กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา

มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer)

เผยแพร่ครั้งแรก 31 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 13 ก.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer) อาจมีสาเหตุจากการได้รับรังสีบริเวณลำคอ หรือต่อมไทรอยด์มาก่อน เคยเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์มาก่อน ผู้ขาดธาตุอาหารไอโอดีน หรือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์มาก่อน
  • การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อเป็นมะเร็งของต่อมไทรอยด์ เช่น มีก้อนมะเร็งเกิดที่คอและจะโตเร็วมาก กลืนน้ำลายและอาหารลำบาก หายใจลำบากเนื่องจากก้อนมะเร็งไปกดทับอวัยวะใกล้เคียง
  • การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์จะทำได้โดยการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด หรือตัดออกบางส่วน แต่หากเชื้อมะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แพทย์ก็อาจต้องผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอออกด้วย
  • อาหารที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ควรหลีกเลี่ยงภายหลังการผ่าตัด และอยู่ในระหว่างการรักษาด้วยสารไอโอดีนรังสี-131 ควรเป็นอาหารที่มีธาตุอาหารไอโอดีนต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งมีการเติบโตและแพร่กระจายมากขึ้น
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจมะเร็งทั่วไป

มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer) คือ เนื้องอกชนิดเนื้อร้าย (Malignancy) ที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่ก็มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ 

นั่นคือ การได้รับรังสีบริเวณลำคอ หรือต่อมไทรอยด์ในช่วงอายุ 15-20 ปี ซึ่งส่งผลให้เซลล์ในร่างกายถูกทำลาย และทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งในอีกราว 5 ปีต่อมา แต่ช่วงปีที่มีโอกาสเสี่ยงมากที่สุดจะอยู่ระยะ 20-40 ปีหลังจากได้รับรังสี 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

นอกจากนี้ผู้ที่เคยเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์มาก่อน เช่น คอพอก หรือเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ ก็มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ รวมไปถึงกลุ่มผู้ที่ขาดธาตุอาหารไอโอดีน หรือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์มาก่อน

พยาธิสรีรภาพของโรค 

พยาธิสรีรภาพของโรค หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อเป็นมะเร็งของต่อมไทรอยด์ จะได้แก่ 

  • มีก้อนมะเร็งเกิดที่คอและจะโตเร็วมาก  
  • กลืนน้ำลายและอาหารลำบาก 
  • หายใจลำบากเนื่องจากก้อนมะเร็งไปกดทับอวัยวะใกล้เคียง 

ระยะของมะเร็งต่อมไทรอยด์

มะเร็งต่อมไทรอยด์แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1: มีก้อนมะเร็งเพียงก้อนเดียว หรือหลายก้อน แต่อยู่ภายในต่อมไทรอยด์
  • ระยะที่ 2: เชื้อมะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่ 3: เชื้อมะเร็งแพร่กระจายลุกลามไปภายนอกต่อมไทรอยด์และต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่ 4: เชื้อมะเร็งแพร่กระจายออกไปตามอวัยวะส่วนอื่นๆ

มะเร็งของต่อมไทรอยด์จะมีกลไกการเกิดแตกต่างกันตามชนิดของมะเร็ง และอาจเกิดจากการแพร่กระจายมาจากมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ เช่น เต้านม ปอด ตับ กระเพาะอาหาร 

อาการของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ 

ในผู้ป่วยระยะแรกของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์อาจไม่มีอาการใดๆ แต่แพทย์อาจตรวจพบก้อนมะเร็งที่คอ ซึ่งมีการเจริญเติบโตที่เร็วและทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ลักษณะก้อนมะเร็งชนิดนี้มักจะไม่แข็ง มีขนาดทั้งสองข้างไม่เท่ากันและติดแน่นไม่เคลื่อนไหว 

ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการกลืนน้ำลายและอาหารลำบาก เสียงแหบ และหายใจลำบาก 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ในระยะหลัง นอกจากจะมีก้อนมะเร็งที่คอแล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดกระดูก หรือมีอาการกระดูกหักเนื่องจากเชื้อมะเร็งได้กระจายไปที่กระดูก หรืออาจกระจายไปที่ปอดเรียบร้อยแล้ว

การวินิจฉัยโรค 

แพทย์จะสอบถามประวัติและอาการของผู้ป่วย ซึ่งหากผู้ป่วยมีประวัติและอาการต่อไปนี้ ก็เสี่ยงที่เป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้สูง 

  • ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติเป็นโรคของต่อมไทรอยด์มาก่อน 
  • ผู้ป่วยเคยได้รับรังสีบริเวณคอ หรือต่อมไทรอยด์ 
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง 
  • เคยมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย 
  • รู้สึกเจ็บบริเวณก้อนที่คอ 
  • น้ำหนักลด 
  • กลืนอาหารลำบาก เสียงแหบ
  • หายใจลำบาก 
  • ปวดหลัง 
  • ตรวจร่างกายพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต 

นอกจากการสอบถามประวัติแล้ว แพทย์ยังสามารถตรวจหาเชื้อมะเร็งได้จากการตรวจชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลือง โดยผ่านการตรวจจากทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษอื่นๆ 

การรักษา 

การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์จะทำได้โดยการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด หรือตัดออกบางส่วน แต่หากเชื้อมะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แพทย์ก็อาจจะต้องผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอออกด้วย 

หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ว ผู้ป่วยอาจได้รับฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อทดแทนต่อมน้ำเหลือง หรือต่อมไทรอยด์ส่วนที่ถูกผ่าออกไป รวมถึงมีการให้สารไอโอดีนรังสี-131 (Iodine-131) ในผู้ป่วยทุกรายที่มีการกระจายของเชื้อมะเร็ง หรือมีโอกาสเสี่ยงที่เชื้อมะเร็งจะกระจายออกไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายได้อีก 

โดยสารไอโอดีนรังสี-131 จะอยู่ในรูปแบบของเม็ดยาแคปซูล หรือของเหลวให้ผู้ป่วยดื่ม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

นอกจากนี้แพทย์จะมีการให้ยา "เลโวไทรอกซิน" (Levothyroxine) กับผู้ป่วย ซึ่งยาชนิดนี้เป็นยาสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) เพื่อให้ฮอร์โมนไทรอยด์มีระดับสูงขึ้น 

ขณะเดียวกันก็ไปกดการหลั่งของฮอร์โมนไทรอยด์-สติมูเลติง ฮอร์โมน (Thyroid-stimulating hormone: TSH) ให้ต่ำลง 

เนื่องจากเชื้อมะเร็งที่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ต้องอาศัยฮอร์โมน TSH ในการกระตุ้นให้เชื้อมะเร็งเจริญเติบโตได้ หากฮอร์โมนดังกล่าวมีค่าต่ำลงก็จะลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็งไปได้ 

ส่วนในกรณีที่มะเร็งอยู่ในระยะที่ 3 หากหลังผ่าตัดแล้วยังมีเชื้อมะเร็งหลงเหลืออยู่ แพทย์จะใช้การฉายรังสีรักษาร่วมด้วย

อาหารที่ไม่ควรรับประทานระหว่างการรักษา

อาหารที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ควรหลีกเลี่ยงภายหลังการผ่าตัด และอยู่ในระหว่างการรักษาด้วยสารไอโอดีนรังสี-131 ควรเป็นอาหารที่มีธาตุอาหารไอโอดีนต่ำ 

เพราะในระหว่างที่ทำการรักษานี้ เชื้อมะเร็งจะยังต้องการธาตุไอโอดีนเพื่อให้มีการเติบโตและแพร่กระจายมากขึ้น โดยผู้ป่วยควรงดเว้นอาหารที่มีธาตุไอโอดีนสูงเป็นเวลา 14 วันก่อนการรักษา เช่น

  • อาหารที่ผ่านกรรมวิธีถนอมอาหาร เช่น หมัก ดอง รมควัน รวมถึงอาหารกระป๋อง
  • อาหารประเภทเนื้อสัตว์
  • อาหารทะเล รวมไปถึงสาหร่ายทะเล น้ำมันปลา
  • อาหารที่มีส่วนประกอบของไข่ โดยเฉพาะไข่แดง ส่วนไข่ขาวยังสามารถรับประทานได้
  • อาหารประเภทเบเกอรี่ต่างๆ รวมถึงช็อกโกแลต
  • ผลิตภัณฑ์จากนมถั่วเหลือง ถั่วฝักยาว ถั่วแดง ถั่วปินโต ถั่วลิมา รวมถึงมันฝรั่ง

ในส่วนของอาหารที่แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานจะเป็นอาหารที่มีธาตุไอโอดีนต่ำ เช่น

  • ผักและผลไม้ต่างๆ 
  • อาหารประเภทเมล็ดข้าว ซีเรียล (Cereals) เส้นพาสต้า แต่ต้องตรวจสอบดูก่อนว่าผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดังกล่าวมีส่วนผสมของไอโอดีนมากน้อยเพียงใด
  • อาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพร น้ำมันพืช หรือที่สกัดจากผัก 
  • น้ำผึ้ง 
  • อาหารประเภทถั่ว แต่ต้องไม่ใส่เกลือ หรือจะรับประทานเป็นเนยถั่วก็ได้
  • เมเปิลไซรัป 
  • แยมผลไม้กวน

การพยาบาล 

สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์หลังการผ่าตัดแล้ว เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการปวดน้อยลง ผู้ดูแลควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ 

  • จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องที่สงบ เย็นสบาย และให้นอนในท่าทีผู้ป่วยรู้สึกสบาย
  • บันทึกสัญญาณชีพทุก 15 นาทีหลังผู้ป่วยออกจากห้องผ่าตัด และทุกๆ 1 ชั่วโมงเมื่อสัญญาณชีพคงที่ และอีก 2-4 ชั่วโมงตามลำดับ 
  • ไม่ให้ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่น 
  • หลังผ่าตัดวันแรก ให้ผู้ป่วยใช้มือประสานกันไว้บริเวณท้ายทอย ให้ก้มเงยหันศีรษะไปทางซ้ายและขวาได้ แต่ไม่ให้แหงนคอ และในวันถัดไป ให้ผู้ป่วยนอนในท่าศีรษะสูง ให้ศีรษะก้มเล็กน้อย
  • สังเกตอาการเสียงแหบซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทในกล่องเสียงระหว่างผ่าตัด รวมถึงสังเกตอาการไทรอยด์วิกฤต (Thyroid crisis หรือ Thyroid storm) ด้วย เพราะอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง เช่น มีไข้สูง เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยอาจมีปอดบวมน้ำ กระสับกระส่าย เพ้อ ชัก และหมดสติได้ ส่วนผู้ป่วยที่รักษาด้วยไอโอดีนรังสี-131 ให้สังเกตอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน คันหรือมีผื่นขึ้น
  • ให้ยาแก้ปวด ดูแลทำความสะอาดแผลผ่าตัดและท่อระบายสิ่งที่หลั่งออกมาจากแผลไม่ให้หลุด หรืออุดตัน 
  • แนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนท่าโดยให้เคลื่อนไหวคอ ศีรษะ และลำตัวไปพร้อมๆ กัน เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนแผลผ่าตัด 
  • ดูแลความสะอาดสุขภาพปากและฟัน รวมถึงอมน้ำยาบ้วนปากทุก 2 ชั่วโมง 
  • งดอาหารและน้ำทางปาก หากผู้ป่วยใส่สายยางให้อาหารก็ให้ดูแลสายยางให้อยู่กับที่ 
  • สังเกตและบันทึกสิ่งที่ขับออกมาจากสายยาง 
  • หมั่นพลิก ตะแคงตัวผู้ป่วย และเคลื่อนไหวบ่อยๆ โดยไม่ให้กระทบกระเทือนแผล 
  • แนะนำให้ผู้ป่วยหายใจเข้าออกลึกๆ และแนะนำวิธีไอเอาเสมหะออกอย่างถูกต้อง 

นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ ต้องดูแลผู้ป่วยให้ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอต่อร่างกาย รวมทั้งดูแลสุขภาพจิตใจ ให้ผู้ดูแลหมั่นพูดคุยและปลอบใจผู้ป่วยไม่ให้วิตกกังวลเกี่ยวกับอาการมากจนเกินไป 

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจมะเร็งทั่วไป จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Web MD, Thyroid Cancer: Symptoms, Causes, Diagnosis, Treatment (https://www.webmd.com/cancer/what-is-thyroid-cancer#1), 28 June 2020.
Mayo Clinic, Thyroid cancer - Symptoms and causes (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/thyroid-cancer/symptoms-causes/syc-20354161), 28 June 2020.
NHS, Thyroid cancer (https://www.nhs.uk/conditions/thyroid-cancer/), 28 June 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
ไทรอยด์เป็นพิษต้องผ่าทุกเคสหรือเปล่าค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ
ไทรอยเป็นพิษสามารถหายขาดได้ไหม และยุบไหม
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ไทรอยเป็นพิษ รักษาหายได้หรือไม่คะ
คำถามนี้ได้การตอบจากพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ
ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำมีโอกาสหายขาดมั้ยคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ตัดต่อมไทรอยด์ไป 1ข้าง มีผลต่อร่างกายแบบไหนบ้าง
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
โรคไทรอยด์ เกิดขึ้นเองโดยไม่ใช่กรรมพันธุ์ได้หรีอไม่
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)