กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

น้ำมันปลา (Fish Oil)

เผยแพร่ครั้งแรก 27 ม.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 6 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 24 นาที

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • น้ำมันปลา (Fish oil) อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การรับประทานน้ำมันปลาจะช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงได้
  • น้ำมันปลายังถูกนำมาใช้ในการรักษาโรค หรือภาวะอื่นๆ อีกมากมาย แต่ยังไม่มีการยืนยันผลอย่างเป็นทางการ จึงควรศึกษารายละเอียด หรือขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อน
  • น้ำมันปลาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เรอ มีกลิ่นปาก แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ ถ่ายเหลว ผื่นขึ้น และเลือดกำเดาออก
  • หากคุณกำลังรับประทานยารักษาโรคประจำตัวอื่นๆ อยู่ ควรแจ้งแพทย์ก่อน เพราะน้ำมันปลาสามารถทำปฏิกิริยากับยาบางชนิดได้
  • ปริมาณการใช้น้ำมันปลาจะแตกต่างกันไปในเด็ก และผู้ใหญ่ รวมถึงเป้าหมายในการใช้งาน
  • การรับประทานอาหารเสริมติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดการตกค้างสะสมในร่างกายได้ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

น้ำมันปลา (Fish oil) มีอยู่ในปลา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยปลาเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำมันที่มีประโยชน์ที่เรียกว่า กรดไขมันโอเมก้า-3 (Omega-3 fatty acids) เช่น แมกคาเรล เฮอร์ริง ทูน่า แซลมอน 

โดยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่สำคัญที่สุดที่อยู่ในน้ำมันปลา คือกรดอีโคซะเพนตะอีโนอิก (Eicosapentaenoic acid: EPA) หรือกรดไขมันอีพีเอ และกรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก (Docosahexaenoic acid: DHA) หรือกรดไขมันดีเอชเอ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ประโยชน์ของน้ำมันปลาในการรักษาโรค

เป็นที่ยอมรับว่า น้ำมันปลาช่วยลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์และใช้กับการรักษาทางกายอื่นๆ ได้มากมาย ผู้คนนิยมกินน้ำมันปลาเพื่อรักษาภาวะเกี่ยวกับหัวใจและเลือด บางคนกินน้ำมันปลาเพื่อลดระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรด์ และความดันโลหิต 

น้ำมันปลายังใช้ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และการอุดตันของหลอดเลือดแดง อาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ การผ่าตัดบายพาส หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นเร็ว ป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน และความดันโลหิตสูงหลังการปลูกถ่ายหัวใจ

น้ำมันปลายังสามารถใช้แก้ปัญหาเกี่ยวกับไตมากมาย อย่างโรคไต ไตล้มเหลว และภาวะแทรกซ้อนที่ไตที่เกี่ยวกับเบาหวาน (Diabetes) ตับแข็ง (Cirrhosis) โรคเบอร์เกอร์ (Berger's disease (IgA nephropathy)) การปลูกถ่ายหัวใจ หรือผลจากการใช้ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine)

บางคนก็รับประทานน้ำมันปลาเพื่อรักษาอาการตาแห้ง ต้อกระจก (Cataracts) ต้อหิน (Glaucoma) และความเสื่อมโทรมของกล้ามเนื้อจากอายุที่มากขึ้น (Age-related macular degeneration: AMD) ซึ่งโรคข้างต้นเป็นภาวะที่พบในผู้สูงอายุที่อาจนำไปสู่ปัญหาสายตาที่รุนแรงได้ อีกทั้งยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่อดวงตาที่เกิดจากเบาหวานได้อีกด้วย

น้ำมันปลายังใช้รับประทานเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากเชื้อเอชโพโลไร (Helicobacter pylori) การอักเสบของลำไส้ โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) ภาวะทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Phenylketonuria ภาวะแพ้ Salicylate โรคโครห์น กลุ่มอาการเบเซ็ต (Behcet's syndrome) และโรคเรย์เนาด์ (Raynaud's syndrome)

น้ำมันปลากับผู้หญิง

ผู้หญิงสามารถรับประทานน้ำมันปลาเพื่อป้องกันอาการปวดประจำเดือน ปวดเต้านม และภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น การแท้งบุตร (รวมไปถึงภาวะที่เรียกว่ากลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด (Antiphospholipid syndrome)) ความดันโลหิตสูงในช่วงอายุครรภ์มาก คลอดก่อนกำหนด ทารกเจริญเติบโตช้า และกระตุ้นการเจริญเติบโตของทารก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

น้ำมันปลากับการลดน้ำหนัก และออกกำลังกาย

การรับประทาน้ำมันปลาสำหรับลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย และเสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้อก็สามารถทำได้ หรือแม้แต่ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย มะเร็ง ปอดบวม (Pneumonia) โรคปอด ภูมิแพ้ตามฤดูกาลหรือไข้ละอองฟาง (Hay Fever) กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome) และเพื่อป้องกันหลอดเลือดกลับไปตีบแคบหลังการผ่าตัดขยายหลอดเลือดได้ด้วย

น้ำมันปลาทำงานอย่างไร?

ประโยชน์มากมายของน้ำมันปลามาจากกรดไขมันโอเมก้า-3 เป็นที่น่าสนใจว่าร่างกายมนุษย์ไม่สามารถผลิตไขมันประเภทนี้เองได้ และไม่สามารถกลั่นกรดโอเมก้า-3 จากกรดไขมันโอเมก้า-6 ได้ งานวิจัยมากมายได้ศึกษาเรื่องกรดไขมันอีพีเอและดีเอชเอ ซึ่งเป็นกรดโอเมก้า-3 ซึ่งทั้งสองชนิดมักรวมอยู่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากน้ำมันปลา

กรดไขมันโอเมก้า-3 ช่วยลดความเจ็บปวดและอาการบวม น้ำมันปลาจึงใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินหรือตาแห้งได้ โดยกรดไขมันเหล่านี้ยังป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากกับภาวะหัวใจบางประเภท

ภาวะที่น้ำมันปลาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ไตรกลีเซอร์ไรด์สูง งานวิจัยส่วนมากพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารที่อุดมด้วยน้ำมันปลาสามารถลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ได้จริง ซึ่งในผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูง การกิน Fish oil ยิ่งได้ผล อีกทั้งปริมาณน้ำมันปลาที่บริโภคเข้าไปก็ส่งผลต่อการลดลงของไตรกลีเซอร์ไรด์เช่นกัน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Fish oil ที่มีประโยชน์เช่นนี้คือ Lovaza, Omtryg, และ Epanova ซึ่งต่างก็ได้รับการยอมรับโดย FDA อย่างเป็นทางการ

ภาวะที่น้ำมันปลาอาจใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ป้องกันการอุดตันซ้ำหลังการผ่าตัดขยายหลอดเลือด งานวิจัยกล่าวว่าน้ำมันปลาสามารถลดอัตราการอุดตันซ้ำของหลอดเลือดได้มากถึง 45 % เมื่อรับประทานก่อนเข้ารับการผ่าตัดขยายหลอดเลือดอย่างน้อย 3 สัปดาห์ และหลังจากผ่าตัด 1 เดือน แต่หากรับประทานก่อนผ่าตัด 2 เดือนจะได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร
  • แท้งบุตรในผู้หญิงที่มีภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเองที่เรียกว่ากลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด (Antiphospholipid syndrome) การรับประทานน้ำมันปลาอาจจะสามารถป้องกันการแท้งบุตรและเพิ่มอัตราการตั้งท้องสำเร็จของผู้หญิงที่เป็นโรคต้านฟอสโฟลิพิดได้
  • โรคสมาธิสั้นในเด็ก การรับประทานน้ำมันปลาจะเพิ่มสมาธิ การทำงานทางสมอง และพฤติกรรมของเด็กโรคสมาธิสั้นที่มีอายุ 8-13 ปีได้ การศึกษาวิจัยอื่นพบว่า การรับประทานน้ำมันปลาที่ประกอบด้วยน้ำมันปลา และน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส สามารถเพิ่มการทำงานทางสมอง และพฤติกรรมของเด็กอายุ 7-12 ปีที่เป็นโรคสมาธิสั้นได้จริง
  • โรคอารมณ์สองขั้ว การรับประทานน้ำมันปลาร่วมกับการบำบัดรักษาโรคอารมณ์สองขั้วตามปกติสามารถบรรเทาอาการซึมเศร้า (Depression) แต่ไม่อาจบรรเทาอาการพลุ่งพล่าน (Mania) ในผู้ป่วยอารมณ์สองขั้วได้
  • น้ำหนักลดในผู้ป่วยมะเร็ง การรับประทานน้ำมันปลาปริมาณสูงอาจช่วยชะลอน้ำหนักที่หายไปในผู้ป่วยโรคมะเร็งบางราย การใช้น้ำมันปลาในปริมาณที่น้อยเกินจะไม่ส่งผลเช่นนี้ นักวิจัยบางท่านเชื่อว่าการชะลอการสูญเสียน้ำหนักในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งได้นั้นเกิดจากฤทธิ์ที่ช่วยลดอาการจากภาวะซึมเศร้าและช่วยปรับอารมณ์ของบรรดาผู้ป่วยให้ดีขึ้นนั่นเอง
  • โรคหัวใจ การรับประทานปลาจะช่วยให้หัวใจมีสุขภาพดี ปลอดจากโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจเองก็สามารถลดความเสี่ยงต่างๆ จากโรคของตนได้ด้วยการรับประทานปลา แต่สำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลานั้นยังคงไม่ชัดเจน ผู้ที่รับประทานยาสำหรับโรคหัวใจอย่าง “สแตติน” และผู้ที่รับประทานปลาในปริมาณที่เพียงพออาจไม่ได้ผลจากการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาก็เป็นได้
  • การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass surgery) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาจะป้องกันไม่ให้ทางเบี่ยงหลอดเลือดตีบตันซ้ำ
  • ความดันโลหิตสูงจากยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ยาไซโคลสปอรินใช้สำหรับลดความเสี่ยงการปฏิเสธอวัยวะใหม่ที่ต้องใช้หลังการปลูกถ่ายอวัยวะ การรับประทานน้ำมันปลาจะช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงจากการใช้ยาตัวนี้
  • ความเสียหายที่ไตจากการใช้ยาไซโคลสปอริน การรับประทานน้ำมันปลาจะช่วยป้องกันความเสียหายที่ไตจากการใช้ยาตัวนี้ น้ำมันปลายังช่วยเพิ่มกระบวนการทำงานของไตช่วงพักฟื้นของผู้ป่วยที่ร่างกายปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่ายที่กำลังใช้ยาไซโคลสปอรินอีกด้วย
  • โรคความผิดปกติด้านพัฒนาการประสานงานของอวัยวะ (Developmental coordination disorder (DCD)) การรับประทานน้ำมันปลา (80 %) กับน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส (20 %) อาจช่วยเพิ่มความสามารถในการอ่าน สะกดคำ และพฤติกรรมของเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการประสานงานของอวัยวะที่มีอายุ 5-12 ปีได้ อย่างไรก็ตาม น้ำมันปลาอาจไม่ช่วยในเรื่องทักษะการเคลื่อนไหว
  • ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าน้ำมันปลาเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับวิตามินบี12 สามารถลดระยะเวลาเจ็บปวดและลดความจำเป็นในการใช้ยาแก้ปวดในช่วงปวดประจำเดือนของผู้หญิงได้
  • ภาวะผิดปกติด้านการเคลื่อนไหวในเด็ก (Dyspraxia) การรับประทานน้ำมันปลาที่ประกอบด้วยน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส น้ำมันไทม์ และวิตามินอีก (Efalex, Efamol Ltd) อาจช่วยลดความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหวในเด็กป่วย dyspraxia ได้
  • มะเร็งเยื่อบุมดลูก (Endometrial cancer) มีหลักฐานบางชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่รับประทานไขมันปลาประมาณ 2 มื้อต่อสัปดาห์จะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุมดลูกน้อยลง
  • หัวใจล้มเหลว งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการบริโภคน้ำมันปลาในปริมาณมากทั้งจากอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ปลูกถ่ายหัวใจ การรับประทานน้ำมันปลาจะช่วยสงวนการทำงานของไตและลดความดันโลหิตระยะยาวหลังการปลูกถ่ายหัวใจ
  • คอเลสเตอรอลผิดปกติจากการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS มีบางงานวิจัยที่กล่าวว่าน้ำมันปลาสามารถลดไตรกลีเซอร์ไรด์ในผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติที่เกิดจากการรักษา HIV/AIDS ได้ อีกทั้งยังมีรายงานว่าการรับประทานน้ำมันปลาจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในกลุ่มตัวอย่างนี้ได้ด้วย แม้ผลสรุปจะยังคงไม่สอดคล้องกันอยู่ก็ตาม
  • ความดันโลหิตสูง น้ำมันปลาสามารถลดความดันโลหิตในผู้ป่วยที่มีปัญหาความดันเลือดสูงได้เล็กน้อย และอาจมีส่วนช่วยเพียงเล็กน้อยก็เป็นได้ เพราะในกลุ่มตัวอย่าง ผู้ป่วยที่มีปัญหาไม่สามารถควบคุมความดันได้ก็กำลังใช้ยาลดความดันโลหิตอยู่เช่นกัน
  • โรคไตประเภทที่เรียกว่า IgA nephropathy งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการใช้น้ำมันปลาในระยะยาวจะส่งผลดี โดยน้ำมันปลาสามารถชะลอการสูญเสียการทำงานของไตในคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงที่เป็น IgA nephropathy น้ำมันปลาอาจส่งผลอย่างมากเมื่อรับประทานในปริมาณมาก อีกทั้งจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วย IgA nephropathy ที่มีระดับโปรตีนในเลือดสูง
  • กระดูกพรุน (Osteoporosis) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาเพียงอย่างเดียว หรือรับประทานร่วมกับแคลเซียมและน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรสสามารถชะลอการสูญเสียกระดูกและเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกต้นขา (Femur) และสันหลังของผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนได้ แต่การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ชะลอการสูญเสียกระดูกในผู้สูงอายุที่เป็นโรคข้อเสื่อมที่เข่า
  • โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) มีหลักฐานที่กล่าวว่าการให้น้ำมันปลาทางหลอดเลือดดำสามารถลดความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงินได้ อีกทั้งหากนำน้ำมันปลาไปทาบนผิวหนังก็จะช่วยให้อาการของโรคนี้ดีขึ้น แต่การรับประทานไม่ได้ส่งผลต่อโรคนี้แต่อย่างใด
  • โรคจิต (Psychosis) งานวิจัยบางชิ้นพบว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาอาจช่วยป้องกันโรคจิตในวัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุน้อยที่มีอาการไม่รุนแรงมากได้ โดยผลจากน้ำมันปลานี้ยังไม่ได้นำไปทดสอบกับผู้สูงอายุ
  • โรคเรย์เนาด์ (Raynaud's syndrome) มีหลักฐานบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคเรย์เนาด์มีความทนทานต่อหวัดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยโรคเรย์เนาด์ที่เกิดจากภาวะที่เรียกว่าโรคหนังแข็งแบบลุกลาม (Progressive systemic sclerosis) จะไม่ได้รับประโยชน์จากการรับประทานอาหารเสริมน้ำมันปลาเช่นนี้
  • คอเลสเตอรอลผิดปกติหลังจากการปลูกถ่ายไต งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับยาลดระดับคอเลสเตอรอลสามารถช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลของผู้มีปัญหาคอเลสเตอรอลผิดปกติหลังการปลูกถ่ายไตได้
  • โรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis: RA) การรับประทานน้ำมันปลาเพียงอย่างเดียว หรือร่วมกับยานาพรอกเซน (Naproxen (Naprosyn)) สามารถช่วยให้อาการจากข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ดีขึ้นได้ ผู้ที่รับประทานน้ำมันปลาจะมีอาการเจ็บปวดลดลงจนมีการใช้ยาแก้ปวดน้อยลง อีกทั้งการให้น้ำมันปลาเข้าเส้นเลือดเองก็สามารถลดบวมและข้อแข็งในผู้ป่วยโรคนี้ได้อีกด้วย
  • โรคหลอดเลือดสมอง การบริโภคปลาในปริมาณที่พอเหมาะ (1 หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์) จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองลง 27 % แต่หากเป็นการบริโภคในปริมาณที่สูงมาก (รับประทานปลามากกว่า 46 กรัมต่อวัน) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคนี้อย่างมาก การรับประทานปลาไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองในผู้ที่ต้องใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) เพื่อป้องกันโรคนี้อยู่แล้ว

ภาวะที่น้ำมันปลาอาจไม่สามารถรักษาได้

  • เจ็บหน้าอก (Angina) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือเพิ่มสุขภาพหัวใจของผู้ที่มีปัญหาเจ็บหน้าอก อีกทั้งยังมีหลักฐานบางชิ้นที่กล่าวว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกเกี่ยวกับโรคหัวใจ
  • หลอดเลือดแดงแข็งตัว (Atherosclerosis) งานวิจัยบางชิ้นพบว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาอาจลดการลุกลามของ atherosclerosis ได้เล็กน้อย ส่วนงานวิจัยส่วนมากยังคงเชื่อว่าน้ำมันปลาไม่ได้ชะลอการลุกลามของโรคนี้หรือทำให้อาการดีขึ้นแต่อย่างใด
  • ผิวหนังหลุดสะเก็ดและคัน (Eczema) งานวิจัยพบว่าน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้อาการจากโรคผิวหนังดีขึ้น อีกทั้งงานวิจัยส่วนมากก็แสดงให้เห็นว่าการรับประทานน้ำมันปลาในช่วงตั้งครรภ์ไม่อาจป้องกันทารกจากโรคผิวหนังได้ แต่เด็กที่รับประทานปลาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงนี้ลดลง (เด็กอายุ 1-2 ปี)
  • หัวใจเต้นผิดปกติ (Atrial fibrillation) บางงานวิจัยกล่าวว่าผู้ที่รับประทานปลา 5 ครั้งขึ้นไปภายใน 1 สัปดาห์จะมีความเสี่ยงลดลงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ แต่งานวิจัยส่วนมากเชื่อว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาหรือไขมันปลาไม่ได้ลดความเสี่ยงนี้
  • ภาวะสมองผิดปกติเนื่องจากปัญหาการสูบฉีดเลือด (โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด (Cerebrovascular disease)) งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานปลาจะลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดได้ แต่งานวิจัยคุณภาพสูงกลับชี้แจงว่าน้ำมันปลาไม่ได้มีสรรพคุณเช่นนี้
  • ตับแข็ง (Cirrhosis) การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้ปัญหาตับดีขึ้น
  • เจ็บขาจากปัญหาการไหลเวียนเลือด (Claudication) การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยเพิ่มระยะทางการเดินของผู้ป่วยที่มีปัญหาเจ็บขาจากการไหลเวียนโลหิตไม่ดี
  • การทำงานทางจิต งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานหรือบริโภคปลาที่มีปริมาณไขมันมากจะเพิ่มการทำงานทางจิตและลดภาวะทางจิตตกของผู้สูงวัย แต่หลักฐานส่วนมากยังไม่มีข้อมูลเรื่องการทำงานทางจิตในผู้สูงวัยหรือในผู้ใหญ่อายุน้อยหรือเด็ก
  • โรคเหงือก (Gingivitis) การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้อาการของโรคเหงือกอักเสบดีขึ้น
  • การติดเชื้อเอชโพโลไร (Helicobacter pylori (H.pylori)) การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารหรือเชื้อเอชโพโลไรดีขึ้นแต่อย่างใด เมื่อนำไปเทียบกับการใช้ยาตามปกติ
  • ผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS มีหลักฐานบางชิ้นที่พบว่าการรับประทานอาหารอัดแท่งที่ประกอบด้วยน้ำมันปลาไม่ได้เพิ่มจำนวนเซลล์ CD4 ในผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี อีกทั้งการรับประทานน้ำมันปลาก็ไม่ได้ลดปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือดลงแต่อย่างใด
  • เจ็บเต้านม (Mastalgia) การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ลดอาการเจ็บเต้านมระยะยาวแต่อย่างใด
  • ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headaches) การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยลดความรุนแรงหรือความถี่ของอาการปวดไมเกรนลง
  • ข้อเสื่อม (Osteoarthritis) การรับประทานน้ำมันปลาที่มีกลูโคซามีนซัลเฟต (Glucosamine sulfate) ไม่ได้ลดอาการจากโรคข้อเสื่อมเมื่อเทียบกับการใช้กลูโคซามีนซัลเฟตเพียงอย่างเดียว อีกทั้งการรับประทานน้ำมันปลาเองก็ไม่ได้เพิ่มความแข็งแรงของกระดูกในกลุ่มผู้ป่วยข้อเสื่อม
  • ปอดบวม (Pneumonia) งานวิจัยประชากรพบว่าไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคปลากับความเสี่ยงต่อการเกิดปอดบวม
  • ปลูกถ่ายไต งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการปลูกถ่ายไตมีชีวิตยืนยาวขึ้น อีกทั้งยังไม่ได้ช่วยป้องกันการปฏิเสธอวัยวะด้วย
  • ภาวะเลือดเป็นพิษ (Sepsis) งานวิจัยกล่าวว่าการฉีดน้ำมันปลาเข้าเส้นเลือดไม่ได้เพิ่มอัตราการรอดชีวิตหรือลดการบาดเจ็บที่สมองในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดเป็นพิษแต่อย่างใด
  • หัวใจเต้นจังหวะเร็วผิดปกติ (Ventricular arrhythmias) งานวิจัยประชากรพบว่าการรับประทานปลามากๆ ไม่มีผลต่อความเสี่ยงหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ แต่งานวิจัยทางการแพทย์กลับเห็นแย้ง บ้างกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาทุกวันไม่ได้ส่งผลต่อความเสี่ยงนี้ แต่บ้างก็พบว่าการรับประทานน้ำมันปลานาน 11 เดือนจะชะลอการเกิดภาวะนี้ขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม โดยสรุปแล้ว น้ำมันปลาไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ที่มีปัญหาหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

ภาวะที่น้ำมันปลาอาจจะไม่ได้ผล

  • เบาหวาน (Diabetes) การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่อย่างใด น้ำมันปลาก็ยังมีประโยชน์อื่นต่อผู้ป่วยเบาหวาน อย่างลดระดับไขมันในเลือดที่เรียกว่าไตรกลีเซอร์ไรด์

ภาวะที่ยังคงขาดหลักฐาน และยังไม่มีข้อสรุปว่าน้ำมันปลารักษาได้หรือไม่

  • ปัญหาสายตาที่เกี่ยวข้องกับอายุ มีหลักฐานว่าผู้ที่มีอายุมากขึ้นที่มีปัญหาทางสายตา หากรับประทานปลามากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์จะมีความเสี่ยงน้อยลงต่อปัญหาสายตา แต่งานวิจัยอื่นกลับพบว่าการรับประทานน้ำมันปลานาน 5 ปีไม่ได้ป้องกันปัญหานี้
  • ภูมิแพ้ตามฤดูกาล หรือไข้ละอองฟาง (Hay feverงานวิจัยกล่าวว่าแม่ที่รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาระหว่างช่วงท้ายของการตั้งครรภ์อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้ในเด็กได้ แต่งานวิจัยอื่นแย้งว่าน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยลดโอกาสเกิดภูมิแพ้ในเด็ก แม้มารดาจะรับประทานน้ำมันปลาระหว่างการตั้งครรภ์ก็ตาม
  • โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) มีหลักฐานที่กล่าวว่าน้ำมันปลาสามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้สรุปได้ว่าน้ำมันปลาไม่อาจป้องกันการเสื่อมถอยของกระบวนการคิดของผู้ป่วยส่วนมากที่เคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นอัลไซเมอร์
  • หอบหืด (Asthma) งานวิจัยกล่าวว่าน้ำมันปลาอาจช่วยรักษาหอบหืดได้แค่บางอาการ คือ ช่วยให้หายใจดีขึ้นและลดการใช้ยาบางตัวลง งานวิจัยชิ้นอื่นแสดงให้เห็นว่าน้ำมันปลาไม่ได้ลดความรุนแรงของหอบหืดในเด็ก แต่อาจช่วยป้องกันหอบหืดในเด็กเล็กหากแม่รับประทานน้ำมันปลาขณะตั้งครรภ์ แต่หากเป็นการรับประทานน้ำมันปลาขณะที่ต้องให้นมจะไม่ส่งผลใดๆ
  • ออทิสติก/ปัญญาอ่อน (Autism) การศึกษาขนาดเล็กชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าการรับประทานน้ำมันปลาอาจช่วยลดความตื่นตัวของเด็กพิเศษได้ แต่การศึกษานี้ยังมีจุดด้อยอยู่มาก ในขณะที่งานวิจัยอื่นกลับแสดงให้เห็นว่าการรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยลดความตื่นตัวของพวกเขา
  • มะเร็ง งานวิจัยในเรื่องผลกระทบของน้ำมันปลากับการป้องกันมะเร็งมีผลสรุปที่ขัดแย้งกัน บ้างก็กล่าวว่าการรับประทานปลาหรือการมีระดับโอเมก้า-3 ในเลือดที่สูงช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็ง ทั้งมะเร็งช่องปาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่งานวิจัยชิ้นอื่นกลับกล่าวว่าการรับประทานปลาไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งแต่อย่างใด
  • ต้อกระจก (Cataracts) มีหลักฐานที่กล่าวว่าการรับประทานปลา 3 ครั้งต่อสัปดาห์สามารถลดความเสี่ยงต่อต้อกระจกได้เล็กน้อย
  • กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome: CFS) มีหลักฐานที่ขัดแย้งกันในเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำมันปลากับน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส (Efamol Marine) ในการลดอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง
  • โรคไตเรื้อรัง มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าน้ำมันปลาอาจมีส่วนช่วยผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่เข้ารับการฟอกไต แต่ยังไม่ชัดเจนว่าน้ำมันปลาจะช่วยผู้ที่การทำงานของไตย่ำแย่ได้
  • คอเลสเตอรอลผิดปกติจากการใช้ยาโคลซาปีน (Clozapine) โคลซาปีนเป็นยาที่ใช้รักษาจิตเภท (Schizophrenia) โดยมีหลักฐานที่กล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาจะลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ แต่เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลลิโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density lipoprotein (LDL) ในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติจากการใช้ยาโคลซาปีน
  • ภาวะสมองบกพร่อง (Cognitive impairment) งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาทุกวันนาน 12 เดือนอาจช่วยเพิ่มการทำงานในส่วนความจำของผู้ที่มีการทำงานของสมองน้อยผิดปกติได้
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal cancer) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาระหว่างการทำเคมีบำบัดอาจชะลอการลุกลามของเนื้อร้ายในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
  • โรคโครห์น (Crohn's disease) งานวิจัยเรื่องผลกระทบของน้ำมันปลากับโรคโครห์นยังคงขัดแย้งกันเอง บ้างพบว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปลาบางชนิด (Purepa, Tillotts Pharma) สามารถลดการเกิดอาการของโรคโครห์นซ้ำได้ แต่งานวิจัยอื่นกลับไม่พบว่าน้ำมันปลามีประโยชน์เช่นนี้
  • โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาสามารถเพิ่มการทำงานของปอดของผู้ป่วยโรคซิสติกไฟโบรซิสได้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการให้น้ำมันปลาเข้าเส้นเลือดนั้นกลับพบว่าไม่ได้มีประโยชน์เช่นนี้
  • สูญเสียความทรงจำ (Dementia) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานปลาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ แต่งานวิจัยชิ้นอื่นกลับแย้งว่าไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคปลากับความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมแต่อย่างใด
  • ภาวะซึมเศร้า (Depression) ยังคงมีหลักฐานเรื่องผลกระทบของการรับประทานน้ำมันปลารักษาโรคซึมเศร้าที่ไม่สอดคล้องกันอยู่ บ้างพบว่าน้ำมันปลาร่วมกับยาต้านซึมเศร้าสามารถลดอาการของโรคได้ในบางคน แต่งานวิจัยชิ้นอื่นพบว่าน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นแต่อย่างใด กระนั้นความขัดแย้งของการศึกษานี้อาจเป็นผลมาจากปริมาณ EPA และ DHA ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือจากความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าของกลุ่มตัวอย่างก่อนเข้ารับการรักษาก็เป็นได้
  • ความเสียหายที่ไตในผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetic nephropathy) มีหลักฐานกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้ไตของผู้ป่วยเบาหวานทำงานดีขึ้น
  • ความเสียหายที่ตาของผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetic retinopathy) การบริโภคน้ำมันปลาปริมาณสูงเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อความเสียหายที่ดวงตาผู้ป่วยเบาหวานที่น้อยลง
  • ตาแห้ง มีรายงานว่าผู้หญิงที่บริโภคน้ำมันปลาจากอาหารสูงเกี่ยวโยงกับความเสี่ยงต่อภาวะตาแห้งที่น้อยลง แต่ผลกระทบในเรื่องของการใช้น้ำมันปลากับตาแห้งยังคงนับว่าไม่สอดคล้องกันอยู่ บ้างพบว่าน้ำมันปลาสามารถลดอาการจากตาแห้งอย่างเจ็บตา การมองเห็นไม่ชัดเจน และตาอ่อนไหวมากขึ้นได้ แต่น้ำมันปลาก็ไม่ได้ช่วยให้สัญญาณหรืออาการอื่นๆ ดีขึ้น อย่างเช่นการผลิตน้ำตาและความเสียหายที่พื้นผิวของดวงตา การรับประทานน้ำมันปลายังไม่ได้ช่วยให้อาการตาแห้งดีขึ้นเมื่อกำลังใช้การรักษาตาแห้งวิธีอื่นอยู่
  • ระดับคอเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia) หลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้น้ำมันปลากับเรื่องระดับไขมันและคอเลสเตอรอลยังขัดแย้งกันเองอยู่ บางงานวิจัยบอกว่าการรับประทานน้ำมันปลาสามารถลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ ลดคอเลสเตอรอลไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL) และเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลไลโพโปรตีนความหนาแน่นสูง (HDL) ในผู้ที่มีปัญหาระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติได้ ในขณะที่งานวิจัยอื่นไม่พบว่าน้ำมันปลามีสรรพคุณดังกล่าว
  • โรคไตชนิดลุกลาม (ไตวายระยะสุดท้าย) มีหลักฐานที่กล่าวว่าน้ำมันปลาสามารถลดการอักเสบในผู้ที่เป็นโรคไตชนิดลุกลามได้
  • โรคลมชัก (Epilepsy) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานกรดไขมันโอเมก้า-3 จากน้ำมันปลาทุกวันนาน 10 สัปดาห์จะลดอาการชักในผู้ที่มีปัญหาลมชักที่ดื้อยาได้
  • ปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากออกกำลังกาย งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการรับประทานน้ำมันปลาทุกวันนาน 1-6 เดือนทั้งก่อนและระหว่างออกกำลังกายไม่อาจป้องกันอาการปวดกล้ามเนื้อที่ข้อศอกหรือเข่าได้ แต่งานวิจัยอื่นๆ กล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาสามารถลดอาการปวดจากการออกกำลังกายได้
  • ป้องกันการอุดตันของทางเบี่ยง (Grafts) ที่ใช้ในการฟอกไต การรับประทานน้ำมันปลาอาจช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดขึ้นในท่อไตเทียมหรือทางเบี่ยง อีกทั้งยังช่วยให้ใช้การได้นานขึ้น แต่จำเป็นต้องมีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับปริมาณของน้ำมันปลาที่เหมาะสมในการใช้ต่อไป
  • ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (Prediabetes) งานวิจัยกล่าวว่าน้ำมันปลาสามารถป้องกันการพัฒนาจากภาวะก่อนโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
  • พัฒนาการของทารก มีหลักฐานที่กล่าวว่ามารดาที่รับประทานปลาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งเสริมพัฒนาการด้านสมองของเด็กได้ แต่หากรับประทานขณะให้นมบุตรจะไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม การรับประทานน้ำมันปลาในระหว่างตั้งครรภ์และระหว่างให้นมบุตรอาจช่วยพัฒนาในการมองเห็นของเด็กและลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ต่างๆ 
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) การรับประทานผลิตภัณฑ์น้ำมันปลา (MaxEPA) ไม่ได้ลดระยะเวลา ความถี่ หรือความรุนแรงของการเกิดอาการจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาทุกวันนาน 90-150 วันร่วมกับออกกำลังกายแบบต้าน (Resistance strength training) 90 วันอาจเพิ่มการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อและความแข็งแรงให้กับผู้หญิงอายุมากที่มีสุขภาพดีได้
  • ลดน้ำหนัก งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการรับประทานปลาจะเพิ่มอัตราการลดน้ำหนักและลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ที่มีน้ำหนักร่างกายมากที่มีความดันโลหิตสูง อีกทั้งยังพบว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลา (Hi-DHA, NuMega) จะลดไขมันร่างกายลงเมื่อรับประทานร่วมกับการออกกำลังกาย แต่หลักฐานอื่นๆ กล่าวว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาอีกชนิด (Lovaza) ไม่ได้ช่วยผู้ที่มีน้ำหนักมากในการลดน้ำหนักแต่อย่างใด
  • ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) มีหลักฐานที่กล่าวว่าการให้สารอาหารอย่างน้ำมันปลาทางเส้นเลือด จะช่วยการบำบัดทดแทนไตของผู้ป่วยที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบรุนแรงได้
  • โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria (PKU)) มีหลักฐานที่กล่าวว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากน้ำมันปลาจะเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหว การประสานงาน และการมองเห็นของเด็กที่ป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรมหายากที่เรียกว่าฟีนิลคีโตนูเรียได้
  • ภาวะทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic stress disorder (PTSD)) มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ประกอบด้วยโอเมก้า-3 จากน้ำมันปลากับเรื่องการให้สุขภาพจิตศึกษา (Psychoeducation) ไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อผู้ประสบภาวะทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรงได้แต่อย่างใด
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ มีหลักฐานที่กล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาหรือรับประทานอาหารทะเลระหว่างตั้งครรภ์สามารถป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ อย่างไรก็ตาม น้ำมันปลาไม่อาจช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างมีครรภ์ได้
  • เด็กที่คลอดก่อนกำหนด (Prematurity) นมเด็กที่ผสมกับกรดไขมันจากน้ำมันปลาและน้ำมันโบราจ (Borage oil) อาจช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านระบบประสาทของทารกที่คลอดก่อนกำหนดได้ โดยเฉพาะกับทารกเพศชาย
  • แผลกดทับ (Pressure ulcers) งานวิจัยกล่าวว่าการเสริมอาหารผู้ป่วยติดเตียงด้วยน้ำมันปลาแบบป้อนทางสายอาหารเป็นเวลา 28 วันอาจชะลอการเกิดแผลกดทับได้
  • ภาวะแพ้ซาลิไซเลต (Salicylate intolerance) งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาอาจทำให้อาการจากภาวะแพ้ซาลิไซเลต อย่างเช่นหอบหืดและคันดีขึ้นได้ 
  • จิตเภท (Schizophrenia) มีรายงานว่าน้ำมันปลาสามารถบรรเทาอาการของจิตเภทในหญิงตั้งครรภ์ได้ แต่งานวิจัยชิ้นอื่นๆ กลับกล่าวว่า น้ำมันปลาที่มีสารเคมีที่เรียกว่ากรดอัลฟาไลโปอิก (Alpha-lipoic) ไม่อาจลดอาการจิตเภทได้
  • โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคีย (Sickle cell disease) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาสามารถลดความเจ็บปวดที่เกิดกับผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียวได้
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic lupus erythematosus (SLE)) การศึกษาหนึ่งพบว่าน้ำมันปลาสามารถช่วยให้อาการจากโรคแพ้ภูมิตัวเองดีขึ้น ในขณะที่การศึกษาอื่นยังไม่พบผลใดๆ จากการใช้น้ำมันปลากับโรคนี้
  • โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative colitis) งานวิจัยเรื่องผลกระทบของน้ำมันปลากับการรักษาโรคลำไส้ใหญ่ชนิดเป็นแผลยังคงมีผลการศึกษาที่ขัดแย้งกันอยู่

ผลข้างเคียงและการบริโภคน้ำมันปลาให้ปลอดภัย

น้ำมันปลา หรือ Fish oil ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ส่วนมากเมื่อรับประทานในปริมาณต่ำ (ต่ำกว่า 3 กรัมต่อวัน) แม้จะยังมีข้อกังขาเรื่องความปลอดภัยเมื่อบริโภคในปริมาณสูง การรับประทานมากกว่า 3 กรัมต่อวันอาจป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการฟกช้ำและเลือดออก

สารอาหารจากน้ำมันปลาที่มากเกินไปอาจเข้าไปลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและลดความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับการติดเชื้อ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่กำลังใช้ยากดการทำงานของภูมิคุ้มกัน (เช่นผู้ป่วยที่ผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะ) ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

การใช้น้ำมันปลาในปริมาณมากควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

น้ำมันปลาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น เรอ มีกลิ่นปาก แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ ถ่ายเหลว ผื่นขึ้น และเลือดกำเดาออก 

ส่วนการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาพร้อมอาหารหรือแช่แข็งไว้มักจะลดผลข้างเคียงเหล่านี้

สำหรับฉีดน้ำมันปลาเข้าเส้นเลือดมีความปลอดภัยเมื่อใช้ในระยะสั้น โดยสามารถใช้สารละลายกรดไขมันโอเมก้า-3 ได้อย่างปลอดภัยในระยะเวลา 1-4 สัปดาห์

การบริโภคน้ำมันปลาปริมาณมากจากแหล่งอาหารทั่วไปนั้นจัดว่า อาจไม่ปลอดภัย โดยเนื้อปลาบางชนิด เช่นฉลาม ปลาอินทรี และแซลมอนที่โตในฟาร์มเลี้ยง อาจมีการปนเปื้อนสารปรอท และสารเคมีจากแหล่งที่อยู่อาศัย และจากอุตสาหกรรม ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลามีความปลอดภัยกว่าเนื่องจากปราศจากเคมีเหล่านี้

คำเตือนและข้อควรระวังเป็นพิเศษ

บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือมีภาวะความผิดปกติ ซึ่งควรระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการกินแปะก๊วย มีดังนี้

  • เด็ก น้ำมันปลาสำหรับเด็กปลอดภัยเมื่อรับประทานอย่างเหมาะสม น้ำมันปลาสามารถป้อนให้กับทารกผ่านทางสายอาหารได้นานถึง 9 เดือน แต่สำหรับเด็กเล็กยังไม่ควรรับประทานปลามากกว่า 2 ออนซ์ต่อสัปดาห์ น้ำมันปลาที่ให้ทางเส้นเลือดแก่เด็กนั้นจัดว่าปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เด็กยังไม่ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำมันปลาปริมาณมากเนื่องจากไขมันปลาบางชนิดอาจประกอบด้วยสารพิษอย่างปรอท ทำให้การรับประทานอาหารปนเปื้อนบ่อยครั้งอาจเข้าไปสร้างความเสียหายกับสมอง จิตใจ และอาจทำให้เด็กตาบอดหรือชักได้
  • สตรีมีครรภ์และแม่ที่ต้องให้นมบุตร น้ำมันปลาจัดว่าค่อนข้างปลอดภัยเมื่อรับประทานอย่างเหมาะสม การรับประทานน้ำมันปลาระหว่างตั้งครรภ์อาจไม่ส่งผลต่อตัวอ่อนในครรภ์ มีข้อควรเลี่ยงคือผู้หญิงทั้งที่กำลังตั้งครรภ์และอาจจะตั้งครรภ์ควรเลี่ยงการรับประทานปลาฉลาม ปลาดาบ ปลาอินทรี และปลาไทล์เพราะอาจมีการปนเปื้อนสารปรอท อีกทั้งควรจำกัดปริมาณปลาที่บริโภคในแต่ละสัปดาห์ให้ไม่เกิน 12 ออนซ์ (ประมาณ 3-4 มื้อต่อสัปดาห์) เมื่อจะบริโภคน้ำมันปลาในปริมาณมากๆ อาจจะไม่ปลอดภัยเนื่องจากเสี่ยงต่อสารปรอทนั่นเอง
  • โรคอารมณ์สองขั้ว การรับประทานน้ำมันปลาอาจทำให้อาการของโรคนี้มีมากขึ้นได้
  • โรคตับ น้ำมันปลาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือดในผู้ที่มีบาดแผลที่ตับเนื่องจากโรคภัยได้
  • ภาวะซึมเศร้า การรับประทานน้ำมันปลาอาจทำให้อาการของโรคนี้มีมากขึ้นได้
  • เบาหวาน มีข้อกังวลว่าการรับประทานน้ำมันปลาปริมาณสูงอาจทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น
  • Familial adenomatous polyposis มีข้อกังวลว่าการรับประทานน้ำมันปลาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในผู้ป่วยภาวะนี้
  • ความดันโลหิตสูง น้ำมันปลาสามารถลดระดับความดันโลหิตและอาจทำให้ความดันเลือดตกลงจนต่ำเกินไปได้หากกำลังใช้ยารักษาความดันอยู่
  • HIV/AIDS และภาวะอื่นที่ทำให้การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่ำ การบริโภคน้ำมันปลาปริมาณมากจะกดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกาย อาจทำให้เกิดปัญหาสำหรับผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันต่ำอยู่แล้ว
  • ผู้ใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้า (Defibrillator) (อุปกรณ์ที่ฝังเข้าร่างกายเพื่อป้องกันหัวใจเต้นผิดปกติงานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าน้ำมันปลาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติในผู้ป่วยที่ฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจได้ ดังนั้นหากคุณเป็นคนกลุ่มนี้ควรเลี่ยงการใช้น้ำมันปลาเพื่อความปลอดภัย
  • ภูมิแพ้อาหารทะเลหรือปลา ผู้ที่มีภาวะแพ้อาหารทะเลอาจมีปฏิกิริยาแพ้อาหารเสริมน้ำมันปลาเช่นกัน ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าเป็นผู้มีอาการแพ้อาหารทะเลแบบไหนบ้าง จนกว่าจะมีข้อมูลมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานน้ำมันปลาอย่างระมัดระวัง

การใช้น้ำมันปลาร่วมกับยาชนิดอื่น

ใช้น้ำมันปลาร่วมกับยาเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง

1. ยาควบคุมการมีบุตร (Contraceptive drugs) กับน้ำมันปลา

น้ำมันปลาอาจช่วยลดระดับไขมันในเลือดที่เรียกว่าไตรกลีเซอร์ไรด์ ซึ่งยาคุมกำเนิดอาจลดประสิทธิภาพของน้ำมันปลา 

ตัวอย่างยาควบคุมการมีบุตร เช่น Ethinyl estradiol กับ Levonorgestrel (Triphasil), Ethinyl estradiol กับ Norethindrone (Ortho-Novum 1/35, Ortho-Novum 7/7/7) และอื่นๆ

2. ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drugs) กับน้ำมันปลา

น้ำมันปลาอาจลดความดันโลหิต ดังนั้นการรับประทานน้ำมันปลาร่วมกับยาลดความดันอาจทำให้ความดันโลหิตตกลงจนต่ำเกินไปได้ 

ตัวอย่างยาที่ควบคุมความดันโลหิตสูง เช่น Captopril (Capoten), Enalapril (Vasotec), Losartan (Cozaar), Valsartan (Diovan), Diltiazem (Cardizem), Amlodipine (Norvasc), Hydrochlorothiazide (HydroDiuril), Furosemide (Lasix) และอื่นๆ อีกมากมาย

3. ยาลดน้ำหนักออริสแตท Orlistat (Xenical, Alli) กับน้ำมันปลา

ยาออริสแตทคือยาสำหรับลดน้ำหนักที่ออกฤทธิ์ด้วยการป้องกันไม่ให้ลำไส้ดูดซับไขมันจากอาหาร มีข้อกังวลว่ายาออริสแตทอาจลดกระบวนการดูดซับน้ำมันปลาเช่นเดียวกัน เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงของการตีกันเช่นนี้จึงควรรับประทานยาออริสแตทกับน้ำมันปลาในเวลาที่ห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

    คอยสังเกตอาการเมื่อต้องใช้น้ำมันปลาร่วมกับยาเหล่านี้

    ยาสำหรับชะลอการเกิดลิ่มเลือด (Anticoagulant / Antiplatelet drugs) กับน้ำมันปลา

    น้ำมันปลาอาจชะลอการเกิดลิ่มเลือดได้ ดังนั้นการรับประทานน้ำมันปลาร่วมกับยาเหล่านี้อาจทำให้ฤทธิ์การชะลอลิ่มเลือดมีมากขึ้นจนเพิ่มความเสี่ยงที่จะเลือดออกหรือฟกช้ำ 

    ตัวอย่างยาชะลอลิ่มเลือด เช่น Aspirin, Clopidogrel (Plavix), diclofenac (Voltaren, Cataflam, และอื่น ๆ), Ibuprofen (Advil, Motrin, และอื่น ๆ), Naproxen (Anaprox, Naprosyn และอื่นๆ), Dalteparin (Fragmin), Enoxaparin (Lovenox), Heparin, Warfarin (Coumadin) และอื่นๆ

      ปริมาณการใช้น้ำมันปลาที่ในผู้ใหญ่

      • สำหรับภาวะไตรกลีเซอร์ไรด์สูง น้ำมันปลา 1-15 กรัมต่อวันนาน 6 เดือน หรือน้ำมันปลาที่มี EPA 1.45-2.70 กรัม และ DHA 1.05-1.80 กรัมต่อวันนาน 2-12 สัปดาห์
      • สำหรับโรคหัวใจ น้ำมันปลาที่ DHA และ/หรือ EPA 0.6-10 กรัม/วัน นาน 1 เดือน เป็นเวลา 9 ปี
      • สำหรับป้องกันและแก้ไขการลุกลามของภาวะเส้นเลือดแดงแข็งหลังการผ่าตัดขยายหลอดเลือด น้ำมันปลา 6 กรัมทุกวันเริ่มจาก 1 เดือนก่อนเข้ารับการผ่าตัดขยายหลอดเลือด และต่อเนื่องไปอีก 1 เดือนหลังจากผ่าตัด ตามด้วย 3 กรัมทุกวันเป็นเวลา 6 เดือน อีกทั้งยังมีการใช้น้ำมันปลา 15 กรัมทุกวันนาน 3 สัปดาห์ก่อนผ่าตัดและหลังจากผ่าตัด 6 เดือน
      • สำหรับป้องกันการแท้งบุตรในผู้หญิงที่มีภาวะ Antiphospholipid antibody syndrome และมีประวัติแท้งมาก่อนในอดีต น้ำมันปลาที่มีสัดส่วน EPA กับ DHA ที่ 1:5 ขนาด 5.1 กรัมนาน 3 ปี
      • สำหรับโรคสมาธิสั้น (ADHD) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาที่ประกอบด้วยน้ำมันปลา 400 มิลลิกรัม และน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส 100 มิลลิกรัม (Eye Q, Novasel) 6 แคปซูลต่อวัน นาน 15 สัปดาห์ อีกทั้งรับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 250 มิลลิกรัม ที่มี phosphatidylserine ต่ออีก 3 เดือนทุกวัน
      • สำหรับโรคอารมณ์สองขั้ว น้ำมันปลาที่มี EPA 6.2 กรัม และมี DHA อีก 3.4 กรัมทุกวันนาน 4 เดือน อีกทั้งให้รับประทานน้ำมันปลาที่มี EPA 1-6 กรัมนาน 12-16 สัปดาห์ หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ประกอบด้วย EPA กับ DHA 4.4-6.2, 2.4-3.4 กรัมตามลำดับนาน 4-16 สัปดาห์
      • สำหรับมะเร็งลำไส้และทวารหนัก น้ำมันปลา (Omega-3, Phytomare, Governador Celso Ramos) ที่ประกอบด้วย EPA และ DHA 360 และ 240 มิลลิกรัม ทุกวันในปริมาณ 2 กรัมนาน 9  สัปดาห์ร่วมกับการเข้ารับบำบัดเคมี
      • สำหรับชะลอน้ำหนักลดในผู้ป่วยมะเร็ง ผลิตภัณฑ์น้ำมันปลา (ACO Omega-3, Pharmacia) 30 มิลลิลิตร ที่มี EPA 4.9 กรัม และ DHA 3.2 กรัมนาน 4 สัปดาห์ หรือน้ำมันปลาที่ประกอบด้วย EPA กับ DHA 4.7 กรัมกับ 2.8 กรัมตามลำดับนาน 6 สัปดาห์ นอกจากนั้นควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโภชนาการน้ำมันปลาที่ประกอบด้วย EPA 1.09 กรัม และ DHA 0.96 กรัมต่อกระป๋องอีก 2 กระป๋อง และดื่มทุกวันนาน 7 สัปดาห์
      • สำหรับเปิดหลอดเลือดหลังการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือด น้ำมันปลาที่ประกอบด้วย EPA 2.04 กรัม และ DHA 1.3 กรัมในปริมาณ 4 กรัมทุกวันนานหนึ่งปี
      • สำหรับอาการตาแห้ง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาที่มี EPA 360-1680 มิลลิกรัม และ DHA 240-560 มิลลิกรัม นาน 4-12 สัปดาห์ บางคนเลือกใช้ผลิตภัณฑี่มีสัดส่วนไขมันทั้งสองดังที่กล่าวไป (PRN Dry Eye Omega Benefits softgels) หรือบางคนก็เลือกผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วย EPA 450 mg, DHA 300 mg, และน้ำมันเมล็ดลินิน (flaxseed) อีก 1,000 mg (TheraTears Nutrition, Advanced Nutrition Research; Caruso’s Natural Health UltraMAX fish oil) นาน 90 วัน
      • สำหรับความดันโลหิตสูงที่เกิดจากการใช้ยา cyclosporine กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ 3-4 กรัมต่อวันนาน 6 เดือนหลังการปลูกถ่ายหัวใจ และน้ำมันปลา 2-18 กรัมทุกวันนาน 1-12 เดือนหลังการปลูกถ่ายไต
      • สำหรับปัญหาไตที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา cyclosporine เพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่าย น้ำมันปลา 12 กรัมทุกวันนาน 2 เดือนหลังการปลูกถ่ายตับ และ 6 กรัมทุกวันนาน 3 เดือนหลังการปลูกถ่ายไต
      • สำหรับอาการปวดประจำเดือน ปริมาณ EPA ในน้ำมันปลาต่อวันที่ 1080 มิลลิกรัม และ DHA ที่ 720 มิลลิกรัม ร่วมกับวิตามิน E 1.5 มิลลิกรัม ต่อวันนาน 2 เดือน และ 500-2,500 มิลลิกรัม ต่อวันนาน 2-4 เดือน
      • สำหรับภาวะหัวใจล้มเหลว กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ 600-4300 มิลลิกรัม ต่อวันนาน 12 เดือน และน้ำมันปลา 1 กรัมนานประมาณ 2.9 ปี
      • ปลูกถ่ายหัวใจ น้ำมันปลาที่ประกอบด้วย EPA 46.5% และ DHA 37.8% 4 กรัมทุกวันนาน 1 ปี
      • สำหรับระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติจากการรักษา HIV/AIDS ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลา 2 แคปซูล (Omacor, Pronova BioPharma) ที่ประกอบด้วย EPA 460 มิลลิกรัม และ DHA 380 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 12 สัปดาห์
      • สำหรับความดันโลหิตสูง น้ำมันปลาทุกวันที่ 4-15 กรัม โดยจะแบ่งโดสเป็นครั้งเดียวหรือแยกก็ได้เป็นเวลานาน 36 สัปดาห์ และกรดไขมันโอเมก้า 3 3-15 กรัมทุกวันนาน 4 สัปดาห์
      • สำหรับสงวนการทำงานของไตในผู้ป่วยโรค IgA nephropathy ชนิดรุนแรง น้ำมันปลา 1-12 กรัมต่อวันนาน 2-4 ปี และน้ำมันปลา 3 กรัมร่วมกับยา renin-angiotensin system blocker (RASB) ทุกวันนาน 6 เดือน
      • สำหรับกระดูกพรุน แคปซูลที่มีส่วนประกอบของน้ำมันปลาและอิฟนิ่งพริมโรส 500 มิลลิกรัม 4 เม็ดต่อวัน โดยควรแบ่งกิน 3 ครั้งพร้อมอาหารร่วมกับแคลเซียมคาร์โบเนต 600 มิลลิกรัม นาน 18 เดือน
      • สำหรับโรคสะเก็ดเงิน แคปซูลน้ำมันปลาที่ประกอบด้วย EPA 3.6 กรัม และ DHA 2.4 กรัมทุกวันนาน 15 สัปดาห์ร่วมกับการบำบัด UVB 
      • สำหรับโรคจิต แคปซูลน้ำมันปลาที่ประกอบด้วย EPA 700 มิลลิกรัม และ DHA 480 มิลลิกรัม ที่ผสมกับ tocopherols และกรดไขมันโอเมก้า 3 อื่น ๆ ทุกวันนาน 12 สัปดาห์
      • สำหรับโรคเรย์เนาด์ น้ำมันปลาที่ประกอบด้วย EPA 3.96 กรัม และ DHA 2.64 กรัมทุกวันนาน 12 สัปดาห์
      • สำหรับระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติหลังการปลูกถ่ายไต น้ำมันปลา 6 กรัมทุกวันนาน 3 เดือน
      • สำหรับโรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ น้ำมันปลา 10 กรัมทุกวัน หรือน้ำมันปลาที่ประกอบด้วย EPA 0.5-4.6 กรัม และ DHA 0.2-3.0 กรัม บางครั้งอาจใช้ร่วมกับวิตามิน E 15 IU เป็นเวลามากถึง 15 เดือน
      • สำหรับโรคสะเก็ดเงิน ฉีดเข้าเส้นเลือดด้วยสารละลายน้ำมันปลา 100-200 มิลลิลิตร ที่มี EPA 2.1-4.2 กรัม และ DHA 2.1-4.2 กรัม (Omegavenous, Fresenius) โดยให้ทุกวันเป็นเวลา 10-14 วัน
      • สำหรับโรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ ฉีดเข้าเส้นเลือดด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 จากน้ำมันปลา 0.1-0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุกวันนาน 7 วัน อีกทั้งให้ใช้สารละลายน้ำมันปลา 0.2 กรัม/กิโลกรัม (Omegaven, Fresenius-Kabi) ติดต่อกันนาน 14 วัน ตามด้วยรับประทานน้ำมันปลา 0.05 กรัมทุกวันนาน 20 สัปดาห
      • สำหรับโรคสะเก็ดเงิน ทาสารละลายน้ำมันปลาใต้ผ้าปิดแผลเป็นเวลา 6 ชั่วโมงทุกวันนาน 4 สัปดาห์

      ปริมาณการใช้น้ำมันปลาในเด็ก

      • สำหรับภาวะผิดปกติในการประสานสัมพันธ์ของร่างกาย (Developmental Coordination Disorder) น้ำมันปลาที่มี EPA 558 มิลลิกรัม และมี DHA 174 มิลลิกรัม โดยแบ่งปริมาณที่ใช้เป็น 3 ครั้งต่อวัน นาน 3 เดือน และใช้กับเด็กที่อายุ 5-12 ปี
      • สำหรับรักษาภาวะการเคลื่อนไหวผิดปกติในเด็กจนมีการประสานงานของอวัยวะไม่ดี ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาที่ประกอบด้วยน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส น้ำมันไทม์ และวิตามินอี (Efalex, Efamol Ltd) ทุกวันนาน 4 เดือน

      ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


      2 แหล่งข้อมูล
      กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
      Ruairi Robertson, 13 Benefits of Taking Fish Oil (https://www.healthline.com/nutrition/13-benefits-of-fish-oil), 18 December 2018.

      บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

      ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

      ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
      (1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)