กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

โรคไตเรื้อรัง

เผยแพร่ครั้งแรก 12 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 20 นาที
โรคไตเรื้อรัง

โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease – CKD) คือภาวะที่ไตไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นระยะยาว CKD มักจะไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ จนกว่าจะถึงระยะที่ลุกลามไปมากแล้ว โดยมักจะสังเกตพบระยะแรก ๆ ได้จากการทดสอบปัสสาวะหรือเลือด

อาการทั่วไปของโรคไตมีดังนี้: เหน็ดเหนื่อย ข้อมือ เท้า หรือมือบวม (เนื่องจากการบวมน้ำ) หายใจลำบาก คลื่นไส้ มีเลือดปนปัสสาวะ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

โรคไตเรื้อรังสามารถถูกวินิจฉัยได้จากการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ

หากคุณมีความเสี่ยงต่อ CKD สูง แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นรายปี โดยการตรวจคัดกรองมักจะแนะนำแก่คนที่: มีความดันโลหิตสูง เป็นเบาหวาน มีประวัติครอบครัวเป็นโรค CKD

เหตุใดจึงเกิดโรคไตเรื้อรังขึ้น?

ไตคืออวัยวะรูปร่างเหมือนเม็ดถั่วสองชิ้นที่มีขนาดเท่ากำปั้น ไตอยู่ใต้กระดูกซี่โครงของร่างกายทั้งสองข้าง โดยหน้าที่หลักของไตคือการกรองของเสียที่เลือดผลิตออกมาและเปลี่ยนของเสียเหล่านั้นให้กลายเป็นปัสสาวะ ไตยังมีหน้าที่: ช่วยคงระดับความดันเลือด คงค่าระดับสารเคมีในร่างกายและช่วยให้หัวใจกับกล้ามเนื้อทำงานได้อย่างปรกติ ผลิตวิตามิน D ที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรง ผลิตสาร erythropoietin ที่ช่วยกระตุ้นการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง

ใครสามารถเป็นโรคไตเรื้อรังได้บ้าง?

CKD มักเกี่ยวพันกับอายุที่มากขึ้น ยิ่งคุณมีอายุที่มากขึ้นก็จะมีความเสี่ยงต่อโรคไตมากขึ้น

คาดกันว่ามีผู้ชายหนึ่งในห้าคน และผู้หญิงหนึ่งในสี่คนที่มีอายุระหว่าง 65 กับ 74 ปีจะกลายเป็น CKD สักระยะ

CKD จะเกิดบ่อยที่สุดกับคนที่มีพื้นเพจากเอเชียใต้ (อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา และปากีสถาน) กับคนผิวดำ เหตุผลก็เพราะว่าชาวเอเชียมีอัตราการเป็นโรคเบาหวานกับความดันโลหิตสูงกว่าคนชนชาติอื่นนั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การป้องกันโรคไตเรื้อรัง

วิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด CKD ขึ้นคือการจัดการภาวะต้นเหตุของโรคนี้ อย่างเช่นเบาหวานและความดันโลหิตสูง

การเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตก็สามารถลดความเสี่ยงต่อโรค CKD ได้ เช่น: การทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การเลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การออกกำลังกายเป็นประจำ เลี่ยงการใช้ยาที่อาจสร้างความเสียหายแก่ไต

อาการของโรคไตเรื้อรัง

ผู้ป่วย CKD ส่วนมากจะไม่มีอาการใด ๆ เพราะว่าร่างกายสามารถทนต่อความบกพร่องของประสิทธิภาพการทำงานของไตได้

อีกนัยหนึ่งคือพวกเราเกิดมาพร้อมกับไตที่สามารถทำงานได้มากเกินความจำเป็นอยู่แล้ว แม้ว่าร่างกายจะเหลือไตที่ทำงานได้ดีเพียงข้างเดียวก็เพียงพอต่อการใช้ชีวิตแล้ว ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้คนมากมายสามารถรับการปลูกถ่ายไตที่มาจากผู้มีชีวิตได้

การเปลี่ยนแปลงการทำงานของไตมักจะตรวจเจอจากการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะทั่วไป หากคุณถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคไต แพทย์จะคอยสอดส่องการทำงานของไตคุณอย่างใกล้ชิดด้วยการตรวจเลือดและปัสสาวะเป็นประจำ อีกทั้งจะดำเนินการรักษาที่ช่วยควบคุมอาการให้มีน้อยที่สุด

หากไตของคุณยังคงสูญเสียการทำงานลงไปเรื่อย ๆ จนเข้าสู่ภาวะไตล้มเหลว (ERF) อาการต่าง ๆ จะเริ่มปรากฏออกมา ดังนี้: น้ำหนักลดและความอยากอาหารลดลง ข้อเท้า มือ หรือเท้าบวม หายใจติดขัด มีเลือดหรือโปรตีนปนปัสสาวะออกมา (โปรตีนในปัสสาวะมักตรวจพบจากการตรวจปัสสาวะ) ความอยากปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน นอนไม่หลับ คันผิวหนัง ปวดกล้ามเนื้อ ความดันโลหิตสูง คลื่นไส้ (ผู้ชาย) เสื่อมสมรรถนะทางเพศ (ไม่สามารถคงสภาพหรือไม่อาจทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อาการเหล่านี้เป็นอาการทั่วไป และสามารถเกิดได้จากหลายโรคภัย โดยอาการข้างต้นหลายอย่างสามารถเลี่ยงได้หากเริ่มการรักษาเร็วในขณะที่โรคยังคงอยู่ในระยะต้น ๆ หรือก่อนที่จะมีอาการอื่น ๆ ตามมา

หากคุณมีความกังวลกับอาการข้างต้น ควรทำการนัดพบแพทย์ในทันที

สาเหตุของโรคไตเรื้อรัง

โรคไตมักเกิดมาจากภาวะอื่น ๆ ที่สร้างภาระให้แก่ไต อย่างความดันโลหิตสูงและเบาหวาน หลักฐานมากมายบ่งชี้ว่าภาวะความดันโลหิตสูงเป็นต้นตอหลักของโรคไตโดยปรากฏเป็นสาเหตุมากกว่าหนึ่งในสี่ของผู้ป่วยที่พบทั้งหมด ส่วนเบาหวานก็เป็นสาเหตุการเกิดโรคไตของผู้ป่วยประมาณหนึ่งในสี่ของผู้ป่วยทั้งหมด

ภาวะความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตคือหน่วยวัดความดันที่หัวใจของคุณมีกับเส้นเลือดแดง หากมีแรงดันมากเกินไปจะส่งผลเสียต่ออวัยวะภายในร่างกายจนทำให้เกิดโรคต่าง ๆ อย่างโรคหัวใจ เส้นเลือดสมองตีบ หรือทำให้การทำงานของไตแย่ลงได้

สาเหตุการเกิดโรคความดันโลหิตสูงในผู้ป่วย 90% จะไม่พบสาเหตุที่แท้จริง กระนั้นก็เชื่อกันว่ามีความเกี่ยวโยงบางอย่างระหว่างภาวะนี้กับสุขภาพโดยรวม อาหารการกิน และวิธีการใช้ชีวิตของผู้ป่วย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงมีดังนี้: อายุ (ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่อคุณแก่ตัวลง) ประวัติครอบครัวที่มีต่อโรคความดันโลหิตสูง พื้นเพเชื้อชาติ (มาจากแอฟริกา-แคริปเปียน หรือเอเชียใต้) ภาวะอ้วน การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไป การบริโภคเกลือจากอาหารมากเกินไป การทานอาหารไขมันสูง ความเครียด

ภาวะความดันโลหิตสูงสามารถสร้างความเสียหายแก่ไตได้ด้วยการสร้างภาระให้แก่หลอดเลือดขนาดเล็กของไตมากเกินไปจนขัดขวางกระบวนการกรองของเสียของไตไป

โรคเบาหวาน

เบาหวานคือภาวะที่ร่างกายแทบจะไม่สามารถผลิตหรือไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เลย (เบาหวานประเภทที่ 1) หรือไม่สามารถใช้งานอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพอีก (เบาหวานประเภทที่ 2)

อินซูลิน (Insulin)ใช้ในการควบคุมระดับกลูโคส (น้ำตาล) ในเลือดไม่ให้มากหรือน้อยเกินไประหว่างการรับประทานอาหารและระหว่างมื้ออาหาร

หากทำการควบคุมภาวะเบาหวานได้ไม่ดีจะทำให้กลูโคสสะสมในเลือดมากเกินไปจนสร้างความเสียหายแก่ตัวกรองขนาดจิ๋วภายในไต ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการกรองของเสียของไต

คาดกันว่ามีผู้ป่วยเบาหวานประเภทหนึ่ง 20-40% ที่ประสบกับโรคไตก่อนที่จะมีอายุ 50 ปี และมีผู้ป่วยเบาหวานประเภทสองอีก 30% ที่เริ่มแสดงสัญญาณของความเสียหายที่ไต

สัญญาณแรกของโรคไตจากเบาหวานคือการมีโปรตีนอยู่ในปัสสาวะปริมาณต่ำ ดังนั้นแพทย์จึงขอให้คุณรับการตรวจปัสสาวะรายปีเพื่อมองหาสัญญาณของโรคไตและเพื่อจัดการรักษาให้ทันท่วงที

ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรเข้ารับการตรวจไตทุกปี หากตรวจพบความบกพร่องของไตเร็วจะทำให้ผู้ป่วยกับแพทย์สามารถจัดการกับความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อย่างปัญหาเรื่องตาและการเสื่อมสมรรถนะทางเพศได้เร็วขึ้นเท่านั้น

สาเหตุอื่น ๆ

แม้จะพบได้ไม่บ่อยเท่าภาวะข้างต้น แต่ก็มีภาวะสุขภาพอื่น ๆ มากมายที่เป็นสาเหตุของโรค CKD ดังนี้: ไตอักเสบ (glomerulonephritis) กรวยไตอักเสบ (pyelonephritis) โรคถุงน้ำในไต (polycystic kidney disease) (ภาวะทางพันธุกรรมที่ซึ่งไตทั้งองข้างมีขนาดใหญ่กว่าปกติเนื่องจากมีก้อนซิสต์โตขึ้น) การเติบโตของไตที่ผิดปรกติตั้งแต่ก่อนกำเนิด (ขณะพัฒนาตัวในครรภ์) โรคพุ่มพวง (systemic lupus erythematosus) (ภาวะที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าโจมตีไตราวกับเป็นสิ่งแปลกปลอม) การใช้ยาบางประเภทระยะยาว เช่นลิเทียมและยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) รวมไปถึงแอสไพรินและอิบูโพรเฟน การอุดตันต่าง ๆ เช่นภาวะนิ่วในไตหรือโรคต่อมลูกหมาก

การวินิจฉัยโรคไตเรื้อรัง

โรคไตเรื้อรัง (CKD) มักจะวินิจฉัยได้จากการตรวจเลือดและปัสสาวะ

การตรวจคัดกรอง

หากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อ CKD คุณควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคนี้เป็นประจำ สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจหา CKD

สำหรับคนกลุ่มดังต่อไปนี้ควรทำการตรวจคัดกรองประจำปี: ผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีการบาดเจ็บเฉียบพลันที่ไตจากการใช้ยาอย่างเช่นลิเทียมหรือ NSAID เช่นอิบูโพรเฟน โรคนิ่วไต หรือต่อมลูกหมากโต ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (ภาวะที่ส่งผลต่อหัวใจ เส้นเลือดแดงและดำ เช่นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือหัวใจล้มเหลว) ผู้ที่มาจากครอบครัวที่เคยมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรค CKD ระยะห้า หรือเป็นโรคไตทางพันธุกรรม ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่ส่งผลต่ออวัยวะร่างกายหลายส่วนที่อาจส่งผลต่อไจด้วย เช่นโรคพุ่มพวง ผู้ที่มีเลือด (haematuria) หรือโปรตีนปนปัสสาวะ (proteinuria) โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ

บ่อยครั้งที่การวินิจฉัยโรคไตเกิดขึ้นเนื่องจากผลการตรวจเลือดหรือปัสสาวะที่บ่งชี้ว่าไตทำงานผิดปกติ หากเกิดกรณีนี้มักจะมีการทดสอบขึ้นเพื่อยืนยันการวินิจฉัย

อัตราการกรองของไต

วิธีประเมินการทำงานของไตคือการคำนวณอัตราการกรองของไต (Glomerular filtration rate - GFR) โดย GFR คือการวัดค่าว่าไตของคุณสามารถกำจัดของเสียจากเลือดได้กี่มิลลิลิตร (ml) ภายในหนึ่งนาที (ml/min) ไตที่สุขภาพดีจะสามารถกรองของเสียได้มากกว่า 90 ml/min

การวัด GFR โดยตรงทำได้ยาก ดังนั้นการคำนวณจึงต้องใช้สูตร ผลลัพธ์ที่ได้จะเรียกว่า estimated GFR หรือeGFR การคำนวณ eGFR จะเกี่ยวข้องกับการนำตัวอย่างเลือดและวัดระดับของเสียที่เรียกว่า creatinine ไปเทียบกับอายุ เพศ และเชื้อชาติของคุณ ผลลัพธ์ที่ได้จะคล้ายกับค่าอัตราการทำงานตามปรกติของไต ยกตัวอย่างเช่น eGFR ที่ได้ 50 ml/min จะเท่ากับการทำงานของไต 50%

ส่วนการทดสอบต่อไปนี้มีเพื่อตรวจหาภาวะโปรตีนปนปัสสาวะ: การตรวจปัสสาวะ: มีเพื่อมองหาเลือดหรือโปรตีนในปัสสาวะของคุณ การตรวจ albumin กับ creatinine: เป็นการตรวจปัสสาวะอีกประเภทที่ใช้เทียบปริมาณของอัลบูมิน (albumin) กับครีอะตินิน (creatinine) ในปัสสาวะของคุณ สัดส่วนของทั้งสองจะใช้ในการคำนวณ eGFR อีกที

ระยะของโรคไตเรื้อรัง

จะมีระบบหกระยะ (six-stage system) ที่ใช้ระดับ eGFR ที่คำนวณได้ในการบรรยายถึงการลุกลามของ CKD ยิ่งอยู่ในระยะที่สูงจะยิ่งสื่อถึง CKD ที่มีความรุนแรงมาก โดยระยะทั้งหกมีดังต่อไปนี้:

ระยะที่หนึ่ง (G1): eGFR ปกติ (มากกว่า 90 ขึ้นไป) แต่การทดสอบอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่ามีความเสียหายที่ไต

ระยะที่สอง (G2): eGFR มีค่าลดลงเล็กน้อย (60-89) แต่ยังคงนับว่าอยู่ในระยะการทำงานตามปรกติของผู้ใหญ่อายุน้อย

หากคุณเริ่มมี CKD ระยะที่หนึ่งหรือสอง แพทย์จะแนะนำให้คุณทำการตรวจ eGFR รายปีเพื่อสอดส่องการลุกลามของโรคอย่างระมัดระวัง

ระยะที่สามแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ ระยะที่ 3a (G3a) กับ 3b (G3b) ระยะที่ G3a จะมีค่า eGFR ลดลง (45-59) และจัดว่าการทำงานของไตลดลงอย่างไม่รุนแรงจนถึงปานกลาง และควรได้รับการสอดส่องรายปี ส่วนระยะ 3b (G3b) จะมีลดลงค่อนข้างมาก (30-44) และนับว่าการทำงานของไตลดลงปานกลางถึงรุนแรง และควรได้รับการตรวจไตทุก ๆ หกเดือน

ระยะที่สี่ (G4): eGFR ลดลงอย่างรุนแรง (15-29) เมื่อมาถึงระยะนี้คุณอาจประสบกับอาการจากโรค CKD บ้างแล้ว ควรมีการทดสอบเพิ่มเติมขึ้นทุก ๆ หกเดือน

ระยะที่ห้า (G5): ไตจะสูญเสียการทำงานแทบจะทั้งหมด (eGFR ต่ำกว่า 15) และนับว่าเริ่มเข้าสู่ภาวะไตล้มเหลว ควรมีการทดสอบเพิ่มเติมทุก ๆ สามเดือน

กระนั้น GFR สามารถขึ้น ๆ ลง ๆ ได้ ดังนั้นการทดสอบความผิดปรกติเพียงหนึ่งครั้งอาจไม่สามารถสรุปได้ว่าคุณเป็น CKD จริง ๆ การวินิจฉัย CKD มักจะยืนยันได้เมื่อมีการทดสอบ eGFR หลาย ๆ ครั้งจนได้ค่า eGFR ที่มีค่าต่ำกว่าปกติภายในช่วงสามเดือนที่สอดคล้องกัน

การทดสอบอื่น ๆ

มีการทดสอบมากมายที่สามารถใช้เพื่อประเมินระดับความเสียหายของไตคุณได้ ดังนี้:

การสแกนไต อย่างเช่นอัลตราซาวด์ การถ่ายภาพสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging - MRI) หรือการสแกนคอมพิวเตอร์ (CT) มีไว้เพื่อหาว่ามีการอุดตันที่ผิดปรกติของการไหลปัสสาวะของคุณหรือไม่ ในกรณีที่เป็นโรคไตระยะลุกลามนั้นไตจะหดตัวลงและมีขนาดที่ไม่เท่ากัน

การตัดชิ้นเนื้อไตตรวจ: จะมีการนำเนื้อเยื่อไตขนาดเล็กไปตรวจหาความเสียหายด้วยกล้องจุลทรรศน์

การรักษาโรคไตเรื้อรัง

ขณะนี้ยังไม่มีวิธีรักษาโรคไตเรื้อรัง มีเพียงการรักษาชะลอหรือหยุดการลุกลาม และป้องกันการเกิดภาวะร้ายแรงอื่น ๆ เท่านั้น

ผู้ป่วย CKD จะมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายสูงขึ้นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับระบบไหลเวียนโลหิต

สำหรับผู้ส่วนส่วนน้อย CKD อาจทำให้เกิดภาวะไตวาย (established renal Failure - ERF) หรือนับเป็นระยะสุดท้ายของโรคไต ในสถานการณ์นี้จะทำให้การทำงานของไตหยุดลง

เพื่อจะช่วยให้ผู้ป่วย ERF รอดชีวิต ต้องมีการรักษาด้วยการใช้ไตเทียมอย่างการฟอกไต หรือการปลูกถ่ายไต

การที่คุณรับทราบว่าตนเองเป็นโรคไตเรื้อรังนั้นเป็นเรื่องน่ากังวลมาก แต่ก็มีการช่วยเหลือสนับสนุนมากมายที่คุณสามารถมองหาได้เพื่อให้ใช้ชีวิตไปพร้อมกับโรค

การปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต

เชื่อกันว่าการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตต่อไปนี้จะช่วยลดความดันโลหิตและควบคุม CKD ได้: หยุดสูบบุหรี่ การทานอาหารที่สมดุล ดีต่อสุขภาพ และไขมันต่ำ จำกัดปริมาณเกลือที่บริโภคเข้าไปให้น้อยกว่า 6 กรัมต่อวัน ไม่ใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ (NSAID) จากร้านขายยา อย่างอิบูโพรเฟน เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์เอง ควบคุมปริมาณแอลกอฮอล์ที่บริโภคเข้าไป (ไม่มากไปกว่า 3-4 หน่วยสำหรับผู้ชาย และ 2-3 หน่วยสำหรับผู้หญิง) ลดน้ำหนักหากคุณอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ห้าครั้งต่อสัปดาห์

การใช้ยาสำหรับภาวะความดันโลหิตสูง

หนึ่งในวิธีที่ช่วยลดการลุกลามของความเสียหายที่ไตคือการควบคุมภาวะความดันโลหิตสูง ผู้ป่วย CKD ควรพยายามทำให้ความดันโลหิตของพวกเขาลดลงต่ำกว่า 140/90mmHg ให้ได้ แต่หากคุณเป็นเบาหวานร่วมด้วยควรตั้งเป้าหมายให้ลดลงต่ำกว่า 130/80mmHg ให้ได้

มียาที่สามารถใช้เพื่อลดความดันโลหิตมากมาย โดยยาที่เรียกว่า angiotensin converting enzyme (ACE) inhibitors จะเป็นยาที่ใช้ควบคุมความดันโลหิตของผู้ป่วย CKD มากที่สุด

เช่นเดียวกับการลดความดันโลหิตทั่วร่างกายและลดภาระของเส้นเลือดต่าง ๆ ACE inhibitors ยังช่วยป้องกันไตของคุณได้อีกด้วย โดยยากลุ่ม ACE inhibitors มีดังนี้: ramipril  enalapril  lisinopril  perindopril

ผลข้างเคียงจาก ACE inhibitors มีดังนี้: ไอแห้ง วิงเวียน เหน็ดเหนื่อยหรืออ่อนแรง ปวดศีรษะ

หากคุณประสบกับผลข้างเคียงส่วนมากของ ACE inhibitors มาก แพทย์อาจจะเปลี่ยนไปใช้ยาที่เรียกว่า angiotensin-II receptor blocker (ARB) แทน โดยยากลุ่มนี้มีดังต่อไปนี้: candesartan eprosartan irbesartan azilsartan olmesartan temisartan valsartan losartan

ผลข้างเคียงของ ARB นั้นเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ก็อาจจะมีอาการวิงเวียนบ้าง

ทั้ง ACE inhibitors กับ ABR อาจทำให้การทำงานของไตของผู้ป่วยบางรายลดลงและเพิ่มระดับโพแทสเซียมในเลือดขึ้น ดังนั้นควรมีการตรวจเลือดหลังเริ่มการรักษาด้วยยาเหล่านี้ และเมื่อมีการเปลี่ยนขนาดยาที่ใช้ หากคุณกำลังใช้ยา ACE inhibitors หรือ ABR และเริ่มมีภาวะไข้/ติดเชื้อ หรือต้องใช้ยาสำหรับภาวะอื่น ๆ คุณต้องสอบถามกับแพทย์ผู้ดูแลว่าต้องทำการหยุดยา ACE inhibitors หรือ ABR ก่อนหรือไม่

การใช้ยาสำหรับลดคอเลสเตอรอล

การศึกษาพบว่าผู้ป่วย CKD จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคหัวใจกับโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากความดันโลหิตสูงกับระดับคอเลสเตอรอลในเลือด (atherosclerosis) เป็นปัจจัยเสี่ยง

สแตติน (Statins) เป็นยาประเภทที่ใช้เพื่อลดระดับคอเลสเตอรอล โดยคอเลสเตอรอลทำให้หลอดเลือดแดงตีบจนทำให้เกิดการอุดตันของระบบไหลเวียนเลือดไปยังหัวใจ (ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย) หรือไปยังสมอง (ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดสมองตีบ) สแตตินออกฤทธิ์ด้วยการเข้ายับยั้งผลจากเอนไซม์ในตับ (HMG-CoA reductase) ที่ใช้ในการสร้างคอเลสเตอรอล

สแตตินอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงดังนี้: ท้องผูก ท้องร่วง ปวดศีรษะ ปวดท้อง

บางครั้งสแตตินก็ก่อให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง และกดเจ็บบ้าง ซึ่งหากคุณประสบกับผลข้างเคียงเหล่านี้ต้องรีบแจ้งแพทย์เพื่อรับการตรวจเลือดหรือเปลี่ยนวิธีรักษาทันที

หากคุณเป็นโรคไต คุณอาจต้องทำการลดระดับการบริโภคของเหลวและเกลือในแต่ละวันลงเนื่องจากไตของคุณไม่อาจกำจัดของเหลวได้ดีกว่าแต่ก่อนนั่นเอง

หากแพทย์ขอให้คุณลดปริมาณของเหลวที่ดื่มลง คุณต้องระมัดระวังทั้งของเหลวในอาหารที่ทานเข้าไป อย่างเช่นซุปและโยเกิร์ต โดยทางแพทย์หรือนักโภชนาการสามารถแนะนำคุณได้

ของเหลวที่มากเกินที่เป็นผลมาจากโรคไตมักจะปรากฏอาการออกมาบนข้อเท้าหรือรอบปอดของคุณ คุณอาจได้รับยาขับปัสสาวะอย่าง furosemide มาเพื่อกำจัดของเหลวส่วนเกินเหล่านั้นออกจากร่างกาย

หากคุณไม่มีภาวะบวมน้ำเกิดขึ้นและแพทย์ไม่ได้แจ้งให้คุณลดระดับการบริโภคของเหลว คุณก็ไม่จำเป็นต้องระมัดระวังใด ๆ ซึ่งหากคุณลดระดับของเหลวที่นำเข้าร่างกายลงจะส่งผลเสียต่อร่างกายแทน

ภาวะโลหิตจาง

ผู้ป่วยที่เป็น CKD ระยะสาม สี่ และห้าจะเริ่มประสบกับภาวะโลหิตจาง ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงได้เพียงพอจนทำให้มีอาการดังต่อไปนี้: เหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า หายใจลำบาก ใจสั่น

ภาวะโลหิตจางสามารถเกิดขึ้นจากหลาย ๆ ภาวะสุขภาพ และแพทย์จะทำการตรวจสอบหาความเป็นไปได้อื่น ๆ

ผู้ป่วยโรคไตส่วนมากจะได้รับอาหารเสริมธาตุเหล็กมาเนื่องจากธาตุเหล็กเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เพื่อเพิ่มระดับธาตุเหล็กในร่างกาย อาหารเสริมที่ได้อาจเป็นทั้งยาเม็ดหรือการฉีดยาเข้าเส้นเลือด

หากการทำเช่นนั้นยังไม่สามารถจัดการกับภาวะโลหิตจางได้ คุณอาจต้องเริ่มการฉีด erythropoietin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงออกมามากขึ้น โดยการฉีดนี้มักเป็นการฉีดเข้าเส้นเลือดดำ (intravenously) หรือเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneously) ตัวอย่างยาที่ใช้มีทั้ง epoetin alfa, beta and zeta, darbepoetin และ methoxy polyethylene glycol-epoetin beta

การปรับเปลี่ยนสมดุลฟอสเฟต

หากคุณเป็นโรคไตระยะที่สี่หรือห้า คุณสามารถประสบกับภาวะที่ฟอสเฟตสะสมอยู่ในร่างกายเนื่องจากไตไม่สามารถกำจัดธาตุนี้ได้ ฟอสเฟตเป็นแร่ธาตุที่อยู่ในกระดูกของคุณพร้อมกับแคลเซียม ฟอสเฟตถูกนำเข้ามาผ่านการรับประทานอาหาร ซึ่งพบได้ในอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไตมักจะกรองฟอสเฟตส่วนเกินออกมาได้ และหากมีระดับฟอสเฟตสูงเกินไปจะทำให้ไปรบกวนสมดุลแคลเซียมในร่างกายจนทำให้กระดูกบางและส่งผลต่อเส้นเลือดแดง

แพทย์อาจขอให้คุณจำกัดปริมาณฟอสเฟตในอาหารของคุณ โดยอาหารที่มีฟอสเฟตสูงคืออาหารจำพวกเนื้อแดง ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไข่ และปลา แพทย์หรือนักโภชนาการสามารถให้คำแนะนำว่าคุณสามารถรับฟอสเฟตได้มากเท่าใด อย่างไรก็ตามการลดปริมาณอาหารเหล่านี้ลงก็ไม่ใช่ผลดีนอกจากว่าคุณมีระดับฟอสเฟตสูงเกินไป ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพก่อนทำการเปลี่ยนอาหารการกินของคุณทุกครั้ง

หากการลดปริมาณฟอสเฟตในอาหารไม่ได้ช่วยลดระดับฟอสเฟตของคุณให้อยู่ในระดับที่พอดี คุณอาจได้รับยาที่เรียกว่า phosphate binders ซึ่งเป็นยาที่ช่วยผูกฟอสเฟตในอาหารภายในกระเพาะและหยุดการดูดซึมแร่ธาตุตัวนี้ของร่างกายลง

Phosphate binders เป็นยาที่ทานก่อนอาหารทันที โดยยากลุ่ม phosphate binders ที่มักใช้กันมากที่สุดคือ calcium carbonate แต่ก็มียาอื่น ๆ มากมายที่มีเหมาะสมไปตามกรณีบุคคล

ผลข้างเคียงของ phosphate binders นั้นพบได้ไม่บ่อยนัก ดังนี้: คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องผูก ท้องร่วง ท้องอืด ผื่นขึ้นผิวหนัง คันผิวหนัง

อาหารเสริมวิตามิน D

ผู้ป่วยโรคไตอาจมีระดับวิตามิน D ที่ต่ำได้ โดยวิตามินเป็นส่วนสำคัญในการดูแลกระดูกให้สุขภาพดี ทั้งนี้เนื่องจากว่าไตเป็นอวัยวะที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของวิตามิน D ที่ได้จากอาหารและแสงอาทิตย์ก่อนจะใช้ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

การรักษาภาวะไตล้มเหลวด้วยการปลูกถ่ายหรือฟอกไต

ผู้ที่ประสบกับภาวะไตล้มเหลวสามารถใช้การรักษาด้วยยาและยังคงมีไตที่ทำงานได้ดีไปตลอดชีวิต

สำหรับผู้ป่วยโรคไตบางรายที่อยู่ในระยะท้าย ๆ ไตสามารถหยุดทำงานและอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งจะเรียกภาวะเช่นนี้ว่า established renal failure(ERF)

ภาวะนี้มักไม่ค่อยเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนทำให้สามารถวางแผนรับมือระยะต่อไปของโรคได้ การตัดสินใจว่าคุณควรเข้ารับการฟอกไต รับการปลูกถ่ายไต หรือเข้ารับการดูแลประคับประคองนั้นจะต้องถูกอภิปรายกับทีมรักษาก่อน

การดูแลประคับประคอง

หากคุณตัดสินใจไม่เข้ารับการฟอกไตหรือปลูกถ่ายไตแก้ไขภาวะไตวาย หรือคุณไม่เหมาะสมกับการรักษาทั้งสอง แพทย์จะแนะนำให้คุณรับการดูแลประคับประคองแทน

เป้าหมายของการดูแลลักษณะนี้คือการควบคุมและรักษาภาวะไตล้มเหลวโดยไม่ใช้วิธีฟอกไตหรือปลูกถ่าย โดยการดูแลจะรวมทั้งการดูแลจากแพทย์ จิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วย อย่างการให้คำแนะนำและประโลมจิตใจของทั้งสองฝั่ง รวมไปถึงช่วยวางแผนการใช้ชีวิตของผู้ป่วยจวบจนวาระสุดท้าย

ผู้ป่วยหลายรายเลือกรับการดูแลประคับประคองเนื่องจาก: พวกเขามักจะไม่ได้รับประโยชน์จากการรักษาอื่น ๆ พวกเขาไม่อยากเผชิญกับความลำบากจากการฟอกไต พวกเขาไม่ถูกแนะนำให้เข้ารับการฟอกไตเนื่องจากภาวะสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ ที่อาจทำให้การรักษาส่งผลเสียแทน เคยเข้ารับการฟอกไตและตัดสินใจยุติการรักษานี้ กำลังเข้ารับการฟอกไตแต่กลับมีปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่อาจส่งผลเสียต่อการรักษาจนต้องยุติการฟอกไตลง

หากคุณเลือกรับการดูแลประคับประคอง ทีมดูแลของคุณจะยังคงรับหน้าที่ดูแลคุณอยู่ โดยแพทย์และพยาบาลจะคอยดูแลเพื่อ: ให้คุณได้รับยาเพื่อปกป้องการทำงานของไตที่เหลือของคุณให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้คุณได้รับยาที่ใช้รักษาอาการอื่น ๆ ของภาวะไตล้มเหลว เช่นหมดเรี่ยวแรง โลหิตจาง ไม่อยากอาหาร หรือคันผิว ช่วยวางแผนการใช้ชีวิตที่บ้านและการเงิน เพื่อเยียวยาสมาชิกในครอบครัวหลังการเสียชีวิตของผู้ป่วย

การดูแลผู้ป่วยโรคไตที่ดีต้องเป็นอย่างไร?

ตามรายงานนานาชาติ บริการสำหรับผู้ป่วยโรคไตควรจะ:

ระบุตัวผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไต โดยเฉพาะผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน และรักษาพวกเขาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อคงสภาพการทำงานของไต

จัดให้ทุกคนสามารถเข้าหาบริการตรวจสอบและช่วยลดความเสี่ยงต่อการทรุดลงของโรค

ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการควบคุมภาวะ

จัดบริการให้ผู้ป่วยเข้าถึงทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต

จัดให้ผู้ที่ต้องการสามารถเข้ารับบริการปลูกถ่ายหรือฟอกไตได้ตามความต้องการ

ส่งมอบการดูแลประคับประคอง

ต้องมีการตรวจทานแผนการรักษาโรคไตของคุณเป็นประจำ

การป้องกันโรคไต

กรณีโรคไตเรื้อรัง (CKD) ส่วนมากไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ แต่คุณก็สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้เพื่อลดโอกาสเกิดโรคได้

การควบคุมภาวะ

หากคุณป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถก่อให้เกิดโรคไตได้อย่างเช่นโรคเบาหวาน สิ่งสำคัญคือการบริหารควบคุมภาวะสุขภาพนั้น ๆ ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และไปพบแพทย์ตามที่ได้รับการนัดหมาย ผู้ป่วยเบาหวานถูกแนะนำให้รับการทดสอบการทำงานของไตทุก ๆ ปี

การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจขึ้น รวมไปถึงโรคหัวใจวายหรือเส้นเลือดสมองตีบ และยังสามารถเพิ่มโอกาสที่ปัญหาโรคไตที่เป็นอยู่จะทรุดลงอีกเช่นกัน

หากคุณเลิกสูบบุหรี่ สุขภาพโดยรวมของคุณจะดีขึ้นอย่างมากและลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะร้ายแรงต่าง ๆ อย่างมะเร็งปอดและโรคหัวใจได้อีกด้วย

อาหาร

การทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญต่อการป้องกันโรคไตเรื้อรัง นอกจากจะช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดของคุณลงแล้ว การทานอาหารที่ดียังช่วยคงระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเช่นกัน การทานอาหารที่ดีและสมดุลนั้นต้องรวมทั้งผัก ผลไม้สด และธัญพืชรวมเข้าไป

ควรจำกัดปริมาณเกลือในอาหารไม่ให้มากกว่า 6 กรัมต่อวัน การบริโภคเกลือมากเกินไปจะเพิ่มความดันโลหิตของคุณ โดยเกลือหนึ่งช้อนชาจะเท่ากับน้ำหนัก 6 กรัมพอดี

เลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เพราะว่าไขมันประเภทนี้จะเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลของคุณขึ้น อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงมีดังนี้: ไส้กรอก เนื้อติดมัน เนย ครีม เนยแข็ง เค้กและขนมบิสเก็ต อาหารที่ประกอบด้วยน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันปาล์ม

การทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวสูงจะช่วยลดระดับคอลเลสเตอรอลของคุณได้ อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวสูงมีดังนี้: น้ำมันปลา อะโวควาโด ถั่วและเมล็ดพืช น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันมะกอก

แอลกอฮอล์

การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณสูงเกินไปจะเพิ่มระดับความดันโลหิตขึ้นพร้อมกับระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ดังนั้นควรดื่มแอลกอฮอล์ตามปริมาณจำกัดเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงและ CKD

ปริมาณแอลกอฮอล์ที่แนะนำมีดังนี้: 3-4 หน่วยต่อวันสำหรับผู้ชาย 2-3 หน่วยต่อวันสำหรับผู้หญิง

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดความดันโลหิตและความเสี่ยงต่อการเกิด CKD ได้

แนะนำว่าควรออกกำลังกายแอโรบิคความเข้มข้นปานกลางเป็นเวลาอย่างน้อย 150 นาที (2 ชั่วโมงกับอีก 30 นาที) อย่างการปั่นจักรยานหรือเดินเร็วทุกสัปดาห์

ยาแก้ปวด

โรคไตสามารถเกิดขึ้นมาจากการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ผิดวิธีได้ (เช่นการทานยามากเกินไป) อย่างเช่นยาแอสไพริน และอิบูโพรเฟน

หากคุณต้องทานยาแก้ปวด พยายามปฏิบัติตามคำแนะนำของยาเพื่อเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับไตของคุณ

การใช้ชีวิตร่วมกับโรคไตเรื้อรัง

ความสัมพันธ์และความช่วยเหลือ

เมื่อกล่าวถึงภาวะอย่างโรคไต การจัดการกับภาวะนี้เป็นเรื่องที่หนักหนามากสำหรับคุณ ครอบครัวของคุณ และเพื่อนของคุณ

การเรียนรู้เกี่ยวกับโรคไตสามารถช่วยคุณได้เพราะว่าจะทำให้คุณและครอบครัวของคุณเข้าใจถึงสิ่งที่ควรจะคาดหวังและมีความมั่นใจในการควบคุมอาการมากขึ้นแทนที่จะรู้สึกว่าชีวิตอยู่ภายใต้การควบคุมของโรคเสียเอง

หากคุณเปิดใจเกี่ยวกับความรู้สึกของคุณและยอมให้คนใกล้ชิดเข้ามามีส่วนร่วมกับสิ่งที่คุณต้องเผชิญจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณสามารถรับมือกับโรคได้ดีขึ้น

การมองหาความช่วยเหลือ

แพทย์หรือพยาบาลสามารถให้คำตอบแก่คุณเกี่ยวกับโรคไตได หรือคุณสามารถมองหาความช่วยเหลือจากผู้ให้คำแนะนำผู้เชี่ยวชาญ นักจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ ทางสายโทรศัพท์ก็ได้ ศัลยแพทย์เองก็สามารถให้ข้อมูลที่คุณต้องการได้

ผู้ป่วยบางคนอาจเลือกที่จะพบปะกับผู้ป่วยโรคไตท่านอื่นตามกลุ่มช่วยเหลือต่าง ๆ ก็สามารถทำได้

เพศสัมพันธ์

ความเครียดเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อชีวิตและความสัมพันธ์ทางเพศของคุณอย่างมาก

คู่สมรสบางคู่กลับมาใกล้ชิดกันมากขึ้นหลังมีคนใดคนหนึ่งถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคไต ในขณะที่บางคนรู้สึกได้ว่าบุคคลที่เป็นที่รักกำลังกลัดกลุ้มเพราะอาการป่วยของพวกเขา ทั้งผู้ชายและผู้หญิงอาจมีปัญหาด้านรูปลักษณ์ภายนอกและความมั่นใจในตนเอง ซึ่งทั้งสองประเด็นต่างส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคุณในที่สุด

พยายามสื่อสารความรู้สึกของคุณให้คู่สมรสของคุณหากคุณมีปัญหากับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ดีขึ้นตามเวลาการรักษา หรือไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญหรือนัืกบำบัดทางเพศ

ผู้ที่เข้ารับการฟอกไตมักประสบกับความยากลำบากในเรื่องเพศ โดยทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่ป่วยต่างประสบกับภาวะหมดอารมณ์ทางเพศกันเป็นปกติ มีการรักษาบำบัดมากมายที่สามารถช่วยได้ แต่ก็อาจต้องใช้เวลานานสำหรับคู่สมรสบางคู่

การตั้งครรภ์

ผู้ชายและผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคไตระยะเริ่มต้นต่างก็สามารถมีบุตรได้โดยไม่มีความผิดปรกติใด ๆ ซึ่งหมายความว่าควรใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีใดวิธีหนึ่งขณะที่มีเพศสัมพันธ์เว้นแต่ต้องการจะมีบุตร

ผู้ป่วยโรคไตระยะท้าย ๆ อาจส่งผลต่อประจำเดือนของผู้หญิง ซึ่งจะทำให้การตั้งครรภ์ทำได้ยากขึ้น สำหรับผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคไตระยะท้าย ๆ อาจมีการผลิตน้ำเชื้อลดลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่สามารถมีบุตรได้ ดังนั้นทั้งผู้ชายและหญิงที่ป่วยเป็นโรคไตระยะท้าย ๆ และไม่ประสงค์จะมีบุตรควรคุมกำเนิดไว้ก่อนอยู่ดี

วันหยุดและประกัน

หากคุณป่วยเป็นโรคไตไม่รุนแรง หรือเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่าย การไปพักร้อนหรือเดินทางไกลไม่ใช่เรื่องที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

หากคุณต้องเข้ารับการฟอกไต คุณก็สามารถสนุกไปกับวันหยุดพักร้อนได้โดยคุณต้องจัดจองการรักษาก่อนเดินทางทุกครั้ง

หากคุณต้องเข้ารับการฟอกไตและต้องการเดินทางไกล ควรปรึกษาแผนเดินทางกับทีมรักษาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากการจัดแผนเข้าฟอกไตในต่างถิ่นอาจเป็นเรื่องยากได้

การใช้ยาที่หาซื้อจากร้านขายยา

ยารักษาบางประเภทอาจเป็นอันตรายสำหรับผู้ป่วยโรคไต พยายามตรวจสอบกับแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาที่ซื้อจากร้านขายยาก่อนทุกครั้ง

คุณจะมีความเสี่ยงต่อยาบางประเภทหากว่า: คุณเป็นโรคไตระยะลุกลามมากกว่า 4 หรือ 5 หรือมีการทำงานของไตต่ำกว่า 30% คุณเป็นโรคไตระดับอ่อนถึงปานกลาง (ระยะ 3 ที่มีการทำงานของไตระหว่าง 30-60%) และเป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ เช่นโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

อาการที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัย

คำแนะนำต่อไปนี้คือรายละเอียดการใช้ยาที่ได้จากร้านขายยากับความปลอดภัยของผู้ป่วยโรคไต และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงต่าง ๆ ข้อมูลต่อไปนี้เป็นเพียงคู่มือเบื้องต้น หากต้องการคำแนะนำที่ละเอียดมากขึ้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญแทน

อาการปวดศีรษะ

ยาพาราเซตตามอลเป็นยาแก้ปวดที่นับว่าปลอดภัยและเป็นตัวเลือกแรกในการรักษาอาการปวดศีรษะ แต่พยายามเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่เป็นยาละลายน้ำเนื่องจากมีโซเดียมค่อนข้างสูง หากการทำงานของไตคุณมีน้อยกว่า 50% พยายามเลี่ยงยาแก้ปวดที่เป็นยาแอสไพริน อิบูโพรเฟน หรือยาที่คล้ายคลึงกันอย่างยาไดโคลฟิแนก ยาเหล่านี้จะไปบั่นทอนการทำงานของไตลงมากกว่าเดิมได้ ขนาดของยาแอสไพรินที่ต่ำที่สุดที่ใช้ในการป้องกันโรคหลอดเลือด (vascular disease) คือ 75-150 mg ต่อวัน คุณควรเลี่ยงการใช้ยาอิบูโพรเฟนหากต้องเข้ารับการรักษาป้องกันการต่อต้านอวัยวะหลังปลูกถ่ายไต

อาการไอและหวัด

มีผลิตภัณฑ์ยาหลายประเภทที่ใช้บรรเทาอาการไอและหวัด แต่ละประเภทก็มีส่วนผสมที่ต่างกันออกไป ดังนั้นจึงควรตรวจสอบฉลากยาก่อนทุกครั้ง ผลิตภัณฑ์บางชนิดจะผสมยาพาราเซตตามอล ซึ่งนับว่าปลอดภัย แต่คุณควรเลี่ยงผลิตภัณฑ์ยาที่มีการผสมแอสไพรินขนาดสูง

ยารักษาหวัดหลายประเภทจะประกอบด้วยยาแก้คัดจมูก หากคุณเป็นโรคความดันโลหิตสูงควรเลี่ยงยาที่มีส่วนผสมนี้ไป วิธีกำจัดเสมหะภายในโพรงจมูกที่ดีที่สุดคือการสูดไอน้ำที่มีส่วนผสมของเมนทอลหรือยูคาลิปตัส สำหรับอาการไอนั้นสามารถใช้วิธีจิบน้ำผึ้งผสมมะนาวเพื่อทำให้คอชุ่มได้

อาการปวดข้อและกล้ามเนื้อ

หากคุณมีอาการปวดข้อและกล้ามเนื้อ วิธีจัดการที่ดีที่สุดคือการใช้ยาภายนอก (บนผิวหนังที่มีอาการ) พยายามเลี่ยงยาทานที่มีส่วนประกอบของอิบูโพรเฟนหรือไดโคลฟิแนกหากว่าการทำงานของไตคุณต่ำกว่า 50% แต่หากเป็นเจลหรือสเปรย์อิบูโพรเฟนนั้นนับว่าปลอดภัยกว่า แต่ก็ไม่ได้ปราศจากความเสี่ยงใด ๆ เนื่องจากขนาดยาชนิดนี้เพียงเล็กน้อยก็สามารถแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้

ภาวะไตล้มเหลว

ผู้ป่วยโรคไตระยะที่สามประมาณ 1% อาจประสบกับภาวะไตล้มเหลวที่เรียกว่า established renal failure (ERF) ได้ ภาวะไตล้มเหลวจะส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตของคุณและคนใกล้ชิดอย่างมาก ทั้งเรื่องอารมณ์ความรู้สึกและทางร่างกาย

ตัวเลือกเมื่อคุณประสบกับภาวะไตล้มเหลว

หากคุณประสบกับภาวะไตล้มเหลว (ERF) คุณสามารถตัดสินใจว่าจะรับการรักษาด้วยการฟอกไตหรือปลูกถ่ายไตก็ได้ตามความเหมาะสม คุณอาจตัดสินใจไม่รับการรักษาทั้งสองและเลือกรับการดูแลประคับประคองก็ได้ ซึ่งตัวเลือกของคุณควรต้องผ่านการตัดสินใจร่วมกันระหว่างตัวคุณและทีมรักษา

สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษา ERF กับแพทย์ การปลูกถ่ายไตจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด กระนั้นการปลูกถ่ายก็มักจะเกิดกับผู้ป่วย ERF ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นเนื่องจากว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีร่างกายที่ไม่พร้อมรับการผ่าตัด

ผู้ป่วยส่วนมากจะค่อย ๆ เริ่มเข้าสู่ภาวะไตล้มเหลวกับภาวะสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ ทีละน้อย และสำหรับผู้ที่สูงอายุแล้ว อาจเลือกไม่รับการฟอกไตแต่รับการดูแลประคับประคองแทน ซึ่งการดูแลนี้ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปได้

การปลูกถ่ายไต

หากสามารถทำได้ การปลูกถ่ายไตจะเป็นการรักษา ERF ที่ดีที่สุด โดยไตที่นำมาปลูกถ่ายจะนำมาจากผู้ที่เพิ่งเสียชีวิตหรือผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต และมีอัตราการผ่าตัดสำเร็จสูงมาก โดยไตที่ผ่านการปลูกถ่ายประมาณ 90% จะใช้งานได้ดีหลังผ่านไปห้าปี โดยมีรายงานว่าอวัยวะปลูกถ่ายนี้สามารถใช้การได้นานสุดคือประมาณ 20 ปี ส่วนสาเหตุที่ทำให้มีผู้รอรับการปลูกถ่ายจำนวนมากก็คือยังคงขาดแคลนผู้บริจาคไตอยู่นั่นเอง

การปลูกถ่ายไตมากกว่าหนึ่งในสามจะได้รับไตใหม่จากผู้บริจาคที่มีชีวิต อีกทั้งไตที่นำมาจากผู้บริจาคก็สามารถปลูกถ่ายได้ทันทีโดยไม่ต้องรับการฟอกเลือดก่อน

ความเสี่ยงสำคัญที่สุดของหัตถกรรมปลูกถ่ายอวัยวะคือการปฏิเสธอวัยวะใหม่ของร่างกาย ที่ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันเข้าโจมตีไตของผู้บริจาคเพราะเข้าใจผิดว่าไตใหม่เป็นสิ่งแปลกปลอม ภาวะนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ยากดภูมิคุ้มกันฤทธิ์แรงที่ต้องใช้อย่างระมัดระวังอย่างที่สุด ยาเหล่านี้มักก่อให้เกิดผลข้างเคียงบ้าง รวมไปถึงเพิ่มความอ่อนไหวต่อการติดเชื้อหรือมะเร็งบางประเภทกับผู้ใช้ยา ด้วยเหตุนี้คนไข้ที่ผ่านการปลูกถ่ายต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอยู่บ่อยครั้ง

การฟอกไต

การฟอกไตหรือฟอกเลือดสามารถดำเนินการได้ทั้งที่บ้านและที่โรงพยาบาล กระบวนการนี้คือการกรองของเสียจากเลือดและน้ำส่วนเกินออก กระนั้นก็ยังไม่สามารถใช้การได้เทียบเท่ากับไตจริงของมนุษย์ จึงทำให้ผู้ที่ต้องรับการฟอกไตต้องคอยระมัดระวังเรื่องอาหารการกินและการดื่มอย่างมาก อีกทั้งยังอาจต้องทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก phosphate binders และยาลดความดันโลหิตพร้อมกัน

การฟอกไตมีอยู่สองประเภทคือการฟอกไตทางช่องท้อง (peritoneal dialysis) และการฟอกด้วยเครื่องไตเทียม (haemodialysis)

การฟอกไตทางช่องท้อง

ร่างกายมนุษย์จะมีเยื่อบุท้องที่เรียกว่า peritoneal membrane ที่ใช้กรองน้ำและของเสียส่วนเกิน หากคุณต้องเข้ารับการฟอกไตทางช่องท้อง จะมีการใช้สายสวนสอดเข้าไปยังช่องท้องของคุณเพื่อดูดน้ำฟอกไตเข้าและออกจากช่องท้อง คุณไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษานี้ทางโรงพยาบาล แต่คุณสามารถสละเวลาหนึ่งหรือสองชั่วโมงต่อวันเพื่อทำเช่นนี้เองที่บ้านได้ การรักษานี้สามารถดำเนินการในระหว่างที่คุณนอนหลับได้

การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม

การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมเป็นวิธีกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินที่สะสมอยู่ภายในร่างกายจากการที่ไตหยุดทำงานออก เลือดจะถูกนำออกจากร่างกายเพื่อรับการกรองในเครื่องฟอกไตที่สามารถใช้งานแทนไตของจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมงและต้องทำซ้ำ ๆ สามครั้งต่อสัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนมากต้องเข้ารับการฟอกไตเช่นนี้ที่โรงพยาบาล แต่บางคนก็สามารถดำเนินการเองที่บ้านก็ได้

การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมมีความยืดหยุ่นมากกว่า แต่ก็มาพร้อมความรับผิดชอบที่มากขึ้น คุณจำต้องมีที่ว่างในบ้านเพื่อจัดวางเครื่องฟอกไต และส่วนมากจะต้องให้คนใกล้ชิดหรือสมาชิกในครอบครัวช่วยเหลือ ผู้ป่วยบางรายสามารถดำเนินการฟอกไตช่วงระหว่างที่นอนหลับตอนกลางคืนก็ได้ และผู้ป่วยส่วนมากเลือกที่จะฟอกไตทุกวันเพื่อที่จะได้ไม่ต้องจำกัดปริมาณของเหลวที่ดื่มลง

เส้นฟอกเลือดที่มีคุณภาพ

ระหว่างการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จะมีเลือดปริมาณมากไหลเข้าออกเครื่องจักรจนทำให้ต้องมีวิธีที่จะต่อเส้นเลือดเทียมให้แบกรับปริมาณเลือดขนาดนั้นได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยที่รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจะต้องผ่านการผ่าตัดขนาดเล็กที่เชื่อมเส้นเลือดแดงเข้ากับหลอดเลือดดำชั้นผิว (superficial vein) หัตถการนี้สามารถดำเนินการเป็นเวลาอย่างน้อยหกสัปดาห์ก่อนเริ่มฟอกไตเพราะว่าต้องใช้เวลากว่าที่เส้นเลือดจะโตพร้อมใช้งาน

บางกรณีแพทย์อาจไม่มีเวลาสร้างเส้นเลือดใหม่ก่อนฟอกเลือด ทำให้ต้องมีวิธีการจัดการชั่วคราว ซึ่งมักจะเป็นการใช้สายสวนพลาสติกสำหรับฟอกเลือดสอดเข้าร่างกายเพื่อทำการถ่ายของเหลวไปก่อน

ประเด็นและปัญหาต่าง ๆ จะถูกอภิปรายกันโดยผู้เชี่ยวชาญในทีมรักษาก่อนตัดสินใจ

 


17 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
emedicine.medscape.com, Chronic kidney disease – CKD (https://emedicine.medscape.com/article/238798-overview), Aug 01, 2019
nhs.uk, Chronic kidney disease – CKD (https://www.nhs.uk/conditions/kidney-disease/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป