กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

เข้าใจอาการกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ และวิธีรักษา

เรียนรู้หลากหลายสาเหตุของอาการเจ็บคอ เพื่อหาแนวทางการรักษาหรือใช้ยาที่บรรเทาอาการได้ตรงจุด
เผยแพร่ครั้งแรก 23 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
เข้าใจอาการกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ และวิธีรักษา

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอเกิดจากหลายสาเหตุ แต่จะแบ่งได้ 3 สาเหตุหลักๆ ได้แก่ อาการเจ็บคอจากเชื้อไวรัส อาการเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรีย อาการเจ็บคอจากทอนซิลอักเสบ
  • อาการเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรีย และต่อมทอนซอนซิลมีวิธีสังเกต คือ จะเห็นจุดหนองที่ต่อมทอนซิล และเกิดผ้าที่ลิ้น ซึ่งหากอาการเจ็บคอเกิดจากเชื้อไวรัส จะมีไม่มีจุดสังเกตเหล่านี้
  • ยาบรรเทาอาการเจ็บคอแบ่งออกได้หลายประเภท เช่น ยารับประทาน ยาสเปรย์ ยาปฏิชีวนะ ซึ่งยาแต่ละประเภทจะต้องถูกสั่งผ่านแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อป้องกันอาการดื้อยา และการใช้ยาโดยเปล่าประโยชน์
  • ยาอมแก้เจ็บคอสามารถช่วยบรรเทาอาการ และฆ่าเชื้อได้เช่นกัน แต่ควรใช้ในปริมาณพอดี เพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ เช่น เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • การรักษาอาการป่วยที่ดีที่สุด คือ การไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะหากคุณมีอาการกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอมามากกว่า 7-10 วัน (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัยได้ที่นี่)

อาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่สามารถเป็นกันได้บ่อย โดยเฉพาะช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว โดยอาการที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกราย คือ อาการกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ ซึ่งบางครั้งอาการก็อาจรุนแรง และต่อเนื่องยาวนาน จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ 

ดังนั้นคุณจึงควรมาทำความรู้จักสาเหตุ และแนวทางรักษาตัวเองเบื้องต้น เช่น หายารูปแบบสเปรย์หรือยารับประทาน เพื่อให้อาการกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอบรรเทาลงหรือกระทั่งหายไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

โดยหลักแล้ว อาการเจ็บคอมักเกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุหลัก ดังนี้

1. อาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อไวรัส 

อาการเจ็บคอกว่า 90% เกิดขึ้นจากสาเหตุนี้ เช่น ไวรัสก่อโรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยมักมีอาการของโรคหวัดร่วมกับอาการเจ็บคอ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม ไอ มีไข้อ่อนๆ อ่อนเพลีย 

การติดเชื้อไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่มักมีอาการรุนแรงกว่าเชื้อก่อโรคหวัดธรรมดา ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จึงมักมีไข้สูง และปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย อาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อไวรัสนั้นไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ส่วนมากจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน โดยไม่ต้องใช้ยา

2. อาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย 

อาการเจ็บคอที่เกิดจากสาเหตุนี้พบได้ไม่บ่อยนัก โดยเชื้อแบคทีเรียก่อโรค คือ เชื้อสเตรปโตคอกคัส ไพโอจีเนส (Streptococcus Pyogenes) หรือที่เรียกว่า สเตรปโตคอกคัสกลุ่มเอ 

เชื้อนี้สามารถแพร่กระจายผ่านละอองน้ำลายจากผู้ที่ติดเชื้อ ไปสู่บุคคลอื่นผ่านการไอ จาม การรับประทานอาหารร่วมกัน หรือการได้รับเชื้อจากการสัมผัสเข้าสู่ร่างกายผ่านตา จมูก ปาก 

อาการของผู้ป่วยที่เจ็บคอจากสาเหตุนี้จะเริ่มแสดงหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 5 วัน อีกทั้งการติดเชื้อในเด็กยังสามารถพบได้บ่อยกว่าในผู้ใหญ่ด้วย โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากแบคทีเรียอาจมีไข้ ปวดศีรษะ ไม่อยากอาหาร แต่จะไม่แสดงอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคหวัด เช่น น้ำมูกไหล ไอ เสียงแหบ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

3. อาการเจ็บคอจากทอนซิลอักเสบ 

ปกติแล้วต่อมทอนซิลจะมีหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย แต่เมื่อต่อมทอนซิลเกิดการติดเชื้อขึ้นซะเอง จึงอาจเป็นสาเหตุให้ต่อมทอนซิลอักเสบ และนำไปสู่การปวด หรือเจ็บคอรุนแรง ผู้ป่วยบางรายอาจเจ็บคอมากขนาดที่กลืนน้ำลายไม่ได้ทีเดียว 

นอกจากนี้ อาการเจ็บคอยังอาจเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บบางอย่าง เช่น โรคกรดไหลย้อน ซึ่งมีสาเหตุจากน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนคืนสู่หลอดอาหารอีกครั้ง อาการที่มักเกิดร่วมด้วยในผู้ป่วยกรดไหลย้อน ได้แก่ แสบร้อนกลางอก เสียงแหบ รู้สึกมีรสเปรี้ยวจากกรด หรือรสขมจากน้ำดีในปาก 

นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ก็มีส่วนทำให้การเจ็บคอกำเริบขึ้นได้ รวมถึงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคือง และการอักเสบในลำคอ อากาศแห้ง การใช้เสียงมากจนลำคออักเสบ

วิธีสังเกตอาการว่า อาการเจ็บคอเกิดมาจากไวรัส หรือแบคทีเรีย

เมื่อมีอาการเจ็บคอ หรือกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ ผู้ป่วยสามารถสังเกตได้ด้วยตนเองว่า อาการเจ็บคอที่เป็นอยู่นี้เกิดจากสาเหตุใด 

โดยจุดสังเกตที่ชัดเจน คือ หากเป็นอาการเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรีย จะสามารถสังเกตเห็นจุดหนองบริเวณต่อมทอนซิล และอาจเกิดฝ้าที่ลิ้น ซึ่งหากเจ็บคอจากไวรัสจะไม่มีอาการเหล่านี้

ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ

ยังไม่มีการคิดค้นยารับประทานที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บคอโดยเฉพาะออกมา และโดยปกติอาการเจ็บคอจะสามารถหายได้เอง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

นอกจากนี้ อย่างที่กล่าวไว้ว่า การเจ็บคอนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การรักษานั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าเป็นการเจ็บคอที่เกิดขึ้นจากสาเหตุใด ส่วนใหญ่การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ ดังนี้

1. ยารับประทานบรรเทาอาการปวด 

ได้แก่ พาราเซตามอล (Paracetamol) แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และนาพรอกเซน (Naproxen

2. ยาอมแก้เจ็บคอ 

นิยมใช้บรรเทาอาการเนื่องจากหาซื้อได้ง่าย มีการผสมตัวยาที่หลากหลาย ได้แก่

  • ตัวยาที่ออกฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ในปริมาณไม่สูงนัก ใช้เพื่อช่วยลดความรู้สึกเจ็บและปวด เช่น เบนโซเคน (Benzocaine)
  • ตัวยาที่มีฤทธิ์แก้ปวด ลดการอักเสบ เช่น เฟอร์บิโพรเฟน (Flurbiprofen) เบนซิดามีน ไฮโดรคลอไรด์ (Benzydamine Hydrochloride) ซึ่งเป็นตัวยาในกลุ่มต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID)
  • ตัวยาฆ่าเชื้อ เพื่อทำความสะอาดช่องปากและลำคอ เช่น เอมิลเมแทครีซอล (Amylmetacresol) เบนซิลแอลกอฮอล์ (Benzyl Alcohol) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ด้วย

การอมยาอมเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอหรือกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอนั้น ควรศึกษาปริมาณและวิธีใช้จากฉลากบนซอง ไม่ควรอมโดยไม่จำกัดปริมาณ เพราะมีโอกาสที่จะได้รับยาเกินขนาด และทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ทำให้เกิดการระคายเคือง หรือเกิดแผลในกระเพาะอาหาร 

3. ยาในกลุ่มสเปรย์ 

แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 

  • กลุ่มที่มีการผสมตัวยาต้านการอักเสบ ได้แก่ เบนซิดามีน ไฮโดรคลอไรด์ (Benzydamine Hydrochloride) เช่น ดิฟแฟลม (Difflam)
  • กลุ่มที่ผสมสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น คาร์โมไมล์ เปปเปอร์มินต์ ยูคาลิปตัส ที่ให้ฤทธิ์เย็น เช่น คามิโลซาน โพรพอลิส 

และในปัจจุบันมีการวางจำหน่ายสเปรย์โพวิโดน-ไอโอดีน (Povidone iodine) สำหรับใช้พ่นบรรเทาอาการเจ็บคอ ซึ่งตัวยามีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ 

อย่างไรก็ตาม ไอโอดีนสเปรย์ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาไทรอยด์ และไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื่องจากปริมาณไอโอดีนที่ร่างกายรับมากเกินไปจะรบกวนการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมไทรอยด์ เป็นผลให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติได้  

4. ยาปฏิชีวนะ 

ใช้เฉพาะในกรณีที่การเจ็บคอนั้นเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งตัวอย่างยาปฏิชีวนะ จะได้แก่ เพนนิซิลลิน วี (Penicillin V) อะมอกซีซิลลิน (Amoxicillin

แต่ในกรณีผู้ป่วยแพ้ยากลุ่มอะมอกซีซิลลิน ให้ใช้ยาเซฟาเลกซิน (Cephalexin) อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) คลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) คลินดามันซิน (Clindamycin

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรพบแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพื่อรับการวินิจฉัยสาเหตุของอาการเจ็บคอที่ถูกต้อง และได้รับยาตรงตามอาการ ไม่ควรให้ซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้ด้วยตนเอง 

เพราะหากที่จริงเจ็บคอจากเชื้อไวรัส การใช้ยาปฏิชีวนะจะไม่มีประโยชน์ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเชื้อดื้อยาได้ด้วย

เมื่อใดควรไปพบแพทย์

คุณควรพบแพทย์หากว่ามีอาการเจ็บคอ รวมถึงกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอนานเกินกว่า 7-10 วัน หรือมีอาการเสียงแหบนานกว่า 3 สัปดาห์ หรือรักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรียด้วยยาปฏิชีวนะแล้วไม่ได้ผล

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Centers for Disease Control and Prevention, Pharyngitis (Strep throat) (https://www.cdc.gov/groupastrep/diseases-hcp/strep-throat.html), 22 January 2019
Alison Blenkinsopp et. al, Symptoms in the Pharmacy A Guide to the Management of Common Illnesses, sore throat, 2014.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป