กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

วัณโรค 1 ใน 10 โรคติดต่อร้ายแรงที่ก่อให้เกิดการสูญเสีย

วัณโรค โรคติดต่อที่ติดอันดับการคร่าชีวิตคนมากกว่า 3 ล้านคนต่อปี
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 13 พ.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 20 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 10 นาที
วัณโรค 1 ใน 10 โรคติดต่อร้ายแรงที่ก่อให้เกิดการสูญเสีย

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • วัณโรค คือ โรคติดเชื้อที่สามารถติดต่อถึงกันได้โดยการสูดเอาอากาศที่มีเชื้อโรคเข้าไป อีกทั้งเป็นหนึ่งใน 10 อันดับโรคที่เป็นสาเหตุทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตด้วย
  • เชื้อวัณโรคสามารถติดต่อหากันได้ผ่านน้ำลาย ละอองเสมหะจากการไอ หรือจาม และวัณโรคยังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกอวัยวะบนร่างกายด้วย ไม่ใช่แค่ที่ปอดอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด
  • วัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 6 เดือน – 2 ปี นอกจากนี้ ความร้ายแรงของวัณโรคยังสามารถลุกลามถึงขั้นเข้าไปในกระแสเลือด และไปฝังตัวอยู่ที่กระดูกสันหลังจนทำให้กระดูกสันหลังงอ คด และหักได้
  • ผู้ป่วยวัณโรคควรเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านเท่านั้น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น อีกทั้งผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคยังต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายด้วย เนื่องจากเชื้อวัณโรคสามารถติดต่อถึงกันได้ง่าย แม้จะแค่พูดคุยใกล้กัน
  • วัณโรคถือเป็นโรคร้ายแรงที่คุณไม่ควรมองข้าม โดยอวัยวะที่มักจะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ปอด หากคุณมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกมาก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอาการทันที (ดูแพ็กเกจตรวจปอดได้ที่นี่)

วัณโรค เป็นโรคติดเชื้อที่ติดต่อโดยการสูดเอาอากาศที่มีตัวเชื้อวัณโรคเข้าไป ถึงแม้ว่าวัณโรคจะสามารถป้องกันและรักษาได้ แต่วัณโรคยังคงอยู่ใน 10 อันดับแรกของสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา) จากการสำรวจครั้งล่าสุดขององค์การอนามัยโลกในปี 2560 และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยใน 1 ปี จะมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านคนและเสียชีวิตประมาณ 3 ล้านคนต่อไป

ความหมายของวัณโรค

วัณโรค (Tuberculosis: TB) เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังที่เกิดจากแบคทีเรียเอ็มทีบีซี (Mycobacterium Tuberculosis Complex: MTBC) โดยส่วนมากจะเกิดการติดเชื้อบริเวณปอด ที่เรียกว่า "วัณโรคปอด" แต่ก็สามารถเกิดได้กับทุกอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก สมอง และลำไส้ 

ในสมัยก่อนนั้น เนื่องจากวิวัฒนาการทางการแพทย์ยังไม่พัฒนา ผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคจึงมักจะเสียชีวิต แต่ในปัจจุบันด้วยการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้น จึงทำให้สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยา

วัณโรคนั้นแตกต่างจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆ เนื่องจากเชื้อสามารถอยู่ในร่างกายผู้ป่วยได้เป็นเวลานาน โดยไม่แสดงอาการแต่อย่างใด ซึ่งเรียกว่า "วัณโรคระยะแฝง" โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคระยะแฝงอยู่ประมาณ 2,000 ล้านคน และสถิติโดยเฉลี่ยแล้ว 10% ของผู้ป่วยระยะนี้จะพัฒนาไปเป็นวัณโรคปอดภายใน 10 ปี

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัณโรค

เมื่อพูดถึงวัณโรค คนทั่วไปมักจะนึกถึงโรคปอดเป็นหลัก ซึ่งก็หมายถึง วัณโรคที่เกิดขึ้นที่ปอด แต่ความจริงแล้ว วัณโรคอาจเป็นได้ในทุกๆ อวัยวะของร่างกาย เช่น ลำไส้ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ผิวหนังเละเยื่อหุ้มสมอง 

ลักษณะของเชื้อวัณโรค

เชื้อวัณโรคจัดเป็นเชื้อแบคทีเรียรูปแท่ง (bacilli) ย้อมติดสีทนกรด (acid fast) มีความคงทนต่อความแห้งได้ดี และสามารถแขวนอยู่กับฝุ่นละอองได้นาน เชื้อวัณโรคจะออกจากร่างกายของผู้ป่วยทางเสมหะ และละอองเสมหะ หรือน้ำลายจากการไอ หรือจาม หรืออาจออกมากับน้ำหนอง ในกรณีป่วยเป็นวัณโรคของต่อมน้ำเหลือง หรือผิวหนัง การติดต่อของโรคจะติดต่อทางลมหายใจสูดดมเอาฝุ่นละอองหรือละอองเสมหะ ที่มีตัวเชื้อโรคแขวนอยู่

การฟักตัวของเชื้อวัณโรค

เชื้อวัณโรคมักไปฟักตัวอยู่ที่ปอดกลีบบน (ซึ่งสาเหตุว่าทำไมจึงพบที่บริเวณดังกล่าวยังไม่ทราบแน่ชัด) แต่เชื้อวัณโรคสามารถฟักตัวที่บริเวณอื่นของปอดได้เช่นกัน โดยปกติจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 3 สัปดาห์ ถึง 2 ปี และในระยะเริ่มแรกจะทำให้เกิดการติดเชื้อเล็กน้อย ซึ่งแทบจะไม่มีอาการปรากฏให้เห็น

การติดต่อของวัณโรค

วัณโรค เป็นโรคติดต่อทางการหายใจ โดยปกติเชื้อจะแพร่จากตัวผู้ป่วยไปสู่บุคคลอื่นทางละอองเสมหะขนาดเล็ก ซึ่งอาจเกิดจากการไอ จาม หรือพูด ซึ่งละอองเสมหะเหล่านี้ สามารถมีชีวิตลอยอยู่ในอากาศหลายชั่วโมง และเมื่อมีผู้สูดเข้าไป เชื้อจะเข้าไปจนถึงถุงลมปอด และเกิดการอักเสบ ซึ่งพบว่าการไอ 1 ครั้งนั้น สามารถก่อให้เกิดละอองเสมหะมากถึง 3,000 ละอองเสมหะ

หลังจากวัณโรคเข้าสู่ถุงลมปอด

ในระยะแรกนั้น เมื่อเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายแล้ว ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมาทางกายภาพ และยังไม่สามารถตรวจพบ ต้องรอหลังจากนั้นประมาณ 4 สัปดาห์ ร่างกายจะเริ่มมีปฏิกริยากับตัวเชื้อ

โดยปกติในร่างกายของคนที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงก็ย่อมสามารถควบคุมเชื้อวัณโรคให้สงบนิ่งได้ โดยเรียกระยะนี้ว่า "ระยะแฝง" ซึ่งจะไม่มีอาการของโรค และยังไม่แพร่เชื้อ แต่ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือในผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กมากจะไม่สามารถควบคุมเชื้อให้สงบนิ่งได้ ทำให้เกิด "วัณโรคปฐมภูมิ" คือ วัณโรคที่แสดงอาการตั้งแต่ครั้งแรกที่ติดเชื้อ

อาการแสดงของวัณโรคปอด

วัณโรคปอดจะมีการแสดงอาการตามระยะความร้ายแรงของโรค 

  • ระยะแรกจะมีการไอแห้งๆ อย่างเดียว อาการจะมากขึ้นเมื่อเนื้อปอดเป็นโรคมากขึ้น 
  • ระยะต่อมาไอจะมีเสมหะติดออกมาด้วย และมักจะมีอาการไข้ต่ำๆ โดยเฉพาะในเวลาเย็น และกลางคืน 
  • ระยะที่เป็นโรคมาก อาจมีอาการหายใจหอบ และไอมีเสมหะติดเลือดปนด้วย จนถึงขั้นไอเป็นลิ่มเลือดได้ 
  • หากเชื้อลามไปติดที่เยื่อหุ้มปอดแล้ว อาจมีน้ำเกิดขึ้นในช่องปอด และมีอาการเจ็บอก น้ำที่เกิดในช่องปอดนี้จะทำให้อาการหอบเกิดมากขึ้น

อาการสำคัญของผู้ป่วยวัณโรคปอด ได้แก่ 

  • ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการไอ ที่นานมากกว่า 3 สัปดาห์ โดยอาการเริ่มต้นจะเริ่มไอแห้งๆ ก่อน ต่อมาจะเริ่มมีเสมหะจนอาจไอเป็นเลือดได้ 
  • อ่อนเพลีย 
  • รู้สึกเบื่ออาหาร 
  • น้ำหนักตัวลดลง 
  • มีเหงื่อออกมากในตอนกลางคืน

อาการของวัณโรคบริเวณอวัยวะอื่น

วัณโรคบริเวณอวัยวะอื่นที่พบบ่อยมักจะเป็นที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ต่อมจะโตมากขึ้นจนกลายเป็นฝี และแตกมีน้ำหนองซึมออกมาได้ ถ้าเป็นที่เยื่อหุ้มสมองจะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้คอแข็ง และมีอาการทางสมองเกิดขึ้นด้วย

วัณโรคกระดูกสันหลังเป็นอีกอวัยวะที่พบการติดเชื้อได้บ่อย โดยเชื้อจะมาทางระบบไหลเวียนโลหิตแล้วมาฝังตัวที่บริเวณกระดูกสันหลัง จากนั้นเชื้อจะค่อยๆ เติบโตจนทำให้กระดูกสันหลังงอหรือคด หรือถึงขั้นหักได้

การรักษาจะต้องรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น ด้วยการปรึกษาแพทย์ที่ศูนย์วัณโรคปอดที่โรงพยาบาล หรือคลินิกแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคที่รักษาหายขาดได้ แต่ต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 2 ปี ผู้ป่วยจึงต้องมีความอดทนโดยปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรหยุดการรักษาเองโดยแพทย์ไม่ได้สั่ง

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยวัณโรคนั้น ทำโดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่

  1. เอกซเรย์ปอด ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ตรวจพบความผิดปกติของปอดที่เข้าได้กับลักษณะของวัณโรคปอด ได้แก่ การพบลักษณะฝ้าขาวหรือลักษณะโพรงของปอดที่ปอดกลีบบน หรือพบการโตขึ้นของต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอด
  2. การย้อมสีวัณโรคจากเสมหะ วิธีจะทำในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นวัณโรคปอด ได้รับการยืนยันจากการวินิจฉัย โดยจะใช้การเก็บเสมหะตอนตื่นนอน 3 วันติดต่อกัน ซึ่งจะทำให้สามารถรู้ผลการตรวจภายใน 30 นาที แต่มีข้อเสียคือ วิธีนี้มีโอกาสตรวจพบเชื้อวัณโรคได้เพียง 60-70 %ของผู้ป่วยเท่านั้นเอง ดังนั้น หากผู้ป่วยที่เคยตรวจวัณโรคโดยวิธีนี้แล้วไม่พบการติดเชื้อวัณโรคในเสมหะ ก็ยังไม่อาจยันยืนได้ว่าเป็นวัณโรคปอดหรือไม่
  3. การเพาะเชื้อวัณโรคจากเสมหะ ข้อดีของการใช้วิธีนี้คือ สามารถตรวจพบเชื้อได้สูงถึง 80–90% แต่ข้อเสียคือ ใช้ระยะนานเกินไป ต้องใช้เวลานานถึง 2 เดือนจึงจะทราบผล

วิธีสังเกตและวินิจฉัยอาการผู้ป่วย 

  • ขั้นตอนที่ 1: ให้สังเกตผู้ป่วยว่าลักษณะอาการตรงตามอาการของผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคหรือไม่ เช่น ไอเรื้อรังติดต่อกันเกิน 3 อาทิตย์ และมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักตัวลด 
  • ขั้นตอนที่ 2: หากผู้ป่วยมีอาการตรงกับลักษณะผู้ป่วยเป็นวัณโรค แพทย์จะทำการเอ็กซเรย์ปอดต่อไป
  • ขั้นตอนที่ 3: หากพบอาการผิดปกติที่ปอดที่ตรงตามกับลักษณะของวัณโรค แพทย์ก็จะให้ผู้ป่วยเก็บเสมหะ ตรวจย้อมเชื้อวัณโรค ซึ่งถ้าพบเชื้อวัณโรค ก็สามารถวินิจฉัยได้อย่างแน่นอน 

แต่เมื่อย้อมสีวัณโรคด้วยเสมหะแล้ว หากไม่พบเชื้อวัณโรค แพทย์อาจให้การวินิจฉัย และให้การรักษาแบบวัณโรคปอดได้ แต่ต้องติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ข้อควรปฏิบัติตัวของผู้ป่วยวัณโรค

  1. รับประทานยาวัณโรค ตามที่แพทย์แนะนำจนครบกำหนด เพื่อป้องกันเชื้อวัณโรคเกิดการดื้อยา ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการผิดปกติหลังจากเริ่มรับประทานยาวัณโรค เช่น อาเจียน ปวดข้อ มีผื่น และปวดข้อ ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อปรับยาให้เหมาะสม และต้องไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอด้วย 
  2. ผู้ป่วยควรอยู่แต่เฉพาะในบ้านเท่านั้น ในช่วงแรกของการรักษา โดยเฉพาะในช่วง 2 อาทิตย์แรกนั้นถือว่าเป็นระยะแพร่เชื้อ และผู้ป่วยควรอยู่ในห้องที่แสงแดดส่องถึง และมีอากาศถ่ายเทสะดวก และควรแยกห้องนอนต่างหาก ไม่ควรออกไปในที่ชุมชน และแออัด หากมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ควรสวมหน้ากากควรสวมหน้ากากอนามัยด้วย
  3. ปิดปากทุกครั้งเวลาไอหรือจาม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
  4. งดสิ่งเสพติดทุกชนิด เช่น เหล้า บุหรี่ 
  5. หันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เช่น ผัก ผลไม้ ไข่ และเนื้อสัตว์ อีกทั้งยังควรพักผ่อนให้เพียงพออีกด้วย
  6. ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายและเอ็กซเรย์ปอดด้วย ซึ่งในผู้ใหญ่นั้นหากเอ็กซเรย์แล้ว ไม่พบความผิดปกติของปอด จะถือว่าไม่เป็นวัณโรค ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา แต่ถ้าในเด็กเล็ก ถึงแม้จะไม่มีอาการผิดปกติ และหลังจากเอ็กซเรย์แล้วไม่พบความผิดปกติของปอด ยังต้องมีการตรวจเพิ่มเติม ซึ่งเรียกว่า "การตรวจทูเบอร์คูลีน (Tuberculin skin test)" ถ้าผลออกมากเป็นบวก แพทย์จึงจะให้การรักษาวัณโรค

การป้องกันวัณโรค

  1. การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด และควรตรวจเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี
  2. ฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) ให้ทารกแรกเกิดทุกราย ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ สามารถป้องกันวัณโรคชนิดรุนแรงในเด็กเล็กได้ แต่ไม่มีผลในการป้องกันวัณโรคปอดสำหรับผู้ใหญ่ ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนบีซีจีมาแล้ว ก็ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอดได้
  3. รีบพบแพทย์โดยด่วน ถ้าหากมีอาการผิดปกติและสงสัยว่าเป็นวัณโรค เช่น มีอาการไอเรื้อรังมากกว่า 3 อาทิตย์ มีไข้ เจ็บชายโครง (โดยเฉพาะตอนหายใจเข้า) เหงื่อออกตอนกลางคืน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด 

จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลหรือไม่?

ในขั้นตอนของการรักษานั้นผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ส่วนในกรณีของผู้ที่มีเชื้อแบคทีเรียน้อย คือ ตรวจย้อมเสมหะแล้วไม่พบเชื้อวัณโรค แต่ยังมีเชื้ออยู่ในเสมหะ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่ค่อยแพร่เชื้อ แต่ก็ยังต้องมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาตามมาตรฐาน

การรักษาวัณโรค แบ่งออกเป็น 2 ระยะ

1. ระยะเข้มข้น

เป็นช่วง 2 เดือนแรกของการรักษา ช่วงนี้จะใช้ตัวยา 4 ชนิด ซึ่งตัวยาอาจจะอยู่ในยาแยกเม็ด หรือยารวมอยู่ในเม็ดเดียวกัน ระยะเข้มข้นนี้เป็นระยะสำคัญมาก เพราะจะช่วยลดปริมาณของเชื้อวัณโรคในปอดได้มากที่สุด และช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อด้วย

2. ระยะต่อเนื่อง 

ในช่วง 4 เดือนต่อมา การรักษาจะใช้ยา 2 ชนิด เพื่อกำจัดเชื้อวัณโรคที่เหลืออยู่ ซึ่งตัวยาอาจจะอยู่ในรูปของยาแยกเม็ด หรือยารวมอยู่ในเม็ดเดียวกันเช่นกัน หากกินยาตามสูตรนี้ ก็จะช่วยรักษาวัณโรคได้ สิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง 

หากผู้ป่วยรับประทานยาไม่ครบ เชื้อวัณโรคอาจเกิดการพัฒนา และทำให้เกิดการดื้อยาในที่สุด ทำให้ต้องรักษาด้วยยาราคาแพง และใช้ระยะเวลาในการรักษานานกว่า 18 เดือน และอาจจะเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาเพิ่มมากขึ้น ยิ่งถ้าหากเชื้อที่ดื้อยานี้แพร่ออกไป ก็จะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อรักษาได้ยากมากขึ้นไปอีก

อวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากวัณโรค

อาการที่พบมากที่สุด คือวัณโรคที่เป็นที่ปอด แต่อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อยังสามารถแพร่กระจายผ่านกระแสเลือด ไปสู่อวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ ทำให้เยื้อหุ้มสมองอักเสบ หรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น

  • กระดูก 
  • ไต 
  • ระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะเพศ 
  • ลำไส้ 
  • ผิวหนัง 
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณปอดและลำคอ 

และในบางครั้งอาจพบเยื้อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค ในเด็กที่เพิ่งรับเชื้อใหม่ ซึ่งเป็นอาการที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

ควรไปพบแพทย์เมื่อใด

หากพบว่ามีอาการไอติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ หรือไอมีเสมหะปนเลือด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และทำการรักษาก่อนที่อาการจะลุกลามมากกว่าเดิม พร้อมกันนี้ หลังจากผู้ป่วยสูดดมเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ โดยมีเพียง 1 ใน 10 ของผู้รับเชื้อที่จะมีโอกาสติดเชื้อ 

เชื้อแบคทีเรียจะแพร่กระจายผ่านทางกระแสเลือด หากคุณเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันโรคดี ส่วนใหญ่การติดเชื้อก็จะกลายเป็นแค่การมีเชื้ออยู่เท่านั้น เชื้อวัณโรคจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นหลายเดือน หรือหลายปี ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้เกิดโรคขึ้นได้ในหลายอวัยวะ หากภูมิต้านทานโรคอ่อนแอลง เชื้อจะเริ่มทำลายเซลล์ที่อยู่รอบๆ ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะเริ่มมีอาการ

วัณโรค เป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพอย่างมาก และเป็นโรคเรื้อรัง แต่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ การรับประทานยาให้สม่ำเสมอ และการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ตามคำแนะนำของแพทย์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

Q&A

ถึงแม้เราจะไม่ตรวจพบเชื้อวัณโรค แต่ก็ยังต้องรับประทานยาวัณโรคให้ครบ 6 เดือนใช่ไหมคะ?

คำตอบ: ถูกต้องแล้วค่ะ การรักษาวัณโรคจำเป็นต้องใช้ยาอย่างเคร่งครัด รับประทานทุกวันอย่างต่อเนื่องถึงแม้จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นหรือไม่มีอาการแล้วก็ตาม และห้าม เพิ่ม ลด หรือหยุดยาเองโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ค่ะ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังควรดูแลตัวเอง และป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นด้วย 
ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

ถ้าเราต้องทำงานร่วมกับคนป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อ รวมถึงต้องกินยาต่ออีก 6 เดือนด้วย เราสามารถปัองกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อได้อย่างไรบ้างคะ?

คำตอบ: ปิดปากเวลาไอจาม ใส่หน้ากาก ทั้งตัวผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิด ล้างมือบ่อยๆ แยกสิ่งของเครื่องใช้ สำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือในการกินยาของผู้ป่วยเองครับ 
ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)

คุณแม่ป่วยเป็นโรคปอด แล้วคุณหมอวินิจฉัยว่าคุณแม่เป็นวัณโรค พอทานยารักษาเกี่ยวกับวัณโรคแล้วมีอาการข้างเคียงคือ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เราควรให้คุณแม่หยุดยาดีมั้ย หรือควรแก้ปัญหาอย่างไรดี?

คำตอบ: เป็นผลข้างเคียงของยาค่ะ ถ้าอาเจียนจนกินไม่ได้เลยควรไปโรงพยาบาลนะคะ แพทย์จะพิจารณา ให้นอนโรงพยาบาลให้น้ำเกลือช่วยค่ะ 
ตอบโดย วลีรักษ์ จันทร (พว.)

คำตอบ 2: อาจจะต้องไปตรวจ ที่โรงพยาบาลนะคะ เนื่องจากยาวัณโรค ถ้ารับประทานทานแล้ว มีคลื่นไส้ อาเจียน เยอะ อาจจะมีค่าตับผิดปกติได้ ในบางรายอาจจะต้องหยุดยา ที่ทำให้ค่าตับขึ้น หรือเปลี่ยนสูตรยาไปเลยค่ะ แต่ยังไงก็แนะนำให้ไปตรวจยิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งดีค่ะ
ตอบโดย Nawaporn Le. (Dr.)

คำตอบ 3: ควรรับประทานยาให้ครบตามกำหนดค่ะ เพื่อไม่ให้เกิดการดื้อยา ถ้ามีอาการจากผลข้างเคียงมาก แนะนำให้ปรึกษาหมอที่ดูแลค่ะ จะได้มีการปรับยาหรือให้ยาแก้อาการเหล่านั้น
ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)

กินยาวัณโรคแล้วมีผื่นขึ้น ควรทำอย่างไรดีคะ?

คำตอบ: อาจเป็นอาการแพ้ยาวัณโรค ควรงดยา แล้วรีบกลับไปพบแพทย์ที่ให้การรักษาอยู่ เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนอีกครั้งครับ
ตอบโดย Dr.Chaiwat J. (หมอเปี๊ยก) (นพ.) 

วัณโรค ถ้าเป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นอีกได้หรือไม่คะ แล้วอะไรเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญที่สุด?

คำตอบ: วัณโรคเกิดจากการติดเชื้อ แบคทีเรีย โดยทั่วไปสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยวัณโรคกลับเป็นซ้ำ (Relapse) ได้ด้วย ขึ้นกับสาเหตุต่างๆ เช่น สภาพความแข็งแรงของผู้ป่วย สภาพแวดล้อม ฯลฯ ดังนั้น แม้รักษาหายขาดแล้ว แพทย์ก็จะนัดมาติดตามเป็นระยะๆ ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษา ได้รับยาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปแล้ว โอกาสแพร่เชื้อจะน้อยมาก 

แน่นอนว่าการติดเชื้อวัณโรค จะขึ้นกับความแข็งแรงของแต่ละบุคคลด้วย เพราะถ้าร่างกายแข็งแรง และเคยได้รับวัคซีนบีซีจีตั้งแต่เกิด แล้ว ร่างกายก็สามารถกำจัด จัดการกับเชื้อวัณโรคได้
ตอบโดย Dr.Chaiwat J. (หมอเปี๊ยก) (นพ.)

คำตอบ 2: สามารถกลับมาเป็นได้ครับ ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ คนป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ต่อเนื่อง แล้วไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)

คนป่วยเป็นวัณโรคบางรายที่มีอาการปวดตามข้อ แล้วมีอาการบวมร่วมด้วย สาเหตุเกิดมาจากอะไรคะ?

คำตอบ: การปวดข้ออาจเกิดจากยารักษาวัณโรคบางตัวได้ครับ
ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)

ถ้าเราต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรควัณโรคปอด และผู้ป่วยไม่ได้ปิดปากตลอดเวลา อยากทราบว่าเราเสี่ยงที่จะติดโรคนี้มากไหมคะ และการติดนั้นขึ้นกับสภาวะร่างกายเราด้วยไหมคะ?

คำตอบ: ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษา ได้รับยาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปแล้ว โอกาสแพร่เชื้อจะน้อยมาก ไม่ต้องเป็นกังวลครับ และแน่นอนว่าการติดเชื้อวัณโรค ขึ้นกับความแข็งแรงของแต่ละบุคคลด้วย เพราะถ้าร่างกายแข็งแรง และเคยได้รับวัคซีนบีซีจีตั้งแต่เกิดแล้ว ร่างกายก็สามารถกำจัด และจัดการกับเชื้อวัณโรคได้
ตอบโดย Dr.Chaiwat J.(หมอเปี๊ยก) (นพ.)

คำตอบ 2: ถือว่าเสี่ยงมาก ทั้งนี้การได้รับเชื้อมาอาจจะยังไม่ป่วยในทันที แต่หากร่างกายอ่อนแอลง ก็จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคมากขึ้น
ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)

ถ้าหมอบอกว่ากำลังใกล้จะเป็นวัณโรคระยะ 3 แล้ว แสดงว่าอันตรายมากมั้ย แล้วรักษาหายได้อยู่มั้ยคะ?

คำตอบ: วัณโรคระยะ 3 คือระยะ Active TB ซึ่งหมายความว่า เป็นระยะที่แสดงอาการออกมา และสามารถแพร่เชื้อได้ วัณโรคสามารถรักษาหายได้ค่ะ ถ้ากินยาปฏิชีวนะครบตามระยะเวลาที่แพทย์สั่ง แต่ถ้าไม่รักษาก็อันตรายถึงชีวิตได้เช่นกันค่ะ
ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)

ยารักษาวัณโรคมีผลต่อเด็กในครรภ์มากแค่ไหนคะ?

คำตอบ: สำหรับการใช้ยาวัณโรคในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรนะคะ ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร สามารถให้การรักษาเหมือนคนทั่วไป คือ 2HRZE/4HR เนื่องจาก first-line anti-TB drugs ทุกตัวปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) ซึ่งทำให้เกิดพิษต่อหูกับเด็กในครรภ์ได้ จึงห้ามให้ในหญิงตั้งครรภ์ค่ะ ส่วนหญิงที่ให้นมบุตรเอง สามารถให้นมบุตรและอยู่ร่วมกันกับบุตรได้ และควรรับประทานยาต้านวัณโรค ใช้ผ้าปิดปากเวลาไอจาม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคด้วย
ตอบโดย Nawaporn Le. (Dr.)

คำตอบ 2: ยาวัณโรคมีผลต่อเด็กในครรภ์ค่ะ โดยมียาบางชนิดและยาปฏิชีวนะที่ไม่ควรจะได้รับในระหว่างตั้งครรภ์คือ 

  • คานามัยซิน (Kanamycin)
  • เอไทโอนาไมด์ (Ethionamide)
  • ไซโคลเซอรีน (Cycloserine) 
  • สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin)
  • อะมิคาซิน (Amikacin) 
  • ไซโปรปลอกซาซิน (Ciprofloxacin)
  • สปาร์ฟลอกซาซิน (Sparfloxacin)
  • ลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin)
  • ออฟลอกซาซิน (Ofloxacin)
  • คาพรีโอไมซิน (Capreomycin)

การรักษาจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 
ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
พงศ์เทพ ธีระวิทย์, วัณโรคปอด (Pulmonary tuberculosis) (https://med.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/medicinebook1/TB.pdf)
Marcel A Behr and Paul H Edelstein, Revisiting the timetable of tuberculosis. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/30139910), 23 August 2018
Nicole Fogel, Tuberculosis: a disease without boundaries. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26198113), Sep 2015

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป