คำนิยามของไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever)
ไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) เป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อ แบคทีเรีย group A streptococci สายพันธุ์หนึ่ง (ซึ่งทำให้เกิดโรคคออักเสบได้) หากคุณเคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับไข้อีดำอีแดง คุณควรอ่านบทความนี้ เมื่อเปรียบเทียบโรคที่มีการทำลายล้างสูงในอดีตแต่ในปัจจุบันเป็นเพียงการติดเชื้อคออักเสบร่วมกับการเกิดผื่นเท่านั้นเอง โดยโรคนี้มักพบบ่อยในเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี แต่ก็สามารถพบได้บ้างในทุกช่วงอายุ
อาการของไข้อีดำอีแดง
ไข้อีดำอีแดงมักจะเริ่มด้วยการมีไข้และเจ็บคอ อาการจะเข้าได้กับโรคคออักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยไข้อาจจะขึ้นสูงได้ถึง 103-104 องศาฟาเรนไฮต์ และมักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น ปวดศีรษะ และปวดท้องตามมาได้ มักไม่พบอาการไอจากการติดเชื้อนี้
หากไม่ได้รับการรักษา ไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 5-7 วัน แต่โดยส่วนมากจะลดลงได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 วันหากได้รับยาปฏิชีวนะ ในช่วง 12-48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการดังกล่าว จะเกิดผื่นแดงขึ้น โดยผื่นนี้ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเอง แต่เกิดจากพิษที่ผลิตจากเชื้อแบคทีเรีย group A strep บางสายพันธุ์
ผื่นจากไข้อีดำอีแดง
ผื่นแดงที่เกิดจากไข้อีดำอีแดงมักจะประกอบด้วยตุ่มเล็ก ๆ สีแดงที่เริ่มจากบริเวณคอและขาหนีบ หลังจากนั้นจะกระจายไปทั่วตัว โดยผื่นนี้จะคงอยู่ประมาณ 5-6 วัน ผื่นแดง ๆ นี้จะกดจาง (เมื่อกดที่ตุ่มแดง ผิวบริเวณนั้นจะขาวขึ้น) ต่างกับผื่นจากโรคอื่น (จุดเลือดออก) ที่กดแล้วไม่จาง บางครั้งผื่นจะเป็นมากบริเวณคอ ข้อพับ รักแร้ และขาหนีบ เมื่อผื่นจางลง ผิวอาจจะลอกออกได้ โดยเฉพาะที่ใบหน้าและฝ่ามือ โดยการลอกของผิวจะเกิดเป็นช่วงเวลานานได้ถึง 6 สัปดาห์
วิธีการแยกผื่นจากไข้อีดำอีแดงจากผื่นชนิดอื่น ซึ่งบางครั้งมีความใกล้เคียงกันทั้งลักษณะผื่นและอาการอื่น ๆ แต่สิ่งที่จะทำให้นึกถึงโรคอีดำอีแดงมากกว่าโรคอื่น ได้แก่
- ผื่นมีลักษณะเหมือนกระดาษทราย เมื่อคุณลองลูบบริเวณที่มีผื่นจะรู้สึกเหมือนสัมผัสกระดาษทราย โดยส่วนมากจะพบที่บริเวณแขนและหน้าอกมากกว่าบริเวณใบหน้า
- รอบปากซีด เป็นคำที่เรียกกันเล่น ๆ ในทางการแพทย์ ซึ่งหมายถึงมักจะพบว่าบริเวณรอบปากซีดลงเมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณหน้าผากและแก้มที่แดงมากขึ้น
- เส้น Pastia เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พบได้บ่อยในไข้อีดำอีแดง โดยจะพบเป็นเส้นสีเข้มที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณรอยพับ ซึ่งอาจดูเหมือนบริเวณที่โดนแดดเผา
- ลิ้นสตรอว์เบอร์รี่ เป็นอีกสิ่งที่พบได้บ่อย โดยจะพบว่ลิ้นแดงและบวมมากขึ้น ช่วงแรกจะพบว่าลิ้นจะมีปื้นสีขาวคลุม เมื่อเปรียบเทียบกับต่อมรับรสที่บวมและแดงมากขึ้นจะทำให้มีลักษณะเหมือนสตรอว์เบอร์รี่
ไข้และผื่นนี้มักจะพบร่วมกับการมีคอแดงและอักเสบ และมีต่อมทอนซิลที่บวมแดง มีหนองคลุมได้ นอกจากนั้นยังทำให้ความอยากอาหารลดลง และพลังงานลดลงได้
การวินิจฉัยไข้อีดำอีแดง
เมื่อลูกของคุณมีอาการที่อาจเป็นโรคอีดำอีแดง แพทย์มักจะป้ายเชื้อจากคอไปตรวจว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ก่อโรคไข้อีดำอีแดงหรือไม่ บางครั้งการตรวจนี้อาจได้ผลเป็นลบ แต่ผลเพาะเชื้อภายหลังอาจระบุว่าเป็นการติดเชื้อชนิดนี้
การรักษา
การติดเชื้อนี้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ penicillin, amoxicillin, erythromycin, clindamycin หรือ cephalosporin นอกจากนั้นควรแยกลูกของคุณให้อยู่เฉพาะบริเวณบ้าน ไม่ควรไปโรงเรียนหรือพบเพื่อนอย่างน้อยในช่วง 24 ชั่วโมงหลังได้รับยาปฏิชีวนะ หลังจากนั้น ไข้อีดำอีแดงจะมีการแพร่กระจายเชื้อลดลง
การรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามกำหนดเป็นเรื่องสำคัญ โดยแบคทีเรียชนิดนี้ยังสามารถก่อโรคไข้รูมาติก (Rheumatic fever) ได้ แต่พบได้น้อย ดังนั้น แม้ว่าอาการของโรคจะดีขึ้นแล้ว การใช้ยาปฏิชีวนะให้ครบตามกำหนดมีความสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคไข้รูมาติกได้ โรครูมาติกเป็นโรคหัวใจที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอง แต่เกิดจากผลของการกำจัดเชื้อแบคทีเรียของร่างกาย
ไข้อีดำอีแดงและการติดเชื้อที่ผิวหนัง
แม้ว่าจะพบได้น้อย แต่สามารถพบการเกิดโรคไข้อีดำอีแดงภายหลังการมีการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ โดยแบคทีเรียน Strep นี้ เป็นชนิดเดียวกับการเกิดการติดเชื้อพุพองที่ใบหน้า (impetigo) โดยอาการจะคล้ายกับการเกิดไข้อีดำอีแดงตามปกติดังที่กล่าวมาแล้ว แต่แทนที่จะเกิดตามหลังอาการเจ็บคอของการติดเชื้อคออักเสบ จะพบว่ามีการติดเชื้อที่ผิวหนัง โดยเฉพาะรอบ ๆ แผลที่มีอยู่เดิม
ประวัติของโรคไข้อีดำอีแดง
หากคุณเคยได้ยินประวัติของโรคไข้อีดำอีแดงจากคนสมัยก่อน คุณอาจกังวลและกลัว ก่อนหน้านี้ไข้อีดำอีแดงเป็นปัญหาที่รุนแรงกว่าปัจจุบันมาก โชคดีที่แบคทีเรียในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตมาก นอกจากจะมีการกลายพันธุ์ให้ก่อโรคน้อยลงแล้ว เรายังมียาปฏิชีวนะที่สามารถฆ่าเชื้อเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น
ไข้อีดำอีแดงในวรรณคดี
หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวของไข้อีดำอีแดงจากวรรณคดีแล้วเกิดหวาดกลัวโรคนี้ขึ้น ในหนังสือเรื่อง The Velveteen Rabbit มีการกล่าวถึงเด็กที่เป็นไข้อีดำอีแดงนี้ รวมทั้งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับไข้อีดำอีแดงที่ทำให้ Mary จากเรื่อง Little House on the Prairie ตาบอดได้ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ไว้คือ ไข้อีดำอีแดงไม่ได้ทำให้ตาบอด และหากย้อนเวลากลับไปมากขึ้นจะพบว่าสาเหตุของโรคหลาย ๆ อย่างเกิดจากไข้รูมาติก ซึ่งเป็นภาวะการเจ็บป่วยที่รุนแรงกว่ามาก
การป้องกันและการลดโอกาสเกิดการติดเชื้อในเด็ก
หากลูกของคุณเป็นโรคไข้อีดำอีแดง เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะให้ลูกของคุณอยู่ในบ้านอย่างน้อย 24 ชั่วโมง นอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กคนอื่นติดเชื้อ ยังเป็นการให้ร่างกายของเด็กได้พักผ่อน โดยโรคนี้สามารถติดต่อได้ทางละอองน้ำลายที่เกิดจากการไอหรือการจาม นอกจากนั้นยังสามารถติดจากการสัมผัสบริเวณที่ถูกจับโดยผู้ที่ติดเชื้ออยู่ก็ได้
การล้างมือที่ถูกต้องเป็นวิธีสำคัญในการป้องกันการแพร่เชื้อ ถึงแม้จะดูง่าย แต่การล้างมือให้ถูกต้องนั้นไม่ได้ปฏิบัติอย่างแพร่หลายเท่าที่ควร นอกจากนั้น การปิดปากขณะไอ การไม่ใช้แก้วน้ำร่วมกัน หรือการแยกช้อนส้อมก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน