​วัคซีนบาดทะยักคืออะไร จำเป็นต้องฉีดไหม ใครควรฉีดบ้าง ราคาเท่าไร?

บาดทะยักคือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ หากร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันและไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก การฉีดวัคซีนบาดทะยักเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการป้องกัน
เผยแพร่ครั้งแรก 12 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 5 พ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
​วัคซีนบาดทะยักคืออะไร จำเป็นต้องฉีดไหม ใครควรฉีดบ้าง ราคาเท่าไร?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคบาดทะยัก เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล เช่น แผลถลอด แผลโดนมีดบาด แผลถูกสัตว์กัด จนทำให้ระบบประสาทควบคุมกล้ามเนื้อมีปัญหา ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง อาจทำให้เสียชีวิตได้
  • อาการแทรกซ้อนจากโรคบาดทะยัก มักได้แก่ อาการกระดูกหัก อาการไตวายเฉียบพลัน อาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
  • การฉีดวัคซีนบาดทะยัก คือ การป้องกันโรคบาดทะยักได้ดีที่สุด โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 100 บาท ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล และคลินิก
  • ผู้ฉีดวัคซีนบาดทะยักอาจมีอาการข้างเคียงหลังฉีด เช่น มีไข้ต่ำ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย แต่หากมีอาการชัก หัวใตเต้นเร็ว ผื่นขึ้น อาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้วัคซีน ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฉีดวัคซีนเด็ก

บาดทะยัก คือโรคที่หลายคนคุ้นเคย เพราะหากเกิดบาดแผลขึ้นบนร่างกาย มักได้ยินคำแนะนำว่า “รีบไปหาหมอ ระวังเป็นบาดทะยัก” แม้ว่าจะดูเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงเท่าโรคร้ายอื่นๆ แต่รู้หรือไม่ว่า โรคนี้อันตรายถึงชีวิต 

จากข้อมูลของสภากาชาดระบุว่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคบาดทะยัก จะมีโอกาสเสียชีวิตตั้งแต่ 10%–90% ซึ่งนับว่ามีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง และการรักษายังเป็นเพียงการประคับประคองเป็นหลัก ดังนั้นการฉีดวัคซีนบาดทะยักจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่ช่วยให้เราห่างไกลจากโรคได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีน DTP วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 30%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ความหมายของโรคบาดทะยัก

บาดทะยัก (Tetanus) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย "คลอสตริเดียม เตตานิ (Clostridium Tetani)" พบได้ตามพื้นดิน ฝุ่น หรือมูลสัตว์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผล เช่น แผลถลอก ไฟไหม้ โดนของมีคมบาด ตะปูตำ ถูกสัตว์กัด หรือใช้เข็มฉีดยาที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ 

เมื่อเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายจะสร้างสารพิษชื่อว่า "เททานัสท็อกซิน (Tetanus toxin)" ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง ในรายที่ติดเชื้อรุนแรงอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ทั้งนี้บาดแผลที่มีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการติดเชื้อบาดทะยัก ได้แก่ 

  1. บาดแผลที่ต้องเย็บ หรือผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยไปพบแพทย์ช้ากว่า 6 ชั่วโมง
  2. บาดแผลที่มีเนื้อตายจำนวนมาก เช่น แผลไฟไหม้ แผลกดทับ หรือแผลที่เป็นรอยเจาะ เช่น ถูกตะปูตำ แผลจากการสัก เจาะตามร่างกาย โดยเฉพาะบาดแผลที่ปนเปื้อนดิน หรือเศษวัสดุแปลกปลอม
  3. บาดแผลที่พบร่วมกับกระดูกหัก

ดังนั้นหากใครมีบาดแผลที่มีความเสี่ยง แนะนำให้รีบทำความสะอาดบาดแผล โดยล้างด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่นานอย่างน้อย 10-15 นาที (กรณีเป็นบาดแผลที่ไม่ใช่บาดแผลฉกรรจ์) จากนั้นไปพบแพทย์ทันที เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

อาการของโรคบาดทะยัก

เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย อาการเริ่มแรกคือ ผู้ป่วยจะมีอาการขากรรไกรแข็ง กล้ามเนื้อเกร็ง อ้าปากไม่ค่อยได้ 

จากนั้นมือ แขน และขาเริ่มเกร็ง หลังแข็งและแอ่น ใบหน้าจะมีลักษณะคล้ายยิ้มแสยะ โดยอาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นเมื่อมีเสียงดัง หรือเมื่อได้สัมผัสตัวผู้ป่วย ในผู้ป่วยรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีอาการชักกระตุก หน้าเขียว ซึ่งจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ขาดออกซิเจน เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีนเด็ก ตรวจพัฒนาการเด็กวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 728 บาท ลดสูงสุด 57%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อาการแทรกซ้อนของโรคบาดทะยัก

นอกจากอาการหลักของโรคบาดทะยักที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้แล้ว ยังอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ด้วย ดังนี้

  1. กระดูกหัก เกิดจากการเกร็ง และบิดอย่างรุนแรงจนส่งผลถึงกระดูก
  2. ไตวายเฉียบพลัน เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างรุนแรงจนทำให้กล้ามเนื้อสลายกลายเป็นโปรตีน ซึ่งไตมีหน้าที่กำจัดโปรตีนในร่างกาย หากมีโปรตีนสลายออกมาจำนวนมาก ไตก็อาจทำงานหนักจนทำให้ไตวายเฉียบพลันได้
  3. ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ภาวะบิดเกร็งของกล้ามเนื้ออาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลว  หยุดหายใจ จนทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน และเสียชีวิต

การรักษาโรคบาดทะยัก

เมื่อแพทย์ประเมินแล้วว่ าผู้ป่วยเป็นโรคบาดทะยัก แพทย์อาจวางแผนการรักษาดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย ป้องกันเสียงรบกวน เพราะจะทำให้มีอาการชักเกร็งรุนแรงขึ้น
  2. แพทย์จะให้ยาทำลายสารพิษที่เชื้อแบคทีเรียสร้างขึ้น รวมทั้งให้ยาปฏิชีวนะเพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
  3. แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการควบคู่กันไป เช่น ยาระงับอาการชัก ยาลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ งดให้น้ำและอาหารทางปาก เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยสำลักได้ จึงจำเป็นต้องให้อาหารทางหลอดเลือดแทน
  4. เฝ้าระวังเรื่องการหายใจ เพราะอาจมีอาการหายใจขัด หายใจไม่ออกจนทำให้เสียชีวิตได้ 

วัคซีนบาดทะยัก การป้องกันที่มีประสิทธิภาพ

การฉีดวัคซีนบาดทะยัก คือ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค โดยวัคซีนบาดทะยักนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นวัคซีนบาดทะยักเพียงชนิดเดียว และวัคซีนที่ป้องกันโรคอื่นๆ ร่วมด้วย สามารถแบ่งได้ดังนี้

  1. วัคซีนบาดทะยัก (Tetanus Toxoid: TT) 
  2. วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก (diphtheria-tetanus toxoid: dT)
  3. วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Diphtheria, Tetanus, Pertussis: DTaP)

ทั้งนี้วัคซีนแต่ละประเภทก็มีรูปแบบการใช้ที่แตกต่างกัน

1. วัคซีนบาดทะยัก

แพทย์จะพิจารณาฉีดวัคซีนบาดทะยัก TT ให้เด็กโต (อายุ 7 ปีขึ้นไป) ที่มีบาดแผลที่คาดว่ามีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคบาดทะยัก โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1.1 ผู้ที่ไม่เคยรับ หรือรับไม่ครบ หรือไม่ทราบประวัติการรับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก

  • บาดแผลสะอาด แพทย์จะฉีดวัคซีนบาดทะยัก TT ทั้งหมด 3 เข็ม เข็มแรกและเข็มที่ 2 ห่างกัน 4-8 สัปดาห์ ส่วนเข็มสุดท้ายเป็นการฉีดกระตุ้น จะฉีดห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 6-12 สัปดาห์
  • บาดแผลที่มีสิ่งแปลกปลอม เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง แพทย์จะให้เซรุ่มต้านพิษบาดทะยัก ร่วมกับวัคซีนบาดทะยัก TT ในวันแรก จากนั้นประมาณ 4-8 สัปดาห์ จึงให้เข็มที่ 2 และ 2-12 สัปดาห์ จึงให้วัคซีนบาดทะยักเข็มสุดท้าย

    1.2 ผู้ที่เคยรับวัคซีนบาดทะยักครบ (เคยได้รับวัคซีนมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง)

    • บาดแผลสะอาด หากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานเกินกว่า 10 ปี แพทย์จะให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก TT กระตุ้น 1 เข็ม โดยไม่ต้องรับเซรุ่มต้านพิษบาดทะยักเพิ่ม
    • บาดแผลที่มีสิ่งแปลกปลอม เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง หากได้รับวัคซีน เข็มสุดท้ายมานานเกินกว่า 5 ปีให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก TT กระตุ้น 1 เข็ม โดยไม่ต้องรับเซรุ่มต้านพิษบาดทะยักเพิ่ม

    2. วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก 

    เป็นวัคซีนสำหรับเด็กโต (อายุ 7 ปีขึ้นไป) และผู้ใหญ่ มีหลักเกณฑ์การใช้เหมือนกับวัคซีนบาดทะยัก TT ซึ่งแพทย์มักใช้ทดแทนกันเพื่อฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคคอตีบร่วมด้วย

    แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
    ยุค New Normal สุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนใส่ใจมากยิ่งขึ้น

    ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บคอ คันคอ ระคายคอ หรือมีเสมหะ เหนียวคอ มาดู 5 วิธี บรรเทาง่ายๆ ได้ผล อย่ารอให้เป็นหนัก

    3. วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก 

    เป็นวัคซีนที่รวมการป้องกัน 3 โรคในเข็มเดียว นิยมฉีดให้เด็กทารกอายุตั้งแต่ 2 เดือนเป็นต้นไป โดยฉีดบริเวณต้นขาด้านหน้า ทั้งหมด 5 เข็ม ตามระยะเวลาดังนี้

    • ครั้งที่ 1 อายุประมาณ 2 เดือน
    • ครั้งที่ 2 อายุประมาณ 4 เดือน
    • ครั้งที่ 3 อายุประมาณ 6 เดือน
    • ครั้งที่ 4 อายุประมาณ 18 เดือน
    • ครั้งที่ 5 อายุประมาณ 4-7 ปี

    การฉีดวัคซีนบาดทะยักให้หญิงตั้งครรภ์

    วิธีการป้องกันโรคบาดทะยักที่ดีที่สุดสำหรับเด็กแรกเกิดคือ การฉีดวัคซีนบาดทะยักให้คุณแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ โดยแพทย์จะฉีดวัคซีนให้หญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด 3 เข็ม ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

    • เข็มที่ 1 ฉีดเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 6-7 เดือน
    • เข็มที่ 2 ฉีดเมื่ออายุครรภ์ไม่เกิน 8 เดือน (เข็มที่ 2 ควรให้ก่อนคลอดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน เพราะภูมิคุ้มกันจะถูกส่งไปสู่ทารกแรกเกิดในระดับที่สูงพอจะป้องกันโรคบาดทะยักได้
    • เข็มที่ 3 ฉีดหลังจากได้รับเข็มที่ 2 ประมาณ 6-12 เดือน (ฉีดหลังคลอด) เพื่อให้มั่นใจว่ าระดับภูมิคุ้มกันของคุณแม่จะคงอยู่ในระดับสูง และนาน 5-10 ปี จึงค่อยฉีดกระตุ้นซ้ำ

    ผู้ที่ไม่ควรฉีดวัคซีนบาดทะยัก

    แม้ว่าวัคซีนบาดทะยักจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้เช่นกัน ดังนี้

    • ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้อย่างรุนแรงหลังฉีดวัคซีนบาดทะยัก เช่น มีอาการลมชัก มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท มีอาการบวมแดงและปวดอย่างรุนแรง
    • ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง
    • ผู้ที่มีอาการป่วยใดๆ ก็ตาม ควรรอให้หายสนิทก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนบาดทะยัก

    อาการข้างเคียงหลังจากการฉีดวัคซีนบาดทะยัก

    อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากได้รับวัคซีนบาดทะยักนั้นเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปและไม่รุนแรง เช่น มีอาการปวด บวมแดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ต่ำๆ หนาวสั่น ปวดศีรษะหรือปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย 

    อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนอาจเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากการฉีดวัคซีน และจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่หากมีอาการอื่นๆ ที่รุนแรงมากกว่าที่กล่าวมา เช่น มีไข้ขึ้นสูง ปวดบริเวณที่ฉีดอย่างรุนแรง มีอาการชัก คันตามผิวหนัง เป็นผื่น หัวใจเต้นเร็ว 

    ต้องรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจมีอาการแพ้วัคซีนได้

    ราคาการวัคซีนบาดทะยัก

    สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลรัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

    แต่สำหรับผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนบาดทะยักกระตุ้น ผู้ที่มีบาดแผลซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก หรือหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องการฉีดวัคซีนบาดทะยักเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกตั้งแต่แรกคลอด 

    กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนบาดทะยัก หรือฉีดควบคู่ไปกับวัคซีนคอตีบ และไอกรนได้ที่โรงพยาบาลรัฐ และเอกชน รวมทั้งคลินิกชั้นนำทั่วไป 

    ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนบาดทะยักเริ่มตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนและค่าบริการของแต่ละโรงพยาบาล

    หากใครประสบอุบัติเหตุ มีบาดแผลที่คาดว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อบาดทะยัก แนะนำให้รีบไปฉีดวัคซีนบาดทะยักทันที 

    เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ คนทั่วไปที่เคยฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้วก็ควรฉีดวัคซีนบาดทะยักกระตุ้นซ้ำทุก 10 ปี เพื่อการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

    เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฉีดวัคซีนเด็ก ตรวจก่อนแต่งจากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


    7 แหล่งข้อมูล
    กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
    Jennifer Robinson, Tetanus Vaccine: Questions and Answers (https://www.webmd.com/vaccines/tetanus-vaccine#2)
    National Center for Immunization and Respiratory Diseases, Diphtheria, Tetanus, and Whooping Cough Vaccination: What Everyone Should Know (https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/dtap-tdap-td/public/index.html), 17 December 2018

    บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

    ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

    ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
    (1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

    บทความต่อไป