เจ็บคอ (Sore Throats)

อาการเจ็บคอ ภาวะแทรกซ้อน สาเหตุ และวิธีการรักษาอาการเจ็บคอ
เผยแพร่ครั้งแรก 23 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
เจ็บคอ (Sore Throats)

เกี่ยวกับอาการเจ็บคอ

อาการเจ็บคอ (Sore throats) คือภาวะที่พบได้บ่อยและไม่น่ากังวลใด ๆ ส่วนมากอาการนี้จะหายได้เองภายในหนึ่งสัปดาห์

อาการเจ็บคอส่วนมากเกิดจากโรคชนิดไม่รุนแรงต่าง ๆ อย่างไข้และหวัดที่สามารถรักษาเองที่บ้านได้ง่าย ๆ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อาการแทรกซ้อน หรือโรคที่อาจเกิดต่อเนื่อง

อาการเจ็บคอมักเป็นอาการเริ่มต้นของ:

  • ไข้หวัดธรรมดาหรือไข้หวัดใหญ่ : คุณอาจมีอาการคัดจมูกหรือจมูกตัน ไอ มีไข้สูง ปวดศีรษะ และปวดเนื้อตามตัวร่วมด้วย
  • ภาวะกล่องเสียงอักเสบ (laryngitis) : คุณอาจมีอาการเสียงแหบ ไอแห้ง และมีความรู้สึกอยากขับเสลดตลอดเวลา
  • ภาวะทอนซิลอักเสบ (tonsillitis) : คุณอาจมีไข้ ร่วมกับพบว่าต่อมทอนซิลแดงหรือมีจุดบนทอนซิล มีความไม่สบายขณะกลืน
  • คออักเสบ (การติดเชื้อแบคทีเรียที่คอ) : คุณอาจมีต่อมในคอบวม มีความไม่สบายขณะกลืน และมีภาวะทอนซิลอักเสบ
  • โรคไข้และต่อมน้ำเหลืองโต (glandular fever) : คุณอาจมีอาการเหน็ดเหนื่อยรุนแรง มีไข้ และมีต่อมในคอบวมโต

อาการนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้ จากบางสิ่งที่ไปสร้างความระคายเคืองแก่ลำคอของคุณ เช่น ฝุ่น ควัน โรคกรดไหลย้อน (gastro-oesophageal reflux disease) และภูมิแพ้ เป็นต้น

นอกจากนี้ อาการเจ็บคอยังอาจเป็นสัญญาณที่เกิดขึ้นไม่บ่อยของโรคภัยไข้เจ็บต่อไปนี้

  • ฝีที่หลังลำคอ (quinsy) : ความเจ็บปวดที่เกิดจากฝีนี้ อาจมีความรุนแรงจนทำให้กลืนลำบากได้
  • ภาวะฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ (epiglottitis) : ความเจ็บปวดที่เกิดจากภาวะนี้อาจมีความรุนแรงจนทำให้หายใจหรือกลืนลำบาก

ภาวะเหล่านี้มีความรุนแรงค่อนข้างมาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีที่คุณมีสัญญาณดังกล่าว

สาเหตุของอาการเจ็บคอ

สาเหตุของอาการเจ็บคอมักจะไม่ชัดเจน แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดจากภาวะติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส อย่างเช่น ไข้หวัด

ประเภทการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่มักทำให้เกิดอาการเจ็บคอและพบได้มากที่สุด มีดังนี้:

  • เชื้อไรโนไวรัส (rhinovirus) โคโรนาไวรัส (coronavirus) และไวรัสพาราอินฟูลเอนซา (parainfluenza) ที่มักทำให้เกิดหวัดทั่วไป : ไวรัสเหล่านี้เองที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ
  • แบคทีเรีย streptococcal ชนิดต่างๆ : แบคทีเรีย streptococcal กลุ่ม A ทำให้เกิดอาการเจ็บคอในผู้ใหญ่ที่ 10% และในเด็กมากกว่า 1 ใน 3 ส่วนกลุ่ม C กับ G ก็ถูกคาดว่าเป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอเช่นกัน

แบคทีเรียและไวรัสประเภทอื่น ๆ ที่เป็นต้นเหตุของอาการเจ็บคอและพบได้น้อยกว่า 5% มีดังนี้:

  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A และ B
  • อะดีโนไวรัส (adenovirus) : ไวรัสที่ทำให้เกิดภาวะเยื่อตาอักเสบ (conjunctivitis)
  • ไวรัส herpes simplex ชนิด 1 : สาเหตุของโรคเริม (cold sores)
  • Epstein-Barr virus (EBV) : สาเหตุของโรคไข้และต่อมน้ำเหลืองโต (glandular fever)

ส่วนแบคทีเรียและไวรัสหายากชนิดอื่นๆ นั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอน้อยกว่า 1%

สาเหตุจากการติดเชื้อ

แบคทีเรียหรือไวรัสที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอนั้น มักจะมาจากการติดเชื้อจากผู้ที่กำลังมีเชื้ออยู่ ยกตัวอย่างเช่น การติดหวัดจากละอองสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มาจากการไอ จาม หรือการพูดคุย

หากคุณหายใจนำละอองเหล่านี้เข้าไป หรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส แล้วนำมือเปื้อนเชื้อไปสัมผัสใบหน้าตนเอง คุณก็มีโอกาสติดเชื้อได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เมื่อคุณติดเชื้อ จะเกิดอาการเจ็บคอขึ้นสองประเภท ดังนี้

  • ภาวะผนังช่องคออักเสบ (pharyngitis) : พื้นที่บริเวณหลังช่องคอของคุณเกิดการอักเสบ
  • ทอนซิลอักเสบ (tonsillitis) : ต่อมทอนซิล (ก้อนเนื้อเยื่อที่อยู่ขนาบข้างลำคอสองด้าน) เกิดการอักเสบ

สาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ

เป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอที่พบเห็นไม่บ่อย มีดังนี้

  • อาการระคายเคืองจากควันบุหรี่หรือแอลกอฮอล์
  • อาการระคายเคืองจากการสอดสายยางกระเพาะอาหาร (nasogastric tube) (สอดผ่านจมูกเข้าไปยังกระเพาะอาหาร เพื่อป้อนอาหารเหลวเข้าไปในกรณีที่คุณไม่สามารถทานอาหารแข็งได้)
  • โรคกรดไหลย้อน (gastro-oesophageal reflux disease) : ภาวะที่ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นจากกระเพาะไปยังหลอดอาหาร
  • กลุ่มอาการ Stevens-Johnson : เป็นปฏิกิริยาจากการแพ้ยารุนแรงมาก
  • โรค Kawasaki : ภาวะหายากที่ส่งผลต่อเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
  • ภูมิแพ้ : เช่น ไข้ละอองฟาง (hay fever) (ปฏิกิริยาแพ้ละอองเกสรหรือสปอร์) ในกรณีหายากอาจทำให้เกิดอาการเจ็บคอ
  • ภาวะเลือดผิดปกติ เช่น ลิวคีเมีย (leukaemia) (มะเร็งไขกระดูก) หรือโรคโลหิตจางจากกระดูกฝ่อ (aplastic anaemia) (ภาวะที่ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเซลล์เลือดได้เพียงพอ)
  • ภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ (oral mucositis) ที่เกิดจากการทำรังสีบำบัดหรือเคมีบำบัด

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

คุณไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เมื่อมีอาการเจ็บคอ ยกเว้นในกรณีที่เกิดสิ่งต่อไปนี้

  • คุณมีอาการรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการดูแลตนเอง
  • คุณมีอาการเจ็บคอเรื้อรังที่ไม่ทุเลาลงหลังผ่านไปแล้วหนึ่งสัปดาห์
  • คุณประสบกับอาการเจ็บคอบ่อยครั้ง
  • คุณมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ : ยกตัวอย่างเช่น มีเชื้อ HIV กำลังเข้ารับการทำเคมีบำบัด หรือกำลังใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่

นอกจากนี้ คุณควรไปแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน (A&E) ในโรงพยาบาลทันทีหากเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น

  • อาการของคุณรุนแรงหรือทรุดลงเร็วมาก
  • คุณมีอาการหายใจลำบาก
  • ขณะหายใจมีเสียงหวีดสูงออกมา
  • คุณมีอาการกลืนอาหารลำบาก
  • คุณเริ่มมีน้ำลายไหล

การรักษาอาการเจ็บคอ

อาการเจ็บคอมักไม่ใช่ภาวะร้ายแรง และมักจะหายไปเองภายใน 3-7 วัน โดยระหว่างนี้คุณสามารถบรรเทาอาการเองได้ที่บ้าน โดย:

  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือพาราเซตามอล (paracetamol) : ยาพาราเซตามอลจะเหมาะสำหรับเด็กและผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาไอบูโพรเฟน (เช่น ผู้ที่เป็นหอบหืด ผู้ที่มีปัญหากับกระเพาะอาหาร และผู้ที่มีปัญหากับตับ) โดยปฏิบัติตามคู่มือหรือฉลากยาเพื่อป้องกันการใช้ยาเกินขนาด
  • ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ให้เพียงพอ แต่ต้องเลี่ยงการดื่มน้ำที่ร้อนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น
  • ทานอาหารที่นิ่ม และอุ่นหรือเย็น
  • เลี่ยงการสูบบุหรี่และอยู่ในที่ที่มีควัน
  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลือบ้วนปากอุ่น ๆ ที่ทำเอง
  • อมยาอม ลูกอม หรือน้ำแข็ง : ไม่ควรให้เด็กเล็กอมของที่มีชิ้นเล็กและอมยาก เพราะอาจทำให้พวกเขาสำลัก

ผลิตภัณฑ์ประเภทลูกอมยาและสเปรย์สำหรับอาการเจ็บคอที่วางขายตามร้านขายยา ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าสามารถบรรเทาอาการเจ็บคอได้จริง แต่หากคุณต้องการจะลองก็สามารถทำได้

ส่วนยาปฏิชีวนะ มักไม่ได้ถูกนำมาใช้รักษาอาการเจ็บคอ แม้ว่าจะเป็นอาการที่มาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เพราะยากลุ่มนี้มักไม่ทำให้คุณฟื้นตัวเร็วขึ้น และยังทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย

ยาปฏิชีวนะมักจะนำมาใช้รักษาอาการเจ็บคอก็ต่อเมื่อ:

  • อาการเจ็บคอของคุณมีความรุนแรงเป็นพิเศษ
  • คุณมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง : ยกตัวอย่างเช่น คุณมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากเชื้อ HIV หรือเบาหวาน (diabetes)
  • คุณมีความเสี่ยงที่อาจจะมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ : จากการได้รับยาที่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกัน เช่น carbimazole ที่ใช้รักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน
  • คุณมีประวัติเป็นโรคไข้รูมาติก (rheumatic fever) (ภาวะที่ทำให้การอักเสบลุกลามไปทั่วร่างกาย)
  • คุณเป็นโรคลิ้นหัวใจ (valvular heart disease) (โรคที่ส่งผลต่อลิ้นหัวใจที่ใช้ควบคุมการไหลเวียนโลหิต)
  • คุณมีประวัติติดเชื้อซ้ำซากจากแบคทีเรีย streptococcus กลุ่ม A

หากแพทย์คาดว่าคุณจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แพทย์อาจจะจัดยาให้ได้ แต่ต้องขอให้คุณรออย่างน้อยสามวันเพื่อดูว่าอาการของคุณดีขึ้นหรือไม่

การใช้วิธีให้ยาปฏิชีวนะล่าช้า จะให้ผลไม่ต่างกับการใช้ยาแบบทันที แต่คุณต้องเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อไม่จำเป็นจริง ๆ เพื่อป้องกันการดื้อยา

การรักษาอาการเจ็บคอโดยแพทย์

หากคุณมีอาการเจ็บคอเรื้อรัง แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การตัดต่อมทอนซิล (tonsillectomy) : หากคุณมีภาวะติดเชื้อที่ต่อมทอนซิลซ้ำซาก แพทย์อาจพิจารณาการตัดต่อมทอนซิลออก
  • หากคุณมีอาการเจ็บคอเรื้อรัง (ครั้งหนึ่งแต่ยาวนานมาก 3-4 สัปดาห์) : แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการทดสอบเพิ่มเติม เนื่องจากอาการเจ็บคอนี้อาจเป็นอาการของภาวะร้ายแรงอื่น ๆ ได้ ดังนี้
    • โรคไข้และต่อมน้ำเหลืองโต : หากคุณมีอายุ 15-25 ปีที่มีอาการเจ็บคอเรื้อรังคุณอาจเป็นโรคไข้และต่อมน้ำเหลืองโตได้ (glandular fever, infectious mononucleosis หรือ mono)
    • มะเร็ง : อาการเจ็บคออาจเป็นอาการของมะเร็งบางประเภท เช่น มะเร็งลำคอ โดยมะเร็งประเภทนี้นับว่าหายาก และมักเกิดกับผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี
    • การสูบบุหรี่ : การเลิกสูบบุหรี่ จะลดการระคายเคืองในลำคอ และเพิ่มระดับการป้องกันภาวะติดเชื้อของร่างกายขึ้น ซึ่งแพทย์สามารถช่วยเหลือในเรื่องการเลิกบุหรี่ของคุณได้ด้วย

การป้องกันอาการเจ็บคอ

อาการเจ็บคอมักเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย จึงเป็นการยากที่จะทำการป้องกัน

แต่หากคุณมีอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อ คุณสามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ ด้วยการดูแลความสะอาด เช่น ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ และทำความสะอาดพื้นผิวสิ่งของให้ปลอดเชื้อโรคอยู่เสมอ


20 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Sore Throat | Community | Antibiotic Use. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/antibiotic-use/community/for-patients/common-illnesses/sore-throat.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
เจ็บคอ สาเหตุ อาการ วิธีรักษาป้องกัน และการดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการเจ็บคอ
เจ็บคอ สาเหตุ อาการ วิธีรักษาป้องกัน และการดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการเจ็บคอ

เจ็บคอเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีวิธีการรักษาที่ต่างกัน ไม่จำเป็นต้องกินยาทุกครั้ง

อ่านเพิ่ม
เจ็บคอเวลากลืนน้ำลาย เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?
เจ็บคอเวลากลืนน้ำลาย เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?

อาการเจ็บคอเกิดจากอะไร รุนแรงได้แค่ไหน รักษาได้อย่างไรบ้าง รวมข้อมูลทั้งหมดไว้ที่นี่

อ่านเพิ่ม
เข้าใจอาการกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ และวิธีรักษา
เข้าใจอาการกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ และวิธีรักษา

เรียนรู้หลากหลายสาเหตุของอาการเจ็บคอ เพื่อหาแนวทางการรักษาหรือใช้ยาที่บรรเทาอาการได้ตรงจุด

อ่านเพิ่ม