5 ตำรับยาหอมที่ควรรู้จัก

ยาหอมที่ขายในท้องตลาดมีหลายตำรับ ดังนั้นจึงควรเลือกตำรับที่มีสรรพคุณเหมาะสม และศึกษาการใช้อย่างถูกวิธี
เผยแพร่ครั้งแรก 23 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
5 ตำรับยาหอมที่ควรรู้จัก

“ยาหอม” เป็นภูมิปัญญาที่ใช้ในการดูแลสุขภาพตั้งแต่บรรพบุรุษ สมัยก่อนยาหอมป็นยาที่ใช้สูดหรือดมเฉพาะในวังเท่านั้น จึงถือเป็นของหายาก แต่เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ยาหอมก็เริ่มเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มคนทั่วไป หลายคนคิดว่ายาหอมเหมาะสำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ความจริงแล้วยาหอมเหมาะกับทุกวัย ที่น่าสนใจคือสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่าแก้อาการวิงเวียน

ทางการแพทย์แผนไทยเชื่อว่า ยาหอมคือยาที่ช่วยปรับธาตุดิน น้ำ ลม และไฟในร่างกายให้สมดุล คนสมัยก่อนจึงนิยมมียาหอมติดไว้ทุกบ้าน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สรรพคุณของยาหอม

ยาหอมมีหลายตำรับ ทุกตำรับมีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี แต่หากต้องการรักษาอาการบางอย่างโดยเฉพาะ ก็สามารถหายาหอมตำรับที่เหมาะสำหรับคุณโดยเฉพาะได้ ซึ่งสรรพคุณจะขึ้นอยู่กับสมุนไพรและตัวยาที่ใช้ปรุง เช่น มียาหอมตำรับแก้อาการใจสั่น หน้ามืด ปวดศีรษะ แก้ไข้ หรือแม้กระทั่งใช้แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ก็สามารถใช้ยาหอมบรรเทาอาการเบื้องต้นได้

ยาหอมฤทธิ์ร้อนกับยาหอมฤทธิ์เย็น

ยาหอมเป็นยาที่สามารถรับประทานได้แม้จะไม่มีอาการเจ็บป่วย ซึ่งยาหอมแต่ละรับตำรับจะใช้สมุนไพรหลายชนิดมารวมกัน จึงสามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้หลากหลาย แบ่งประเภทของยาหอมออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  1. ยาหอมฤทธิ์ร้อน ประกอบด้วยสมุนไพรรสร้อน เช่น เหง้าขิงแห้ง ดีปลี กานพลู ดอกจันทน์ เหง้ากระชาย เป็นต้น มีสรรพคุณช่วยขับลมกองหยาบบริเวณช่องท้อง หรือลมที่ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด อาหารไม่ย่อย เรอเหม็นเปรี้ยว (กรดไหลย้อน)
  2. ยาหอมฤทธิ์สุขุมเย็น ช่วยแก้อาการหน้ามืด ตาลาย ตาพร่า วิงเวียนศีรษะ ทรงตัวไม่อยู่ หูอื้อ แก้ไข้ เสียดบริเวณหัวใจ บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น รักษาอาการนอนไม่หลับ แก้อาการไฟระส่ำระสาย ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น ทางแพทย์แผนไทยรวมเรียกอาการเหล่านี้ว่าเกิดจากลมกองละเอียด เป็นลมที่พัดอยู่บริเวณเบื้องบนศรีษะ

การเลือกใช้ยาหอมให้ถูกกับอาการเป็นสิ่งจำเป็น โดยผู้บริโภคหรือผู้ที่ใช้ยาควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดทุกครั้ง เพื่อการรักษาที่ตรงจุด ไม่รับประทานยาโดยเปล่าประโยชน์

5 ตำรับยาหอมสามัญประจำบ้าน

ตัวอย่างตำรับยาหอมที่มีสรรพคุณแตกต่างกัน เหมาะสำหรับมีติดบ้านไว้ มีดังต่อไปนี้

  1. ตำรับยาหอมนวโกฐ เป็นตำรับยาหอมที่เพิ่มความแรงในการบีบตัวของหัวใจ มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิตเล็กน้อย ป้องกันพิษไข้ ทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว แก้ลมวิงเวียน คลื่นไส้ แก้ลมจุกอกในผู้สูงอายุ มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรด ยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็ก แก้อาการปวดท้องได้ดี นอกจากนี้ยังพบว่าทำให้หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว ทำให้ปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น ช่วยแก้อาการปวดศีรษะไมเกรนได้
  2. ตำรับยาหอมอินทรจักร สรรพคุณคล้ายกับยาหอมนวโกฐ เพราะปรุงจากสมุนไพรรสร้อนเหมือนกัน สามารถบรรเทาอาการคลื่นไส้ แก้ลมจุกเสียด
  3. ตำรับยาหอมเทพจิตร มีดอกมะลิเป็นส่วนประกอบหลัก อุดมไปด้วยสารน้ำมันระเหยที่ชื่อว่าลินาลูล (Linalool) มีฤทธิ์ช่วยทำให้นอนหลับ มีส่วนประกอบของผิวเปลือกส้ม ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และมีสารจัสโมแลกโตนบี (Jasmolactone B) และจัสโมแลกโตนดี (Jasmolactone D) มีฤทธ์ิขยายหลอดเลือดและกระตุ้นหัวใจ แก้อาการหน้ามืดตาลาย แก้ลมวิงเวียน ตาพร่าจะเป็นลมได้ นอกจากนี้ยังช่วยแก้อาการคลื่นไส้ และบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่นได้อีกด้วย
  4. ตำรับยาหอมทิพโอสถ ช่วยลดอาการอ่อนเพลียจากอาการไข้หวัด แก้ลมวิงเวียน
  5. ตำรับยาหอมแก้ลมวิงเวียน แก้ลมวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ

สมุนไพรหลักที่อยู่ในยาหอม

ขึ้นชื่อว่ายาหอม ส่วนใหญ่สมุนไพรหลักจะเน้นกลุ่มดอกไม้และเครื่องยาหอมที่มีกลิ่นเฉพาะตัว เช่น พิกุล มะลิ บุนนาค สารภี กฤษณา กระดังงา โกฐเชียง โกฐเขมา เป็นต้น นอกจากนี้ยาหอมบางตำรับอาจจะมีส่วนผสมของสมุนไพรหายากและมีราคาแพง เช่น ชะมดเช็ด (ต่อมน้ำมันหรือฟีโรโมน) ชะมดเชียง หญ้าฝรั่น (เกสรตัวเมียของพืชตระกูลพลับพลึง ใน 1 ดอก จะมีเพียง 7 เส้นเท่านั้น) พิมเสนที่เกิดจากธรรมชาติหรือพิมเสนที่เกิดจากปล้องไม้ไผ่ ซึ่งปัจจุบันยาไทยนิยมใช้พิมเสนสังเคราะห์ เพื่อความสะดวกในการหาวัตถุดิบ

เนื่องจากส่วนประกอบของยาหอมเป็นดังที่กล่าวไปนี้ ดังนั้นผู้แพ้เกสรดอกไม้จึงควรระมัดระวังการใช้ยาหอมด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ยาหอมที่ขายในท้องตลาด มีรูปแบบไหนบ้าง

ส่วนใหญ่ยาหอมในท้องตลาดจะมีลักษณะเป็นผงยาละเอียด นอกจากนี้สามารถผลิตในรูปแบบของยาตอกเม็ด ยาลูกกลอน ไปจนถึงเป็นยาเม็ดแปะแผ่นทองคำเปลวบริสุทธิ์ก่อนที่จะนำยาไปอบแห้งอีกด้วย ทำให้ยาหอมน่ารับประทานขึ้น และไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงามเท่านั้น ทองคำเปลวที่ใช้ยังมีฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณช่วยลดไข้และทำให้ผิวพรรณชุ่มชื่น ส่วนราคามีให้เลือกตั้งแต่ 20 บาทจนถึงหลักร้อย ขึ้นอยู่กับสมุนไพรในตำรับ

วิธีการใช้ยาหอมอย่างถูกต้อง

หากเป็นยาหอมชนิดผง ให้ตักยาหอมประมาณ 1 ช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุก ดื่มขณะที่ยังอุ่น จะช่วยให้น้ำมันหอมระเหยในสมุนไพรออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น ถ้าเป็นชนิดเม็ด ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ดกับน้ำสะอาด ทั้ง 2 วิธีควรรับประทานทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ แต่ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง

ยารูปแบบผงละลายน้ำจะเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีกว่ายาเม็ด ทำให้ออกฤทธิ์เร็วกว่า หากมียาเม็ดอยู่แล้วและอยากให้ออกฤทธิ์เร็ว สามารถนำมาตำแล้วละลายน้ำรับประทานได้เช่นกัน

ข้อควรระวังการใช้ยาหอม

ระวังในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต ผู้ที่มีอาการเลือดออกง่าย หรือผู้ที่รับประทานยากลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) แอสไพริน (Aspirin) เป็นต้น เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาต่อยาทั้งสองได้ รวมไปถึงผู้ที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัด แนะนำว่าไม่ควรรับประทานยาหอม เนื่องจากยาหอมมีสรรพคุณที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น อาจส่งผลกระทบทำให้เลือดออกมากกว่าปกติ

นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ใช้ยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความผิดปกติของตับและไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้

ยาหอมเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 สามารถแก้อาการหลายอย่างที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
chatchai nokdee, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, “ยาหอม” มากสรรพคุณ ปรับสมดุลธาตุ (https://www.thaihealth.or.th/Content/32249-%28.html), 8 สิงหาคม 2559.
รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, ภาควิชาเภสัชพกฤษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, จะเลือกใช้ยาหอม อย่างไรจึงจะดี (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/103/%), 24 มิถุนายน 2555.
นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ยาหอม…มรดกทางภูมิปัญญา ที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาตร์ (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/283/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A1/), 4 ตุลาคม 2558.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
จำปา (Champak)
จำปา (Champak)

สรรพคุณของจําปา วิธีการใช้ประโยชน์ของส่วนดอก ผล เมล็ด ราก ใบ หาคำตอบว่า จำปาช่วยบำรุงร่างกาย ต้านโรคได้จริงหรือ?

อ่านเพิ่ม