ยารักษาโรคซึมเศร้า

รู้จักกลุ่มยาต้านซึมเศร้า ซึ่งใช้รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ยานี้มีผลข้างเคียงหลายอย่าง ควรใช้ตามแพทย์สั่ง ซึ่งแพทย์จะมีการปรับลด-เพิ่มตามความเหมาะสมเป็นระยะ
เผยแพร่ครั้งแรก 19 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 12 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ยารักษาโรคซึมเศร้า

การเกิดโรคซึมเศร้านั้นมาจากการที่สมองมีการสร้างสารสื่อประสาทบางชนิดได้น้อยลง ได้แก่ ซีโรโทนิน (Serotonin) โดพามีน (Dopamine) และนอร์อีพิเนฟริน (Norepinephrine)  โดยความผิดปกติดังกล่าวเกิดจากความสามารถในการปรับตัวของเซลล์ประสาทต่อสิ่งกระตุ้นภายนอกลดลง จนเกิดการฝ่อหรือตายของเซลล์ประสาทนั้นๆ และสูญเสียการทำงานไปในที่สุด ซึ่งสมองส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ สมองส่วนที่ใช้ควบคุมอารมณ์ (Hippocampus และ Prefrontal cortex) นั่นเอง

โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ อาการจะดีขึ้นเร็วเท่านั้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ การรักษาโรคซึมเศร้าสามารถทำได้หลายวิธี โดยนอกจากการพบและพูดคุยกับจิตแพทย์ซึ่งเป็นการรักษาหลักแล้ว ยังมีการรักษาโดยการใช้ยาร่วมด้วย ยารักษาโรคซึมเศร้าที่ช่วยรักษาอาการซึมเศร้าจะเป็นกลุ่มยาที่จะช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทซีโรโทนิน โดพามีน และนอร์อีพิเนฟริน ซึ่งก่อนการเริ่มยาในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์จะต้องทำการประเมินทั้งในด้านร่างกาย อาการแสดงของโรค ประวัติครอบครัว และประวัติการใช้ยา รวมไปถึงปัจจัยภายนอกอื่นๆ เพื่อวางแผนการรักษาสำหรับผู้ป่วยรายนั้นๆ ให้เหมาะสม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ยาที่ใช้ในการรักษา

ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressant) สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มหลักๆ ตามกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้

  1. ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเก็บกลับสารซีโรโทนินอย่างจำเพาะ (Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs))
    ตัวอย่างยา ได้แก่ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ซิตาโลแพรม (Citalopram) พารอกซิทีน (Paroxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline)
    ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มนี้เป็นยาที่นิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบัน ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายากลุ่มเก่าๆ แต่ยังคงพบอาการข้างเคียงอื่นๆ ได้ เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ วิตกกังวล กล้ามเนื้อกระตุกเกร็ง และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  2. ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเก็บกลับสารซีโรโทนินและนอร์อะดินาลีน (Serotonin-noradrenaline reuptake inhibitors (SNRIs))
    ตัวอย่างยา ได้แก่ ยาดูลอกซีทีน (Duloxetine) เวนลาฟาซีน (Venlafaxine) และเดสเวนลาฟาซีน (Desvenlafaxine)
    ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการเก็บกลับของสารสื่อประสาทในสมองแบบไม่จำเพาะเจาะจง อาการข้างเคียงที่สามารถพบได้ เช่น คลื่นไส้ ง่วง มึนงง อ่อนแรง ท้องผูก และปากแห้ง เป็นต้น
  3. ตรไซคลิก แอนตีดีเพสแสตน (Tricyclic antidepressants (TCAs))
    ตัวอย่างยา ได้แก่ อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) โคลมิพรามีน (Clomipramine) อิมิพรามีน (Imipramine) โลฟิพรามีน (Lofepramine) นอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline)
    ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการเก็บกลับของสารสื่อประสาทในสมอง เป็นยากลุ่มเก่าที่มีใช้มานานแต่ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้เป็นยาตัวเลือกแรกในการรักษาโรคซึมเศร้าเนื่องจากมีผลข้างเคียงที่รุนแรงกว่าการใช้ยากลุ่มอื่นและเป็นอันตรายหากใช้ยาเกินขนาด

ผลข้างเคียงที่สำคัญคือ หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันต่ำ และอาจเกิดการกระตุกเกร็งของกล้ามเนื้อ จึงต้องมีการตรวจวัดคลื่นหัวใจก่อนการใช้ยา โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และอาจพบอาการอื่นๆ ได้ เช่น ท้องผูก ปากแห้ง ง่วง น้ำหนักเกิน เป็นต้น

  1. ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส (Monoamine oxidase inhibitor; MAOIs)
    ตัวอย่างยา ได้แก่ ฟีนีลซีน (Phenelzine) ทรานิลไซโปรมีน (Tranylcypromine) ไอโซคอบอกซาซิต (isocarboxazid) และเซเลจิลีน (Selegiline)
    ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มนี้เป็นยากลุ่มเก่าที่มีการใช้อย่างจำกัดในปัจจุบัน เนื่องจากมีผลข้างเคียงที่รุนแรง และมีอันตรกิริยากับอาหารที่ประกอบด้วยไทรามีน ไทรามีนเป็นสารที่ได้จากกรดอะมิโนชนิดที่เรียกว่าไทโรซีน (Tyrosine) พบได้มากในอาหารหมักดอง อาหารแปรรูป เช่น เนยแข็ง ไส้กรอก แฮม ขนมปังที่ใช้แป้งหมักด้วยยีสต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผ่านกระบวนการหมัก เช่น เบียร์ ไวน์ เป็นต้น มีผลทำให้ผู้ป่วยเกิดความดันโลหิตสูงอย่างเฉียบพลัน มีอาการปวดหัวรุนแรง อาเจียน สับสน และอาจถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การใช้ยาในกลุ่มนี้จึงต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
  2. ยาต้านซึมเศร้าอื่นๆ (Atypical antidepressants)
    ได้แก่ เมอร์ทาซาปีน (mirtazapine ) ทราโซโดน (Trazodone), ไวลาซาโดน (Vilazadone)

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้เช่น ปากแห้ง น้ำหนักเกิน และจะง่วงค่อนข้างมาก

คำแนะนำในการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า

ในการรักษาแพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดยา ความถี่ในการรับประทาน และระยะเวลาในการติดตามผลการรักษาขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์จะทำการประเมินการตอบสนองต่อยาซึ่งโดยทั่วไปจะเห็นผลหลังจากเริ่มการรักษาไปแล้ว 4-8 สัปดาห์ โดยดูจากความทุเลาจากอาการของโรคและผลข้างเคียงจากการใช้ยา หากผลการตอบสนองดี จะต้องรักษาโดยการรับประทานยาต่อเนื่องไปอีก 4-9 เดือน เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค และอาจต้องรับประทานยาต่อไปอีกในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะกลับไปเป็นซ้ำในระยะยาว แต่หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์จะทำการปรับแผนการรักษาต่อไป และในการหยุดยา จำเป็นต้องค่อยๆลดระดับยาลง ไม่ควรหยุดยาในทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงจากการหยุดยาเร็วเกินไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการใช้ยาจะให้ผลการรักษาที่ดี แต่วิธีการรักษาที่สำคัญยังคงเป็นการพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยหาสาเหตุ ปรับทัศนคติความคิด และวางแนวทางการรักษาร่วมกันเพื่อให้รักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้ยาเกินจำเป็นและผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยานั่นเอง

ข้อควรระวังจากการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า

  • ยาต้านซึมเศร้ามีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ปากแห้ง และง่วงซึม
  • การใช้ยาเกินขนาดและการใช้ยาร่วมกันหลายชนิดอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงได้ เช่น เกิดอาการ Serotonin syndrome คือ หน้าแดง มือสั่น น้ำลายออกมามาก และอาจมีอาการชักได้ เป็นต้น ดังนั้น การใช้ยาเพื่อรักษาอาการซึมเศร้าจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การสั่งจ่ายและดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
  • ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งถึงประวัติโรคที่เป็น ประวัติการใช้ยา และประวัติการแพ้ยา ห้ามใช้ยาที่มีประวัติการแพ้เด็ดขาด
  • ห้ามใช้ยากลุ่ม SSRIs ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs
  • ไม่ควรใช้ยากลุ่ม TCAs ในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เพราะอาจทำให้อาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแย่ลง เนื่องจากยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงทำให้ความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ไม่ควรใช้ยา Venlafaxine ในผู้ป่วยที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ มีประวัติโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะหากได้รับยามากเกินไปอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ขณะใช้ยารักษาอาการซึมเศร้า เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง รวมถึงมีฤทธิ์กดประสาทอีกด้วย

6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
แพทย์หญิง ดลฤดี เพชรสุวรรณ, https://med.mahidol.ac.th/ramamental/sites/default/files/public/ pdf/Depressive%20Disorder%20-%20Etiology%20and%20Clinical%20Features.pdf, 2005
คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี, https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/bulletin/bul2000/v8n3/Serotonin, Access online: 23 April 2019.
คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017, Access online: 13 April 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป