น้ำเต้าหู้ เครื่องดื่มรสชาติดี มีประโยชน์หลากหลาย

เผยแพร่ครั้งแรก 27 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
น้ำเต้าหู้ เครื่องดื่มรสชาติดี มีประโยชน์หลากหลาย

น้ำเต้าหู้ หรือ นมถั่วเหลือง เป็นเครื่องดื่มโปรตีนสูงที่มากด้วยประโยชน์ ซึ่งทำจากการนำถั่วเหลืองมาบดและปั่นกับน้ำ จากนั้นจึงคั้นแยกกาก จนได้เป็นเครื่องดื่มสีขาวขุ่น ที่สามารถเติมน้ำตาลเพิ่มรสชาติหรือเติมเครื่องได้ตามต้องการ น้ำเต้าหู้ นอกจากจะอุดมด้วยโปรตีนแล้ว ยังมีสาร Isoflavones ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สาร Phytoestreogens ที่มีโครงสร้างคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน รวมถึงมีใยอาหารที่ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายอีกด้วย เรียกได้ว่าดื่มน้ำเต้าหู้หนึ่งแก้ว ก็สามารถบำรุงร่างกายได้แทบครบทุกระบบ

ประโยชน์ของน้ำเต้าหู้

  • ช่วยเสริมโปรตีนให้แก่ร่างกาย

โปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญมาก ทั้งในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และการผลิตเอนไซม์ต่างๆ น้ำเต้าหู้ซึ่งทำจากถั่วเหลืองถือเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีที่มีกรดอะมิโนจำเป็นมากมายหลายชนิด ทั้งยังสามารถดูดซึมได้ง่าย และเป็นแหล่งโปรตีนที่มีไขมันต่ำอีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ช่วยลดความอ้วน

น้ำเต้าหู้เป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมันต่ำกว่านมวัว การดื่มน้ำเต้าหู้ จึงให้พลังงานโดยไม่ไปเพิ่มระดับไขมันในเลือด มีงานวิจัยที่พบว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มจากถั่วเหลือง จะมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง รวมถึงมีการสะสมของไขมันในร่างกายลดลงด้วย น้ำเต้าหู้จึงเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับคนไดเอทอย่างแท้จริง แถมยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเกิดจากการมีไขมันในเลือดสูงด้วย

  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด

น้ำเต้าหู้เป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต่ำ รวมถึงมีงานวิจัยที่พบว่าการดื่มน้ำเต้าหู้เป็นประจำจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารได้ น้ำเต้าหู้จึงเหมาะสำหรับดื่มแทนเครื่องดื่มหวานๆ ที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งอาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้

  • ช่วยควบคุมความดันโลหิต

น้ำเต้าหู้มีส่วนช่วยลดความดันโลหิต โดยเฉพาะในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน และในผู้ป่วยเบาหวาน การดื่มน้ำเต้าหู้จึงเป็นผลดีในการป้องกันความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไตและโรคหัวใจในอนาคต

  • ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย

ในน้ำเต้าหู้มีใยอาหารสูง จึงช่วยเพิ่มกากใยและความชุ่มชื้นให้อุจจาระ ช่วยให้การขับถ่ายง่ายขึ้น ป้องกันอาการท้องผูก อีกทั้งเครื่องดื่มจากถั่วเหลืองที่ผ่านการหมัก จะช่วยกระตุ้นการเจริญของแบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นประโยชน์ จึงช่วยปรับสมดุลในลำไส้ และป้องกันภาวะลำไส้แปรปรวนได้

  • ช่วยบำรุงกระดูก

น้ำเต้าหู้ประกอบด้วย Isoflavones และวิตามิน ดี ซึ่งช่วยป้องกันการสลายกระดูก และช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก จึงสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกเปราะง่าย โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

  • ช่วยลดการอักเสบ

น้ำเต้าหู้อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงมีคุณสมบัติช่วยลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด การดื่มน้ำเต้าหู้จึงช่วยลดและป้องกันการอักเสบที่จะเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อต่างๆ และช่วยป้องกันโรคเรื้อรังที่เกิดจากการอักเสบและการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เลือกดื่มน้ำเต้าหู้อย่างไรให้ได้ประโยชน์?

เราควรเลือกดื่มน้ำเต้าหู้ที่มีน้ำตาลต่ำ เนื่องจากการเติมน้ำตาลในน้ำเต้าหู้มากๆ ก็เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ไม่ต่างจากการทานเครื่องดื่มรสหวานชนิดอื่น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูงตามมาได้ หากไปซื้อน้ำเต้าหู้ตามร้านทั่วไป จึงควรเลือกซื้อแบบไม่หวาน หรือหวานน้อย จะทำให้ผู้ดื่มได้ประโยชน์มากกว่า

น้ำเต้าหู้ เหมาะกับใคร?

  • คนทั่วไป ที่ต้องการบำรุงร่างกายแข็งแรง และไม่มีอาการแพ้ถั่วเหลือง หรือมีปัญหาสุขภาพที่ห้ามดื่มน้ำเต้าหู้
  • คนที่ทานเจ หรือมังสวิรัติ ซึ่งงดการทานโปรตีนจากสัตว์ และต้องรับโปรตีนจากพืชทดแทน
  • คนที่แพ้นมวัว หรือขาดเอนไซม์สำหรับย่อยโปรตีนในนมวัว และต้องการดื่มเครื่องดื่มโปรตีนชนิดอื่นชดเชย

ใครที่ควรระวังในการดื่มน้ำเต้าหู้?

  • คนที่มีภาวะแพ้ถั่วเหลือง ไม่ควรดื่มน้ำเต้าหู้
  • ทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน ไม่ควรทานนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้แทนนมแม่หรือนมวัว เพราะอาจทำให้มีภาวะแพ้ถั่วเหลืองได้
  • สตรีมีครรภ์ สามารถดื่มน้ำเต้าหู้ได้ แต่ไม่ควรดื่มมากเกินไป เพราะสาร phytoestrogen อาจไปกระตุ้นมดลูกทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้
  • ผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเต้าหู้และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ซึ่งมี phytoestrogen ที่คล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง เพราะสารดังกล่าวอาจกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้มะเร็งลุกลามได้
  • ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และไตวาย ไม่ควรดื่มน้ำเต้าหู้ เนื่องจากการรับสาร phytoestrogen และสารอื่นๆ มากเกินไป โดยร่างกายไม่สามารถกำจัดออกได้อย่างเหมาะสม จะทำให้เกิดภาวะเป็นพิษได้
  • ผู้ป่วยโรคนิ่วไต ควรหลีกเลี่ยงน้ำเต้าหู้และอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง เนื่องจากถั่วเหลืองมีออกซาเลตสูง ซึ่งจะถูกขับออกทางไตพร้อมปัสสาวะ และส่งผลให้ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้นได้

วิธีทำน้ำเต้าหู้

        ส่วนผสมที่ใช้

  • ถั่วเหลืองที่แยกเปลือกและล้างสะอาด 1 ถ้วย
  • น้ำเปล่า                                           7 ถ้วย
  • น้ำตาลทราย                                     ½ ถ้วย (หรือปรับตามต้องการ)

ขั้นตอนการทำ

  • นำถั่วเหลืองที่ล้างแล้วมาแช่น้ำไว้ข้ามคืน
  • บดถั่วเหลืองให้ละเอียด และใช้ผ้าขาวกรองแยกน้ำออก หรืออาจใช้เครื่องแยกกากก็ได้
  • นำน้ำที่คั้นได้ไปตั้งไฟอ่อนๆ และคอยคนเพื่อไม่ให้ไหม้
  • ใส่น้ำตาลทรายตามต้องการ และปิดไฟยกออกจากเตา หรืออาจไม่เติมน้ำตาลทรายก็ได้

เพียงเท่านี้ก็จะได้น้ำเต้าหู้โฮมเมดร้อนๆ ที่อร่อยถูกใจ แถมดีต่อสุขภาพแบบสุดๆ ด้วย


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Health Benefits of Soy For PCOS. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/health-benefits-of-soy-for-pcos-4076151)
Straight Talk About Soy. Harvard T.H. Chan School of Public Health. (https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/soy/)
What Is Tofu, and Is It Good for You?. Healthline. (https://www.healthline.com/nutrition/what-is-tofu)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป