การดูแลตนเองเมื่อใส่เฝือก

ข้อควรปฏิบัติขณะที่ใส่เฝือก รวมถึงข้อควรระวังหากเกิดอาการผิดปกติ
เผยแพร่ครั้งแรก 13 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
การดูแลตนเองเมื่อใส่เฝือก

สำหรับหลายคนที่เพิ่งเกิดอุบัติเหตุครั้งแรกจนถึงขั้นต้องใส่เฝือกที่อวัยวะต่างๆ อาจจะยังไม่คุ้นเคยและไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใส่เฝือก รวมถึงจะดูแลอาการบาดเจ็บระหว่างที่ใส่เฝือกอย่างไรดี ซึ่งเราจะมาหาคำตอบกันได้จากบทความนี้

ทำไมกระดูกหักต้องใส่เฝือก?

การใส่เฝือกคือวิธีการรักษากระดูกหักที่สำคัญ เฝือกจะคงตำแหน่งกระดูกหักให้อยู่กับที่ กระดูกที่สร้างใหม่จะได้ติดเร็วขึ้นและติดในตำแหน่งที่ถูกต้อง นอกจากนั้นเฝือกยังช่วยป้องกันไม่ให้กระดูกเคลื่อนหรือหักซ้ำ ป้องกันการกระแทกและการเคลื่อนที่ของกระดูกหัก จึงช่วยลดอาการปวด และเมื่อกระดูกอยู่กับที่ เนื้อเยื่อต่างๆ ลดการเสียดสี จึงลดโอกาสบวมด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เฝือกมีกี่ประเภท?

เฝือกที่นิยมใช้กันในปัจจุบันจะมีด้วยกัน 2 ประเภท ดังนี้

  • เฝือกปูนมาตรฐาน (cast) เฝือกปูนคือ เฝือกที่หุ้มโดยรอบเนื้อเยื่อหรือกระดูกที่หัก จึงยึดกระดูกหักคงที่ได้ดี
  • เฝือกดาม (splint) ในขณะที่เฝือกดามคือ เฝือกด้านเดียว (ประมาณครึ่งหนึ่งของเฝือกปูน) และพันรอบด้วยผ้า ดังนั้นจึงคงกระดูกให้อยู่กับที่ได้น้อยกว่าเฝือกปูนและถอดออกได้ง่ายกว่า ทั้งนี้ข้อบ่งชี้จะเลือกว่าใช้เฝือกปูนหรือเฝือกดามขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

เฝือกทำมาจากอะไร?

เฝือกอาจทำจากปูนปลาสเตอร์หรือไฟเบอร์กลาส ถ้าเป็นปูนปลาสเตอร์จะมีราคาถูกกว่า หนักกว่า ระบายอากาศได้น้อยกว่า และเปียกน้ำได้ง่ายกว่า 

ส่วนไฟเบอร์กลาสจะมีราคาแพงกว่า แต่น้ำหนักเบากว่า คงทนกว่า และดูดซึมน้ำได้น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ด้านในสัมผัสกับผิวหนังของเฝือกทั้งแบบปูนปลาสเตอร์และไฟเบอร์กลาสจะเป็นผ้าฝ้ายเช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อเปียกน้ำจะก่อความรำคาญ ก่ออาการคัน และเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง แผล (เมื่อกระดูกหักร่วมกับมีแผล) 

ระยะเวลาในการใส่เฝือกทั้งสองชนิดขึ้นกับอาการบวมว่ามากหรือน้อยชนิดของกระดูกหัก การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด การกินอาหารที่เพิ่มการสร้างมวลกระดูก การเกิดกระดูกใหม่ ตรวจได้จากภาพเอกซเรย์ และดุลยพินิจของแพทย์

การดูแลตนเองขณะใส่เฝือก

ในระหว่างการใส่เฝือกจะถูกจำกัดการเคลื่อนไหวมาก เนื่องจากกระดูกและแผลยังไม่สมานกัน ฉะนั้นการดูแลตัวเองอย่างดีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาการหายไวขึ้น รายละเอียดมีดังต่อไปนี้

  • ดูแลเฝือกให้แห้งเสมอ เพราะหากน้ำซึมเข้าเฝือกจะส่งผลให้เกิดอาการดังที่กล่าวมาแล้ว จึงไม่ควรอาบน้ำในอ่างอาบน้ำหรือใช้ฝักบัว ควรใช้ขันตักราด โดยใช้แผ่นพลาสติกคลุมอาหารพับปิดเฝือกให้แน่น ป้องกันน้ำเข้าในช่วงอาบน้ำ แต่เมื่อภายในเฝือกเปียกน้ำ อาจลองเป่าด้วยเครื่องเป่าผมโดยใช้ความร้อนต่ำมากๆ หรือใช้เพียงลมเป่าให้แห้ง

  • พยายามยกส่วนที่ใส่เฝือกให้สูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต

  • กระดิกนิ้วมือ นิ้วเท้าเสมอ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวและการไหลเวียนโลหิต ลดอาการบวมและอาการชาเนื่องจากเฝือกกด

  • เมื่อรู้สึกปวด อาจวางถุงน้ำแข็งบนเฝือกส่วนที่ปวดได้นานครั้งละประมาณ 10-15 นาที (ระวังอย่าให้เฝือกเปียก ใช้วิธีการเดียวกับการอาบน้ำ)

  • เมื่อรู้สึกคัน ไม่ควรแหย่สิ่งใดๆ เข้าไปในเฝือกเพื่อเกา เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เฝือกฉีกขาด อาจเสียการพยุงกระดูกให้อยู่กับที่อาจเป็นสาเหตุให้ผิวหนังติดเชื้อได้จากแผลเกา ลองใช้การเป่าลมเย็นอาจช่วยได้ หรือกินยาแก้คัน (ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรก่อนซื้อยา)

  • รักษาความสะอาด และระมัดระวังไม่ให้เศษผง ฝุ่น ทราย และอื่นๆ หล่นเข้าไปอยู่ในเฝือก

  • อย่าใส่หรือสอดสิ่งของเข้าไปในเฝือก

  • ระมัดระวังไม่ให้เฝือกแตกหรือฉีก อย่าฉีกเฝือกเองเมื่อรู้สึกว่าเฝือกแน่นเกินไป แต่ควรรีบพบแพทย์

  • เมื่อขอบเฝือกฉีกขาด ไม่ควรตัดขอบเฝือกเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์

  • การป้องกันกลิ่นจากเฝือกคือ รักษาเฝือกให้แห้งอยู่เสมอ แต่เมื่อเฝือกเริ่มมีกลิ่น อาจเช็ดทำความสะอาดด้วยผงฟู แต่ถ้ายังมีกลิ่นอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ อาจต้องเปลี่ยนเฝือก

  • เมื่อใส่เฝือกแขน การห้องแขนด้วยผ้าจะช่วยพยุงน้ำหนักเฝือกได้ดี

  • เมื่อใส่เฝือกขา ไม่ควรเดินโดยใช้เฝือก เพราะเฝือกอาจฉีก แตกเสียหายได้ ควรสวมรองเท้าเสมอ (ขอคำแนะนำจากแพทย์ พยาบาล หรือนักกายภาพบำบัด เรื่องการใส่รองเท้าและชนิดของรองเท้า)

  • ไม่ควรใช้แขนหรือขาด้านใส่เฝือกจนกว่าแพทย์จะอนุญาต (การต้องฝึกใช้เครื่องพยุงช่วยในการเดิน) และหลังจากนั้นควรใช้แขนหรือขาด้านใส่เฝือกตามที่แพทย์ พยาบาล หรือนักกายภาพบำบัดแนะนำอย่างเคร่งครัด

  • ออกกำลังกายด้วยประเภทกีฬาตามที่แพทย์ พยาบาล หรือนักกายภาพบำบัดแนะนำ

  • ตรวจสภาพเฝือกด้วยตนเองทุกวัน หากเฝือกฉีกขาด ชำรุด หรือ หลวม ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด

  • ตรวจสุขภาพมือ เท้า นิ้ว ด้านใส่เฝือกทุกสัน รีบพบแพทย์เมื่อพบความผิดปกติ เช่น เขียวคล้ำ หรือชา

ระหว่างใส่เฝือกหากเกิดอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์ด่วน

ควรรีบพบแพทย์โดยด่วนภายใน 24 ชั่วโมงหากมีอาการ ดังนี้

  • รู้สึกเฝือกแน่นมากจนเจ็บหรือปวด

  • นิ้วมือหรือนิ้วเท้าในส่วนในเฝือกกระดิกหรือขยับไม่ได้

  • ปวดส่วนที่ใส่เฝือกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่ดีขึ้นหลังกินยาบรรเทาปวดหรือวางน้ำแข็ง

  • ส่วนที่ใส่เฝือก เหนือเฝือก ใต้เฝือก หรือมือ/เท้าส่วนที่ใส่เฝือกบวมมากขึ้นเรื่อยๆ

  • ผิวในส่วนที่ใส่เฝือกเย็นผิดปกติหรือมีสีเขียวคล้ำ

  • ชาหรือรู้สึกเจ็บแปลบในส่วนที่ใส่เฝือกตลอดเวลา

  • เฝือกมีกลิ่นเหม็นเน่า หรือมีกลิ่นออกมาจากภายในเฝือก หรือมีเลือด หรือมีหนอง (เป็นอาการของการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง)

  • เมื่อของเฝือกแข็ง แหลมคม หรือบาดผัวหนัง

  • เมื่อเฝือกหลวมหรือฉีกขาดจนพยุงกระดูกไม่อยู่

  • เมื่อมีไข้

 


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Basic techniques for splinting of musculoskeletal injuries. UpToDate. (https://www.uptodate.com/contents/basic-techniques-for-splinting-of-musculoskeletal-injuries)
Splinting Technique: Application of Splints. Medscape. (https://emedicine.medscape.com/article/1997864-technique)
Splints and Casts: Indications and Methods. American Academy of Family Physicians (AAFP). (https://www.aafp.org/afp/2009/0901/p491.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
กระดูกหัก
กระดูกหัก

ทำความรู้จักกระดูกหักแต่ละชนิด เมื่อสงสัยว่ากระดูกหักจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร อ่านเลย!

อ่านเพิ่ม