ทีมแพทย์และเภสัชกร HonestDocs
เขียนโดย
ทีมแพทย์และเภสัชกร HonestDocs
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

การดูแลตนเองหลังฟอกไต

หลักการดูแลตนเองหรือคนใกล้ชิดหลังจาก ฟอกไต ทั้งฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม และฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร
เผยแพร่ครั้งแรก 17 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 13 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
การดูแลตนเองหลังฟอกไต

หลักการดูแลตนเองหรือคนใกล้ชิดหลังจาก ฟอกไต ทั้งฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม และฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร

การฟอกไต เป็นการนำเอาน้ำและของเสียออกจากเลือดของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สำหรับความถี่ในฟอกไตของผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับวิธีการฟอกไต ปัจจุบันการฟอกไตมี 2 แบบ ได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการฟอกไตที่แผนกไตเทียมของโรงพยาบาล หรือ คลินิคฟอกไต สัปดาห์ละ 2-4 ครั้ง และการฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร (Continuous Peritoneal Dialysis) ผู้ป่วยจะต้องฟอกไตด้วยตนเองที่บ้านทุกวัน วันละ 4 รอบ ซึ่งแม้ว่าการฟอกไตทั้งสองแบบจะเป็นไปเพื่อการรักษาผู้ป่วย แต่ก็สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ ดังนั้นผู้ป่วยและคนใกล้ชิดจึงควรมีหลักปฏิบัติหลังการฟอกไต เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ผลข้างเคียงที่เกิดหลังการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม

การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม เป็นการนำเลือดออกจากเส้นเลือดดำผ่านเส้นทางพิเศษที่แพทย์ผู้เชียวชาญด้านโรคไตจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เลือดดำจะถูกนำผ่านไปยังตัวกรองเพื่อฟอกของเสีย และน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายผู้ป่วย จากนั้นจึงนำเลือดที่มีของเสียและน้ำในปริมาณที่เหมาะสมกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยอีกครั้งทางหลอดเลือดดำ

การฟอกไตวิธีนี้ ผู้ป่วยจะมีแผลหรือทางเปิดของหลอดเลือดดำเพื่อนำเลือดออกไปฟอกผ่านตัวกรอง ขณะทำการฟอกเลือด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ดังนั้นหลังการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม อาจพบว่าผู้ป่วยบางรายมีภาวะเลือดออกง่าย หยุดยาก

นอกจากนี้แล้วยังมีผลข้างเคียงที่อาจพบได้อื่นๆ เมื่อกลับไปบ้าน เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเกิดจากการกำหนดปริมาณการดึงของเสียและน้ำออกจากร่างกายผู้ป่วยไม่เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยในขณะนั้น ควรแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบเพื่อปรับเปลี่ยนปริมาณการดึงของเสียและน้ำออกจากร่างกายผู้ป่วยในปริมาณที่เหมาะสมในครั้งต่อไป

อาการเลือดออกเพียงเล็กน้อยเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม กรณีผู้ป่วยที่ได้รับการทำเส้นเลือดเทียมที่แขนเพื่อเป็นทางออกของเลือดจากหลอดเลือดดำ เมื่อเสร็จสิ้นการฟอกเลือด พยาบาลจะใช้ม้วนผ้าก๊อซกดปิดบริเวณที่แทงเข็มและปิดพลาสเตอร์ไว้ ถ้ามีเลือดซึมจากแผล ให้ผู้ป่วยใช้ผ้าก๊อซ (หรือหากไม่สามารถหาผ้าก๊อซได้ให้ใช้ผ้าสะอาด) กดบริเวณที่แทงเข็มประมาณ 15-30 นาที ถ้าเลือดไม่หยุด หมายถึงเลือดออกผิดปกติ ให้ผู้ป่วยรีบกลับไปโรงพยาบาลเดิมที่ทำการฟอกไต หรือไปโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว

กรณีผู้ป่วยที่ได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดระหว่างการฟอกไต หลังฟอกไตแล้วอาจยังเหลือผลตกค้างของยาอยู่ สังเกตได้จากอาการเขียวช้ำที่ผิวหนัง

หลักการดูแลตัวเองหลังฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม

เมื่อฟอกไตเสร็จเรียบร้อยแล้วกลับไปที่บ้าน ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้

  1. สังเกตอาการเลือดออกจากแผลบริเวณที่แทงเข็ม โดยเฉพาะถ้าถูกแทงเข็มบริเวณเส้นเลือดเทียมที่แขน สังเกตดูว่าถ้าใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดกดบริเวณที่แทงเข็มไว้ 15-30 นาทีแล้ว เลือดยังไหลไม่หยุด ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
  2. ผู้ป่วยสามารถแกะพลาสเตอร์ปิดแผล และนำผ้าก๊อซออกจากแผลบริเวณที่แทงเข็ม หลังจากฟอกเลือดแล้ว 2-4 ชั่วโมง ผู้ป่วยบางรายที่มีแรงดันของเส้นเลือดมากอาจได้รับคำแนะนำจากแพทย์และพยาบาลให้ปิดแผลไว้นานถึง 6 ชั่วโมง ระหว่างนี้ห้ามให้แผลเปียกน้ำ หากพลาสเตอร์เปียก ให้เปลี่ยนผ้าก๊อซและพลาสเตอร์ใหม่เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผล
  3. ผู้ป่วยที่ได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดระหว่างการฟอกไต ควรระวังการกระทบกระแทกแรงๆ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการเขียวช้ำได้ง่าย หากมีการกระทบกระแทกและเกิดอาการเขียวช้ำ ให้ประคบเย็นทันที และประคบเย็นต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นให้ประคบด้วยน้ำอุ่นเพื่อให้อาการเขียวช้ำลดลง ถ้ามีแผลจากของมีคมบาด ให้ใช้ผ้าก๊อซสะอาดกดนานประมาณ 15-30 นาที เลือดจะหยุด ถ้าเลือดไม่หยุดไหลหรือบาดแผลใหญ่มาก ควรรีบไปโรงพยาบาล

ผลข้างเคียงที่เกิดหลังการฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร

การฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร เป็นวิธีการฟอกไตโดยใช้เยื่อบุภายในช่องท้องของผู้ป่วยเป็นตัวกรองของเสีย น้ำ และแลกเปลี่ยนเกลือแร่และกรดด่าง ผู้ป่วยจะเป็นผู้ปล่อยน้ำยาเข้าสู่ช่องท้อง โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก ผ่านทางรูเปิดบริเวณผิวหนังที่แพทย์คาสายล้างไตทางช่องท้องไว้ จากนั้นค้างน้ำยาไว้ในท้องเป็นเวลา 4-8 ชั่วโมง เมื่อครบเวลา น้ำยาล้างไตที่มีของเสียอยู่จะถูกปล่อยออกจากช่องท้อง และถูกแทนที่ด้วยน้ำยาใหม่ที่เติมเข้ามา ดังนั้น ผลข้างเคียงที่เกิดหลังการฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวรที่สำคัญจึงได้แก่ การติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่คาดสายล้างไตทางช่องท้องเอาไว้ กับอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบ

หลักการดูแลตัวเองหลังฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร

การฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร ผู้ป่วยจะเป็นผู้ให้การดูแลตนเองเป็นหลัก และแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาพบเพื่อติดตามอาการ ทุก 2-4 เดือน  นอกจากผู้ป่วยจะปฏิบัติตนตามขั้นตอนการเปลี่ยนน้ำยาล้างไตอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่คาสายล้างไตทางช่องท้องและเยื่อบุช่องท้องแล้ว ยังควรจะปฏิบัติดังนี้

  1. ติดตามประเมินอาการแสดงของภาวะติดเชื้อของตน ซึ่งได้แก่ มีไข้ ปวดบริเวณแผลหรือในช่องท้อง น้ำยาล้างไตมีสีขุ่น มีหนองหรือเลือดไหลออกจากแผลหน้าท้อง หากพบอาการดังกล่าว ควรมาพบแพทย์ทันที
  2. ขณะอยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยควรทำแผลช่องสายออกด้วยขั้นตอนที่ถูกต้อง เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในเรื่องการติดเชื้อบริเวณแผลและเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ควรทำความสะอาดแผลบริเวณหน้าท้องทุกวัน วันละ 1 ครั้ง สถานที่สำหรับการทำความสะอาดแผลควรเป็นห้องที่ไม่มีลมโกรก จึงต้องปิดประตู หน้าต่าง พัดลม ถ้าเป็นห้องปรับอากาศไม่ควรให้กระแสลมจากเครื่องปรับอากาศตกสู่ผู้ป่วยโดยตรง เป็นสถานที่ที่สะอาด ไม่มีผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการทำแผลและไม่ควรมีสัตว์เลี้ยงอยู่บริเวณนั้น ผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือในการทำแผล (ถ้ามี) ถอดแหวน นาฬิกาข้อมือ และล้างมืออย่างถูกต้องตามขั้นตอนการล้างมืออย่างเคร่งครัด สวมผ้าปิดปากและจมูกตลอดเวลาที่ทำแผล และปฏิบัติตามขั้นตอนการทำแผลตามที่ได้รับการอบรมจากแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
กรวีร์ สุขมี และคณะ, คู่มือ การดูแลผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่องในชุมชน, สงขลา: วนิดาเอกสาร, 2556.
กรุงเทพมหานคร, คู่มือ การล้างไตทางช่องท้องสำหรับประชาชน, 2556.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ (บรรณาธิการ), คู่มือผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและการปลูกถ่ายไต, กรุงเทพฯ: บริษัท เฮลธ์ เวิร์ค จำกัด, 2556.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)