โรคเรย์เนาด์ (Raynaud's phenomenon)

โรคเรย์เนาด์ (Raynaud's phenomenon)
เผยแพร่ครั้งแรก 17 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
โรคเรย์เนาด์ (Raynaud's phenomenon)

โรคเรย์เนาด์คืออะไร ใครสามารถเป็นโรคนี้ได้บ้าง เป็นแล้วมีอาการอย่างไร รักษาอย่างไร HonestDocs มีคำตอบให้ โรคเรย์เนาด์ หรือภาวะเลือดลมไม่ดี (Raynaud’s Phenomenon) เป็นภาวะที่ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดไปยังบางส่วนของร่างกาย เกิดขึ้นจากอุณหภูมิเย็น, ความเครียด, หรือความวิตกกังวล ทำให้หลอดเลือดเกิดการหดเกร็งชั่วคราวจนการไหลเวียนโลหิตอุดตัน

โรคเรย์เนาด์มีอยู่สองประเภทคือ

  • ปฐมภูมิ : ภาวะเกิดขึ้นด้วยตนเอง (เป็นประเภทที่เกิดขึ้นมากที่สุด)
  • ทุติยภูมิ : ภาวะที่เกิดจากภาวะสุขภาพอื่น ๆ

สาเหตุการเกิดโรคเรย์เนาด์ชนิดปฐมภูมิยังไม่ชัดเจน แต่สำหรับชนิดทุติยภูมิ มีความเกี่ยวพันกับโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคพุ่มพวง (Lupus), โรคข้อต่อรูมาตอยด์อักเสบ (Rheumatoid Arthritis) เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

โรคเรย์เนาด์เป็นภาวะทั่วไปที่เกิดกับประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลกมากถึง 20%

โรคเรย์เนาด์ปฐมภูมิมักจะเริ่มขึ้นในช่วงอายุ 20 หรือ 30 ปี ส่วนโรคเรย์เนาด์ทุติยภูมิสามารถเกิดกับใคร อายุเท่าใดก็ได้ขึ้นอยู่กับสาเหตุต้นตอ

โรคเรย์เนาด์มักจะพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อาการของโรคเรย์เนาด์

ภาวะเรย์เนาด์ มักเกิดกับนิ้วมือและนิ้วเท้า นอกจากนี้ยังพบภาวะนี้ได้ที่ใบหู, จมูก, หัวนม และริมฝีปาก บริเวณผิวหนังที่เกิดภาวะนี้ จะเปลี่ยนเป็นสีซีด จากนั้นก็เป็นสีน้ำเงิน (เขียว) และกลายเป็นสีแดงจากการกลับสู่ปกติของระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งอาจทำให้คุณเกิดอาการชา, ปวด, และเสียวแปลบราวกับถูกเข็มจิ้ม

อาการต่าง ๆ จากโรคเรย์เนาด์ อาจคงอยู่ได้นานไม่กี่นาทีไปจนถึงหลายชั่วโมง อย่างไรก็ตามโรคนี้ไม่ใช่ภาวะที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เพียงแต่อาจสร้างความรำคาญ เพราะเมื่อมีอาการจะขยับนิ้วมือลำบาก

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรย์เนาด์

โรคเรย์เนาด์ชนิดทุติยภูมิ อาจทำให้การไหลเวียนโลหิตถูกจำกัดอย่างรุนแรงได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • การเกิดแผลบนเยื่อบุ (Ulcers) : มีลักษณะเป็นแผลเปิดบนใต้ผิวหนัง หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา จะเกิดภาวะเนื้อตายเน่า
  • เนื้อตายเน่า (Gangrene) : เริ่มจากมีเส้นสีแดงบนผิวหนัง ซึ่งเป็นรอยของขอบแผลที่เนื้อเยื่อ เนื้อเยื่อจะเริ่มเย็นตัว เปลี่ยนจากสีแดงไปเป็นสีน้ำตาล และจากสีน้ำตาลไปเป็นดำ เนื้อเยื่อที่ตายแล้ว จะเริ่มลอกออกจากเนื้อเยื่อสุขภาพดีแล้วหลุดออกไป
  • ภาวะผิวหนังแข็ง (Scleroderma) : ผู้หญิงที่เป็นโรคเรย์เนาด์ประมาณ 1 ใน 16 คน และผู้ชายประมาณ 1 ใน 50 คนจะมีภาวะนี้ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายผลิตคอลลาเจนออกมามากเกินไป ทำให้เกิดอาการต่างๆ ดังนี้
    • คันตามผิวหนัง
    • ข้อต่อฝืดแน่น
    • มีจุดแคลเซียมและจุดแดงขึ้นใต้ผิวหนัง
    • กลืนลำบาก (Dysphagia)
    • ท้องร่วง, ท้องอืด, หรือท้องผูก

สาเหตุของโรคเรย์เนาด์

โรคเรย์เนาด์ส่วนมาก จะเป็นประเภทปฐมภูมิ หรือเกิดขึ้นเองโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพอื่น ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นจากการติดขัดในระบบประสาทที่ใช้ควบคุมการไหลเวียนของเลือด

แต่ในบางกรณี ก็มีสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดตอบสนองมากเกินไปจากภาวะสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งจะเรียกโรคเรย์เนาด์ประเภทนี้ว่าทุติยภูมิ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเรย์เนาด์ชนิดทุติยภูมิ มีดังต่อไปนี้

  • ภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง : ผู้ป่วยโรคเรย์เนาด์ชนิดทุติยภูมิ มักมีความเกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะดังนี้
    • โรคหนังแข็ง (Scleroderma) : ภาวะที่ทำให้ผิวหนังหนาและแข็งตัวขึ้น
    • โรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) : โรคที่ทำให้ข้อต่อบวมและเจ็บปวด
    • กลุ่มอาการโจเกร็น (Sjogren's Syndrome) : ภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันเข้าทำลายต่อมเหงื่อและต่อมน้ำตา
    • โรคพุ่มพวง (Lupus) : ภาวะที่ทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อย, ปวดข้อต่อ และผื่นขึ้นผิวหนัง
  • การติดเชื้อ : การติดเชื้อไวรัสที่นำพาโดยเลือด เช่น โรคตับอักเสบ B และโรคตับอักเสบ C (Hepatitis) สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น
  • มะเร็ง : มะเร็งบางชนิดสามารถทำให้เกิดโรคเรย์เนาด์ชนิดทุติยภูมิได้ โดยเฉพาะมะเร็งที่เกิดในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น
    • มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน (Acute Lymphoblastic Leukaemia) : มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มักเกิดกับเด็ก
    • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) : มะเร็งที่เกิดภายในต่อมที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันหนึ่งต่อมหรือมากกว่า
    • มะเร็งไขกระดูกชนิดเอ็มเอ็ม (Multiple Myeloma) : มะเร็งที่โตภายในไขกระดูก
  • การใช้ยา ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น
    • ยารักษาไมเกรน (Anti-Migraine ) เช่น Sumatriptan กับ Ergotamine
    • Beta-Blockers : ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ
    • ยาเคมีบำบัดบางตัว
    • ยาหดหลอดเลือด (Decongestants)
    • ยาคุมกำเนิด
    • ยาที่ใช้ในการบำบัดชดเชยฮอร์โมน
    • ยาบางประเภทที่ใช้ในการรักษาภาวะความดันโลหิตสูง เช่น Angiotensin-Converting Enzyme (ACE) Inhibitors และ Clonidine
  • การบาดเจ็บและการใช้งานอวัยวะมากเกินไป : บางครั้งโรคเรย์เนาด์อาจเกิดจากการบาดเจ็บทางร่างกาย หรือกับผู้ที่ใช้งานนิ้วและมือของตนเองมาก เช่น นักดนตรี, ผู้ที่ต้องพิมพ์งานตลอดเวลา นอกจากนี้ ความเสียหายที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อจากการถูกหิมะกัด (Frostbite) ก็อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
  • โรคนิ้วมือซีดจากความสั่นสะเทือน (Vibration White Finger) คือคำเรียกโรคเรย์เนาด์ทุติยภูมิที่เกิดจากแรงสั่นสะเทือน โรคนี้มักเกิดกับผู้ที่ต้องใช้งานอุปกรณ์ที่มีการสั่นไหวบางชนิด เช่น เครื่องเจาะปูน, สว่าน, เลื่อยยนต์ จนทำให้มือผู้ใช้งานชา

การวินิจฉัยโรคเรย์เนาด์

โรคเรย์เนาด์มักจะวินิจฉัยพบหลังตรวจเลือดด้วยวิธีการดังนี้

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Full Blood Count) : เพื่อตรวจสอบการติดเชื้อ หรือการเกิดมะเร็งเม็ดเลือด
  • การทดสอบหาภูมิคุ้มกันร่างกาย (Antinuclear Antibodies (ANA) Test) : เพื่อตรวจสอบว่าระบบภูมิต้านทานทำงานเกินหรือไม่ (มักพบได้ในผู้ที่เป็นโรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์หรือโรคพุ่มพวง)
  • การวัดการตกตะกอนของเม็ดเลือด (Erythrocyte Sedimentation Rate) : เพื่อตรวจสอบว่าคุณมีภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเองหรือไม่

นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจสอบหลอดเลือดฝอยที่อยู่บริเวณเล็บ เพราะผู้ป่วยเรย์เนาด์ทุติยภูมิมักจะมีขนาดหลอดเลือดฝอยใหญ่ขึ้นจนอาจมีลักษณะเหมือนรอยหมึกของปากกาแดง และแพทย์อาจขอให้คุณจุ่มมือลงน้ำเย็น หรือนำมือไปสัมผัสกับอาการเย็นเพื่อดูว่ามีอาการของโรคหรือไม่

การรักษาโรคเรย์เนาด์

โรคเรย์เนาด์หลายกรณีสามารถควบคุมไม่ให้เกิดได้ด้วยการเลี่ยงอยู่ท่ามกลางอากาศเย็น, สวมใส่ถุงมือ, และใช้เทคนิคผ่อนคลายเมื่อมีความรู้สึกเครียด

การเลิกสูบบุหรี่ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดการเกิดอาการขึ้นได้เนื่องจากบุหรี่นั้นส่งผลต่อการไหลเวียนของร่างกายนั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

หากคุณไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยตนเอง ก็มียาที่เรียกว่า nifedipine ที่สามารถใช้รักษาอาการต่าง ๆ จากโรคนี้อยู่

การรักษาโรคเรย์เนาด์

ผู้ป่วยโรคเรย์เนาด์ สามารถดูแลตัวเอง ทั้งชนิดปฐมภูมิและทุติยภูมิ โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้  

  • ทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ : โดยเฉพาะมือและเท้า หากอยู่ในที่ๆ มีอุณหภูมิต่ำ ควรใส่ถุงเท้าและถุงมือเสมอ
  • เลิกสูบบุหรี่ : การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยให้การไหลเวียนเลือดในร่างกายดีขึ้น จึงช่วยลดอาการจากโรคเรย์เนาด์ได้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ : เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและลดความเครียด
  • พยายามลดระดับความเครียด, ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ, และใช้เทคนิคผ่อนคลายอย่างการหายใจเข้าออกลึก ๆ หรือกิจกรรมอย่างโยคะ เป็นต้น

ถ้าหากว่าการดูแลตัวเอง ยังไม่เพียงพอที่จะบรรเทาอาการได้ หรือผู้ป่วยรู้สึกว่ายากเกินไป ก็สามารถขอรับยาดังต่อไปนี้จากแพทย์ได้

Nifedipine : เป็นยากลุ่ม Calcium Channel Blocker ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ใช้เพิ่มการขยายตัวของหลอดเลือด ยาชนิดนี้อาจได้รับการยินยอมให้ใช้กับผู้ป่วยโรคเรย์เนาด์ในบางประเทศเท่านั้น แต่สามารถบรรเทาอาการจากโรคเรย์เนาด์ได้จริง

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการจากโรคนี้รุนแรง จนส่งผลต่อร่างกายส่วนอื่นๆ แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาโดยการผ่าตัดที่เรียกว่า Sympathectomy ซึ่งแพทย์จะทำการกรีดเส้นประสาทที่เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดหดเกร็ง


13 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Raynaud's. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/raynauds/)
Raynaud's Phenomenon Treatment, Causes, Symptoms & Pictures. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/raynauds_phenomenon/article.htm)
Health Benefits of Probiotics: A Review. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4045285/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)