เก๊กฮวย (Chrysanthemum)

ประโยชน์ของเก๊กฮวย คุณค่าทางโภชนาการ สรรพคุณ ตัวอย่างเมนูน่ากินจากเก๊กฮวย และข้อควรระวัง
เผยแพร่ครั้งแรก 6 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 22 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
เก๊กฮวย (Chrysanthemum)

เก๊กฮวย เป็นพืชชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาทำเป็นน้ำสมุนไพร อันที่จริงแล้วพืชชนิดนี้มีสรรพคุณในการรักษาโรคมากมาย ซึ่งได้มีบันทึกไว้ในตาราแพทย์จีนโบราณ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มีการนำเก๊กฮวยมาชงดื่มโดยผสมน้ำตาลลงไปเพื่อให้มีรสหวาน จึงทำให้คนทั่วไปยึดติดว่าเก๊กฮวยจะต้องมีรสชาติหวานชื่นใจ ส่งผลให้มีการสะสมของน้ำตาลในปริมาณมาก

ทำความรู้จักเก๊กฮวย

เก๊กฮวย หรือ เบญจมาศสวน (Chrysanthemum) มีอยู่หลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่นิยมนำมาใช้เป็นยาคือ สายพันธุ์สีขาวและสีเหลือง ต้นเก๊กฮวยมีลักษณะเป็นพืชล้มลุก ลำต้นตรง ใบเดี่ยวเรียงสลับทรงกลมหรือทรงไข่ ออกดอกสีม่วงหรือขาวเหลืองขนาดเล็ก โดยออกดอกเป็นกระจุกช่อๆ เดิมปลูกที่จีนและญี่ปุ่น แล้วจึงแพร่ขยายเข้ามาที่ลาว กัมพูชาและไทย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

คุณค่าทางโภชนาการของเก๊กฮวย

ชาเก๊กฮวย 100 กรัม มีพลังงาน 20 แคลอรี่ และมีคุณค่าทางโภชนาการดังต่อไปนี้

คาร์โบไฮเดรต 4 กรัม ไขมัน 0 กรัม ไฟเบอร์ 2 กรัม แคลเซียม 7% เหล็ก 21% โพแทสเซียม 569 มิลลิกรัม โซเดียม 53 มิลลิกรัม วิตามิน A 51% วิตามิน C 24%

สรรพคุณของเก๊กฮวย

เก๊กฮวยมีประโยชน์ที่น่าสนใจต่อร่างกายมากมาย เช่น

  1. ช่วยให้ผิวพรรณสดใสขึ้น เก๊กฮวยมีสารฟลาโวนอยด์ และเบตาแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง ทั้งสองสารมีคุณสมบัติช่วยชะลอวัย บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส และขับสารพิษออกจากร่างกายผ่านทางเหงื่อ
  2. ลดไขมันในหลอดเลือด สารโพลีฟีนอลในเก๊กฮวย สามารถลดไขมันในตับและหลอดเลือดได้ จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคหลอดเลือดสมองได้
  3. กระตุ้นระบบเผาผลาญ มีสารประกอบวิตามินบีหลายชนิดที่พบได้ในพืชชนิดนี้ ได้แก่ โคลีน ไนอาซิน รวมไรโบฟลาวิน ที่จะช่วยกระตุ้นให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ดียิ่งขึ้น จึงสามารถนำมาดื่มเพื่อลดน้ำหนักได้ (แต่ต้องไม่ใส่น้ำตาลในปริมาณมาก)
  4. ลดการอักเสบในร่างกาย การดื่มชาเก๊กฮวย หรือน้ำเก๊กฮวยเป็นประจำ จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของระะบบภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบในร่างกาย และลดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ
  5. บำรุงดวงตา เบตาแคโรทีน และวิตามินเอในเก๊กฮวย จะช่วยบำรุงดวงตา โดยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตา
  6. ลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน จากการศึกษาวิจัยฉบับหนึ่งได้รายงานว่า สารสกัดที่พบในเก๊กฮวย จะช่วยยับยั้งการสลายของกระดูก จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้
  7. บรรเทาอาการท้องผูก เก๊กฮวย สามารถนำมาใช้เพื่อเป็นยาถ่ายทางธรรมชาติ โดยไม่เกิดผลเสียต่อร่างกาย และยังช่วยขับโลหะหนักในร่างกาย รวมถึงโซเดียมออกมาพร้อมการขับถ่ายด้วย

แนวทางการใช้เก๊กฮวยเพื่อสุขภาพ

มีดังต่อไปนี้

  • บรรเทาอาการตาอักเสบ นำดอกสดตำละเอียดมาประคบบริเวณภายนอกเปลือกตาทิ้งไว้สักประมาณ 5 นาที ก็จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบ หรือตาบวมแดงให้ทุเลาลง
  • รักษาแผล ฝี หรือหนอง นำดอกเก๊กฮวยสดมาล้างให้สะอาด บดให้ละเอียด แล้วผสมน้ำ จากนั้นนำกากดอกเก๊กฮวยที่ได้มาพอกบริเวณแผล ฝี หรือจุดที่เป็นหนองต่างๆ บนร่างกาย จะช่วยให้แผลแห้ง และสมานตัวเร็ว
  • บรรเทาอาการผมร่วง นำดอกเก๊กฮวยมาตำให้ละเอียด แล้วคั้นเอาแต่น้ำ ใช้หมักผมเพื่อรักษาอาการผมร่วง และช่วยให้ผมดำเงางามเป็นธรรมชาติ
  • รักษาอาการนอนไม่หลับ นำเก๊กฮวยแห้ง เก๋ากี้แห้ง และรากหญ้าคาแห้งอย่างละ 10 กรัม ห่อรวมกันในผ้าขาวบางแล้วนำไปต้ม เมื่อเดือดดีแล้ว ให้นำน้ำที่ได้มาดื่มวันละ 3 เวลา เมื่อนอนหลับสนิทก็ให้หยุดดื่ม

เมนูเพื่อสุขภาพจากเก๊กฮวย

นอกจากเครื่องดื่มแล้ว เก๊กฮวยยังสามารถนำมาประกอบอาหารอื่นๆ ได้ดังนี้

  1. เยลลี่เก๊กฮวย ต้มน้ำโดยใส่ดอกเก๊กฮวย 1/2 ถ้วย พร้อมน้ำตาลทรายเข้าด้วยกัน เมื่อเดือดแล้ว ให้กรองเอากากออก จากนั้นให้ผสมผงเจลาตินกับน้ำร้อน รินใส่ในน้ำต้มเก๊กฮวยแล้วคนให้เข้ากันอีกครั้ง นำลงใส่แม่พิมพ์ตามแบบที่ชอบ แช่ทิ้งไว้ในตู้เย็น
  2. ซุปเต้าหู้ดอกเก๊กฮวย นำดอกเก๊กฮวยมาต้มน้ำจนเดือด กรองเอาแต่ส่วนที่เป็นน้ำ ใส่เต้าหู้เข้าไปตามต้องการ ต้มจนเดือดแล้วใส่แป้งมันลงไป จากนั้นคนให้ซุปเข้ากันจนมีลักษณะข้น ก็สามารถรับประทานได้
  3. วุ้นเก๊กฮวยเม็ดแมงลักเพื่อสุขภาพ ต้มดอกเก๊กฮวยในน้ำสะอาดจนได้สีและกลิ่นตามที่ต้องการ จากนั้นใช้ผ้าขาวบางกรองเอาดอกเก๊กฮวยออก และนำผงวุ้นไปแช่น้ำให้อิ่มตัว นำเก๊กฮวยที่ได้มาต้มอีกครั้ง ใส่ผงวุ้นที่อิ่มตัวลงลงไปจนละลายหมดแล้วเติมน้ำตาลลงไป ต้มจนน้ำตาลละลาย เทเม็ดแมงลักที่แช่น้ำแล้วลงไปต้มพอเดือดและให้ตักมาใส่ในแม่พิมพ์

ข้อควรระวัง

  • ผู้ป่วยโรคกระเพาะไม่ควรดื่มน้ำเก๊กฮวยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดกรดในกระเพาะเพิ่ม ซึ่งจะทำให้อาการของโรคกำเริบหนักขึ้น
  • เก๊กฮวยมีฤทธิ์ช่วยในการขับถ่าย ผู้ที่มีอาการท้องเสีย หรือขับถ่ายง่าย ไม่ควรดื่มในปริมาณมาก

6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, ฤทธิ์ลดไขมันของดอกเก๊กฮวย (Chrysanthemum Morifolium ) (http://www.medplant.mahidol.ac.th/active/shownews.asp?id=1046), 2014.
พาณี ศิริสะอาด, เก๊กฮวย (https://www.pharmacy.cmu.ac.th/web2553/n75.php)
Peggy Pletcher, How Chrysanthemum Tea Benefits Your Health (https://www.healthline.com/health/food-nutrition/how-chrysanthemum-tea-benefits-health#1) 23 March 2015.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป