กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Berberine (เบอร์แบร์ริน)

เผยแพร่ครั้งแรก 25 ม.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที

ข้อมูลภาพรวมของเบอร์แบร์ริน

เบอร์แบร์ริน (Berberine) เป็นสารเคมีที่พบในพืชหลายชนิด เช่น ยูโรเปียน บาร์เบอร์รี่, โกลเด้นซีล, ออรีกอนเกรฟ, ชวนหวงป้อ, ต้นขมิ้น เป็นต้น โดยมากแล้วมักมีการนำเบอร์แบร์รินไปรับประทานเพื่อควบคุมภาวะเบาหวาน, คอเลสเตอรอลสูง, และความดันโลหิตสูง อีกทั้งบางคนยังนิยมทาเบอร์แบร์รินลงบนผิวหนังโดยตรงเพื่อรักษาอาการแดดเผาและสามารถใช้ทาแผลร้อนในได้อีกด้วย

เบอร์แบร์รินออกฤทธิ์อย่างไร?

เบอร์แบร์รินอาจทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยผู้ป่วยภาวะหัวใจบางประเภทได้ เบอร์แบร์รินยังมีส่วนช่วยในการควบคุมกระบวนการใช้น้ำตาลในเลือดของร่างกาย ซึ่งสามารถนำมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มเบาหวาน อีกทั้งเบอร์แบร์รินยังสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียและรักษาอาการบวมได้อีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

วิธีใช้และประสิทธิภาพของเบอร์แบร์ริน

ภาวะที่อาจใช้เบอร์แบร์รินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • แผลร้อนใน (canker sores) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการทาเจลที่มีส่วนผสมของเบอร์แบร์รินสามารถลดความเจ็บปวด อาการแดง แผลน้ำเหลืองไหล และลดขนาดของแผลในช่องปากได้
  • เบาหวาน (Diabetes) เบอร์แบร์รินช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้เล็กน้อย โดยงานวิจัยบางชิ้นได้กล่าวว่าการกินเบอร์แบร์ริน 500 mg สองถึงสามครั้งต่อวันเป็นเวลาต่อเนื่องนาน 3 เดือนจะช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีเทียบเท่ากับ metformin หรือ rosiglitazone
  • คอเลสเตอรอลสูง มีหลักฐานเมื่อไม่นานมานี้ที่กล่าวว่าเบอร์แบร์รินสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในผู้ที่มีปัญหาคอเลสเตอรอลสูงได้ด้วยการทาน 500 mg สองครั้งต่อวันเป็นเวลานาน 3 เดือน อีกทั้งยังช่วยลดไลโพโปรตีน หรือ ไขมันไม่ดี (low-density lipoprotein (LDL)) กับระดับไตรกลีเซอไรด์ได้อีกด้วย
  • ความดันโลหิตสูง  การกินเบอร์แบร์ริน 0.9 กรัมต่อวันพร้อมกับยาลดความดันเลือด amlodipine จะช่วยลดความดันซิสโตลิก (systolic blood pressure) (ความดันตัวบน) กับไดแอสโตลิก (diastolic blood pressure) (ความดันตัวล่าง) ได้ดีกว่าการกินยา amlodipine เพียงอย่างเดียว
  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (polycystic ovary syndrome (PCOS)) งานวิจัยกล่าวว่า เบอร์แบร์รินช่วยลดระดับเทสโทสเตอโรนกับสัดส่วนเอวต่อสะโพก (waist-to-hip ratio) ของผู้หญิงที่ป่วยเป็น PCOS ได้ ในผู้หญิงกลุ่มนี้บางรายอาจได้รับ metformin เพื่อป้องกันการเกิดภาวะเบาหวาน ซึ่งการวิจัยกล่าวว่าการกินเบอร์แบร์รินจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้คล้ายกับการกินยา metformin แต่ก็ดูเหมือนว่าเบอร์แบร์รินจะสามารถควบคุมระดับคอเลสเตอรอลได้ดีกว่ายา metformin

ภาวะที่ยังคงขาดหลักฐานว่าใช้เบอร์แบร์รินรักษาได้หรือไม่

  • แผลไหม้ งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้กล่าวว่าการทาขี้ผึ้งที่มีส่วนประกอบของเบอร์แบร์รินกับ beta-sitosterol สามารถรักษาแผลไหม้ระดับสองได้ดีเทียบเท่ากับการรักษาด้วย  silver sulfadiazine
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure (CHF)) งานวิจัยกล่าวว่าเบอร์แบร์รินสามารถลดอาการของภาวะนี้และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย CHF ลงได้
  • ท้องร่วง (Diarrhea) งานวิจัยกล่าวว่าการกิน berberine sulfate 400 mg สามารถลดอาการท้องร่วงของผู้ที่เป็นโรคท้องร่วงจากการติดเชื้อแบคทีเรีย E.coli หรือ cholera ได้ อีกทั้งการกิน berberine hydrochloride 150 mg สามครั้งต่อวันร่วมกับการรักษาทั่วไปยังช่วยเร่งกระบวนการฟื้นตัวของผู้ป่วยท้องร่วงได้อีกด้วย การใช้เบอร์แบร์รินในการรักษาโรคท้องร่วงในเด็กและทารกยังสามารถทำได้คล้ายกับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือโพรไบโอติกส์ อย่างไรก็ตามเบอร์แบร์รินนั้นไม่ได้ช่วยเร่งผลการรักษาของยาปฏิชีวนะ tetracycline ในการรักษาโรคท้องร่วงที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ cholera แต่อย่างใด
  • ต้อหิน (Glaucoma) งานวิจัยกล่าวว่าการใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของเบอร์แบร์รินกับ tetrahydrozoline ไม่ได้ช่วยลดแรงกดในตาของผู้ที่มีปัญหาต้อหิน
  • แผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการติดเชื้อ  Helicobacter pylori (H pylori) งานวิจัยกล่าวว่าการกินเบอร์แบร์รินมีประสิทธิภาพในการกำจัดภาวะติดเชื้อ H.pylori มากกว่าการกินยา ranitidine อย่างไรก็ตามเบอร์แบร์รินก็มีประสิทธิภาพในการรักษาแผลที่เกิดจาก H.pylori น้อยกว่าการกินยา
  • ตับอักเสบ (Hepatitis) งานวิจัยกล่าวว่าเบอร์แบร์รินช่วยลดน้ำตาลในเลือด ไขมันไตรกลีเซอไรด์ และลดความเสียหายที่เกิดที่ตับในผู้ป่วยเบาหวานซึ่งเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ B หรือ C ร่วมด้วย
  • อาการช่วงวัยหมดประจำเดือน (Menopausal symptoms) งานวิจัยกล่าวว่าการกินยาที่มีส่วนประกอบของเบอร์แบร์รินกับ soy isoflavones สามารถลดอาการช่วงหมดประจำเดือนของผู้หญิงได้ แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าการใช้เบอร์แบร์รินเพียงอย่างเดียวจะช่วยลดอาการเหล่านี้หรือไม่
  • โรคอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) งานวิจัยพบว่าเบอร์แบร์รินสามารถลดดัชนีมวลกาย (body mass index (BMI)), ความดันโลหิตซิสโทลิก (ความดันตัวบน), ไขมันไตรกลีเซอไรด์, และระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคอ้วนลงพุงได้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มการตอบสนองต่ออินซูลินของร่างกายเช่นกัน ส่วนงานวิจัยชิ้นอื่น ๆ ได้กล่าวว่าการกินผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเบอร์แบร์ริน, policosanol, ยีสต์ข้าวแดง (red yeast rice), กรดโฟลิก (folic acid), coenzyme Q10, และ astaxanthin จะช่วยเพิ่มระดับความดันโลหิตและการไหลเวียนโลหิตของผู้ป่วยโรคอ้วนลงพุง
  • โรคตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ งานวิจัยพบว่าเบอร์แบร์รินสามารถลดไขมันในเลือดและการอักเสบของตับของผู้ป่วยเบาหวานซึ่งเป็นโรคตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้ด้วย
  • โรคอ้วน (Obesityงานวิจัยกล่าวว่าการกินเบอร์แบร์รินสามารถช่วยลดน้ำหนักของผู้ที่มีปัญหาความอ้วนได้
  • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) งานวิจัยกล่าวว่าการกินเบอร์แบร์ริน ร่วมกับวิตามิน D3 และวิตามิน Kสามารถลดการสูญเสียมวลกระดูกในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าหากใช้กินเบอร์แบร์รินเพียงอย่างเดียวจะได้ผลเช่นนี้หรือไม่
  • บาดแผลที่เกิดจากรังสี งานวิจัยกล่าวว่าการทานเบอร์แบร์รินระหว่างการบำบัดทางรังสีสามารถลดการเกิดและความรุนแรงของบาดแผลจากรังสีได้บ้างในผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับการรักษาด้วยรังสี
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia) เกล็ดเลือดคือองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เกิดการแข็งตัวของเลือดเวลาเกิดแผล โดยงานวิจัยพบว่าการกินเบอร์แบร์รินอย่างเดียวหรือกินร่วมกับ prednisolone สามารถช่วยเพิ่มจำนวนเกล็ดเลือดของผู้ที่มีปัญหาเกล็ดเลือดต่ำได้
  • ริดสีดวงตา (Trachoma) มีหลักฐานบางชิ้นที่กล่าวว่ายาหยอดตาที่มีเบอร์แบร์รินสามารถรักษาโรคริดสีดวงตาที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดในประเทศกำลังพัฒนาได้
  • ภาวะสุขภาพอื่น ๆ

จำเป็นต้องรวบรวมหลักฐานให้มากขึ้นเพื่อให้ข้อมูลด้านประสิทธิผลของเบอร์แบร์รินเพิ่มเติม

ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของเบอร์แบร์ริน

เบอร์แบร์รินทั้งแบบรับประทานและทาบนผิวหนังถูกจัดว่าค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่ส่วนมากหากใช้ในระยะสั้น

คำเตือนและข้อควรระวังเป็นพิเศษ:

เด็ก: เบอร์แบร์รินค่อนข้างไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กแรกเกิดเพราะสามารถทำให้เกิดภาวะ kernicterus ซึ่งเป็นความเสียหายที่สมองชนิดหายากที่เกิดจากภาวะดีซ่าน (jaundice) รุนแรง โดยดีซ่านคือภาวะที่ทำให้ผิวหนังออกสีเหลืองเนื่องจากมีบิลิรูบิน (bilirubin) ในเลือดมากเกินไป บิลิรูบินเป็นสารเคมีที่ผลิตออกเมื่อเซลล์เม็ดเลือดแดงสลายไป โดยปกติแล้วสารนี้จะถูกกำจัดโดยตับ แต่เมื่อเด็กได้รับเบอร์แบร์รินอาจทำให้ตับของพวกเขาไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินได้เร็วพอ

สตรีมีครรภ์และแม่ที่ต้องให้นมบุตร: เบอร์แบร์รินชนิดรับประทานถูกจัดว่าไม่ค่อยปลอดภัยสำหรับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์เพราะนักวิจัยเชื่อว่าเบอร์แบร์รินสามารถเข้าไปในรกและก่ออันตรายกับตัวอ่อนได้ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกเกิดภาวะ kernicterus ได้ด้วย และในผู้ที่กำลังให้นมบุตร เบอร์แบร์รินเองก็ถูกจัดว่าไม่ค่อยปลอดภัยเนื่องจากเบอร์แบร์รินสามารถส่งต่อสู่ทารกผ่านทางน้ำนมได้เช่นกัน

เบาหวานเบอร์แบร์รินจะลดระดับน้ำตาลในเลือดลง ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว เบอร์แบร์รินอาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำลงมากเกินไปหากคนผู้นั้นกำลังใช้ยาอินซูลินหรือยาตัวอื่นที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานควรใช้เบอร์แบร์รินอย่างระมัดระวัง

ทารกที่มีระดับบิลิรูบินในเลือดสูง: บิลิรูบินเป็นสารเคมีที่ผลิตออกเมื่อเซลล์เม็ดเลือดแดงสลายไป โดยปรกติแล้วสารนี้จะถูกกำจัดโดยตับ แต่เมื่อเด็กได้รับเบอร์แบร์รินอาจทำให้ตับของพวกเขาไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินได้เร็วพอซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่สมองของทารก โดยเฉพาะทารกที่มีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงอยู่แล้ว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ความดันเลือดต่ำ: เบอร์แบร์รินสามารถลดความดันโลหิตลงได้ ตามทฤษฎีแล้วเบอร์แบร์รินอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ความดันโลหิตตกลงต่ำเกินไปได้หากผู้ใช้มีปัญหาความดันโลหิตต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงควรใช้เบอร์แบร์รินด้วยความระมัดระวัง

การใช้เบอร์แบร์รินร่วมกับยาชนิดอื่น

ห้ามใช้เบอร์แบร์รินร่วมกับเหล่านี้

  • Cyclosporine (Neoral, Sandimmune) กับเบอร์แบร์ริน

ร่างกายจะสลาย cyclosporine (Neoral, Sandimmune) เพื่อกำจัดออกไป โดยเบอร์แบร์รินจะไปลดความเร็วกระบวนการกำจัดนี้ลงซึ่งอาจทำให้ร่างกายมี cyclosporine (Neoral, Sandimmune) มากเกินไปจนทำให้เกิดผลข้างเคียงขึ้นมา

ใช้เบอร์แบร์รินร่วมกับยาเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง

  • ยาที่ถูกจัดการโดยตับ (Cytochrome P450 3A4 (CYP3A4) substrates) กับเบอร์แบร์ริน

ยาบางตัวที่ถูกจัดการและย่อยสลายโดยตับจะได้รับผลกระทบจากเบอร์แบร์ริน เพราะเบอร์แบร์รินจะชะลอกระบวนการย่อยสลายของตับลง โดยการใช้เบอร์แบร์รินร่วมกับยากลุ่มนี้อาจเพิ่มประสิทธิผลของยาและก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาขึ้น ดังนั้นก่อนใช้เบอร์แบร์ริน คุณควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อน โดยยาที่เกี่ยวข้องกับตับมีดังนี้ cyclosporin (Neoral, Sandimmune), lovastatin (Mevacor), clarithromycin (Biaxin), indinavir (Crixivan), sildenafil (Viagra), triazolam (Halcion), และอื่น ๆ

ปริมาณยาที่ใช้

ผู้ใหญ่

รับประทาน:

  • สำหรับเบาหวาน: เบอร์แบร์ริน 0.9 ถึง 1.5 กรัมต่อวัน โดยแบ่งมื้อในการรับประทานเป็นระยะเวลานาน 2-4 เดือน
  • สำหรับคอเลสเตอรอลสูง: เบอร์แบร์ริน 0.6 ถึง 1.5 กรัมต่อวัน โดยแบ่งมื้อในการรับประทานเป็นระยะเวลานาน 2-12 เดือน ผลิตภัณฑ์ที่มีเบอร์แบร์ริน 500 mg, policosanol 10 mg, และยีสต์ข้าวแดง 200 mg ควรกินเป็นระยะเวลา 2 ถึง 12 เดือน
  • สำหรับความดันโลหิตสูง: เบอร์แบร์ริน 0.9 กรัมต่อวันเป็นเวลา 2 เดือน
  • สำหรับถุงน้ำโรครังไข่หลายใบ (polycystic ovary syndrome (PCOS)): เบอร์แบร์ริน 500 mg รับประทาน 3 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 3 เดือน

ทาบนผิวหนัง:

  • แผลร้อนใน: เจลที่มีส่วนประกอบของเบอร์แบร์ริน 5 มิลลิกรัมต่อกรัมควรถูกทาบนแผลสี่ครั้งต่อวันเป็นเวลานาน 5 วัน

เด็ก

ขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับเบอร์แบร์รินนั้นจะขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น อายุ สุขภาพ และภาวะสุขภาพอื่น ๆ ของผู้ใช้ ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังขาดแคลนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาชี้ชัดปริมาณที่เหมาะสมของเบอร์แบร์ริน ดังนั้นต้องพึงจำไว้ว่าแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากธรรมชาติก็ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัยเสมอ พยายามปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาและปรึกษากับเภสัชกร แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพก่อนใช้เบอร์แบร์รินทุกครั้ง


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Oncotarget, Metformin and berberine, two versatile drugs in treatment of common metabolic diseases (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5839379/), 9 Feb 2018.
Jennifer Berry, Everything you need to know about berberine (https://www.medicalnewstoday.com/articles/325798.php), 19 July 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)