สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม (Dementia)

ภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่โรค สามารถบรรเทาให้ดีขึ้นได้โดยพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
เผยแพร่ครั้งแรก 23 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 11 นาที
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม (Dementia)

ภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่โรค สามารถบรรเทาให้ดีขึ้นได้โดยพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง

ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) คือภาวะที่การทำงานของสมองในด้านการรับรู้และการคิดถดถอยลง ในกรณีที่ถือว่าเป็นภาวะสมองเสื่อมได้ ความบกพร่องที่เกิดขึ้นจะต้องกระทบต่อหน้าที่ของสมองอย่างน้อย 2 อย่าง ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ความจำ
  • การคิด
  • การใช้ภาษา
  • การตัดสินใจ
  • พฤติกรรม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นไม่ใช่โรค และอาจมีสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยต่างๆ มากมาย ความบกพร่องของสมองอาจมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงรุนแรง และอาจถึงขั้นส่งผลให้บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงได้

บางครั้งภาวะสมองเสื่อมอาจรุนแรงขึ้นได้ หรือผู้ป่วยอาจมีอาการแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่ในบางกรณี ภาวะสมองเสื่อมสามารถบรรเทาหรือแม้แต่รักษาให้หายได้เช่นกัน แพทย์บางคนจึงจำกัดนิยามของภาวะสมองเสื่อมว่าเป็นความเสื่อมสภาพที่ไม่อาจฟื้นคืนได้เท่านั้น

อาการของภาวะสมองเสื่อม

ในระยะแรกของภาวะสมองเสื่อม ผู้ป่วยมักแสดงอาการ ดังนี้

  • ไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ ผู้ป่วยอาจยอมรับได้ยากเมื่อสภาพแวดล้อมรอบตัว หรือตารางการใช้ชีวิตประจำวันมีการเปลี่ยนแปลง
  • มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในการสร้างความทรงจำระยะสั้น ผู้ป่วยอาจสามารถจดจำเรื่องราวเมื่อ 15 ปีก่อนได้ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน แต่กลับจำไม่ได้ว่าตนเองกินอะไรเป็นมื้อกลางวัน
  • พยายามเฟ้นหาคำที่เหมาะสม การเรียบเรียงและเชื่อมโยงถ้อยคำเพื่อสื่อสารทำได้ยากกว่าเดิม
  • ย้ำคิดย้ำทำ ผู้ป่วยอาจถามคำถามเดิม ทำสิ่งเดิม หรือบอกเรื่องเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
  • สับสนเรื่องทิศทาง สถานที่ที่เคยรู้จักคุ้นชินกลับทำให้รู้สึกแปลกที่แปลกทาง ผู้ป่วยอาจหลงทางขณะขับรถบนเส้นทางเดิมที่ขับมาหลายปี เนื่องจากรู้สึกไม่คุ้นชินอีกต่อไป
  • มีปัญหาในการติดตามเรื่องราว ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าการติดตามและทำความเข้าใจเรื่องราวหรือคำอธิบายต่างๆ เป็นเรื่องยาก
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ การมีอารมณ์เศร้า ผิดหวัง หรือโกรธผิดปกติ พบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม
  • ขาดความสนใจ ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมอาจมีอาการเฉยชา ไม่ยินดียินร้าย รวมถึงขาดความสนใจต่องานอดิเรก หรือกิจกรรมที่เคยชื่นชอบด้วย
  • สับสน ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่คุ้นเคยกับผู้คน สถานที่ หรือเหตุการณ์ต่างๆ อีกต่อไป รวมถึงอาจจำคนรู้จักไม่ได้ด้วย
  • ไม่สามารถทำงานในแต่ละวันได้สำเร็จ ผู้ป่วยไม่สามารถจดจำวิธีการทำงานที่ตนเองเคยทำมาหลายปีได้

การมีปัญหาด้านความจำ อาจไม่ใช่สัญญาณของภาวะสมองเสื่อมเสมอไป แต่อาการทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เรากำลังมีทักษะด้านการจำและการรู้คิดเสื่อมถอยลง

ระยะความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อม

โดยส่วนมากแล้ว อาการของภาวะสมองเสื่อมจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป โดยการดำเนินของอาการอาจแตกต่างกันในแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีลำดับอาการตามระยะความรุนแรงดังต่อไปนี้

ระยะที่การทำงานของสมองบกพร่องเล็กน้อย

ผู้สูงอายุบางคนอาจเกิดภาวะ Mild Cognitive Impairment (MCI) หรือภาวะที่สมองเกิดความผิดปกติเพียงเล็กน้อย แต่ยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นสมองเสื่อม คนที่อยู่ในระยะนี้มักมีอาการหลงลืมบ่อยๆ มีปัญหาในการเลือกใช้คำพูด และการสร้างความจำระยะสั้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สมองเสื่อมระยะไม่รุนแรง

ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการสมองเสื่อมเพียงเล็กน้อย และอาจยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • ความจำระยะสั้นขาดหายไป
  • บุคลิกภาพเปลี่ยนไป เช่น มีอารมณ์โกรธหรือซึมเศร้าผิดปกติ
  • หลงลืมบ่อย หรือจำไม่ได้ว่าวางอะไรไว้ที่ไหน
  • มีความลำบากในการทำงานที่ซับซ้อน หรือการแก้ปัญหา
  • มีปัญหาในการแสดงออกด้านอารมณ์หรือความคิด

สมองเสื่อมระยะปานกลาง

ในระยะนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีคนคอยดูแล เนื่องจากภาวะสมองเสื่อมนั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ อาการของระยะนี้ ได้แก่

  • การประเมินและการตัดสินใจแย่ลง
  • รู้สึกสับสนและไม่พึงพอใจมากขึ้น
  • สูญเสียความทรงจำ ทำให้ย้อนระลึกกลับไปยังอดีตมากขึ้น
  • ต้องการความช่วยเหลือในกิจกรรมต่างๆ เช่น การอาบน้ำ การแต่งตัว
  • มีบุคลิกภาพเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

สมองเสื่อมระยะรุนแรง

ในระยะท้ายนี้ ทั้งอาการด้านร่างกายและการรับรู้จะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งอาการที่มักพบ ได้แก่

  • ไม่สามารถควบคุมและสั่งการร่างกายได้ตามปกติ เช่น มีปัญหาในการเดิน หรือแม้แต่การกลืนอาหารและการกลั้นปัสสาวะ
  • มีอุปสรรคในการสื่อสาร
  • จำเป็นต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา
  • มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงขึ้น

ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมจะเข้าสู่ระยะต่างๆ ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป การทำความเข้าใจระยะความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อมจะช่วยให้สามารถรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นในอนาคตได้

ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากอะไร?

ภาวะสมองเสื่อมนั้นเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง ที่ทำให้เกิดความเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาทในสมอง หรือส่งผลรบกวนระบบอื่นๆ ในร่างกายจนกระทบต่อการทำงานของเซลล์ประสาท

ความเจ็บป่วยต่างๆ อาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับสมอง สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ และภาวะหลอดเลือดสมองขาดเลือด (Vascular dementia)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ความเสื่อมของระบบประสาท (Neurodegenerative) คือเซลล์ประสาทค่อยๆ สูญเสียการทำงาน ทำงานผิดปกติ หรือแม้แต่เซลล์ประสาทตายลง จึงส่งผลกระทบต่อจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทหนึ่งกับเซลล์ประสาทถัดไปที่เรียกว่า ไซแนปส์ (Synapses) ซึ่งเป็นจุดรับและส่งต่อสัญญาณในสมอง การขาดการเชื่อมต่อจึงทำให้การทำงานของสมองเสียไปด้วย

สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อย ได้แก่

โรคจากความเสื่อมของระบบประสาท เช่น

  • โรคอัลไซเมอร์
  • โรคพาร์กินสัน ที่เกิดร่วมกับภาวะสมองเสื่อม
  • ภาวะหลอดเลือดสมองขาดเลือด
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง
  • โรคมะเร็ง เนื้องอก หรือมีการติดเชื้อในสมอง

อีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้ คือ ภาวะที่สมองส่วนหน้าเสื่อมสภาพ (Frontotemporal lobar degeneration) ซึ่งหมายรวมไปถึงความผิดปกติต่างๆ ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บเสียหายของสมองกลีบหน้าและสมองกลีบขมับด้วย ซึ่งได้แก่

  • ภาวะสมองส่วนหน้าเสื่อม (Frontotemporal dementia)
  • โรคพิค (Pick’s disease)
  • ภาวะก้านสมองเสื่อม (Supranuclear palsy)
  • ภาวะฐานเปลือกสมองเสื่อม (Corticobasal degeneration)

สาเหตุอื่นๆ ของภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ได้เช่นกัน ได้แก่

  • ความผิดปกติทางโครงสร้างของสมอง เช่น ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ (Normal-pressure hydrocephalus (NPH)) และภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง (Subdural hematoma)
  • โรคทางเมตาบอลิก เช่น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism) ภาวะขาดวิตามินบี12 โรคไต และโรคตับ
  • การได้รับสารพิษ เช่น ตะกั่ว

ภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุเหล่านี้สามารถรักษาให้ฟื้นคืนสภาพ หากตรวจพบได้ทันท่วงที นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการรีบไปพบแพทย์และตรวจร่างกายเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การแบ่งชนิดของภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมโดยส่วนมากจะเป็นหนึ่งในอาการของโรคภัยไข้เจ็บที่จำเพาะ โดยโรคต่างๆ ก็ถือเป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่ต่างชนิดกันด้วย ภาวะสมองเสื่อมชนิดที่พบบ่อย ได้แก่

  • ภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ เป็นสมองเสื่อมชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด คือประมาณ 60-80% ของผู้มีภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด
  • ภาวะสมองเสื่อมจากสมองขาดเลือด (Vascular dementia) เกิดจากเลือดไหลเวียนไปยังสมองลดลง สาเหตุมาจากมีสารสะสม (Plaque) อุดตันในหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงสมอง หรือเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก
  • ภาวะสมองเสื่อมจากลิววี่บอดี้ (Lewy body dementia) ลิววี่บอดี้คือส่วนของโปรตีนที่สะสมอยู่ภายในเซลล์ประสาท ซึ่งไปขัดขวางการส่งสัญญาณประสาทจากสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียการรับรู้ ตอบสนองช้า และสูญเสียความทรงจำ
  • ภาวะสมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในระยะรุนแรง อาจมีอาการสมองเสื่อมร่วมด้วย เช่น มีปัญหาในการให้เหตุผลและการตัดสินใจ รู้สึกหงุดหงิดง่าย กระวนกระวาย และมีอาการซึมเศร้า
  • ภาวะสมองส่วนหน้าเสื่อมสภาพ ภาวะสมองเสื่อมหลายชนิดจัดรวมอยู่ในประเภทนี้ด้วย ซึ่งเป็นผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสมองกลีบหน้าและกลีบข้าง อาการที่พบ ได้แก่ มีปัญหาด้านการใช้ภาษาและพฤติกรรม รวมถึงขาดความยับยั้งชั่งใจในเรื่องต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่นๆ ซึ่งพบได้น้อย หรือกล่าวได้ว่า สมองเสื่อมจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากนี้อาจพบได้เพียง 1 ในล้านคนเท่านั้น  

การตรวจหาภาวะสมองเสื่อม

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่สามารถใช้วินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมได้อย่างแม่นยำ แพทย์จึงมักใช้การตรวจหลายอย่างควบคู่กันไป ซึ่งได้แก่

  • ประวัติทางการแพทย์โดยละเอียด
  • ผลการตรวจร่างกายโดยละเอียด
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด
  • อาการที่ผ่านมา เช่น มีความเปลี่ยนแปลงด้านความทรงจำ พฤติกรรม และการทำงานของสมอง
  • ประวัติครอบครัว

จากการตรวจดังกล่าว แพทย์จะสามารถประเมินได้ค่อนข้างแม่นยำว่าผู้ป่วยมีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจไม่สามารถระบุชนิดของภาวะสมองเสื่อมได้ เนื่องจากบางครั้งอาการของสมองเสื่อมแต่ละชนิดนั้นใกล้เคียงกัน การแยกชนิดจึงทำได้ยาก

สถานพยาบาลบางแห่งอาจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมโดยไม่ระบุชนิด ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา (Neurologist) เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมและรักษาอย่างเหมาะสม

การรักษาภาวะสมองเสื่อม

วิธีรักษาเพื่อบรรเทาอาการของภาวะสมองเสื่อมหลักๆ มีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การใช้ยา และการบำบัดโดยไม่ใช้ยา อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ยาทุกตัวจะผ่านการรับรองให้สามารถใช้ได้กับภาวะสมองเสื่อมทุกชนิด และไม่มีวิธีการรักษาใดที่สามารถบำบัดอาการได้อย่างสมบูรณ์

ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์นั้นรักษาด้วยการใช้ยาเป็นหลัก โดยยาที่ใช้บรรเทาอาการของโรคอัลไซเมอร์มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่

  • กลุ่มยายับยั้งเอนไซม์ Cholinesterase ยากลุ่มนี้จะไปเพิ่มระดับสารเคมีที่ชื่อว่า อะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยสร้างความทรงจำ และช่วยในการตัดสินใจ จึงอาจช่วยชะลอความรุนแรงของอาการของโรคอัลไซเมอร์ได้
  • ยามีแมนทีน (Memantine) ยาชนิดนี้จะช่วยชะลอการเกิดอาการผิดปกติด้านการรับรู้และพฤติกรรม ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ระยะปานกลางหรือระยะรุนแรง การใช้ยามีแมนทีนจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถคงสภาพการทำงานของสมองปกติไว้ได้นานขึ้น

แพทย์อาจสั่งยาทั้งสองประเภทนี้ควบคู่กัน แต่การใช้ยาอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน

การบำบัดโดยไม่ใช้ยา

การบำบัดเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาอาการสมองเสื่อมและควบคุมไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ โดยวิธีการบำบัดที่นิยมใช้ ได้แก่

  • ปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบตัว ความวุ่นวาย เสียงดัง และสิ่งเร้าที่มากเกินไป อาจทำให้ผู้ป่วยมีสมาธิจดจ่อลดลงและทำให้อาการแย่ลงได้
  • ปรับปรุงงานทั่วไป ผู้ป่วยอาจตกลงกับนักบำบัดหรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพ เพื่อแบ่งแยกงานในชีวิตประจำวัน เช่น การอาบน้ำ หรือการแต่งตัว เป็นงานที่สามารถจัดการเองได้
  • การบำบัดเพื่อให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ นักบำบัดอาจช่วยให้คุณเรียนรู้และทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น เช่น การเดิน การทำอาหาร และการขับรถ

การป้องกันภาวะสมองเสื่อม

หลายสิบปีที่ผ่านมา แพทย์และนักวิจัยเชื่อว่าภาวะสมองเสื่อมนั้นไม่สามารถป้องกันหรือรักษาได้ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาใหม่ๆ เราพบว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป

การศึกษาเมื่อปี 2017 พบว่า 1 ใน 3 ของผู้มีภาวะสมองเสื่อมนั้นเป็นผลมาจากปัจจัยในการใช้ชีวิต นักวิจัยได้ระบุปัจจัยเสี่ยง 9 ประการที่ทำให้ภาวะสมองเสื่อมสูงขึ้น ได้แก่

  • การขาดความรู้และการศึกษา
  • ความดันโลหิตสูงในช่วงวัยกลางคน
  • โรคอ้วนในช่วงวัยกลางคน
  • การสูญเสียการได้ยิน
  • ภาวะซึมเศร้าในช่วงวัยชรา
  • การเป็นโรคเบาหวาน
  • ขาดการออกกำลังกาย หรือไม่ค่อยขยับร่างกาย
  • การสูบบุหรี่
  • การปลีกตัวแปลกแยกจากสังคม

นักวิจัยเชื่อว่าการพุ่งเป้าไปที่ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ร่วมกับการรักษาและให้ความช่วยเหลือ จะช่วยชะลอหรือแม้แต่ป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมอาจสูงขึ้นถึง 3 เท่า ภายในปี 2050 อย่างไรก็ตาม เราสามารถลงมือป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ตั้งแต่วันนี้

อายุขัยของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม

ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองเสื่อม สามารถมีอายุยืนยาวไปได้อีกหลายปี เนื่องจากภาวะสมองเสื่อมโดยตัวมันเองแล้วไม่ใช่อาการป่วยที่ร้ายแรงถึงชีวิต อย่างไรก็ตาม ระยะท้ายของภาวะสมองเสื่อมก็ถือเป็นขั้นที่ไม่สามารถรักษาได้แล้ว

การประเมินอายุขัยของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมเป็นเรื่องยากสำหรับแพทย์ นอกจากนี้ ปัจจัยจากอาการป่วยอาจมีผลต่ออายุของผู้ป่วยแต่ละคนที่ยืนยาวแตกต่างกัน

ในการศึกษาหนึ่งพบว่า ผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ จะมีอายุขัยเฉลี่ยหลังการวินิจฉัยอยู่ที่ 5.7 ปี ส่วนผู้ชายจะอยู่ที่ 4.2 ปี ส่วนในภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่นๆ จากการศึกษาพบว่าจะมีอายุขัยเฉลี่ยที่สั้นกว่านี้

ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม ได้แก่

  • การมีอายุมากขึ้น
  • เป็นเพศชาย
  • ทักษะความสามารถและการทำงานของร่างกายถดถอยลง
  • มีความผิดปกติด้านสุขภาพ หรือเป็นโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน มะเร็ง

อย่างไรก็ตาม พึงระลึกว่าการพัฒนาความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อมไม่มีช่วงเวลาที่แน่นอน ผู้ป่วยอาจเข้าสู่ระยะต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจเป็นไปอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่ออายุขัยของผู้ป่วยเช่นกัน

ภาวะสมองเสื่อม vs. โรคอัลไซเมอร์

ภาวะสมองเสื่อมกับโรคอัลไซเมอร์นั้นแตกต่างกัน คำว่า สมองเสื่อม ใช้อธิบายกลุ่มอาการใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความจำ การใช้ภาษา และการตัดสินใจ ส่วนโรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในภาวะสมองเสื่อมชนิดที่พบได้มากที่สุด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการจัดการความจำระยะสั้น มีอาการซึมเศร้า สับสน พฤติกรรมแปรปรวน และอื่นๆ

ภาวะสมองเสื่อมมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการหลงลืม หรือสูญเสียความทรงจำ หลงทิศทาง สับสน และช่วยเหลือตัวเองได้ลำบาก ส่วนกลุ่มอาการที่จำเพาะนั้นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของภาวะสมองเสื่อม ในโรคอัลไซเมอร์ก็ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ได้ แต่อาการอื่นๆ ของอัลไซเมอร์ยังรวมไปถึงภาวะซึมเศร้า มีปัญหาในการตัดสินใจ และมีอุปสรรคในการพูดอีกด้วย

สำหรับการรักษาภาวะสมองเสื่อมนั้นขึ้นอยู่กับชนิดหรือสาเหตุของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคอัลไซเมอร์อาจมีส่วนคล้ายกับการรักษาภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่นๆ แบบที่ไม่ต้องใช้ยา ในภาวะสมองเสื่อมบางชนิด การรักษาที่ต้นเหตุอาจช่วยลดหรือหยุดยั้งปัญหาด้านความจำและพฤติกรรมของผู้ป่วยได้ แต่แนวทางดังกล่าวจะใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์

การเปรียบเทียบทั้งสองภาวะดังกล่าวนี้จะช่วยให้เราสามารถแยกโรคจากอาการที่คนใกล้ตัวประสบอยู่ได้อย่างถูกต้อง

ภาวะสมองเสื่อมจากแอลกอฮอล์

การดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมที่เราสามารถป้องกันได้มากที่สุด จากการศึกษาในปี 2018 พบว่า การเกิดภาวะสมองเสื่อมในระยะแรกโดยส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์

การศึกษาดังกล่าวบ่งชี้ว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของการเกิดภาวะสมองเสื่อมในระยะแรกนั้นสัมพันธ์โดยตรงกับการดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ร้อยละ 18 ของกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพิษสุราด้วย ซึ่งนักวิจัยพบว่า โรคนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมถึง 3 เท่า

การดื่มแอลกอฮอล์อาจไม่ได้ก่อโทษต่อทักษะการคิดและสุขภาพจิตเสมอไป การดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลาง (ไม่เกิน 1 แก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง และไม่เกิน 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย) กลับส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปยังเป็นอันตรายต่อร่างกายโดยรวม ไม่เพียงแต่กับความคิดและความจำเท่านั้น

การหลงลืมง่าย ไม่ใช่สัญญาณปกติของความแก่ชราหรือ?

การหลงลืมบ้างเป็นครั้งคราวนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา และแม้แต่ความทรงจำบางอย่างหายไปเองก็ไม่ได้หมายถึงการเกิดภาวะสมองเสื่อมเสมอไป การหลงลืมเล็กๆ น้อยๆ กับการหลงลืมอย่างจริงจังที่ควรกังวลนั้นมีความแตกต่างกันมหาศาล

ลักษณะการหลงลืมที่บ่งชี้ถึงภาวะสมองเสื่อม ได้แก่

  • จำคนรู้จักไม่ได้
  • จำวิธีการทำงาน หรือการทำกิจกรรมทั่วไปไม่ได้ เช่น วิธีการใช้โทรศัพท์ หรือการหาทางกลับบ้าน
  • ไม่สามารถทำความเข้าใจข้อมูลต่างๆ ได้ แม้จะมีการอธิบายชัดเจนแล้ว

หากคนใกล้ตัวมีลักษณะอาการตามที่กล่าวมานี้ ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยด่วน

การหลงทางในสถานที่ที่คุ้นชิน ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมเช่นกัน เช่น ผู้ป่วยอาจหาทางไปซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไปประจำไม่ได้ เป็นต้น

ภาวะสมองเสื่อมพบได้บ่อยแค่ไหน?

ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 65-74 ปี และ 1 ใน 4 ของผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไปจะเกิดภาวะสมองเสื่อมชนิดใดชนิดหนึ่ง ปัจจุบันคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นสมองเสื่อมและใช้ชีวิตอยู่กับภาวะดังกล่าวนั้นมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในจำนวนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากอายุขัยเฉลี่ยของคนที่เพิ่มขึ้นด้วย

การศึกษาเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพยายามทำความเข้าใจภาวะสมองเสื่อมในเชิงลึกและในแง่มุมที่ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้เราสามารถหาวิธีการป้องกัน เครื่องมือวินิจฉัยที่รวดเร็วและวิธีเยียวยาในระยะยาว หรือแม้แต่รักษาให้หายขาดได้

ยกตัวอย่างเช่น มีงานวิจัยหนึ่งเสนอว่า ยาแก้โรคหอบหืดที่ชื่อว่า Zileuton อาจช่วยชะลอและหยุดยั้งการสร้างโปรตีนในสมอง ซึ่งพบในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้

อีกการศึกษาหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้เสนอว่า การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep brain stimulation) เป็นวิธีที่สามารถยับยั้งอาการของโรคอัลไซเมอร์ในผู้ป่วยสูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีนี้ใช้ในการรักษาอาการของโรคพาร์กินสัน เช่น อาการสั่น มานานหลายสิบปีแล้ว   

ปัจจุบันนักวิจัยยังคงค้นคว้าหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการยับยั้งความรุนแรงของโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงศึกษาปัจจัยหลายอย่างที่คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะสมองเสื่อม ได้แก่

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม
  • สารสื่อประสาทชนิดต่างๆ
  • การอักเสบ
  • ปัจจัยที่มีผลต่อการตายของเซลล์ในสมอง
  • Tau ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในเซลล์ประสาทของระบบประสาทส่วนกลาง
  • สารอนุมูลอิสระ หรือปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้โปรตีน DNA และไขมันในเซลล์เกิดความเสียหาย

การศึกษาเหล่านี้ช่วยให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์เข้าใจสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมได้ดีขึ้น รวมถึงสามารถค้นพบวิธีรักษาและวิธีที่สามารถป้องกันภาวะดังกล่าวได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า ปัจจัยในการใช้ชีวิตอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ และการรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี เป็นต้น

ที่มาของข้อมูล

Wendy Leonard, What Do You Want to Know About Dementia? (https://www.healthline.com/health/dementia), November 2018


21 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Dementia: Symptoms, treatments, and causes. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/142214)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป