กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

อาการเสพติดน้ำตาลและภาวะติดหวาน อาการ อันตราย วิธีการเลิก

เผยแพร่ครั้งแรก 8 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
อาการเสพติดน้ำตาลและภาวะติดหวาน อาการ อันตราย วิธีการเลิก

คงจะเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดพอสมควร ถ้าหากเราเข้าไปสั่งอาหารแล้วพบว่าอาหารทุกจานมีรสชาติออกหวานไปเสียหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งแกงจืด หรือต้มยำ หากคุณกำลังไม่สบอารมณ์กับปัญหานี้อยู่ ก็ขอให้ผ่อนคลายลงเสียก่อน เพราะต้องเข้าใจว่าคนไทยจำนวนมาก มีปัญหาในเรื่องของการเสพติดน้ำตาล หรือมีภาวะติดหวาน อาหารไหนที่เราว่าหวาน อาจจะไม่หวานสำหรับเขาเลยก็ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะเห็นบางคนตักน้ำตาลเติมลงไปในก๋วยเตี๋ยวต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 3 ช้อน หรือมักจะชอบทานเครื่องดื่มชง และของหวานอยู่เสมอ ใครที่มีภาวะเสพติดน้ำตาลถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่จะกลายเป็นโรคเบาหวาน และโรคอ้วน ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาอีกได้ เรามาทำความรู้จักกับภาวะนี้มากขึ้น เพื่อที่จะได้นำไปเตือนคนรอบข้าง ให้หยุดการเสพน้ำตาล และหันมาดูแลสุขภาพเพื่อให้มีชีวิตยืนยาวไปด้วยกัน

อาการเสพติดน้ำตาลและภาวะติดหวาน คืออะไร?

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้นำเสนอเรื่องของการเสพติดน้ำตาล ที่ไม่ได้ต่างจากการเสพยาเสพติดไว้อย่างน่าสนใจ โดยได้มีการกล่าวถึงว่า การที่คนติดสารเสพติดนั้น ก็เพราะเกิดความพึงพอใจจากการเสพยา จึงทำให้เกิดการใช้ซ้ำที่นำไปสู่การเสพติดจนขาดไม่ได้ในที่สุด ภาวะการเสพติดน้ำตาลเองก็เช่นกัน เมื่อเราได้ทานอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เช่น ขนมหวาน เครื่องดื่มเย็นต่าง ๆ (ชาเขียว กาแฟเย็น ชาเย็น) ก็จะทำให้เราเกิดความพึงพอใจในรสชาติของมัน ส่งผลให้สมองมีการจดจำไว้ว่า ถ้าหากต้องการพึงพอใจเช่นนี้ ก็ควรมีการดื่มหรือรับประทานซ้ำอีกครั้ง ถ้าหากเราฝืนการทำงานนี้ คือการบังคับตัวเองไม่ให้ทาน ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ไม่ต่างกับผู้ที่ใช้ยาเสพติดเลย ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นคนจำนวนมากที่จะต้องดื่มหรือทานขนมหวานเป็นประจำทุกวัน ถึงแม้จะรู้ตัวดีว่า อาหารเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายก็ตาม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการของผู้ที่เสพติดน้ำตาล

อยากทานของหวานตลอดเวลา อะไรก็ได้ ขอให้เป็นของหวาน หรือมีส่วนประกอบของน้ำตาลเป็นอันใช้ได้ทั้งนั้น บางคนทานของหวานมากกว่าอาหารหลักที่ต้องทานเป็นประจำเสียอีก เมื่อไม่ได้ทานก็จะเริ่มรู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียว อารมณ์ไม่ดี แต่ถ้าได้ทานเมื่อไร ก็จะกลับมายิ้มแย้มได้แทบจะในทันที

ทานของหวานได้อย่างเต็มที่ บางคนชอบทานของหวานมากจนน่ากลัว เช่น การทานบุฟเฟ่ต์เค้กที่มากกว่า 3 ชิ้นขึ้นไป หรือการดื่มเครื่องดื่มชงเย็นอยู่ตลอดเวลาแบบแก้วต่อแก้ว ซึ่งแต่ละเมนูก็จะใส่น้ำตาลลงไปในปริมาณมากเช่นกัน

ไม่สามารถทานอาหารแบบจืดๆ ได้ ถึงแม้ว่าหลายคนจะรู้ตัว และพยายามที่จะลดอาการติดหวานนี้ลง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะอดใจไม่ตักน้ำตาลใส่ลงไปในก๋วยเตี๋ยวชนิดต่าง ๆ แต่ผลสุดท้ายก็ไม่สามารถต้านทานความต้องการของสมองได้ และต้องตักใส่เข้าไปอีก 2-3 ช้อนชา และแน่นอนว่าหวานจนเกือบเลี่ยนเลยทีเดียว

อันตรายจากภาวะเสพติดน้ำตาล

มีหลายโรคที่เกิดขึ้นจากการเสพติดน้ำตาล หรือมีภาวะติดหวาน โดยโรคที่พบได้เป็นประจำ คือ

1โรคเบาหวาน

เมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลเข้ากระแสเลือดในปริมาณมากจนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพื่อที่จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง และแน่นอนว่าถ้าหากเราไม่สามารถหยุดทานหวานได้ ก็จะทำให้เกิดการต้านอินซูลินอย่างรุนแรง และนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานได้ โรคนี้หากเป็นมากอาจอันตรายถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น

2โรคอ้วน

เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง แบบที่อินซูลินก็ช่วยอะไรไม่ได้ น้ำตาลจะมีการเปลี่ยนรูปไปเป็นไขมัน และจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้กลายเป็นโรคอ้วน โรคที่เป็นจุดกำเนิดของโรคร้ายต่าง ๆ ดังนั้นถ้าไม่อยากเป็นโรคอ้วนและตามมาด้วยโรคอื่นๆ อีกมากมาย ก็ไม่ควรกินหวานมากเกินไปอย่างเด็ดขาด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

3โรคหัวใจ

การที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะส่งผลให้ระบบสูบฉีดโลหิตของร่างกายมีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ที่เห็นได้ชัดคือการเพิ่มคอเลสเตอรอลเลว (LDL) เพิ่มไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงทำให้อินซูลินมีการหลั่งมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจแบบโดยตรง

4โรคกระดูกพรุน/กระดูกเปราะ

การที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรด ร่างกายจึงต้องทำการปรับสมดุลนี้ด้วยการไปดึงแร่ธาตุต่าง ๆ มาใช้งานไม่เว้นแม้กระทั่งแคลเซียม จึงส่งผลให้เกิดปัญหากระดูกพรุนตามมา

วิธีรักษาอาการเสพติดน้ำตาล

ใครที่ไม่สามารถับสภาพรร่างกายของตัวเองไว้จากผลพวงของการเสพติดน้ำตาล โดยเฉพาะการมีหุ่นที่ไม่ค่อยจะดูดีสักเท่าไร รวมถึงมีโรคที่คอยจะคุกคามชีวิตอยู่เสมอ ต้องรีบเลิกการเสพติดน้ำตาลได้แล้ว โดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้

1หันมาทานผักและผลไม้ให้มากขึ้นกว่าเดิม

ควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง หรือทานให้น้อยลง เช่น ลำไย เงาะ หรือทุเรียน เป็นต้น ในรายที่ชอบดื่มน้ำผลไม้เป็นพิเศษ ก็ให้เลิกแล้วเปลี่ยนมาทานผลไม้สดแทน อีกทั้งการทานผักผลไม้มากๆ ยังช่วยให้รู้สึกอิ่มอยู่ท้อง และลดความอยากน้ำตาลลงได้อีกด้วย นอกจากนี้หากคิดว่าการไม่ได้ของหวานๆ จะทำให้ทรมานมากในช่วงปรับพฤติกรรมใหม่ๆ อาจจะเริ่มจากทานผลไม้แบบหวานน้อยแทนไปก่อนก็ได้ โดยเลือกผลไม้ชนิดที่มีไฟเบอร์สูง เพราะจะทำให้อิ่มท้องง่าย และวิตามินแร่ธาตุต่างๆ ก็ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าของหวานอื่นๆ อีกด้วย

2ห้ามงดมื้อเช้า

ในช่วงเช้าหลังตื่นนอน จะเป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในร่างกายต่ำกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายได้เผาผลาญน้ำตาลไปตลอดทั้งคืน การทานมื้อเช้า จะช่วยเติมระดับน้ำตาลให้กลับมาเป็นปกติได้ แต่ถ้าหากว่าไม่ได้ทานมื้อเช้า และร่างกายยังอยู่ในภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เรารู้สึกหิวหวาน ต่อให้มีเค้กมาตั้ง 3 ปอนด์ก็สามารถทานได้หมดแบบไม่รู้ตัว

3ดื่มน้ำเปล่า

ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้ขับน้ำตาลและสารพิษต่าง ๆ ออกมาพร้อมกับปัสสาวะ พร้อมกันนี้ก็ช่วยให้เกิดความอิ่มมากขึ้น จนทำให้ไม่สามารถทานของหวานเพิ่มได้

4ลดปริมาณการทานของหวานลง

วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เสพติดความหวานอย่างรุนแรง จากเดิมที่เคยทานตลอด 7 วัน อาจจะเปลี่ยนเป็นวันเว้นวัน แล้วก็ลดลงไปเรื่อย ๆ วันไหนไม่ไหวจริง ๆ ก็ให้เลือกของหวานที่ต้องการมากที่สุดมา 1 ชนิด แล้วทานเพียงแค่คำเดียวเพื่อลดความรู้สึกอยากลง

5ห้ามซื้อขนมมาตุน

ด้วยความเคยชินจากการเสพติดน้ำตาลเป็นเวลานาน อาจจะทำให้หลายเผลอซื้อขนมมาตุนไว้เหมือนที่เคยทำ และผลสุดท้ายก็จะต้องมีการเก็บกินในที่สุดเนื่องจากเสียดาย ถ้าหากว่าคุณกำลังตั้งใจรักษาภาวะติดหวาน ก็ควรยับยั้งชั่งใจในเรื่องนี้ให้มากเป็นพิเศษ อย่าคิดแต่ว่าแค่ถุงเดียว เพราะสุดท้ายคุณก็จะซื้อมาทั้งหมดอยู่ดี

เรื่องของการเสพติดน้ำตาล เป็นเรื่องใหญ่มากในประเทศไทย เพราะก่อให้เกิดผู้ป่วยจำนวนมาก และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ใครที่ยังเสพติดความหวานอยู่ ก็ควรลด ละ เลิก ด้วยวิธีการที่เราแนะนำมา จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายในอนาคตได้แบบไม่น่าเชื่อ


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
What’s Worse for You: Sugar or Artificial Sweetener?. Health Essentials from Cleveland Clinic. (https://health.clevelandclinic.org/whats-worse-sugar-or-artificial-sweetener/)
How to Get Over Your Sugar Addiction. Psychology Today. (https://www.psychologytoday.com/us/blog/shrink/201209/how-get-over-your-sugar-addiction)
Sugar Addiction Facts: Cravings, Hidden Sugar, and More. WebMD. (https://www.webmd.com/diet/ss/slideshow-sugar-addiction)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)