กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ประโยชน์ผักโขม ไอเดียการกินการใช้ผักโขมเพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

ผักขม หรือ ผักโขม ผักใบเขียวที่ไม่ขมเหมือนเหมือนชื่อ แถมยังมากด้วยคุณประโยชน์ รวมถึงมีวิธีการใช้และการกินมาแนะนำกันด้วย
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 17 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ประโยชน์ผักโขม ไอเดียการกินการใช้ผักโขมเพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ผักขม หรือผักโขม เป็นผักที่ขึ้นตามแหล่งธรรมชาติ มีทั้งประโยชน์ด้านการปรุงอาหาร และมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง
  • สรรพคุณทางยาของผักโขมที่ดีต่อร่างกายมีหลายอย่าง เช่น ช่วยบำรุง และเพิ่มปริมาณน้ำนมในหญิงในนมบุตร ลดอาการปวดประจำเดือน ลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด บำรุงสายตา ผิวพรรณ ลดอาการเลือดออกตามไรฟัน
  • คุณสามารถนำผักโขมมาประยุกต์เป็นเมนูอาหารได้หลากหลาย เช่น แซลมอนซอสชีสผักโขม ไข่อบผักโขมทูน่า เบอร์เกอร์ไข่ผักโขม ผัดผักโขมสูตรเจ
  • กลุ่มผู้ที่ควรระมัดระวังในการรับประทานผักโขม ได้แก่ ผู้ป่วยโรคนิ่ว โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ผักโขมเป็นผักที่มีประโยชน์มากมาย แต่ขณะเดียวกัน คุณก็ต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ด้วย รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นไปออกกำลังกาย และไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ (ดูแพกเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวันได้ที่นี่)

หากพูดถึงผักใบเขียวที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเมนูไหนก็ตาม ผักชนิดนี้ก็ทำให้รู้สึกชอบในการรับประทานผักได้ ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครปฏิเสธ "ผักขม" หรือที่คนไทยเรียกผิดเป็น "ผักโขม" ไปได้เลย 

นอกจากจะให้ความอร่อยแล้ว ยังให้สรรพคุณทางยา และคุณประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมายเลยทีเดียว สำหรับใครที่ชอบรับประทานผักขมหรือผักโขม ไม่ควรพลาดไอเดียการกิน และการใช้ผักโขมเพื่อสุขภาพต่อไปนี้

รู้จักผักขม หรือผักโขม

ผักขม หรือผักโขม (Slender amaranth) เป็นผักที่ขึ้นตามแหล่งธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นริมทาง ป่าละเมาะ ป่ารกร้าง รวมถึงสวนผักผลไม้ เป็นผักที่ได้รับนิยมนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ผัดผักโขม แกงจืดผักโขม ผักโขมอบชีส ขนมปังหน้าผักโขมอบชีส 

ผักโขมเป็นผักที่ให้คุณประโยชน์ และสรรพคุณทางยามากมาย รวมถึงช่วยป้องกันโรคหลายอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง ความดันโลหิตสูง ช่วยขับปัสสาวะ นอกจากนี้ ผักโขมยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล เนื่องจากผักโขมมีทั้งโปรตีน วิตามิน กรดอะมิโน และแร่ธาตุต่างๆ

ชนิดของผักโขม

ผักขมเป็นผักที่อยู่ในกลุ่มวงศ์ Amaranthaceae ซึ่งประกอบด้วยสปีชีย์ (ชนิด) ดังต่อไปนี้

  1. ผักขมหัด (Amaranthus blitum l.)
  2. ผักขมใบแดง (Amaranthus caudatus l.)
  3. ผักขมดอกเขียว (Amaranthus hybridus l.)
  4. ผักขมหนาม (Amaranthus spinosus l.)
  5. ผักขมสวน (Amaranthus tricolor l.)
  6. ผักขม (Amaranthus viridis l.)

ซึ่งคนไทยนิยมนำผักขม Amaranthus viridis l. มาประกอบอาหาร และมักจะนิยมเรียกกันในชื่อ ผักโขม

คุณค่าทางโภชนาการของผักโขม

ในส่วนของใบผักโขมสด 100 กรัม ให้คุณค่าทางโภชนาการหลักๆ คือ พลังงาน 36 แคลอรี โปรตีน 3.5 กรัม คาร์โบไฮเดรต 6.5 กรัม ฟอสฟอรัส 67 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 411 มิลลิกรัม วิตามินซี 80.0 มิลลิกรัม วิตามินเค 319.2 มิลลิกรัม 

ประโยชน์ของผักโขม

  1. รับประทานเพื่อเป็นยาบำรุงกำลัง และช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ
  2. ใช้ในการช่วยบำรุง และเพิ่มปริมาณน้ำนม เหมาะสำหรับคุณแม่ลูกอ่อนที่มีน้ำนมไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก รวมถึงผักโขมมีวิตามินเอ วิตามินซี ที่จะช่วยให้น้ำนมของคุณแม่หลังคลอดสมบูรณ์ขึ้น
  3. มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก และลดความอ้วนได้เป็นอย่างดี เพราะการรับประทานผักโขมจะช่วยให้รู้สึกอิ่มท้องได้เร็ว และนาน อีกทั้งยังช่วยชะลอการดูดซึมไขมันในร่างกาย
  4. ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนสำหรับสตรี เนื่องจากผักโขม มีส่วนช่วยในการลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในบริเวณช่องท้อง
  5. ใช้ในการบำรุงร่างกายสำหรับคุณแม่หลังคลอด และช่วยให้ทารกน้อยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
  6. ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งรังไข่ เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูง
  7. ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ เนื่องจากผักโขมมีฤทธิ์ช่วยชะลอการตายของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายเมื่อรับประทานเป็นประจำ
  8. อุดมไปด้วยโปรตีนสูง เหมาะสำหรับผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ และต้องการให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน แต่ควรรับประทานควบคู่กับอาหารจำพวกเต้าหู้ถั่วเหลือง เพื่อให้ปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับในแต่ละวันเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์
  9. ช่วยบำรุงสุขภาพของดวงตา และช่วยป้องกันความเสื่อมที่อาจเกิดกับดวงตาได้ เนื่องจากมีวิตามินเอสูง
  10. มีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน พร้อมทั้งช่วยบำรุงกระดูก และฟันให้มีสุขภาพที่แข็งแรง เนื่องจากมีวิตามินซีสูง
  11. ช่วยในการกระตุ้นการขับถ่ายในแต่ละวัน เนื่องจากผักโขมอุดมไปด้วยไฟเบอร์ หรือกากใยอาหารปริมาณมาก
  12. เหมาะสำหรับสาวๆ ที่ต้องการบำรุงผิวพรรณ เพราะผักโขมมีสารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอการแก่ และตายของเซลล์
  13. มีส่วนช่วยในการบำรุงระบบไหลเวียนโลหิต ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของระบบหัวใจ และลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจได้
  14. ลดอาการเลือดออกตามไรฟันได้ เนื่องจากผักโขมมีส่วนประกอบของวิตามินซีในปริมาณสูง 
  15. ป้องกันภาวะเลือดไหลไม่หยุด เพราะผักโขมอุดมไปด้วยวิตามินเค แต่ผู้ป่วยที่รับประทานกลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น aspirin, warfarin ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก เนื่องจากฤทธิ์ของผักโขมจะไปต้านฤทธิ์กับกลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหนืดเกินไป
  16. ช่วยชะลอวัยทองผ่านสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่มีอยู่ในผักโขม รวมถึงชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ที่อยู่ภายในร่างกาย

ไอเดียการใช้ผักโขมเพื่อสุขภาพ

นอกจากผักโขมจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายในหลากหลายด้านแล้ว การรู้จักนำผักชนิดนี้ไปใช้ให้ถูกต้อง และถูกวิธีจะยิ่งส่งผลดีต่อร่างกายของคนรับประทานมากยิ่งขึ้น ซึ่งไอเดียการใช้ผักโขมเพื่อรักษาและป้องกันโรคนั้น ดังนี้

  1. การนำรากผักโขมมาต้มน้ำเพื่อใช้อาบ จะช่วยรักษาอาการคันที่ผิวหนัง
  2. ตำรากผักโขมแล้วนำมาพอกปิดแผลที่เป็นหนอง ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำมาพอกเพื่อรักษาฝี กลากเกลื้อน และแผลน้ำร้อนลวกได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องล้างทำความสะอาดรากผักโขมก่อนนำมาใช้
  3. รากของผักโขมบ้านสามารถนำมาเข้าตำรับยาใช้สำหรับการถอนพิษ แก้ร้อนใน ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ยารักษาโรคตับ โรคหัวใจ และช่วยแก้ไข้ได้ แต่คุณควรปรึกษาแพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ก่อน
  4. นำผักโขมมาต้มห รือลวกรับประทานเป็นผัก จะช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร รักษาลิ้นเป็นฝ้าละออง ระงับความร้อน แก้พิษ แก้ช้ำใน แน่นท้อง และใช้เป็นยาบำรุงน้ำนมได้เป็นอย่างดี  

ไอเดียการกินผักโขมเพื่อสุขภาพ

ผักโขมไม่เพียงแต่จะสามารถนำเอามาบริโภคเพื่อการมีสุขภาพที่ดี หรือเพื่อใช้ในการรักษาโรคเท่านั้น แต่ยังมีความพิเศษตรงที่สามารถนำเอามาปรุงเป็นเมนูและอาหารอร่อยๆ ได้อีกหลากหลายเลยทีเดียว และไอเดียการกินผักโขมเพื่อสุขภาพ ดังนี้

1. แซลมอนซอสชีสผักโขม

ส่วนผสมที่ต้องเตรียม คือ ปลาแซลมอน น้ำมันมะกอก เนยสด กระเทียมสับละเอียด มะเขือเทศสีดา ผักโขม นมสด และพามาซานชีสแบบขูด 

เมื่อได้ส่วนผสมทั้งหมดแล้ว เริ่มด้วยตั้งกระทะและใส่น้ำมันมะกอกสำหรับทอดปลาแซลมอน จากนั้นมาต่อด้วยการใส่เนยลงไปในกระทะใบเดิม ผัดกระเทียมและมะเขือเทศสีดา ปรุงรสด้วยเกลือ และพริกไทยดำตามใจชอบ 

หลังจากนั้นใส่ผักโขมตามลงไปแล้วผัดให้เข้ากัน ปิดท้ายด้วยการใส่นม ชีส แล้วตามด้วยปลาแซลมอนทอด ผัดให้เข้ากัน ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 3 นาทีจึงค่อยเสิร์ฟ

2. แกงคั่วหอยลายกับผักโขม

สำหรับเมนูนี้ให้เตรียมเนื้อหอยลาย ผักโขมแช่แข็ง พริกชี้ฟ้า กะทิสด น้ำมัน น้ำตาล น้ำปลา, น้ำพริกแกงเผ็ด และเกลือ 

เริ่มด้วยขั้นตอนแรก คือ ผัดน้ำพริกแกงกับน้ำมันจนน้ำพริกสุกพอดี เติมหัวกะทิแล้วผัดจนกะทิแตกมัน เนื้อหอยลายและผักโขมลงไป ปรุงรสตามใจชอบ ตักใส่จานใส่พริกชี้ฟ้าประดับบนแกง พร้อมเสิร์ฟด้วยข้าวสวยร้อนๆ

3. ไข่อบผักโขมทูน่า

เตรียมไข่ไก่ ทูน่าในน้ำแร่ เนยสด ผักโขม และซีอิ๊วขาว 

ลงมือตีไข่พร้อมใส่ซีอิ๊วขาว ทูน่า และผักโขม ตีจนส่วนผสมเข้ากันดี ทาเนยสดบนพิมพ์แต่เพียงบางๆ ตักส่วนผสมที่เตรียมไว้ใส่ลงไปในพิมพ์ อบในไมโครเวฟด้วยไฟกลางประมาณ 2 นาที เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

4. กุ้งแม่น้ำผักโขมอบชีส

เตรียมกุ้งแม่น้ำสดๆ ผักโขม ชีส พริกไทยบด และเกลือ 

ก่อนอื่นเริ่มจัดการกับตัวกุ้งก่อน โดยให้ผ่าหลังแล้วแกะเอาเนื้อกุ้งออก ล้างผักโขม และนำไปลวกให้พอสะดุ้ง สับผักโขมให้เป็นชิ้นเล็กๆ สับเนื้อกุ้งให้พอหยาบ นำทั้งสองมาผสมเข้ากับชีส ปรุงด้วยเกลือและพริกไทย เคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน 

จากนั้นตักใส่ในตัวกุ้งที่เตรียมไว้ โรยด้วยชีสอีกครั้ง นำเอาเข้าเตาอบด้วยไฟแรง อบพอให้เกรียมไม่ต้องสุกจนเกินไป เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

5. เบอร์เกอร์ไข่ผักโขม

จัดการเตรียมขนมปังเบอร์เกอร์ ไข่ดาว ชีส มะเขือเทศหั่นบาง ผักโขมลวก และมายองเนส

เมื่อได้ส่วนผสมทั้งหมดแล้วให้นำขนมปังมาผ่าให้เป็น 2 ส่วน ตามด้วยวางขนมปังส่วนก้น ชีส ไข่ดาว และราดมายองเนส ต่อด้วยวางผักโขมลวก แล้วปิดท้ายด้วยขนมปังส่วนบน เพียงแค่นี้ก็ได้รับประทานเมนูเร่งด่วนที่เต็มไปด้วยคุณประโยชน์แล้ว

6. ผัดผักโขมสูตรเจ

เมนูอาหารจานนี้ให้เตรียมส่วนผสม ได้แก่ ผักโขม ซอสเห็ดหอม ซีอิ๊ว น้ำเปล่า และพริกไทย 

จากนั้นให้ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันลงไปเพียงเล็กน้อย เมื่อน้ำมันเริ่มร้อนให้ใส่ผักโขมลงไปผัด ปรุงรสด้วยซอสเห็ดหอม ซีอิ๊ว พริกไทย แล้วผัดให้เข้ากัน เติมน้ำเปล่าลงไปเล็กน้อย ผัดอีกครั้งจนผักโขมนิ่มและสุก ตักเสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อนๆ

ข้อควรระวังในการรับประทานผักโขม

  • ในผักโขมจะมีกรดชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "กรดออกเซลิค (Oxalic acid)" อยู่ค่อนข้างสูง ซึ่งสารชนิดนี้จะมีส่วนทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็กในตัวมันได้ ซึ่งคุณสามารถทำลายกรดชนิดนี้ออกจากผักโขมได้ง่ายๆ ผ่านการต้มผักจนสุก
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคนิ่ว โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และในกลุ่มผู้ที่สะสมปริมาณของแคลเซียม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักโขมในปริมาณมาก
  • ในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับประทานยาในกลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น aspirin, warfarin  ไม่ควรรับประทานผักโขมในปริมาณมาก เนื่องจากฤทธิ์ของผักชนิดนี้จะไปต้านฤทธิ์กับกลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหนืด และอาจเกิดลิ่มเลือดที่ทำให้หลอดเลือดอุดตัน

ผักโขม ถือเป็นสิ่งที่คนรักสุขภาพไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะนอกจากรสชาติไม่ขมแล้วนั้น ยังรับประทานได้ง่าย และสามารถนำมาประกอบเป็นเมนูอาหารน่ารับประทานได้อีกเยอะเลยทีเดียว 

ส่วนใครที่กำลังอยู่ในช่วงของการลดน้ำหนัก ก็อย่าลืมหาผักโขมมารับประทานกัน เพราะช่วยจะให้คุณอิ่มท้องได้นาน ลดการรับประทานขนมจุกจิกได้

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัน เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
B.S.A. Kumar et al., Antinociceptive and antipyretic activities of Amaranthus viridis linn. In different experimental models, Arch Biol Sci Belgrade, 62 (2010), pp. 397-402
C. Larbie et al., Anti-proliferative effect of Amaranthus viridis linn. On human leukemic cell lines- a preliminary study, 236, Int J Biol Pharma Res, 6 (2015)
B.S.A. Kumar et al., Antidiabetic, antihyperlipidemic and antioxidant activities of methanolic extract of Amaranthus viridis Linn. in alloxan induced diabetic rats, Exp Toxicol Pathol, 64 (2012), pp. 75-79

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป