ้นๆ ก็จะตกผลึกจับตัวกันแข็งกลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งก็คือ เปลี่ยนสภาวะมาเป็นของแข็งได้ ตามรากศัพท์ของชื่อที่ตั้งขึ้นมา

แม้ว่าคอเลสเตอรอลจะจัดอยู่ใน Lipid Profile (กลุ่มสารไขมันในเลือด) แต่ในความเป็นจริงแล้ว คอเลสเตอรอลเป็นสารคล้ายไขมันแต่มิใช่ไขมันแท้จริงเพราะไม่มีค่าพลังงาน (ไขมัน หรือ fat ทั่วไป จะมีค่าพลังงานประมาณ = 9 แคลอรีต่อกรัม) 

คอเลสเตอรอลเป็นสารลักษณะขี้ผึ้ง (waxy substance) ที่ร่างกายจำเป็นต้องมี เพราะมนุษย์จำเป็นต้องใช้คอเลสเตอรอลในการดำรงชีวิต ดังนี้

  • เป็นองค์ประกอบของเยื่อผนังห่อหุ้มเซลล์ทุกเซลล์ทั่วร่างกาย (ประมาณ 100 ล้านล้านเซลล์) เพื่อสร้างคุณสมบัติความไหลลื่น (fluidity) สะดวกต่อการผ่านเข้า-ออกเซลล์ของสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ ฯลฯ
  • เป็นวัตถุดิบให้ร่างกายผลิตน้ำดี (bile) เพื่อใช้ในการย่อยอาหารประเภทไขมัน รวมทั้งช่วยการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน (วิตามิน เอ ดี อี และเค) 
  • เป็นสารเริ่มต้น (precursor) หรือเป็นวัตถุดิบให้ร่างกายใช้สังเคราะห์วิตามินดี ขึ้นมาใช้ กล่าวอย่างสั้นที่สุดก็คือ เมื่อร่างกายถูกแสงแดด แสงแดดจะช่วยสังเคราะห์คอเลสเตอรอลที่อยู่บริเวณใต้ผิวหนังให้สร้างวิตามินดีขึ้นมา ผลที่ได้ก็คือ
    • คอเลสเตอรอลแล้วจำนวนหนึ่ง (เมื่อถูกแดด) ย่อมลดลงเพราะถูกนำไปใช้ผลิตวิตามินดี
    • ได้วิตามินดีมาใช้ฟรีๆ เพื่อช่วยร่างกายในการสะสมแคลเซียมอันเป็นการปกป้องโรคกระดูกพรุนโดยวิธีธรรมชาติที่สุดและประหยัดที่สุด
  • ร่างกายจะนำคอเรสเตอรอลซึ่งเป็นสารสเตอรอยด์ (steroid) ไปใช้ผลิตสเตอรอยด์ฮอร์โมน (steroid hormones) ซึ่งร่างกายจำเป็นต้องใช้ ดังตัวอย่างฮอร์โมนต่อไปนี้
    • คอร์ติซอล (Cortisol) และ แอลโดสเตอโรน (aldosterone) สำหรับต่อมอะดรินัล (ต่อมหมวกไต) ในการควบคุมอารมณ์ ควบคุมโซเดียม
    • เทสโทสเทอโรน (testosterone) และ เอสโตรเจน (estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศ (ของชายและหญิง) ช่วยให้ร่างกายคึกคัก กระชุ่มกระชวย เพิ่มอารมณ์ทางเพศทั้งชายเเละหญิง โดยเหตุนี้ การกินยาลดอเรสเตอรอลใดๆ จึงมีผลโดยตรงต่อการลดฮอร์โมนเทสทอสเตอโรน (testosterone) สำหรับผู้ชาย หรือฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) สำหรับผู้หญิง
  • บทบาทที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งของคอเรสเตอรอลคือ เป็นฉนวนปกป้องห่อหุ้มเส้นใยประสาท  (to insulate nerve fibers) เพื่อให้การสื่อประสาทฉับไว ถูกต้อง เพราะเส้นใยประสาททุกเส้นจะห่อหุ้มด้วย "ไมลีน ชีธ" (myelin sheath) ที่ผลิตด้วยคอเลสเตอรอลเสมือนเป็นฉนวนสายไฟฟ้านั่นเอง นั่นหมายถึงว่า เซลล์สื่อประสาท (neuron) ทุกเซลล์ต้องวิ่งไปตามเส้นใยประสาท อย่างถูกต้อง ฉับไว และแม่นยำ มิฉะนั้นอาจเกิดอาการจมูกรับกลิ่นไม่ได้ มือสั่น เดินเซ จำชื่อคน หรือจำเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ หรือจำทางกลับบ้านไม่ถูก อาการท้อแท้ สิ้นหวัง ฯลฯ

ความสมบูรณ์แบบส่วนหนึ่งของวงจรเส้นใยประสาท ก็คือการมี "myelin sheath " เป็นฉนวนหุ้มที่ทำจากคอเลสเตอรอลซึ่งไม่ชำรุดบกพร่อง หรือสรุปว่าต้องมีอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ด้วยเหตุนี้มันสมองของมนุษย์ หรือหมูจึงเต็มไปด้วยคอเลสเตอรอล ยกตัวอย่างมันสมองหมู (3 ออนซ์ ประมาณ 100 กรัม) จะมีคอเลสเตอรอลมากถึง 1,866 มิลลิกรัม 

สำหรับในร่างกายมนุษย์พบว่า มีคอเลสเตอรอลอยู่ทั่วไปร่างกายและทุกอวัยวะ ดังนี้

แหล่งคอเลสเตอรอลของมนุษย์ (ร่างกายหนักประมาณ 70 กิโลกรัม)

 

เนื้อเยื้อ / อวัยวะ

คอเลสเตอรอล จำนวน(กรัม)

ทั่วร่างกาย (เปอร์เซ็นต์)

มันสมอง ระบบประสาท

ในเนื้อเยื้อ ของเหลวกล้ามเนื้อ

ผิวหนัง

เลือด

ไขกระดูก

ตับ

หัวใจ ปอด ไต ม้าม

ช่องทางเดินอาหาร

ต่อมอะดรินอล

กระดูกโครงสร้าง

ต่อมอื่นๆ

32.0

31.3

30.0

12.6

10.8

7.5

5.1

5.0

3.8

1.2

0.7

0.2

23

22

21

9

8

5

4

4

3

1

-

-

รวมทั้งร่างกาย

140.2

100

 

หมายเหตุ ค่าคอเลสเตอรอลวัดจากเลือดได้ง่ายที่สุด

ตัวอย่างของอวัยวะที่สามารถผลิตคอเลสเตอรอล ได้แก่ ตับ ลำไส้เล็ก ต่อมอะดรินัล สมอง แม้แต่รก (placenta)ในครรภ์ของมารดา ก็สามารถผลิตคอเลสเตอรอลสำหรับสร้างฮอร์โมนเพศเพื่อป้องกันไม่ให้ทารกในครรภ์แท้งก่อนกำหนดคลอด

มีตัวเลขโดยประมาณว่า จำนวนคอเลสเตอรอลที่ใช้หมุนเวียนซึ่งเกิดขึ้นจากการผลิตเองของร่างกาย บวกด้วยการบริโภคจากอาหาร กับลบด้วยจำนวนที่ใช้หมดไปของแต่ละบุคคลในแต่ละวันก็คือจำนวนที่เหลือหมุนเวียนเท่ากับ 1100 มิลลิกรัม ในจำนวนนี้มาจากการบริโภคอาหารเพียงวันละ 200 ถึง 300 มิลลิกรัมเท่านั้น หรือหมายความว่า คอเรสเตอรอลมาจากอาหารต่อวันไม่ถึง 30% 

  • วิธีที่จะไม่เพิ่มค่าคอเลสเตอรอลจากอาหารให้แก่ร่างกาย มีหลักการจำและเตือนตนเองดังนี้
    • อาหารใดที่ขึ้นมาจากดินโดยตรง เช่น พืช ผัก ผลไม้ กะทิ ทุเรียน แม้แต่น้ำมันที่คั้นออกมาจากพืช เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันถั่ว น้ำมันมะกอก จะไม่มีคอเลสเตอรอลอยู่ในอาหารนั้น แต่มีข้อยกเว้นในเรื่องน้ำมันและกะทิที่จะกล่าวถึงภายหลัง
    • อาหารใดที่ได้จากสัตว์ หรือกำเนิดมาจากสัตว์ก่อนจะส่งต่อมาถึงมนุษย์ จะมีคอเลสเตอรอลแฝงอยู่ด้วยเสมอทั้งสิ้น เช่น เนื้อสัตว์ น้ำมันจากเนื้อสัตว์ ไข่ นมวัว นมพร่องมันเนย (มีคอเลสเตอรอล 10 มิลลิกรัมต่อแก้ว 8 ออนซ์) หรือโยเกิร์ตก็มี 15 มิลลิกรัมต่อถ้วย รวมทั้งเนย (จากนม) ก็มี 30 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนโต๊ะ แต่เนย (จากถั่ว) จะมีจำนวนคอเลสเตอรอล 0 มิลลิกรัม
    • ร่างกายมีกลไกในการสังเคราะห์ หรือผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นมาใช้เองได้จากอาหารทั่วไปที่ไม่มีค่าคอเลสเตอรอลรอเลยก็ได้ แม้แต่จากอาหารที่มีต้นกำเนิดขึ้นมาจากดิน เช่น พืช ผัก ผลไม้ อย่างไรก็ดี ร่างกายกลับไม่มีกลไกยับยั้งการผลิตคอเลสเตอรอลจึงอาจมีการผลิตเกินความจำเป็นได้  

เงื่อนไขที่ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นเองเกินความจำเป็น มักเกิดจากปัจจัยดังนี้

  1. กินอาหารมากเกินความจำเป็น (in-take calories in excess of our body’s requirement)
  2. อาหารที่มีน้ำตาลปริมาณมาก มีไขมันอิ่มตัว (saturated fat) รวมทั้งเป็นไขมันจากเนื้อสัตว์และไขมันทรานส์ (trans fat)
  3. ความเครียด ความวิตกกังวลจะทำให้ต่อมอะดรินัล สร้างฮอร์โมนบังคับให้ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นมาเผื่อไว้ใช้ยามจำเป็น หรือบางครั้งมากเกินความจำเป็น
  • คอเลสเตอรอลในเลือด อาจจะถูกชักนำโดยการขนส่งพาไปทำลาย หรือพาไปเพิ่มจำนวนก็ได้ เครื่องมือขนส่งที่ว่านั้นมีชื่อว่า “ไลโปโปรตีน” (lipoprotein) เป็นสารประกอบโปรตีนผสมกับไขมันล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด ตัว lipoprotein ซึ่งเกิดจากส่วนผสมของไขมันและโปรตีนนั้น หากมีอัตราส่วนไขมันมากแต่โปรตีนน้อยเรียกว่าเป็น “ไลโปโปรตีน ความหนาแน่นต่ำ” นั้นคือ “low density lipoprotein” เรียกย่อๆ ว่า LDL  แต่หากมีอัตราส่วนของไขมันน้อยแต่โปรตีนมาก (เฉพาะโปรตีนมีเนื้อแน่นกว่าไขมัน) เรียกว่า “ไลโปโปรตีนความหนาแน่นสูง” นั่นคือ “high density lipoprotein” เรียกย่อๆ ว่า HDL

คอเลสเตอรอลที่เกาะ LDL หรือเรียกสั้นๆ ว่า LDL-Cholesterol หรือ LDL-c นั้น จะมีบทบาทช่วยกันขนส่งคอเลสเตอรอลจากตับออกไปแจกจ่ายจนทั่วร่างกาย LDL จึงถือว่า เป็นตัววายร้ายที่ไปเพิ่มค่าคอเลสเตอรอลในร่างกายให้สูงขึ้น

แต่คอเลสเตอรอลที่จับเกาะกับ HDL ซึ่งถูกเรียกว่า HDL-c จะมีบทบาทตรงกันข้ามกับ LDL-cd กล่าวคือ มันจะพากันจับคอเลสเตอรอลทั่วร่างกายกลับคืนไปให้ตับทำลาย (โดยผลิตเป็นน้ำดี) ฉะนั้น HDL จึงถือว่าเป็นพระเอกเพราะช่วยให้คอเลสเตอรอลทั่วร่างกายมีค่าลดลง และหาก HDL เพิ่มมากขึ้นเท่าใด ค่าคอเลสเตอรอลรวมจะลดลงได้มากเท่านั้น

Total cholesterol หรือค่าคอเลสเตอรอลรวมในปัจจุบันสามารถคำนวณได้จากสูตร

Total C              =          HDL + LDL + 20 % triglyceride

ค่าปกติของ Cholesterol

ผู้ใหญ่ / ผู้สูงอายุ             cholesterol :     < 200 mg/dL
เด็ก                               cholesterol   :     120-200 mg/dL

ค่าผิดปกติ

ในกรณีที่น้อยกว่าปกติ อาจแสดงผลว่า

  • ค่าคอเรสเตอรอลต่ำที่คนทั่วไปมักชอบ มีศัพท์แพทย์เรียกเป็นการเฉพาะว่า “hypocholesterolemia” ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าเกิดสภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) ก็ได้
  • อาจมีเซลล์ตับอักเสบ (Hepatitis)
  • อาจเกิดปัญหาท่อในถุงน้ำดีอุดตัน
  • อาจเกิดสภาวะโรคไต (Nephrotic syndrome)
  • อาจเกิดสภาวะดีซ่านจากถุงน้ำดีอุดตัน (Obstructive jaundice) ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้วถูกตับทิ้งออกทางท่อถุงน้ำดีไม่ได้จึงทำให้ค่า bilirubin ในเลือดสูงขึ้น มีผลต่อเนื่องทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง นั่นคือ อาการดีซ่าน แต่ขณะเดียวกันคอเลสเตอรอลก็มีค่าสูงขึ้นในกระแสเลือดเพราะทิ้งออกไม่ได้เช่นกัน
  • อาจเกิดโรคตับอ่อนอักเสบ จึงอาจผลิตเอนไซม์ย่อยอาหารไขมันและโปรตีนไม่ได้

คำแนะนำเพิ่มเติม

  • ค่า Total cholesterol ตัวเดียว อาจไม่ใช่ตัวบ่งชี้ที่แม่นยำในการวินิจฉัยสุขภาพ
  • เมื่อจะเจาะเลือดคราวใดก็สมควรจะได้ตรวจให้ครบ Lipid Profile คือ เอชดีแอล แอลดีแอล และไตรกลีเซอไรด์ ทุกครั้งจะดีกว่า

คำถามที่น่าสนใจ 

คำถาม: ความแตกต่างระหว่าง carotid dropper ultrasound กับ MRI คืออะไรคะ

คำตอบ: การตรวจวินิจฉัยภาวะเส้นเลือดแคโรติดตีบ (Carotid Atherosclerosis) นั้น สามารถทำได้หลายวิธี โดยวิธีที่นิยมใช้คือ การทำ Doppler Ultrasound หรือ MRI แต่หลายท่านอาจสงสัยว่าแบบใดดีกว่ากัน จะเปรียบเทียบอย่างง่ายดังนี้

  • หากสงสัยก้อน Plaque หรือก้อนไขมันขนาดราว 2-5 มิลลิเมตร การใช้ Doppler Ultrasound หรือ MRI ไม่ต่างกัน
  • หากสงสัยก้อนเล็กกว่า 2 มิลลิเมตร แนะนำให้ทำ MRI

แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการทำ MRI สูงกว่าการทำ Doppler Ultrasound และต้องมีการฉีดสี จึงแนะนำให้ทำ Doppler Ultrasound เบื้องต้นก่อน แล้วทำ MRI แต่คุณหมอบางท่าน อาจพิจารณาทำ MRI ไปเลยก็ได้


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
"Pediatric Cardiovascular Risk Reduction Guidelines - NHLBI, NIH". Archived from the original on 2012-11-16.
National Cholesterol Education Program (Ncep) Expert Panel On Detection, E. (2002). "Third Report of the National Cholesterol Education Program (NCEP) Expert Panel on Detection, Evaluation, and Treatment of High Blood Cholesterol in Adults (Adult Treatment Panel III) final report". Circulation. 106 (25): 3143–3421. PMID 12485966.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป