ความรู้เรื่อง ระบบโครงกระดูก

เข้าใจหน้าที่ของระบบโครงกระดูก เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อกระดูก และดูแลรักษาระบบโครงกระดูกให้แข็งแรง
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ธ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ความรู้เรื่อง ระบบโครงกระดูก

ระบบโครงกระดูก (Skeletal system) เป็นระบบที่มีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์อย่างมาก ทั้งยังมีลักษณะพิเศษเฉพาะและหน้าที่ที่ซับซ้อน

นอกจากนี้ ระบบโครงกระดูกยังเป็นระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนถึงวัยสูงอายุ การทำความเข้าใจหน้าที่สำคัญของระบบกระดูก การเรียนรู้พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากส่งผลเสียต่อระบบโครงกระดูก และวิธีการดูแลรักษาระบบโครงกระดูกให้แข็งแรง จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

หน้าที่ที่สำคัญของระบบโครงกระดูกมีอะไรบ้าง?

ระบบโครงกระดูกเป็นอีกหนึ่งระบบที่สำคัญของร่างกาย ที่มีกระบวนการทำงานซับซ้อนและเกี่ยวเนื่องกับระบบอื่นๆ มีหน้าที่หลากหลาย

หน้าที่หลักของระบบโครงกระดูก มีดังนี้

1. ระบบโครงกระดูกช่วยปกป้องอวัยวะภายใน

กระดูกส่วนกะโหลกปกป้องสมอง กระดูกซี่โครงปกป้องปอดและอวัยวะภายใน เป็นต้น

2. ระบบโครงกระดูกเป็นแหล่งสะสมไขมันและผลิตเกล็ดเลือดและเม็ดเลือดให้แก่ร่างกาย

ภายในกระดูกชนิดยาวมีลักษณะเป็นโพรงกลวง เรียกว่าไขกระดูก (Bone marrow) สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามสีของไขกระดูก

ไขกระดูกแต่ละชนิดมีหน้าที่ดังนี้

  1. ไขกระดูกเหลือง (Yellow bone marrow) บรรจุเซลล์ไขมัน (Adipose cell) ที่มีไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides) เป็นองค์ประกอบ ไตรกลีเซอไรด์ที่สะสมไว้ในกระดูกนี้สามารถถูกส่งกลับมาเป็นพลังงานแก่ร่างกายเมื่อจำเป็นได้
  2. ไขกระดูกแดง (Red bone marrow) ทำหน้าที่ผลิตเกล็ดเลือด เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว

การทำงานของไขกระดูกนี้มีความน่าสนใจมาก เพราะในวัยเด็กไขกระดูกแดงในร่างกายจะมีปริมาณมากกว่าไขกระดูกเหลืองมาก แต่เมื่ออายุมากขึ้น ปริมาณไขกระดูกแดงจะค่อยๆ ลดลง ในขณะที่จำนวนของไขกระดูกเหลืองจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

จนเมื่ออายุประมาณ 25 ปี ไขกระดูกแดงจะพบได้มากที่บริเวณกระดูกแกนกลางลำตัวเท่านั้น ไม่ค่อยพบได้ที่กระดูกรยางค์ เช่น แขน หรือขา

3. ระบบโครงกระดูกเป็นแหล่งสะสมเกลือแร่ที่สำคัญของร่างกาย

กระดูกชนิดยาวสามารถแบ่งออกเป็นสองชั้น เมื่อถูกผ่าออกตามแนวยาว ชั้นนอกที่มีเนื้อแน่น (Compact bone) เกิดจากการสะสมแร่ธาตุที่สำคัญหลายชนิด เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส

เมื่อปริมาณแร่ธาตุในกระแสเลือดต่ำลง ร่างกายมีความต้องการแร่ธาตุมากขึ้น แร่ธาตุที่ถูกสะสมไว้ในกระดูกจะสามารถถูกเปลี่ยนให้กลับมาอยู่ในกระแสเลือดได้

หากแร่ธาตุในกระแสเลือดมีปริมาณมากกเกินความต้องการของร่างกาย ก็จะถูกนำไปสะสมไว้ที่กระดูก นับว่ากระดูกเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในกระบวนการรักษาสมดุลเกลือแร่ของร่างกาย

4. ระบบโครงกระดูกค้ำจุนโครงร่างของร่างกาย

เนื่องจากกระดูกเป็นโครงร่างแข็ง จึงช่วยพยุงให้มนุษย์มีร่างกายคงที่ อวัยวะอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

5. ระบบโครงกระดูกสนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย

กระดูกสองชิ้นต่อกันทำให้เกิดข้อต่อ (Joint) และเนื่องจากกระดูกเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวจึงทำให้เกิดการงอของข้อต่อ และเกิดการเคลื่อนไหวของร่างกายนั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

พฤติกรรมใดบ้างที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อความแข็งแรงของระบบโครงกระดูก?

การดูแลสุขภาพของกระดูกเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเป็นอวัยวะที่ต้องใช้ไปตลอดชีวิต

พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อกระดูกที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้

  1. ทำกิจกรรมที่ทำให้มีการเสียดสีของข้อต่อมาก หากจำเป็นต้องทำ ควรเลือกอุปกรณ์ช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับกระดูกขณะออกกำลังกาย เช่น เลือกรองเท้าที่เหมาะสม หรือหากจะออกกำลังกายผาดโผนที่อาจจะทำให้กระดูกหัก จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
  2. รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง เนื่องจากมีผลให้อัตราการดูดซึมแคลเซียมต่ำลง นอกจากนี้ยังมีผลต่อการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะให้สูงขึ้นกว่าปกติด้วย
  3. รับประทานโปรตีนปริมาณมาก มีรายงานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานโปรตีนและการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ หากรับประทานโปรตีนมาก จะส่งผลให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากกว่าปกติ
  4. ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะคาเฟอีนมีฤทธิ์ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม และเพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ
  5. สูบบุหรี่ เนื่องจากมีผลให้เลือดมีความเป็นกรดสูงขึ้น ร่างกายจึงต้องสลายแคลเซียมจากกระดูกมาเพื่อลดความเป็นกรดลง นอกจากนี้สำหรับผู้หญิง สารบางชนิดในบุหรี่ยังทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของกระดูกผิดปกติจนอาจจะเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนได้ด้วย
  6. ดื่มน้ำอัดลม เชื่อกันว่ากรดฟอสฟอริกในน้ำอัดลมจะทำให้ปริมาณฟอสฟอรัสในเลือดสูงขึ้น ร่างกายจำเป็นต้องสลายแคลเซียมออกมาเพื่อรักษาสมดุลของเกลือแร่ในกระแสเลือด จึงอาจจะกล่าวได้ว่า การดื่มน้ำอัดลมเพิ่มอัตราการสลายแคลเซียมจากกระดูกได้
  7. รับประทานยาบางชนิด อาจส่งผลต่อกระบวนการรักษาสมดุลแคลเซียมของร่างกายได้

วิธีการดูและรักษา และเพิ่มความแข็งแรงของระบบโครงกระดูก ทำได้อย่างไรบ้าง?

วิธีการดูแลรักษาสุขภาพของกระดูกให้แข็งแรงนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ข้อที่สำคัญ ดังนี้

1. การเลือกรับประทานอาหาร

การรับประทานอาการให้ครบ 5 หมู่ และรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอ เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย ชีส หลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลเสียต่อกระบวนการรักษาสมดุลของแคลเซียมในร่างกายดังที่ได้แนะนำไว้เบื้องต้น

นอกจากนี้ หากวางแผนจะตั้งครรภ์หรือเป็นผู้สูงอายุ การปรึกษาแพทย์เพื่อเสริมแคลเซียมอาจเป็นเรื่องจำเป็น

2. การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อส่งเสริมสุขภาพของระบบโครงกระดูกนั้น โดยทั่วไปมักจะแนะนำให้เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง เพราะร่างกายสามารถสังเคระห์วิตามิน ซึ่งมีส่วนอย่างมากต่อสุขภาพของกระดูกโดยการกระตุ้นจากแสงแดด

การเลือกประเภทกีฬาต้องเหมาะสมกับอายุและสภาพร่างกายเป็นเรื่องสำคัญมาก ในวัยรุ่นอาจจะมีข้อจำกัดไม่มาก แต่สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ และผู้สูงอายุ อาจต้องใส่ใจส่วนนี้เป็นพิเศษ

เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจควรออกกำลังกายตามความหนักที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ ผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุนควรเลือกการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่อข้อต่อน้อยๆ เช่น การออกกำลังกายในน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระพรุนควรได้รับการตรวจมวลกระดูกตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันและวางแผนการดำเนินชีวิตให้เกมาะสมกับสภาพกระดูกของแต่ละคนต่อไป


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ต่อพงษ์ บุญมาประเสริฐ, DEGENERATIVE DISEASES OF THE CERVICAL SPINE, หน่วยโรคกระดูกสันหลัง ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
กู้เกียรติ ทุดปอ, Anatomy of Musculoskeletal System, กายวิภาควิทยาศาสตร์และสรีรวิทยาพื้นฐานสำหรับงานสาธารณสุข, ไม่ปรากฎปีที่เผยแพร่.
Porter GA, Gurley M, Roth SI. Bone. In: Sternberg SS, editor. Histology for pathologist. 2nd ed. Philadelphia: Lippincott-Raven; 1997.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)