กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs

Folic Acid (กรดโฟลิก)

เผยแพร่ครั้งแรก 27 ม.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 13 นาที

กรดโฟลิก วิตามินจำเป็นต่อการเติบโตของร่างกาย

กรดโฟลิก (folic acid) และโฟเลต (folate) คือวิตามินบี (Vitamin B) ที่สามารถละลายน้ำได้ โฟเลตเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีอยู่ในอาหารต่างๆ โดยกรดโฟลิกคือรูปแบบของวิตามินที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมา อาหารหลายประเภทเติมด้วยกรดโฟลิกมาตั้งแต่ปี 1998 แล้ว เช่น ซีเรียลแบบเย็น แป้ง ขนมปัง พาสต้า ขนมอบทั้งหลาย คุกกี้ และขนมปังกรอบ อาหารที่มีโฟเลตสูงตามธรรมชาติ เช่น ผักใบเขียวต่างๆ (อย่างเช่นผักโขม บล็อกโคลี และกะหล่ำ) หน่อไม้ฝรั่ง ผลไม้ (อย่างกล้วย เมลอน และเลมอน) ถั่ว ยีสต์ เห็ด เนื้อ (อย่างเช่นตับและไตของวัว) น้ำส้ม และน้ำมะเขือเทศ

กรดโฟลิกใช้เพื่อป้องกันและรักษาภาวะขาดโฟเลตในเลือด (folate deficiency) เช่นเดียวกับภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อย่างโลหิตจาง (anemia) และภาวะที่กระเพาะไม่สามารถดูดซับสารอาหารได้ตามปกติ อย่างโรคกระเพาะอาหารอักเสบชนิดเป็นแผล (ulcerative colitis) โรคตับ ติดสุรา และจากการฟอกไต

ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรืออาจจะตั้งครรภ์ควรรับประทานกรดโฟลิกเพื่อป้องกันการแท้งบุตรและ ภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (neural tube defects) ความผิดปกติโดยกำเนิดอย่างภาวะกระดูกสันหลังบกพร่อง (spina bifida) ซึ่งหลังและแผ่นหลังของตัวมีความอ่อน ไม่ปิดลงระหว่างการเติบโต

บางคนรับประทานกรดโฟลิกเพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ (colon cancer), มะเร็งปากมดลูก (cervical cancer), ภาวะสูญเสียการได้ยินจากอายุ, โรคตา, โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (age-related macular degeneration (AMD)), ลดสัญญาณของการแก่ชรา, กระดูกพรุน (osteoporosis), กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (restless leg syndrome), ปัญหาการนอนหลับ, ภาวะซึมเศร้า (depression), ปวดประสาท, ปวดกล้ามเนื้อ, AIDS, โรคผิวหนังที่เรียกว่าโรคด่างขาว (vitiligo) และโรคทางพันธุกรรมที่เป็นความผิดปกติทางโครโมโซม Fragile X ที่เรียกว่า Fragile-X syndrome อีกทั้งยังมีการใช้กรดโฟลิกเพื่อลดผลข้างเคียงร้ายแรงจากการรักษาด้วยยา lometrexol และ methotrexate อีกด้วย

บางคนใช้กรดโฟลิกทาบนเหงือกโดยตรงเพื่อรักษาการติดเชื้อที่เหงือก

กรดโฟลิกทำงานอย่างไร?

กรดโฟลิกเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกายมนุษย์ เป็นสารที่เกี่ยวข้องในการผลิตสารพันธุกรรมที่เรียกว่า DNA และควบคุมการทำงานต่างๆ ของร่างกาย

การใช้และประสิทธิภาพของกรดโฟลิก

ภาวะที่กรดโฟลิกจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ภาวะขาดโฟเลต (Folate deficiency) การรับประทานกรดโฟลิกสามารถทำให้อาการจากภาวะขาดโฟเลตดีขึ้นได้จริง

ภาวะที่กรดโฟลิกมักจะมีประสิทธิภาพในการรักษา

  • โรคไตร้ายแรง ประมาณ 85% ของผู้ป่วยโรคไตร้ายแรงจะมีระดับ homocysteine สูงมาก ซึ่งเชื่อมโยงกับโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) การรับประทานกรดโฟลิกจะช่วยลดระดับ homocysteine ของผู้ป่วยโรคไตร้ายแรง อย่างไรก็ตาม การเสริมโภชนาการด้วยกรดโฟลิกอาจไม่ลดความเสี่ยงการเกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ
  • ปริมาณ homocysteine ในเลือดสูง (hyperhomocysteinemia) ระดับ homocysteine เชื่อมโยงกับโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง การรับประทานกรดโฟลิกจะช่วยลดระดับ homocysteine ลงประมาณ 20-30% ในกลุ่มผู้ที่มีระดับ homocysteine ปกติไปจนถึงระดับสูงกว่าปกติเล็กน้อย แนะนำว่าผู้ที่มีระดับ homocysteine สูงกว่า 11 micromoles/L ควรทำการเสริมอาหารด้วยกรดโฟลิกและวิตามินบี12 (Vitamin B12)
  • ความพิการของทารกแรกเกิด (ภาวะหลอดปลายประสาทไม่ปิด (neural tube defects)) การรับประทานกรดโฟลิกระหว่างตั้งครรภ์จะลดความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดมาพร้อมภาวะหลอดปลายประสาทไม่ปิด โดยแนะนำว่าสตรีมีครรภ์ควรได้รับกรดโฟลิกที่ 600-800 mcg ต่อวันพร้อมรับประทานอาหารหรือใช้ในรูปของอาหารเสริมเริ่มตั้งแต่ 1 เดือนก่อนตั้งครรภ์และระหว่างตั้งครรภ์ ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติเป็นภาวะดังกล่าวจะได้รับคำแนะนำให้รับกรดโฟลิกต่อวันที่ 4,000 mcg

ภาวะที่อาจใช้กรดโฟลิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • การมองเห็นถดถอยเนื่องจากอายุ (ภาวะจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (age-related macular degeneration)) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานกรดโฟลิกร่วมกับวิตามินอื่นๆ ที่ประกอบทั้งวิตามินบี6 (Vitamin B6)  และบี12 จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมเนื่องจากอายุที่มากขึ้นได้
  • ภาวะซึมเศร้า (Depression) มีงานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานกรดโฟลิกร่วมกับยาต้านซึมเศร้าอาจช่วยอาการของผู้ป่วยซึมเศร้าได้
  • ความดันโลหิตสูง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานโฟลิกทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์จะลดความดันเลือดของผู้มีปัญหาความดันโลหิตสูงได้ แต่การรับประทานกรดโฟลิกร่วมกับยาไม่อาจช่วยลดความดันเพิ่มเติมไปกว่าการรับประทานยาเพียงอย่างเดียว
  • ปัญหาเหงือกเนื่องจากการใช้ยา phenytoin การทากรดโฟลิกบนเหงือกอาจช่วยป้องกันปัญหาที่เหงือกจากการใช้ phenytoin ได้ อย่างไรก็ตาม การรับประทานกรดโฟลิกเพื่อรักษาปัญหานี้อาจไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น
  • โรคเหงือกระหว่างตั้งครรภ์ การทากรดโฟลิกที่เหงือกอาจช่วยให้อาการของโรคเหงือกที่เกิดตอนตั้งครรภ์ดีขึ้นได้
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) การรับประทานกรดโฟลิกสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองของผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่นิยมเสริมกรดโฟลิคในผลิตภัณฑ์จากธัญพืชได้ 10-25% แต่กรดโฟลิกไม่อาจป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้คนส่วนมากที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีการเติมกรดโฟลิกในบรรดาผลิตภัณฑ์จากธัญพืชทั้งหลาย
  • ภาวะสีผิวหนังผิดปกติที่เรียกว่าโรคด่างขาว (vitiligo) การรับประทานกรดโฟลิกสามารถช่วยให้อาการของโรคด่างขาวดีขึ้นได้

ภาวะที่กรดโฟลิกอาจไม่สามารถรักษาได้

  • มะเร็งเซลล์เม็ดเลือดขาว (acute lymphoblastic leukemia) การรับประทานโฟเลตระหว่างตั้งครรภ์ไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเซลล์เม็ดเลือดขาวในเด็กได้
  • ภาวะขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency) การรับประทานกรดโฟลิกพร้อมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารธาตุเหล็กอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะขาดธาตุเหล็กและโลหิตจางไม่เท่ากับการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารธาตุเหล็กเพียงอย่างเดียว
  • ความทรงจำและทักษะการนึกคิดของผู้สูงอายุ งานวิจัยส่วนมากแสดงให้เห็นว่าการรับประทานกรดโฟลิกไม่อาจป้องกันการเสื่อมถอยของความทรงจำและความสามารถในการคิดของผู้สูงอายุได้
  • ป้องกันการอุดตันซ้ำของหลอดเลือดหลังการผ่าตัดขยาย มีหลักฐานเรื่องประโยชน์ของการรับประทานกรดโฟลิกหลังกระบวนการผ่าตัดขยายหลอดเลือดที่ไม่สอดคล้องซึ่งกันและกันอยู่ แต่การรับประทานกรดโฟลิกร่วมกับวิตามินบี6 และบี12 อาจเข้าไปรบกวนกระบวนการเยียวยาในกรณีที่มีการใช้อุปกรณ์ (ห่วงดาม) สอดเข้าในหลอดเลือดเพื่อดามให้เปิดอยู่ตลอดเวลาได้
  • มะเร็งเต้านม การบริโภคโฟเลตในอาหารอาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้าในสตรีที่รับประทาน methionine, วิตามินบี12 (cyanocobalamin) หรือวิตามินบี6 (pyridoxine) ได้ แต่งานวิจัยนี้ยังคงขาดความสอดคล้องกัน โดยงานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (หรือที่เรียกว่า อาหารเสริม) กรดโฟลิกเพียงอย่างเดียวไม่อาจลดความเสี่ยงต่อมะเร็งชนิดนี้ได้
  • โรคหัวใจ งานวิจัยส่วนมากแสดงให้เห็นว่าการรับประทานกรดโฟลิกเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับวิตามินบี ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือประสบกับอาการจากโรคหัวใจแต่อย่างใด
  • ต้อกระจก (Cataracts) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานกรดโฟลิกร่วมกับวิตามินรวมที่มีวิตามินบี6 และบี12 ไม่ได้ช่วยป้องกันต้อกระจกแต่อย่างใด แต่กลับยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของโอกาสที่ต้องเข้ารับการผ่าต้อออกเสียแทน
  • กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome) การฉีดกรดโฟลิกทุกวันไม่ส่งผลใด ๆ ต่ออาการจากกลุ่มอาการดังกล่าว
  • ท้องร่วง การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีทั้งกรดโฟลิกและวิตามินบี12 ไม่อาจป้องกันอาการท้องร่วงในเด็กที่มีความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) แต่การรับประทานอาหารเสริมเหล่านี้อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้อาการท้องร่วงยาวนานมากขึ้น
  • ป้องกันการล้ม การรับประทานกรดโฟลิกร่วมกับวิตามินบี12 ไม่อาจช่วยป้องกันการล้มของผู้สูงอายุที่กำลังรับประทานวิตามินดี (Vitamin D) ได้
  • การเสียชีวิตของตัวอ่อนและทารกแรกเกิด การรับประทานกรดโฟลิกระหว่างตั้งครรภ์ไม่ได้ลดความเสี่ยงที่ทารกจะตายหลังคลอดหรือก่อนคลอดแต่อย่างใด
  • ได้รับพิษจากยา lometrexol การฉีดกรดโฟลิกทุกวันไม่มีผลใด ๆ กับอาการจากโรคเหนื่อยล้าเรื้อรัง
  • ลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกรดโฟลิกและวิตามินบี12 ไม่อาจป้องกันภาวะติดเชื้อในปอดของเด็กที่ขาดสารอาหารได้
  • กระดูกพรุน (osteoporosis) สำหรับผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุน การรับประทานกรดโฟลิกและวิตามินบี12 และอาจจะรับประทานวิตามินบี6 (pyridoxine) ร่วมด้วย ไม่อาจลดความเสี่ยงต่อการกระดูกหัก
  • การออกแรงของผู้สูงอายุ การรับประทานกรดโฟลิกร่วมกับวิตามินบี12 ไม่ได้ช่วยให้ผู้สูงอายุเดินดีขึ้นหรือมีมือที่แข็งแรงขึ้นแต่อย่างใด

ภาวะที่กรดโฟลิกมักจะไม่ได้ผล

  • ภาวะติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (colorectal adenoma) การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกรดโฟลิกไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิดติ่งเนื้อภายในลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักได้
  • โรคทางพันธุกรรม Fragile-X syndrome การรับประทานกรดโฟลิกไม่อาจช่วยให้อาการของ fragile-X-syndrome ดีขึ้น
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด การรับประทานกรดโฟลิกไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดของทารก

ภาวะที่ยังคงขาดหลักฐานว่าใช้กรดโฟลิกรักษาได้หรือไม่

  • สิว มีหลักฐานเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริมที่ประกอบด้วยวิตามินบี3 (nicotinamide), azelaic acid, สังกะสี, วิตามินบี6, ทองแดง และกรดโฟลิก (NicAzel, Elorac Inc.) ที่ส่งผลต่อสิวกระอักเสบบนใบหน้าอยู่จำกัดมาก
  • โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) มีหลักฐานที่กล่าวว่าผู้สูงอายุที่บริโภคกรดโฟลิกมากกว่าปริมาณสารอาหารที่บริโภคได้ในแต่ละวัน (recommended dietary allowance (RDA)) จะมีความเสี่ยงน้อยต่อโรคอัลไซเมอร์อยู่จำกัดมาก
  • ออทิสซึ่ม (Autism) มีหลักฐานไม่มากที่กล่าวว่าการรับประทานกรดโฟลิกระหว่างการตั้งครรภ์อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะออทิสติกในเด็กได้
  • ทาลัสซีเมียแบบบีตา (Beta-thalassemia) คือภาวะผิดปกติของเลือดที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ทำให้มีฮีโมโกลบินน้อย ซึ่งฮีโมโกลบินคือโปรตีนที่ใช้ขนส่งออกซิเจนในเลือด ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการปวดกระดูกและกล้ามเนื้อจนทำให้มีเรี่ยวแรงน้อย มีหลักฐานน้อยชิ้นที่กล่าวว่า กรณีเด็กที่ป่วยเป็นทาลัสซีเมียประเภทนี้ควรรับประทานกรดโฟลิกหรือรับประทานร่วมกับแอลคาร์นิทีน (L-carnitine) ที่มีองค์ประกอบคล้ายกับกรดอะมิโนจากโปรตีน ซึ่งอาจช่วยลดอาการปวดกระดูกและเพิ่มกำลังกายได้
  • โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) การรับประทานกรดโฟลิกไม่เพิ่มผลจากยาต้านซึมเศร้า lithium ของผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว อย่างไรก็ตาม การรับประทานโฟเลตร่วมกับยา valproate อาจจะเพิ่มผลจากยาขึ้น
  • มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) มีหลักฐานบางชิ้นที่กล่าวว่ากรเพิ่มปริมาณการบริโภคกรดโฟลิกและโฟเลตจากแหล่งอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมกับ thiamine, riboflavin และวิตามินบี12 อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้
  • โรคไตระยะยาว (chronic kidney disease (CKD)) การรับประทานกรดโฟลิกอาจช่วยชะลอการสึกกร่อนของไตในผู้ป่วย CKD ได้ แต่หากรับประทานร่วมกับวิตามินบี12 (cyanocobalamin) อาจจะทำให้ไม่ได้รับผลดีข้อนี้ กลับกันอาจทำให้โรคไตที่เป็นอยู่ทรุดลงกว่าเดิมได้
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งทวารหนัก งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานกรดโฟลิกหรือรับประทานโฟเลตในอาหารสามารถลความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งทวารหนักได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีงานวิจัยที่ไม่ได้กล่าวว่าการรับประทานกรดโฟลิกหรือโฟเลตในอาหารจะให้ผลเช่นนี้ อาจเป็นไปได้ว่ากรดโฟลิกจะมีประโยชน์ในการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่มากว่าป้องกันมะเร็งทวารหนัก หรืออาจจะตอบสนองกับมะเร็งลำไส้ใหญ่บางประเภทเท่านั้น
  • เบาหวาน (Diabetes) การรับประทานอาหารเสริมกรดโฟลิกอาจไม่ส่งผลใดๆ ต่อผู้ป่วยเบาหวาน
  • โรคลมชัก (Epilepsy) การรับประทานกรดโฟลิกอาจไม่ลดอาการชักของผู้ป่วยโรคนี้ได้
  • มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer) งานวิจัยกล่าวว่าการบริโภคโฟเลตในอาหารจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้
  • ปริมาณโฮโมซิสเทอีน (homocysteine) ในเลือดสูงจากการใช้ยา fenofibrate การรับประทานกรดโฟลิกวันเว้นวันอาจลดระดับ homocysteine ในเลือดที่สูงจากการใช้ยา fenofibrate ได้
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานกรดโฟลิกจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารบางประเภทได้
  • เก๊าท์ (Gout) งานวิจัยกล่าวว่าโฟเลตสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคเก๊าท์ได้
  • มะเร็งศีรษะและลำคอ การรับประทานกรดโฟลิกจากอาหารปริมาณมากเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งศีรษะและลำคอที่ลดลง
  • สูญเสียการได้ยิน ระดับโฟเลตที่น้อยลงในเลือดเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่จะสูญเสียการได้ยินอย่างฉับพลันในผู้ใหญ่ มีหลักฐานบางชิ้นที่กล่าวว่าการรับประทานกรดโฟลิกทุกวันนาน 3 ปีจะชะลอการเสื่อมลงของการได้ยินในผู้สูงวัยที่มีระดับโฟเลตต่ำ แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าการรับประทานอาหารเสริมกรดโฟลิกจะมีประโยชน์เช่นนี้กับกลุ่มผู้ที่มีระดับโฟเลตปกติหรือไม่
  • ภาวะมีบุตรยากของผู้ชาย งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานกรดโฟลิกร่วมกับซิงค์ซัลเฟต (Zinc sulfate) ทุกวันสามารถเพิ่มจำนวนสเปิร์มของผู้ชายที่มีปัญหาจำนวนสเปิร์มน้อยได้
  • น้ำหนักแรกเกิดต่ำ การรับประทานกรดโฟลิกระหว่างตั้งครรภ์ไม่ได้ช่วยป้องกันการกำเนิดมาด้วยน้ำหนักต่ำได้ แต่อาจเพิ่มน้ำหนักโดยรวมมาตรฐานของเด็กแรกเกิดได้ อย่างไรก็ตาม มีบางงานวิจัยที่กล่าวว่าการรับประทานกรดโฟลิกก่อนตั้งครรภ์อาจจะช่วยลดความเสี่ยงที่เด็กจะเกิดมาตัวเล็กแม้จะคลอดครบกำหนด กระนั้นความเสี่ยงนี้จะไม่ลดลงในกลุ่มแม่ที่เริ่มรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลังจากเด็กติดแล้ว
  • มะเร็งปอด ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างระดับโฟลิกที่ต่ำกับผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนมาก
  • มะเร็งผิวหนังชนิดที่เรียกว่าเมลาโนมา (melanoma) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานกรดโฟลิกอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเมลาโนมาได้
  • ช่วยให้ยาสำหรับอาการเจ็บหน้าอกออกฤทธิ์นานขึ้น มีหลักฐานบางชิ้นที่กล่าวว่าการรับประทานกรดโฟลิกไม่ได้ช่วยให้ยาสำหรับอาการเจ็บหน้าอก (nitrates) ออกฤทธิ์นานขึ้นแต่อย่างใด
  • โรคปากแหว่ง (Cleft lip) งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานกรดโฟลิกระหว่างตั้งครรภ์สามารถลดความเสี่ยงที่เด็กจะเป็นโรคปากแหว่งได้ แต่งานวิจัยอื่น ๆ กลับไม่พบประโยชน์ในข้อนี้
  • มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer) การรับประทานโฟเลตมากกว่า 280 mcg จากอาหารทุกวันเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อมะเร็งตับอ่อนที่น้อยลง อย่างไรก็ตาม งานวิจัยอื่น ๆ กล่าวว่าการบริโภคโฟเลตไม่ได้เกี่ยวโยงกับความเสี่ยงต่อโรคนีแต่อย่างใด
  • ปวดประสาท (ปลายประสาทอักเสบ (peripheral neuropathy) ยังคงมีหลักฐานเกี่ยวกับบทบาทของกรดโฟลิกกับอาการปวดปลายประสาทในผู้ป่วยเบาหวานที่ขัดแย้งกันอยู่ บ้างก็กล่าวว่าการรับประทานกรดโฟลิกพร้อมวิตามินบี6 (pyridoxine) และวิตามินบี12 จะช่วยให้อาการปวดประสาทน้อยลง อย่างไรก็ตาม ประสาทกลับไม่ได้ทำงานดีขึ้นแต่อย่างใด
  • มะเร็งลำคอ งานวิจัยน้อยชิ้นที่กล่าวว่ากรดโฟลิกและโฟเลตจากอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งลำคอได้ 
  • ครรภ์เป็นพิษระยะก่อนชัก (Pre-eclampsia) ภาวะครรภ์เป็นพิษระยะก่อนชักเริ่มจากภาวะความดันโลหิตและมีโปรตีนในปัสสาวะสูงระหว่างช่วงตั้งครรภ์ โดยงานวิจัยบางชิ้นได้กล่าวว่าการรับประทานอาหารเสริมกรดโฟลิกระหว่างตั้งครรภ์ไม่อาจละความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษได้
  • ภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ มีงานวิจัยบางชิ้นที่กล่าวว่าการรับประทานกรดโฟลิกระหว่างตั้งครรภ์ไม่อาจลดความเสี่ยงต่อความดันโลหิตูสงได้
  • ความผิดปกติที่ทำให้อยากขยับขาข้างหนึ่ง (restless legs syndrome (RLS)) การรับประทานกรดโฟลิกอาจช่วยลดอาการของ RLS ได้ โดยนักวิจัยกำลังทำการศึกษาอยู่ว่าภาวะนี้เกิดจากภาวะขาดกรดโฟลิกหรือไม่อยู่
  • จิตเภท (Schizophrenia) การรับประทานกรดโฟลิกร่วมกับวิตามินบี12 อาจลดอาการที่ไม่ดีที่เกี่ยวข้องกับจิตเภทได้ แต่เฉพาะกับผู้ป่วยบางรายทีมีพันธุกรรมพิเศษบางตัวเท่านั้น ซึ่งส่วนมากแล้วกรดโฟลิกมักจะไม่ได้ผล
  • โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle-cell disease) การรับประทานกรดโฟลิกอาจลดระดับ homocysteine ลง อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าประโยชน์นี้จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยเม็ดเลือดแดงรูปเคียวหรือไม่
  • ภาวะติดแอลกอฮอล์ (Alcoholism)
  • โรคตับ
  • ภาวะสุขภาพอื่น

จำเป็นต้องรวบรวมหลักฐานให้มากขึ้นเพื่อให้ข้อมูลด้านประสิทธิผลของกรดโฟลิกเพิ่มเติม

ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของกรดโฟลิก

กรดโฟลิกถูกจัดว่าค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ส่วนมากเพื่อบริโภคหรือฉีดเข้าร่างกาย ผู้ใหญ่ส่วนมากจะไม่ประสบกับผลข้างเคียงใดๆ เมื่อบริโภคในปริมาณที่ต่ำกว่า 1,000 mcg ต่อวัน

หากรับประทานกรดโฟลิกในปริมาณที่มากกว่าที่กล่าวไปและใช้ในระยะยาวจะนับว่าอาจจะไม่ปลอดภัย โดยกรดโฟลิกปริมาณสูงอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องร่วง ผื่นขึ้น ปัญหาการนอนหลับ ฉุนเฉียว สับสน คลื่นไส้ พฤติกรรมเปลี่ยน เกิดปฏิกิริยาบนผิวหนัง ชัก เกิดลมในร่างกาย รู้สึกตื่นเต้น และอื่นๆ

มีข้อกังวลว่าการบริโภคกรดโฟลิกมากเกินไปเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงขึ้น โดยบางงานวิจัยได้กล่าวว่าการรับประทานมากไปหรือที่ปริมาณ 800-1,200 mcg อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาหัวใจ และยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่างๆ อย่างมะเร็งปอดหรือมะเร็งต่อมลูกหมากได้

คำเตือนและข้อควรระวังเป็นพิเศษ

สตรีมีครรภ์และแม่ที่ต้องให้นมบุตร กรดโฟลิกจัดว่าค่อนข้างปลอดภัยเมื่อรับประทานอย่างเหมาะสมระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมบุตร การรับประทานกรดโฟลิกทุกวันที่ 300-400 mcg จะมีขึ้นเพื่อป้องกันการพิการแต่กำเนิดของทารก

กระบวนการที่ใช้ขยายหลอดเลือดแดง การใช้กรดโฟลิก วิตามินบี6 และวิตามินบี12 ทางเส้นเลือด (Intravenously (by IV)) หรือด้วยวิธีรับประทานอาจทำให้หลอดเลือดที่ตีบมีอาการแย่ลงได้ โดยผู้ที่ผ่านการรักษานี้มาไม่ควรใช้กรดโฟลิก

มะเร็ง เคยมีงานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานกรดโฟลิก 800-1,000 mcg ทุกวันจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งขึ้น ดังนั้นจนกว่าจะได้ข้อสรุป ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นมะเร็งควรเลี่ยงใช้กรดโฟลิกในปริมาณมาก

โรคหัวใจ งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานกรดโฟลิกร่วมกับวิตามินบี6 อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจในผู้ที่มีประวัติได้

โรคโลหิตจางที่เกิดจากภาวะขาดวิตามินบี12 การรับประทานกรดโฟลิกอาจกระตุ้นให้เกิดโรคโลหิตจางกับกลุ่มผู้ที่ขาดวิตามินบี12 และไม่เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

ภาวะที่ทำให้ชักผิดปกติ การรับประทานอาหารเสริมอาหารกรดโฟลิกอาจทำให้อาการชักกระตุกทรุดลงในกลุ่มผู้ที่มีความผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อใช้ในปริมาณที่สูงไป

การใช้กรดโฟลิกร่วมกับยาชนิดอื่น

ใช้กรดโฟลิกร่วมกับยาเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง

  • Fosphenytoin (Cerebyx) กับกรดโฟลิก

Fosphenytoin (Cerebyx) ถูกใช้เพื่อควบคุมอาการชัก โดยร่างกายสามารถทำลายและกำจัด Fosphenytoin (Cerebyx) ได้ ส่วนกรดโฟลิกจะยิ่งทำให้กระบวนการกำจัดยาชนิดนี้เกิดขึ้นเร็วเกินไปจนลดประสิทธิภาพของ Fosphenytoin (Cerebyx) ลง

  • Methotrexate (MTX, Rheumatrex) กับกรดโฟลิก

Methotrexate (MTX, Rheumatrex) ออกฤทธิ์ด้วยการลดผลกระทบของกรดโฟลิกในเซลล์ร่างกาย การรับประทานเม็ดยากรดโฟลิกร่วมกับ Methotrexate อาจลดประสิทธิภาพของ Methotrexate (MTX, Rheumatrex) ลง

  • Phenytoin (Dilantin) กับกรดโฟลิก

ร่างกายสามารถทำลายและกำจัด phenytoin (Dilantin) ได้ โดยกรดโฟลิกอาจละกระบวนการดูดซับ  phenytoin (Dilantin)  ของร่างกายลงจนทำให้ยามีประสิทธิภาพน้อยลงและอาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้

  • Primidone (Mysoline) กับกรดโฟลิก

Primidone (Mysoline) ถูกใช้รักษาอาการชัก และกรดโฟลิกสามารถทำให้ผู้ใช้บางรายเกิดอาการชักได้ ดังนั้นการใช้ยา Primidone (Mysoline) ร่วมกับกรดโฟลิกอาจลดประสิทธิภาพของ Primidone (Mysoline) ในการป้องกันการชักลง

  • Pyrimethamine (Daraprim) กับกรดโฟลิก

Pyrimethamine (Daraprim) ถูกใช้รักษาภาวะติดเชื้อปรสิตต่างๆ ซึ่งกรดโฟลิกสามารถลดประสิทธิภาพในการกำจัดปรสิตของยานี้ลงได้

ปริมาณยาที่ใช้

ปริมาณหรือขนาดยาที่ใช้ดังต่อไปนี้ได้ถูกศึกษาจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

ผู้ใหญ่

รับประทาน

  • สำหรับภาวะขาดโฟลิก ปริมาณทั่วไปคือ 250 mcg (ไมโครกรัม) ถึง 1 mg (มิลลิกรัม) ต่อวัน
  • สำหรับป้องกันภาวะหลอดประสาทไม่ปิด กลุ่มผู้หญิงที่สามารถตั้งครรภ์ได้ควรรับประทานกรดโฟลิกที่ 400 mcg ต่อวันจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรืออาหารที่อุดมไปด้วยโฟลิก สำหรับผู้หญิงมีครรภ์ควรรับประทานกรดโฟลิกที่ 600 mcg ต่อวันทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรืออาหารอุดมไปด้วยกรดโฟลิก ผู้หญิงที่มีประวัติเคยประสบกับภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ทารกที่ป่วยเป็นโรคหลอดประสาทไม่ปิด ควรเริ่มรับประทานกรดโฟลิกที่ 4 mg ต่อวันตั้งแต่ 1 เดือนแรกก่อนและหลังคลอด 3 เดือน
  • สำหรับลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ 400 mcg ต่อวัน
  • สำหรับภาวะ homocysteine ในเลือดสูง
    • 200 mcg ถึง 15 mg ต่อวัน โดยการรับประทานที่ 800 mcg ถึง 1 mg มักจะให้ผลที่ดีที่สุด
    • ผู้ที่เป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่มีระดับ homocysteine สูงอาจทำการรักษาได้ยาก และต้องมีการใช้กรดโฟลิกที่ 800 mcg ถึง 40 mg ต่อวัน โดยแผนการบริโภคอื่น ๆ อย่าง 2.5-5 mg สามครั้งต่อสัปดาห์ก็เคยมีการนำมาใช้ การใช้ในปริมาณที่สูงกว่า 15 g ต่อวันนั้นมักจะไม่มีประสิทธิภาพกว่าการใช้ยาในปริมาณน้อย
  • สำหรับเพิ่มการตอบสนองต่อยารักษาซึมเศร้า 200-500 mcg ต่อวัน
  • สำหรับโรคด่างขาว 5 mg 2 ครั้งต่อวัน
  • สำหรับลดความเป็นพิษที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดด้วยยา methotrexate รักษาโรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ (RA) หรือโรคสะเก็ดเงิน 1 mg ต่อวันก็เพียงพอ แต่ก็สามารถรับประทานในปริมาณ 5 mg ต่อวันก็ได้
  • สำหรับป้องกันโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม กรดโฟลิก 2.5 mg, วิตามินบี12 (cyanocobalamin) 1 mg, และวิตามินบี6 (pyridoxine) 50 mg ต่อวัน

ทาบนผิวหนัง

  • สำหรับปัญหาเหงือกระหว่างตั้งครรภ์ ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ประกอบด้วยกรดโฟลิก 1 นาที 2 ครั้งต่อวัน

 ฉีดเข้าร่างกาย

  • สำหรับลดระดับ homocysteine ในผู้ที่เป็นโรคไตระยะสุดท้าย 10 mg หลังการฟอกไตเป็นเวลา 3 ครั้งต่อสัปดาห์

เด็ก

รับประทาน

  • สำหรับปัญหาเหงือกจากการใช้ยา phenytoin (อายุ 6-15 ปี) กรดโฟลิก 500 mcg ทุกวัน

ปริมาณสารอาหารที่เพียงพอ (adequate intakes (AI)) สำหรับทารกอายุ 0-6 เดือนคือ 65 mcg และสำหรับอายุ 7-12 เดือนคือ 80 mcg ปริมาณสารอาหารที่แนะนำในแต่ละวัน (recommended dietary allowances (RDAs)) สำหรับโฟเลตทั้งจากอาหารและกรดโฟเลตจากอาหารเติมกรดโฟเลตสำหรับเด็กอายุ 1-3 ปีคือ 150 mcg, อายุ 4-8 ปีคือ 200 mcg, ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 13 ปีคือ 400 mcg, ผู้หญิงมีครรภ์ 600 mcg, และผู้หญิงที่ต้องให้นมบุตรคือ 500 mcg ปริมาณสารอาหารสูงสุดที่ได้รับในแต่ละวัน (The tolerable upper intake levels (UL)) ของโฟเลตคือ 300 mcg สำหรับเด็กอายุ 1-3 ปี, สำหรับเด็กอายุ 4-8 ปีคือ 400 mcg, สำหรับเด็กอายุ 9-13 ปีคือ 600 mcg, สำหรับวัยรุ่นอายุ 14-18 ปีคือ 800 mcg, และสำหรับทุกคนที่อายุมากกว่า 18 ปีคือ 1 mg


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Folic acid: Importance, deficiencies, and side effects. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/219853)
Folic Acid. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/ncbddd/folicacid/about.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)