สรรพคุณของว่านชักมดลูก

หาคำตอบถึงสรรพคุณของว่านชักมดลูก อย่างถูกต้องและมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 19 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
สรรพคุณของว่านชักมดลูก

ตำรับยาสมุนไพรในคัมภีร์ มักปรากฏการใช้รากหรือหัวใต้ดิน สรรพคุณของว่านชักมดลูกเกี่ยวกับอาการของสตรี เช่น อาการเกี่ยวกับประจำเดือน ตกขาว หรือใช้ในการอยู่ไฟสำหรับสตรีหลังคลอด มีทั้งในรูปแบบยารับประทาน และยาใช้ภายนอก โดยที่นิยมใช้ทางยาเป็นหลักนั้นคือว่านชักมดลูกตัวเมีย

ชนิดของว่านชักมดลูก

ว่านชักมดลูกที่อยู่ในท้องตลาดของไทยมีทั้งหมด 2 สายพันธุ์ แบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  1. ว่านชักมดลูกตัวเมีย Curcuma comosa Roxb.
  2. ว่านชักมดลูกตัวผู้ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ Curcuma elata Roxb. และ Curcuma latifolia Rosc.

แม้ว่าจะเป็นว่านชักมดลูกเหมือนกัน แต่สรรพคุณของแต่ละสายพันธุ์นั้นแตกต่าง ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรเลือกใช้ให้ถูกชนิด เพื่อความปลอดภัยและเพื่อการรักษาโรคอย่างถูกต้อง ความแตกต่างระหว่างว่านชักมดลูกตัวเมียกับว่านชักมดลูกตัวผู้ที่เห็นได้ชัดเจนมีดังนี้

  • ลักษณะลำต้นใต้ดินหรือหัวใต้ดิน ว่านชักมดลูกตัวเมีย จะมีลักษณะหัวค่อนข้างรี คล้ายรูปไข่ แขนงย่อยน้อย มีกลิ่นอ่อนคล้ายมะม่วงมัน แต่ว่านชักมดลูกตัวผู้จะมีลักษณะหัวค่อนข่างกลม มีแขนงจำนวนมาก และมีกลิ่นฉุน
  • หลังใบของว่านชักมดลูกตัวผู้จะมีขนอ่อน เส้นกลางใบสีน้ำตาลแดง ส่วนตัวเมียใบจะเรียบและมีเส้นกลางใบสีเขียว

สรรพคุณของว่านชักมดลูก

  1. เป็นยาบีบมดลูก ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วหลังการคลอดบุตร
  2. ทำให้ประจำเดือนมาปกติ แก้อาการปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน
  3. ขับเลือด ขับลม ขับน้ำคาวปลา บำรุงร่างกายของสตรี หรือใช้เป็นยาแทนการอยู่ไฟ

ทั้งสามสรรพคุณผู้บริโภคสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษาที่ถูกวิธี โดยปัจจุบันการใช้ยาว่านชักมดลูกมีทั้งรูปแบบยาน้ำและยาแคปซูล เพื่อความสะดวกในการรับประทานมากขึ้น ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การใช้ยาว่านชักมดลูกทั้ง 2 รูปแบบ ไม่นิยมใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยว แต่ใช้เป็นยาตำรับ หมายถึงมีสมุนไพรชนิดอื่นผสมอยู่ด้วย เช่น โกศเชียง โกศจุฬาลัมพา โกศหัวบัว ว่านมหาเมฆ แก่นขี้เหล็ก ขมิ้นอ้อย ไพล คำฝอย ฝาง รากสามสิบ เป็นต้น ซึ่งสมุนไพรดังกล่าวมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกายทำให้อาการต่างๆ ของสตรีดีขึ้นเช่นเดียวกัน

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับสรรพคุณของว่านชักมดลูก

จากการศึกษาข้อมูลของว่านชักมดลูกตัวเมีย พบว่ามีสรรพคุณฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงหรือฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen like activity) เรียกสารชนิดนี้ว่า กลุ่มไฟโตเอสโตรเจน สารนี้สามารถใช้ทดแทนเอสโตรเจนได้ แต่มีระดับการออกฤทธิ์ที่ต่ำกว่า พบได้ในถั่วเหลือง น้ำมะพร้าว และกวาวเครือขาว เป็นต้น ช่วยกระตุ้นการเจริญของอวัยวะสืบพันธุ์ ช่วยเพิ่มน้ำหนัก กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกชั้นต่างๆ หนาขึ้น กระตุ้นการเจริญเติบโตของเยื่อบุช่องคลอด และมีส่วนช่วยในการตั้งครรภ์

จากงานวิจัยการนำสารไฟโตเอสโตรเจนมาใช้ทางคลินิก ที่ทำการทดลองทั้งในห้องปฏิบัติการ (in vitro) และในสัตว์ทดลอง (in vivo) พบว่า สารไฟโตเอสโตรเจนช่วยส่งเสริมการเจริญของกระดูก ป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้ความหนาแน่นมวลกระดูกสูงขึ้น และกระตุ้นการสร้างเซลล์กระดูก เป็นประโยชน์ต่อสตรีที่กำลังหมดประจำเดือน ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ เหงื่ออกกลางคืน (Vasomotor symptom) ได้ ทั้งนี้ไฟโตเอสโตรเจนจะมีผลระยะสั้นช่วยป้องกันการเสียมวลกระดูกในหญิงหมดประจำเดือน ส่วนผลระยะยาวยังไม่พบข้อมูลที่แน่ชัด และยังไม่พบผลดีที่ชัดเจนในหญิงวัยรุ่นก่อนวัยหมดประจำเดือน สอดคล้องกับข้อมูลจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งพบว่าการกินสารสกัดจากสมุนไพรชนิดนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 5 สัปดาห์ในหนูทดลองที่ถูกตัดรังไข่ พบว่าสามารถป้องกันการสูญเสียแคลเซียม และช่วยรักษาระดับความหนาแน่นของมวลกระดูกได้

นอกจากนี้ จากการทดลองในหนูที่ตัดรังไข่เลียนแบบสตรีวัยทองพบว่า สารสกัดจากว่านชักมดลูกช่วยต้านออกซิเดชันที่เกิดขึ้นที่ผนังหลอดเลือดแดง ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดการเกิดคราบจุลินทรีย์ (Plaque) ในหลอดเลือด ช่วยป้องกันเยื่อบุผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจขาดความยืดหยุ่น และป้องกันการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งตัวจากภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง ลดระดับคอเรสเตอร์รอล ไตรกลีเซอร์ไรด์ และไขมันชนิดร้าย ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดดีได้อีกด้วย

ทั้งนี้การตัดสินใจใช้ยาสมุนไพรชนิดนี้เพื่อการรักษา ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อความปลอดภัยและเพื่อการรักษาที่ถูกวิธี

ข้อควรระวังในการใช้ว่านชักมดลูก

  1. การรับประทานสมุนไพรที่มีสารไฟโตเอสโตรเจนปริมาณมาก มีความเสี่ยงต่อการกระตุ้นก้อนเนื้อ ถุงน้ำ หรือซีสต์ในผู้หญิง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับปริมาณเอสโตรเจน และฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งเต้านมได้
  2. ห้ามใช้ในผู้ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นหรือเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือมีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
  3. ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และเด็กเล็ก ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือรับประทานเกินขนาดที่ระบุไว้เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ผู้ป่วยที่มีปัญหาท่อน้ำดี อุดตันไม่ควรใช้เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งน้ำดี และอาจทำให้เกิดอาการเสียดท้องในผู้ป่วยที่ เป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้
  4. ควรระวังการใช้ในเพศชาย เนื่องจากมีงานวิจัยระบุว่าว่านชักมดลูกอาจทำให้เป็นหมัน และห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้ในวัยเจริญพันธุ์หรือช่วงวัยรุ่น เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายพัฒนาระบบสืบพันธุ์ได้ไม่เต็มที่

6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สมศักดิ์ นวลแก้ว, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยามหาสารคาม, ยาสตรีในร้านยา (http://www.pharmacy.msu.ac.th/rs/rl/250418.pdf), เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2561.
สงวนศักดิ์ ฤกษ์ศุภผล และ ลักขณา ฤกษ์ศุภผล, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์และภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพฯ, ไฟโตรเอสโตรเจน: การนำมาใช้ทางคลินิก (http://www.med.cmu.ac.th/dept/nutrition/DATA/COMMON/phytoestrogen.pdf), 2548.
ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์, กลุ่มวิชาเภสัชเคมีและเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, สารทุติยภูมิและฤทธิ์ทางชีวภาพของว่านชักมดลูกที่จำหน่ายในท้องตลาดของไทย (http://www.ubu.ac.th/web/files_up/08f2017050210054991.pdf), 1 มกราคม 2560.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ว่านชักมดลูก (Curcuma comosa)
ว่านชักมดลูก (Curcuma comosa)

ว่านชักมดลูก สมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณบำรุงสตรี รู้จักว่านชักมดลูกหลากหลายรูปแบบ รวมถึงข้อห้ามและผลข้างเคียงของการกินว่านชักมดลูก

อ่านเพิ่ม