กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Tea Tree Oil (ทีทรีออยล์)

เผยแพร่ครั้งแรก 27 ม.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที

ข้อมูลภาพรวมของทีทรีออยล์

ทีทรีออยล์ (Tea tree oil) คือน้ำมันที่นำมาจากใบของต้นทีทรี (tea tree) ซึ่งเป็นต้นไม้ที่โตในพื้นที่บึงน้ำในแถบออสเตรเลียตะวันออกเฉียงใต้และได้รับการตั้งชื่อโดยกะลาสีในศตวรรษที่สิบแปดคนหนึ่งที่นำใบของต้นไม้นี้มาใช้ทำชา ต้นไม้ทีทรีไม่เหมือนกับต้นชาที่มีการนำใบมาทำชาเขียวและชาดำ

ทีทรีออยล์ถูกนำมาใช้ทาเฉพาะที่บนผิวหนังสำหรับภาวะติดเชื้ออย่างสิว, ภาวะติดเชื้อราที่เล็บ (onychomycosis), เหา (lice), หิด (scabies), โรคน้ำกัดเท้า (athlete's foot (tinea pedis)), และโรคกลาก (ringworm) อีกทั้งยังใช้ทาภายนอกเป็นยาฆ่าเชื้อสำหรับแผลบาด, สำหรับแผลไหม้, แมลงกัดต่อย, แผลน้ำร้อนลวก, การติดเชื้อที่ช่องคลอด, โรคเริมซ้ำซาก, อาการปวดฟัน, การติดเชื้อที่ปากและลำคอ, อาการเจ็บคอ, และรักษาภาวะติดเชื้อที่หูอย่างโรคหูชั้นกลางอักเสบ (otitis media) กับหูชั้นนอกอักเสบ (otitis externa)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

บางคนยังใช้วิธีใส่ทีทรีออยล์ลงในอ่างอาบน้ำเพื่อรักษาอาการไอ, อาการคัดจมูก, และการอักเสบของปอด

ทีทรีออยล์ออกฤทธิ์อย่างไร?

สารเคมีในทีทรีออยล์อาจช่วยกำจัดแบคทีเรียและเชื้อรา และลดปฏิกิริยาแพ้บนผิวหนังได้

การใช้และประสิทธิภาพของทีทรีออยล์

ภาวะที่อาจใช้ทีทรีออยล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • สิวระดับอ่อนถึงปานกลาง การทาเจลทีทรีออยล์ 5% บนผิวมักจะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้ 5% benzoyl peroxide (Oxy-5, Benzac AC, และอื่น ๆ) ในการรักษาสิว โดยทีทรีออยล์อาจออกฤทธิ์ช้ากว่า benzoyl peroxide มากแต่ก็มักจะทำให้ผิวหนังระคายเคืองน้อยกว่า เมื่อทาทีทรีออยล์บนผิวหนังสองครั้งต่อวันนาน 45 วันจะช่วยลดอาการจากสิวได้อย่างอย่างรวมไปถึงลดความรุนแรงของสิวอีกด้วย
  • ภาวะติดเชื้อราที่เล็บ (onychomycosis) การทาสารละลายทีทรีออยล์ 100% ที่เล็บสองครั้งต่อวันนาน 6 เดือนสามารถรักษาการติดเชื้อที่เล็บได้โดยมีรายงานผู้ใช้งานและได้ผลที่ 18% อีกทั้งน้ำมันชนิดนี้ยังช่วยปรับรูปลักษณ์ของเล็บและอาการของโรคได้ประมาณ 56% หลังใช้งานไปแล้วหกเดือน อีกทั้งทีทรีออยล์ยังมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้สารละลาย clotrimazole 1% (Fungoid, Lotrimin, Lotrimin AF) สองครั้งต่อวันอีกด้วย การใช้ทีทรีออยล์ในระดับความเข้มข้นที่ต่ำกว่านั้นมักจะไม่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างจากรณีการใช้ครีมทีทรีออยล์ 5% สามครั้งต่อวันนาน 2 เดือนไม่ได้ส่งผลต่อภาวะติดเชื้อนี้แต่อย่างใด เป็นต้น
  • โรคน้ำกัดเท้า (Athlete's foot (tinea pedis)) การทาครีมทีทรีออยล์ 10% จะออกฤทธิ์ได้ดีเท่ากับการใช้ครีม tolnaftate 1% (Genaspor, Tinactin, Ting, และอื่น ๆ) ซึ่งช่วยบรรเทาอาการผิวลอก, อักเสบ, คัน, และแสบร้อนได้ อย่างไรก็ตามการใช้ครีมทีทรีออยล์ 10% นั้นไม่อาจรักษาการติดเชื้อของโรคนี้ได้นอกจากการใช้ทีทรีออยล์ที่ 25 หรื 50% อาจช่วยทั้งบรรเทาอาการและกำจัดการติดเชื้อได้โดยมีรายงานผู้ใช้ที่ลองใช้ทีทรีออยล์นาน 4 สัปดาห์เห็นผลจากการใช้ทีทรีออยล์ในระดับความเข้มข้นดังกล่าวเกือบครึ่งหนึ่ง กระนั้นการใช้ทีทรีออยล์ในความเข้มข้นที่ 25% หรือ 50% ก็ไม่อาจรักษาการติดเชื้อได้เทียบเท่ากับการใช้ clotrimazole หรือ terbinafine

ภาวะที่ยังคงขาดหลักฐานว่าใช้ทีทรีออยล์รักษาได้หรือไม่

  • การติดเชื้อแบคทีเรียที่ช่องคลอด (bacterial vaginosis) งานวิจัยกล่าวว่าทีทรีออยล์อาจช่วยผู้ป่วยภาวะนี้ได้
  • รังแค งานวิจัยกล่าวว่าการใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของทีทรีออยล์ 5% ทุกวันนานสี่สัปดาห์จะช่วยลดอาการคันและความมันของหนังศีรษะของผู้ที่มีปัญหารังแคได้
  • คราบจุลินทรีย์บนฟัน ผลจากงานวิจัยที่สรุปผลจากการใช้ทีทรีออยล์กับฟันยังคงไม่สอดคล้องกัน บ้างก็พบว่าการแปรงฟันด้วยเจลทีทรีออยล์ 2.5% ทุกวันนาน 8 สัปดาห์จะช่วยลดอาการเลือดออกตามเหงือกแต่ไม่ได้ช่วยลดคราบจุลินทรีย์ของผู้ป่วยโรคเหงือกอักเสบ (gingivitis) ที่เกิดจากคราบจุลินทรีย์ได้ อีกทั้งการใช้น้ำยาบ้วนปากที่ประกอบด้วยทีทรีออยล์หลังการทำความสะอาดช่องปากโดยทันตแพทย์ก็ไม่อาจลดการก่อตัวใหม่ของคราบจุลินทรีย์ได้ อย่างไรก็ตามการบ้วนปากด้วย Tebodont ที่ประกอบด้วยทีทรีออยล์กับสารเคมีที่เรียกว่า xylitol อาจช่วยลดคราบดังกล่าวได้ และการบ้วนปากด้วยผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยทีทรีออยล์, กานพลู, และกะเพราเองก็อาจช่วยลดคราบจุลินทรีย์ได้เช่นกัน
  • โรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) ผลจากงานวิจัยที่สรุปผลจากการใช้ทีทรีออยล์กับโรคเหงือกอักเสบยังคงไม่สอดคล้องกัน บ้างก็พบว่าการแปรงฟันด้วยเจลทีทรีออยล์ 2.5% ทุกวันนาน 8 สัปดาห์จะช่วยลดอาการเลือดออกตามเหงือกแต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มสุขภาพที่ดีของเหงือกได้ อย่างไรก็ตามการบ้วนปากด้วย Tebodont ที่ประกอบด้วยทีทรีออยล์กับสารเคมีที่เรียกว่า xylitol อาจช่วยลดการอักเสบของเหงือกได้ และการบ้วนปากด้วยผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยทีทรีออยล์, กานพลู, และกะเพราเองก็อาจช่วยลดการอักเสบของเหงือกได้เช่นกัน
  • กลิ่นปาก งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการใส่ทีทรีออยล์ในน้ำมันหอมระเหยที่ประกอบด้วยเปปเปอร์มิ้นท์และน้ำมันมะนาวสามารถลดกลิ่นปากได้เมื่อใช้ในการทำความสะอาดช่องปาก 3 นาที
  • ริดสีดวง (Hemorrhoids) งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการทาเจลที่ประกอบด้วยทีทรีออยล์, กรดไฮยาลูโรนิก (hyaluronic acid), และ methyl-sulfonyl-methane จะช่วยลดอาการจากริดสีดวงในเด็กได้อย่างความเจ็บปวด, การอักเสบ, และอาการคัน
  • โรคเริม (Herpes labialis) งานวิจัยกล่าวว่าการทาเจลที่ประกอบด้วยทีทรีออยล์ 6% ห้าครั้งต่อวันไม่อาจลดอาการจากโรคเริมได้
  • ภาวะขนดก (hirsutism) ในผู้หญิง งานวิจัยกล่าวว่าการใช้สเปรย์ที่ประกอบด้วยน้ำมันลาเวนเดอร์กับทีทรีออยล์สองครั้งต่อวันนาน 3 เดือนจะช่วยลดการงอกของขนบนพื้นที่บางจุดของร่างกายผู้หญิงที่มีภาวะขนดกได้
  • เหา งานวิจัยกล่าวว่าทีทรีออยล์อาจช่วยไล่เหาได้ อีกทั้งการทายาที่ประกอบด้วยน้ำมันลาเวนเดอร์กับทีทรีออยล์ก็สามารถฆ่าไข่ของเหาและลดจำนวนเหาบนศีรษะได้ แต่ ณ ตอนนี้ยังคงไม่ชัดเจนว่าผลเหล่านี้เกิดจากการใช้ทีทรีออยล์เพียงอย่างเดียวหรือส่วนประกอบอื่น ๆ กันแน่
  • การติดเชื้อ Methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA) ยังคงมีหลักฐานเกี่ยวกับผลของทีทรีออยล์กับการติดเชื้อ MRSA ที่ไม่ชัดเจนอยู่ โดยเมื่อเทียบกับการรักษา MRSA ตามแบบแผนเพียงอย่างเดียวและใช้ทีทรีออยล์ร่วมด้วยจะให้ผลว่าไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ อีกทั้งการใช้สารละลายทีทรีออยล์ขณะทำความสะอาดแผลก็ไม่อาจช่วยในการทำความสะอาด MRSA ได้ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาอื่น ๆ ได้กล่าวแย้งว่าการใช้ขี้ผึ้งโพรงจมูกที่มีทีทรีออยล์ 4% ร่วมกับการชะล้างร่างกายด้วยทีทรีออยล์ 5% ร่วมกับการรักษาตามปรกติอาจส่งผลดีเล็กน้อยต่อตัวของคนไข้ แต่การใช้เพียงทีทรีออยล์อย่างเดียวจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ MRSA ได้
  • ปฏิกิริยาแพ้ที่ผิวหนังต่อนิกเกิล งานวิจัยกล่าวว่าการใช้ทีทรีออยล์ที่ไม่เจือจางอาจช่วยลดอาการแดงของผิวหนังจากปฏิกิริยาแพ้นิกเกิลได้ อีกทั้งยังมีหลักฐานว่าการทาทีทรีออยล์ที่ไม่เจือจางที่ผิวหนังก่อนสัมผัสกับนิกเกิลก็ช่วยลดปฏิกิริยาแพ้ที่เกิดขึ้นได้ด้วย
  • การติดเชื้อยีสต์ในปากและลำคอ (thrush/ oropharyngeal candidiasis) เนื่องจากว่าผู้ป่วย AIDS จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอทำให้พวกเขาอาจติดเชื้อฉวยโอกาสอย่างโรคเชื้อราในช่องปาก (thrush) ได้ โดยมีหลักฐานว่าการใช้ทีทรีออยล์ 2-4 สัปดาห์อาจช่วยให้ผู้ป่วย HIV/AIDS ที่เป็นโรคเชื้อราในช่องปากที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษากำจัดเชื้อราตามปรกติอย่าง fluconazole ได้ อีกทั้งยังมีหลักฐานว่าการใช้ทีทรีออยล์ผสมกับน้ำมันหอมระเหยอาจช่วยเพิ่มความสบายในช่องปากของผู้ป่วยได้อีกด้วย กระนั้นการเติมทีทรีออยล์ 1 mL ลงในการรักษาเฉพาะกาลไม่อาจลดการติดเชื้อและการอักเสบของผู้ที่สวมฟันปลอมได้
  • การติดเชื้อไวรัสบางประเภทที่ผิวหนัง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการทาทีทรีออยล์ร่วมกับไอโอดีนที่ผิวหนังของเด็กนาน 30 วันจะช่วยกำจัดตุ่มบนผิวหนังที่เกิดจากโรคฝีดาษ (poxvirus) ได้ดีกว่าการใช้ไอโอดีนหรือทีทรีออยล์เพียงอย่างเดียว
  • การติดเชื้อที่ช่องคลอด (trichomoniasis) งานวิจยกล่าวว่าทีทรีออยล์อาจส่งผลดีต่อผู้ที่มีภาวะเชื้อราที่ช่องคลอดชนิดที่เรียกว่า trichomoniasis
  • การติดเชื้อที่ช่องคลอด (vaginal candidiasis) งานวิจยกล่าวว่าทีทรีออยล์อาจส่งผลดีต่อผู้ที่มีภาวะเชื้อราที่ช่องคลอดชนิดที่เรียกว่า vaginal candidiasis
  • คัดจมูก
  • ไอ
  • การติดเชื้อที่หู
  • ป้องกันการติดเชื้อจากแผลบาด, แผลกรีด, แผลไหม้, แผลแมลงกัดต่อย, และแผลน้ำร้อนลวก
  • โรคกลาก (Ringworm)
  • หิด
  • เจ็บคอ
  • ภาวะสุขภาพอื่น

จำเป็นต้องรวบรวมหลักฐานให้มากขึ้นเพื่อให้ข้อมูลด้านประสิทธิผลของทีทรีออยล์เพิ่มเติม

ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของทีทรีออยล์

ทีทรีออยล์ที่นำไปทาบนผิวหนังถูกจัดว่าอาจจะปลอดภัยสำหรับผู้คนส่วนมาก แต่ก็อาจทำให้เกิดความระคายเคืองกับผิวหนังและทำให้ผิวบวมได้บ้าง สำหรับผู้ที่เป็นสิว ทีทรีออยล์อาจทำให้ผิวแห้ง, คัน, แสบ, แสบร้อน, และผิวแดงได้บ้าง

การทาผลิตภัณฑ์สำหรับผิวที่ประกอบด้วยทีทรีออยล์ร่วมกับน้ำมันลาเวนเดอร์อาจจัดว่าไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กหนุ่มที่ยังไม่ได้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจประกอบด้วยฮอร์โมนที่รบกวนการผลิตฮอร์โมนตามปรกติในเด็กผู้ชายได้ ในบางกรณีการใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้อาจทำให้เด็กมีเต้านมที่เจริญผิดปรกติ (gynecomastia) แต่สำหรับประเด็นด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในเด็กสาวยังคงไม่เป็นที่แน่ชัด

การรับประทานทีทรีออยล์ถูกจัดว่าค่อนข้างไม่ปลอดภัยเนื่องจากระเบียบทั่วไปที่เตือนว่าไม่ควรบริโภคน้มันหอมระเหยที่ไม่ได้ถูกเจือจางทุกชนิดเนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ โดยการรับประทานทีทรีออยล์อาจทำให้รู้สึกสับสน, เดินไม่ได้, ยืนไม่มั่นคง, ผื่นขึ้น, และโคม่า เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

คำเตือนและข้อควรระวังเป็นพิเศษ:

สตรีมีครรภ์และแม่ที่ต้องให้นมบุตร: ทีทรีออยล์สำหรับทาบนผิวหนังถูกจัดว่าอาจจะปลอดภัย อย่างไรก็ตามหากเป็นการรับประทานนั้น ทีทรีออยล์จะถูกจัดว่าค่อนข้างไม่ปลอดภัยเนื่องจากการย่อยทีทรีออยล์อาจทำให้เกิดภาวะได้รับพิษได้

การใช้ทีทรีออยล์ร่วมกับยาชนิดอื่น

ขณะนี้ยังคงไม่มีข้อมูลเรื่องปฏิสัมพันธ์ของทีทรีออยล์

ปริมาณยาที่ใช้

ปริมาณหรือขนาดยาที่ใช้ดังต่อไปนี้ได้ถูกศึกษาจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

ผู้ใหญ่

ทาบนผิวหนัง:

  • สำหรับสิว: เจลทีทรีออยล์ 5% ทุกวัน
  • สำหรับภาวะติดไรที่ขนตา (ocular demodicosis): ขัดทีทรีออยล์ 50% ที่เปลือกตาทุกสัปดาห์ร่วมกับยาสำหรับเปลือกตากับแชมพูที่ประกอบด้วยทีทรีออยล์ 10% ตามปรกติทุกวัน โดยทาหนึ่งหรือสองครั้งต่อวันนาน 3-5 นาทีเป็นเวลานาน 6 สัปดาห์
  • สำหรับภาวะติดเชื้อที่เล็บ (onychomycosis): สารละลายทีทรีออยล์ 100% สองครั้งต่อวันนาน 6 เดือน
  • สำหรับโรคน้ำกัดเท้า: สารละลายทีทรีออยล์ 25,50% สองครั้งต่อวันนานหนึ่งเดือน หรือครีมทีทรีออยล์ 10% สองครั้งต่อวันนานหนึ่งเดือน

เด็ก:

  • สำหรับสิว: เจลทีทรีออยล์ 5% ทุกวัน
  • สำหรับภาวะติดไรที่ขนตา (ocular demodicosis): ขัดทีทรีออยล์ 50% ที่เปลือกตาทุกสัปดาห์ และนวดเปลือกตาด้วยขี้ผึ้งทีทรีออยล์ 5% ทุกวัน


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Mayo Clinic Staff, Tea tree oil (https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements-tea-tree-oil/art-20364246), 24 October 2017.
nccih, Tea Tree Oil (https://nccih.nih.gov/health/tea/treeoil.htm), September 2016.
Jayne Leonard, 11 benefits of tea tree oil (https://www.medicalnewstoday.com/articles/262944.php), 11 January 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)