กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

รวม 8 สาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกคลื่นไส้

อาการคลื่นไส้ หากนานๆ เกิดขึ้นครั้งก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอะไร แต่หากคลื่นไส้ตลอดเวลา ก็ควรหันกลับมาดูแลตัวเองอย่างจริงจัง
เผยแพร่ครั้งแรก 19 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
รวม 8 สาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกคลื่นไส้

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนนานๆ ครั้ง เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป แต่ถ้ารู้สึกคลื่นไส้เกือบตลอดเวลาจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ก็ควรหันกลับมาดูแลตัวเองอย่างจริงจัง
  • อาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นหนึ่งในอาการที่พบบ่อยในผู้หญิงตั้งครรภ์ เรียกอาการนี้ว่า “แพ้ท้อง” และส่วนมากจะหายไปเอง เมื่ออยู่ในช่วงการตั้งครรภ์ 12-14 สัปดาห์
  • การรับประทานอาหาร เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้ โดยอาจเกิดจากการรับประทานมากเกินไป อาหารเป็นพิษ หรือแพ้อาหาร
  • สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อื่นๆ เช่น ผลข้างเคียงจากการใช้ยา การเมาค้าง ความเครียด และไมเกรน
  • มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือรุนแรงขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

อาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป และไม่ใช่อาการที่น่าวิตกกังวล หากเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง

แต่ถ้ารู้สึกคลื่นไส้เกือบตลอดเวลาจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ควรหันกลับมาดูแลตัวเองอย่างจริงจัง วันนี้ เราได้รวบรวมหลากหลายสาเหตุที่อาจทำให้คุณรู้สึกคลื่นไส้ได้ และวิธีรับมือ จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกัน

1. คลื่นไส้จากความเครียด ความกลัว และความวิตกกังวล        

ความเครียด ความกลัว และความวิตกกังวลสามารถทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ และทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะความผิดปกติของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก และแม้แต่โรคลำไส้แปรปรวน 

นอกจากนี้ความเครียด และความกลัวยังทำให้อะดรีนาลีนหลั่งออกมามากขึ้น ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารเสียสมดุลด้วย

วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น

อาการคลื่นไส้ที่เกิดตอนตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากลัวจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และมันจะหายไปเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

ทั้งนี้ ให้พยายามทำตัวเองให้ผ่อนคลาย แต่ถ้าความเครียด และความวิตกกังวลเกิดขึ้นเรื้อรัง ก็จำเป็นต้องหาสาเหตุที่ซ่อนเร้นอยู่เพื่อทำให้อาการหายไป ในกรณีนี้ การปรึกษาจิตแพทย์เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดี

2. คลื่นไส้จากการรับประทานมากเกินไป และมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการกิน

การรับประทานอาหารมากเกินไปอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ได้ เพราะร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารได้ดีเท่าที่ควร มักพบได้ในคนที่มีระบบย่อยอาหารอ่อนแอหรือคนที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัด

วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น

อย่ารับประทานอาหารมากเกินไป แต่ถ้ารับประทานไปแล้ว ให้รับประทานยาลดกรด ชาเปปเปอร์มิ้นต์ เทียนเยาวพาณี กระวานสีดำ หรือเทียนข้าวเปลือกตาม

นอกจากนี้ อาจใช้กลิ่นในการบำบัด โดยใช้น้ำมันหอมระเหยเลมอน แมนดาริน ลาเวนเดอร์ หรือมิ้นต์

3. คลื่นไส้จากอาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษ เกิดขึ้นเมื่ออาหารที่รับประทานมีเชื้อแบคทีเรีย เช่น แคมปีโลแบคเตอร์ ซาลโมเนลลา ชิเกลลา อีโคไล ลิสทิเรีย ฯลฯ

อาการทั่วไปของอาหารเป็นพิษคือ มีไข้ ปวดท้อง ท้องเสีย รู้สึกไม่สบายตัว คลื่นไส้ และอาเจียน

วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น 

ดื่มน้ำ และเครื่องดื่มอิเล็กโทรไลต์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม คาเฟอีน และแอลกอฮอล์ ไปพบแพทย์ และพักผ่อนให้เพียงพอ

4. คลื่นไส้จากการเมาค้าง

ถ้าคุณบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป คุณก็อาจมีอาการเมาค้าง และปวดหัวพร้อมกับรู้สึกคลื่นไส้ ในบางกรณี คุณอาจรู้สึกอยากอาเจียนตลอดเวลาหลังจากจบงานปาร์ตี้ช่วงดึก

วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น

จำกัดการดื่มเหล้า หรือเครื่องดื่มมึนเมาให้เหมาะสม 

หากยังรู้สึกคลื่นไส้ ให้ล้างท้องโดยดื่มน้ำผสมโซดา สูตรคือ โซดา 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำอุณหภูมิห้อง 1 ลิตร และให้ดื่มน้ำตาม 1-2 ลิตร

5. คลื่นไส้จากการแพ้อาหาร

อาการคลื่นไส้ และอาเจียนสามารถเกิดขึ้นโดยมีอาหารเป็นตัวกระตุ้น โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อาหาร หรือ ร่างกายได้รับอาหารที่ไม่ดีบางชนิด

บางครั้งอาหารอาจไม่ใช่ตัวการหลัก แต่การเปลี่ยนอาหาร หรือการควบคุมอาหาร อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนได้

วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น

ควบคุมการรับประทานอาหารให้เหมาะสม และหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรืออาจไปตรวจภูมิแพ้อาหารกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 

6. คลื่นไส้จากการตั้งครรภ์

สาเหตุของอาการคลื่นไส้ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การตั้งครรภ์ หรือที่เรียกว่า "อาการแพ้ท้อง" ซึ่งพบได้บ่อยในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ โดยมักเริ่มก่อนที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ 9 สัปดาห์ และหายไปเมื่ออยู่ในช่วง 12-14 สัปดาห์ 

ทั้งนี้อาการแพ้ท้องสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา และผู้หญิงบางคนอาจรู้สึกคลื่นไส้ตลอดวัน

วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น

หลีกเลี่ยงอาหารและกลิ่นที่กระตุ้นให้รู้สึกคลื่นไส้ รับประทานอาหารให้น้อยลง แต่รับประทานให้ถี่มากขึ้นเพื่อไม่ให้ท้องว่าง และดื่มน้ำโดยเฉพาะเครื่องดื่มเย็นในระหว่างมื้ออาหาร

7. คลื่นไส้จากยา

ยาแก้ปวด เช่น โคเดอีน ไฮโดรโคโดน มอร์ฟีน หรือออกซิโคโดน สามารถทำให้เกิดอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน 

นอกจากนี้อาหารเสริมอย่างธาตุเหล็ก ธาตุโพแทสเซียม ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และแม้แต่ยาแอสไพรินก็สามารถทำให้รู้สึกคลื่นไส้ได้เช่นกัน เพราะทำให้กระเพาะอาหารระคายเคือง หรือทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ช้าลง อีกทั้งยังทำให้ท้องอืด 

วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น

อาการคลื่นไส้จะค่อยๆ บรรเทาลงหลังจากหยุดหรือเปลี่ยนยา แต่คุณสามารถป้องกันโดยทานยาพร้อมกับมื้ออาหาร หรืออาหารเพียงเล็กน้อย

8. คลื่นไส้จากไมเกรน

ไมเกรน คือการปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยจะปวดศีรษะข้างหนึ่งอย่างรุนแรง หรือรู้สึกปวดตุบ และมักเกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน และไวต่อแสงเสียงมากเป็นพิเศษ

ทั้งนี้การปวดศีรษะไมเกรนทำให้เส้นเลือดที่อยู่บริเวณฐานของกะโหลกศีรษะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้มีการหลั่งสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบ

วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น

ออกไปเดินสูดอากาศนอกบ้าน หรือเปิดหน้าต่างและสูดหายใจลึกๆ รวมถึงปลดเสื้อผ้าให้หลวม ดื่มน้ำ และไปพบแพทย์เพื่อขอยาที่ช่วยลดอาการคลื่นไส้

จากที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่า มีหลายสาเหตุที่ทำให้คุณมีอาการคลื่นไส้และอาเจียน แต่สิ่งสำคัญคือ คุณไม่ควรเพิกเฉยต่ออาการดังกล่าว และควรรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการรุนแรง หรือไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
What Can Make You Feel Nauseous? 13 Surprising Reasons. Health.com. (https://www.health.com/condition/digestive-health/nausea-causes)
Nausea and Vomiting - Common Causes and How To Treat It. WebMD. (https://www.webmd.com/digestive-disorders/digestive-diseases-nausea-vomiting#1)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป