ชนิดโรคเบาหวาน อาการ และ เป้าหมายการรักษา

ชนิดโรคเบาหวาน อาการ
เผยแพร่ครั้งแรก 15 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ชนิดโรคเบาหวาน อาการ และ เป้าหมายการรักษา
โรคเบาหวาน เป็นโรคที่พบบ่อยมาก เนื่องจากอาหารการกินในปัจจุบันมีของหวานเยอะ ผสมน้ำตาลสูง ผสมกับขาดการออกกำลังกาย ทำให้เป็นโรคเบาหวานในที่สุด แต่ผลกระทบของโรคเบามีด้วยกันมากมาย จึงควรทำความเข้าใจเพื่อป้องกันไว้ตั้งแต่ยังไม่เป็น

โรคเบาหวานคืออะไร?

โรคเบาหวาน คือ ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป เพราะเซลล์ร่างกายขาด หรือพร่องอินซูลิน หรืออินซูลินด้อยคุณภาพจึงไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ น้ำตาลที่มากเกินไปนี้จะถูกขับออกทางไต ส่วนเซลล์ที่ไม่สามารถดึงน้ำตาลไปใช้ได้ก็จะเสื่อมเร็ว และทำให้ร่างกายเหนื่อยอ่อน 

อินซูลิน คือ ฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อนซึ่งเป็นตัวนำน้ำตาลกลูโคสจากกระแสเลือดเข้าไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ หากมีโรคของตับอ่อนจะส่งผลต่อการหลั่งอินซูลินได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อาการของโรคเบาหวาน

เนื่องจากเซลล์ร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานขาดกลูโคสที่จะไปใช้เป็นพลังงาน จึงทำให้เหน็ดเหนื่อยง่าย และหิวบ่อย ส่วนกลูโคสในเลือดก็ต้องขับทิ้งไปทางไต ซึ่งออกมากับปัสสาวะ จึงทำให้ปัสสาวะบ่อยร่างกายก็ต้องการน้ำเข้าไปชดเชย ผู้ป่วยจึงมีอาการดังนี้

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลินจะมีอาการดังกล่าวรุนแรงและชัดเจนส่วนเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินจะมีอาการช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว ก็จะมีอาการเบื้องต้นเหล่านี้ร่วมกับอาการแทรกซ้อน

กลุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน

  1. ทุกคน ทุกวัย ที่ทานอาหารตามใจปาก จะมีโอกาสเป็นเบาหวานมาก
  2. ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
  3. มีพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน

โรคเบาหวานมี 4 ประเภท คือ

  1. เบาหวานประเภทที่ 1 ต้องพึ่งอินซูลิน
  2. เบาหวานประเภทที่ 2 ไม่พึ่งอินซูลิน
  3. เบาหวานจากโรคของตับอ่อน หรือจากโรคทางต่อมไร้ท่อ
  4. เบาหวานที่เกิดกับคนตั้งครรภ์

เบาหวานประเภทที่ 1 ชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน

  • เบาหวานชนิดนี้ พบได้ร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยเบาหวาน มักจะเกิดกับคนที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี ผู้ป่วยจะมีรูปร่างที่ผอมมาก
  • มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินอย่างมาก หรืออย่างโดยสิ้นเชิง เนื่องจากตับอ่อนมีออโต้อิมมูนต่อเซลล์ที่สร้างอินซูลิน ทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้นมากเรื่อยๆ แต่เซลล์ขาดกลูโคส
  • มีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม โดยพบบ่อย'ในผู้ป่วยที่มีลักษณะเนื้อเยื่อชนิดดีอาร์สามและดีอาร์สี่
  • ร่างกายต้องหาพลังงานจากการสลายโปรตีนและไขมัน ซึ่งได้ผลิตผลเป็นสารคีโตนที่เป็นกรดพิษต่อร่างกาย ทำให้เกิดภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโตน มีอาการหายใจหอบลึก คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังแห้ง ชีพจรเต้นเร็ว ปวดท้อง และระดับความรู้สึกตัวจะค่อยๆ ลดลง อาการนั้นรุนแรงและฉับพลัน หากเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แล้วผู้ป่วยเองไม่รู้เท่าทันโรค อาจทำให้ผู้ป่วยถึงกับเสียชีวิตได้
  • เกิดโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานได้ง่าย
  • รักษาด้วยการฉีดอินซูลินทุกวัน ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโตน
  • เบาหวานประเภทที่ 2 ชนิดไม่พึ่งอินซูลิน
  • เบาหวานชนิดนี้พบได้ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยเบาหวาน มักจะเกิดกับคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และมักจะอ้วนมาก่อน กลุ่มนี้ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี จะมีโอกาสเกิดภาวะคีโตนคั่งในเลือดได้เหมือนกัน แต่พบไม่บ่อย
  • มีสาเหตุมาจากตับอ่อนเหนื่อยล้า ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ หรือผลิตอินซูลินที่คุณภาพไม่ดีออกมา
  • มักมีประวัติเบาหวานในครอบครัว
  • รักษาด้วยยารับประทาน แต่เมื่อน้ำตาลขึ้นสูงมากจนยาเอาไม่ค่อยอยู่แล้ว จึงฉีดอินซูลินร่วมด้วย
  • เกิดโรคแทรกซ้อนได้ยากกว่ากลุ่มแรก

เป้าหมายการรักษาโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานทั้งชนิดพึ่งอินซูลินและไม่พึ่งอินซูลิน จะมีเป้าหมายการควบคุมรักษาโรคให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยใกล้เคียงกัน ทำได้ก็จะลดการเกิดโรคแทรกซ้อนได้

เป้าหมายที่ใช้กันบ่อย เช่น ตรวจทุกครั้ง หรือบ่อยครั้งที่พบแพทย์

  1. น้ำตาลก่อนอาหาร ควรอยู่ระหว่าง 90-130 มก./ดล. นิยมใช้ค่าน้ำตาลก่อนอาหารมาวินิจฉัยโรคเบาหวานโดย 126 มก./ดล. ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน และถ้า 100-125 มก./ดล. ถือว่าเป็นภาวะดื้ออินซูลินซึ่งภายหลังต่อมาจะเป็นโรคเบาหวานได้ ถ้าไม่ระวังน้ำตาลจากอาหาร
  2. ความดันโลหิต น้อยกว่า 130/80 มม. ปรอท

เป้าหมายที่ตรวจในบางครั้ง/ราย

  • น้ำตาลหลังอาหาร 2 ชั่วโมง ซึ่งควรน้อยกว่า 180 มก./ดล.
  • น้ำตาลที่ตรวจโดยไม่อดอาหาร คนปกติจะน้อยกว่า 140 มก./ดล. ถ้า 200 มก./ดล. ขึ้นไปถือว่าเป็นเบาหวาน แต่การวัดน้ำตาลโดยไม่อดอาหารนั้นไม่นิยมเอามาเป็นเป้าหมายติดตาม เพราะค่าจะแกว่งไปตามอาหารอย่างมาก แต่ก็อาจต้องใช้ติดตามในผู้ป่วยบางรายที่น้ำตาลขึ้นสูงมาก และมีกิจกรรมมาก มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมาก หรือต่ำมาก เป็นต้น

เป้าหมายที่ตรวจประมาณ ทุก 3 เดือน

  • น้ำตาลเฉลี่ย HbA1C น้อยกว่า 7% โดยคนปกติจะมีค่านี้อยู่ที่น้อยกว่า 5.7
  • คอเลสเตอรอล น้อยกว่า 180 มก./ดล.
  • เอช ดี แอล คอเลสเตอรอล (ไขมันดี) มากกว่า 40 มก./ดล.
  • แอล ดี แอล คอเลสเตอรอล (ไขมันเลว) น้อยกว่า 100 มก./ดล.
  • ไตรกลีเซอไรด์ น้อยกว่า 150 มก./ดล.
  • ดัชนีมวลกาย น้อยกว่า 23 กก./ตร.

เป้าหมายอาจแตกต่างไปบ้างเล็กน้อย ในผู้ป่วยแต่ละสภาพ หรือวัย เช่น สูงอายุ หรือหญิงตั้งครรภ์


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)