กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ.เพ็ญพิไล สุตันทวงษ์
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.เพ็ญพิไล สุตันทวงษ์

อาการน้ำมูกไหล

อาการน้ำมูกไหลเกิดจากสาเหตุอะไร ควรรับประทานยาอะไร น้ำมูกแต่ละสีบ่งบอกถึงอาการอะไรได้บ้าง
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 ก.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
อาการน้ำมูกไหล

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • น้ำมูกเกิดจากต่อมผลิตน้ำมูก ภายในเยื่อบุทางเดินหายใจ ซึ่งจะผลิตน้ำมูกออกมาเมื่อร่างกายถูกกระตุ้นจากสิ่งระคายเคือง เช่น สารก่อภูมิแพ้ หรือเชื้อโรค และดักจับสิ่งเหล่านั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย
  • อาการน้ำมูกไหลเกิดได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ จากโรคไข้หวัด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและจากอาการแพ้ ซึ่งเกิดจากร่างกายผู้ป่วยไปสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละออง ขนสัตว์ เกสรดอกไม้
  • ยาสำหรับรักษาอาการน้ำมูกไหลจากทั้ง 2 สาเหตุ คือ ยาแก้แพ้ ซึ่งแบ่งเป็นรุ่นแรกกับรุ่นที่ 2 ในปัจจุบันมักแนะนำให้รับประทานยารุ่นที่ 2 มากกว่า เพราะไม่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วง 
  • สีของน้ำมูกสามารถบ่งบอกถึงอาการของโรคได้เช่นกัน เช่น น้ำมูกสีเทาอาจเกิดจากริดสีดวงจมูก น้ำมูกสีเหลืองเกิดเซลล์เม็ดเลือดขาวกับเซลล์แบคทีเรียที่ตายไปแล้ว บ่งบอกว่า คุณกำลังติดเชื้ออยู่ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังทำงานเพื่อกำจัดมัน
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้

อาการน้ำมูกไหล เป็นหนึ่งในอาการเจ็บป่วยที่หลายคนน่าจะเคยประสบพบเจอกันมาเกือบทุกคน ซึ่งอาการน้ำมูกไหลมีสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นได้หลายชนิด และยังมีตัวยาหลายประเภทที่ช่วยรักษาอาการนี้ได้ 

อาการน้ำมูกไหล

น้ำมูกเกิดจากต่อมผลิตน้ำมูกภายในเยื่อบุทางเดินหายใจ ซึ่งจะผลิตน้ำมูกออกมาเมื่อร่างกายถูกกระตุ้นจากสิ่งระคายเคือง เช่น สารก่อภูมิแพ้ หรือเชื้อโรค และดักจับสิ่งเหล่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการน้ำมูกไหลเป็นอาการป่วยที่ร่างกายได้สร้างของเหลว (หรือน้ำมูก) จากเนื้อเยื่อ และเส้นเลือดในโพรงจมูกส่วนเกินเป็นจำนวนมาก จนของเหลวดังกล่าวไหลออกมาจากโพรงจมูก 

น้ำมูกที่ไหลออกมาอาจเป็นได้ทั้งของเหลวใส หรือขุ่นเหนียว โดยมีสาเหตุมาจากความระคายเคือง หรือจากการอักเสบของเนื้อเยื่อในจมูก 

นอกจากนี้อาการน้ำมูกไหลสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายติดเชื้อ เช่น โรคหวัดจากการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย การรับสารก่อภูมิแพ้จนเกิดอาการน้ำมูกไหล

สาเหตุของอาการน้ำมูกไหล

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เราสามารถจำกัดสาเหตุใหญ่ๆ ที่มักทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหลได้ 2 ประเภท คือ 

  1. น้ำมูกไหลที่เกิดจากไข้หวัด
  2. น้ำมูกไหลที่เกิดจากการแพ้

น้ำมูกไหลที่เกิดจากไข้หวัด

น้ำมูกไหลที่เกิดจากโรคไข้หวัดธรรมดา เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งไวรัสชนิดหลักที่ก่อให้เกิดโรค คือ ไรโนไวรัส (Rhinovirus) และรองลงมาคือ โคโรนาไวรัส (Coronavirus) 

อาการอื่นๆ ของโรคไข้หวัดที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการน้ำมูกไหล ได้แก่ ไอ จามบ่อย คัดจมูก เจ็บคอ เสียงแหบ มีไข้ ซึ่งปกติแล้วสามารถหายเป็นปกติได้เองภายใน 7-10 วัน 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดอยู่มากว่า น้ำมูกข้นสีเหลืองเขียว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งความจริงแล้วสีของน้ำมูก และเสมหะไม่สามารถบ่งบอกได้ว่า ร่างกายติดเชื้อหรือไม่ และการสังเกตสีของเสมหะจะมีประโยชน์เฉพาะกรณีที่เสมหะเป็นเลือดเท่านั้น 

ยาสำหรับลดอาการน้ำมูกไหลที่เกิดจากไข้หวัด

ยาแก้แพ้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ยาแก้แพ้รุ่นแรก (First-generation antihistamine) อธิบายนิยามสั้นๆได้ว่า เป็นยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วง อ่อนเพลีย และกลุ่มที่ 2 คือ ยาแก้แพ้รุ่นที่สอง (Second-generation antihistamine) หรือยาแก้แพ้กลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วง

ยาแก้แพ้รุ่นแรก (First-generation antihistamine) 

เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการน้ำมูกไหลเนื่องจากหวัด กลไกคือ เข้าไปยับยั้งการทำงานของฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่หลั่งจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย จนทำให้เกิดอาการแพ้ต่างๆ ขึ้นมา 

ยาแก้แพ้รุ่นแรกจะออกฤทธิ์โดยซึมผ่านเข้าสู่สมอง และไปออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เป็นผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการง่วงซึม อ่อนเพลียมาก รวมทั้งมีกลไกยับยั้งสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) ด้วย 

นั่นทำให้เกิดผลข้างเคียงอีกอย่างคือ อาการแห้ง ได้แก่ น้ำมูกแห้งและลดปริมาณลง รวมทั้งมีอาการ ปากแห้ง คอแห้ง ได้ นอกจากนี้ยาแก้แพ้กลุ่มแรกยังมีผลข้างเคียงอื่นๆ ที่พบได้อีก ได้แก่ ตาพร่า ปัสสาวะคั่ง แรงดันในลูกตาเพิ่ม ใจสั่น 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ข้อควรระวังของยากลุ่มนี้:  ไม่ใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคต้อหิน โรคต่อมลูกหมากโต เนื่องจากผลข้างเคียงอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น

ยาในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้ได้แก่ 

  • คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ขนาดรับประทาน คือ 4 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ห้ามรับประทานเกิน 24 มิลลิกรัมต่อวัน 
  • บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) ขนาดรับประทานเช่นเดียวกันกับคลอเฟนิรามีน คือ 4 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง 
  • ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ขนาดรับประทาน คือ 25-50 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ห้ามรับประทานเกิน 150 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ยาไดเฟนไฮดรามีนยังมีข้อบ่งใช้อื่นคือ บรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ (motion sickness) ได้อีกด้วย

น้ำมูกไหลที่เกิดจากการแพ้

น้ำมูกไหลที่เกิดจากการแพ้ เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น ขนสัตว์ เมื่อร่างกายสัมผัสสารเหล่านี้จะตอบสนองโดยการหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) ที่สามารถกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกให้ผลิตน้ำมูกใสๆ ออกมาได้ จนทำให้เกิดอาการแพ้แสดงออกมา 

อาการน้ำมูกไหลจากอาการแพ้มักเป็นน้ำมูกสีใส และมักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีผื่น รู้สึกคัน น้ำตาไหล ตาแดง แน่นหน้าอก ปากบวม ลิ้นบวม 

ยาสำหรับลดอาการน้ำมูกไหลที่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้

ยาแก้แพ้ที่ใช้กับอาการนี้ แนะนำให้ใช้ยาแก้แพ้รุ่นที่ 2 หรือยาแก้กลุ่มที่ไม่ก่อให้เกิดอาการง่วง แต่กลไกการออกฤทธิ์ของยาเป็นแบบเดียวกันกับยาแก้แพ้รุ่นแรกคือ ยับยั้งการหลั่งของสารฮีสตามีนซึ่งเป็นต้นเหตุโดยตรงของอาการแพ้ 

แต่ความแตกต่างของยาแก้แพ้กลุ่มที่ 2 ก็คือ ยากลุ่มนี้จะไม่ซึมผ่านเข้าสู่สมอง ทำให้ไม่พบผลข้างเคียง คืออาการง่วงซึม หรืออาจพบได้น้อยมากในยาบางตัว 

นอกจากนี้ยายังไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีน ทำให้ไม่เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการแห้งแบบยารุ่นแรกด้วย

ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ 

  • เซทิริซีน (Cetirizine) ขนาดรับประทานคือ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทาน 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง 
  • ลอราทาดีน (Loratadine) ขนาดรับประทานคือ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง 
  • เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ขนาดรับประทานคือ 120 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง

จะเห็นได้ว่า ยาแก้แพ้กลุ่มที่ 2 มีความถี่ในการรับประทานต่ำกว่ายารุ่นแรก คือ รับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง เนื่องจากตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้ยาวนานกว่า 

นอกจากนี้ยังมียาอีกตัวที่ออกฤทธิ์รักษาอาการน้ำมูกไหลได้ดีเช่นกัน นั่นคือ เลโวเซทิริซีน (Levocetirizine) ยาที่เป็นโครงสร้างออกฤทธิ์ของยาเซทิริซีน และเดสลอราทาดีน (Desloratadine) ที่มีโครงสร้างการออกฤทธิ์เหมือนยาลอราทาดีน 

ทั้งนี้นอกจากการใช้ยารักษาแล้ว ผู้ป่วยยังควรหลีกเลี่ยง หรือกำจัดสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ออกไป หรือใช้หน้ากากอนามัยในกรณีไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้

การเลือกใช้ยาสำหรับลดน้ำมูกจะต้องเริ่มจากต้นตอของน้ำมูกว่า เกิดจากอะไร การใช้ยากลุ่มหนึ่งกับอีกโรคหนึ่งที่ไม่เข้ากันอาจไม่เกิดประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร  นอกจากนี้ ยังอาจเกิดอันตรายจากผลข้างเคียงของยาอีกด้วย

สีของน้ำมูกสามารถบอกอะไรได้บ้าง

สีของน้ำมูกสามารถบ่งบอกถึงอาการเจ็บป่วยได้ไม่ต่างจากสีของเสมหะ โดยสามารถแจกแจงได้ดังต่อไปนี้

  • น้ำมูกสีใส ส่วนมากน้ำมูกสีนี้จะไหลลงคอ แล้วเราก็จะกลืนลงกระเพาะอาหารไป อาจมีสาเหตุมาจากโรคหวัด การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือสารก่อภูมิแพ้ที่คุณบังเอิญสัมผัสจนทำให้สารฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการภูมิแพ้หลั่งออกมา

  • น้ำมูกสีขาว น้ำมูกสีนี้มักมีความข้นเหนียวกว่าน้ำมูกสีใส เพราะเป็นน้ำมูกที่คั่งอยู่ในโพรงจมูกเป็นเวลานานจากการที่เยื่อบุโพรงจมูกบวม รวมถึงอาจเกิดจากการรับประทานผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม ไขมันจากนมทำให้น้ำมูกเสียความชุ่มชื้นได้ จึงกลายเป็นของเหลวเหนียวสีขาว ทำให้หายใจไม่สะดวก

  • น้ำมูกสีเหลือง มักเป็นน้ำมูกที่เกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้ภูมิคุ้มกัน หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวต้องทำลายเชื้อเหล่านั้นให้หมดไป เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวกับเซลล์เชื้อโรคที่ตายไปแล้วมารวมตัวกัน จึงทำให้น้ำมูกมีสีเหลืองขึ้น หรืออาจเกิดจากน้ำมูกที่ค้างอยู่ในโพรงจมูกเป็นเวลานานเช่น ในช่วงกลางคืน เมื่อตื่นเช้ามาจะพบน้ำมูกสีเหลืองโดยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ในระหว่างวันจะพบน้ำมูกใส

  • น้ำมูกสีเขียว เป็นสีน้ำมูกที่บ่งบอกว่า ตอนนี้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียอยู่ สาเหตุของน้ำมูกสีนี้จะคล้ายกับน้ำมูกสีเหลือง ส่วนสีของน้ำมูกที่เป็นสีเขียวเกิดจากเอนไซม์ของเม็ดเลือดขาว หรืออาจเกิดจากอาการไซนัสอักเสบได้ด้วย

  • น้ำมูกสีเทา เป็นสีน้ำมูกที่บ่งบอกว่า "คุณกำลังมีริดสีดวงจมูก (Nasal polyp) เกิดขึ้น" ซึ่งไม่ได้เป็นเนื้อร้ายที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด และน้ำมูกสีเทายังเกิดได้จากเชื้อราซึ่งเกาะที่ผิวเยื่อบุจมูกเติมโตขึ้น

    นอกจากนี้อาการแพ้ยาแอสไพริน อาการภาวะไซนัสอักเสบ โรคหอบหืด และโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ก็สามารถทำให้เกิดน้ำมูกสีเทาได้เช่นกัน

  • น้ำมูกสีแดง มักเกิดจากเลือดไหลออกมาปนกับน้ำมูก อาจมีสาเหตุมาจากเส้นเลือดโพรงจมูกแตก เนื้องอก เยื่อบุจมูกแห้ง อาการระคายเคือง หรือบาดเจ็บภายในจมูก

  • น้ำมูกสีดำ เป็นสีน้ำมูกที่พบได้มากในผู้ที่สูบบุหรี่ เสพสารเสพติด หรืออาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะทางอากาศสูง จนหายใจเอาสิ่งสกปรกสีดำเข้าจมูกไปด้วย และยังอาจเกิดได้จากภาวะไซนัสอักเสบ หรือการติดเชื้อราด้วย

อาการน้ำมูกไหลเป็นสัญญาณบอกความผิดปกติของร่างกายได้มากมาย จึงไม่ควรมองว่า อาการน้ำมูกไหลที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่ต้องรักษาก็ได้ 

โดยเฉพาะหากพบว่า น้ำมูกมีสีผิดปกติไปจากเดิม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ จะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็ว

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Verywellhealth.com, Runny nose (https://www.verywellhealth.com/reasons-you-have-a-runny-nose-4110215), 22 April 2020.
Medicalnewstoday.com, Runny nose (https://www.medicalnewstoday.com/articles/320992.php), 23 April 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป