ผักแขยง (Rice paddy herb)

ผักแขยง ผักพื้นบ้านถิ่นอีสานที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง พร้อมกับมีสรรพคุณทางยา
เผยแพร่ครั้งแรก 2 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 26 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ผักแขยง (Rice paddy herb)

ผักแขยง เป็นพืชที่ขึ้นตามคันนา นาข้าว บริเวณที่ชื้นแฉะและริมคูน้ำ ผักชนิดนี้จัดเป็นผักพื้นบ้านที่สำคัญของภาคอีสาน เนื่องจากมีรสชาติอร่อย เหมาะสำหรับนำมาปรุงอาหาร และยังมีสรรพคุณทางยามากมายอีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์    Limnophila aromatica (Lam.) Merr.

ชื่อวงศ์                  PLANTAGINACEAE

ชื่ออังกฤษ            Rice paddy herb

ชื่อท้องถิ่น           ผักพา จุ้ยหู่โย้ง สุ่ยฝูโหยง ผักกะแยง ผักกะออม มะออม ผักลืมผัว ควันเข้าตา อีผวยผาย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ผักแขยงเป็นพืชล้มลุกอายุ 1 ปี มีขนาดเล็ก สูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร ลำต้นสีเขียว ภายในกลวงเห็นข้อปล้องชัดเจน ลำต้นมีกลิ่นฉุนรุนแรง ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ตรงข้ามกันหรืออาจมี 3 ใบ ออกอยู่รอบๆ ข้อ ใบรูปรีหรือรูปหอก ยาว 1.5-5 เซนติเมตร กว้าง 1-2 เซนติเมตร ไม่มีก้านใบ ฐานใบจะหุ้มลำต้นเอาไว้ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ด้านบนของใบมีต่อมเล็กๆ มากมาย ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตรงซอกใบหรือออกเป็นช่อ มีกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ กลีบดอกสีแดง ชมพูอ่อน หรือม่วง

คุณค่าทางโภชนาการของผักแขยง

ผักแขยง 100 กรัม ให้พลังงาน 26 แคลอรี มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

ที่มา: สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

สรรพคุณของผักแขยง

ส่วนต่างๆ ของผักแขยงมีสรรพคุณทางยาดังนี้

  • ตามตำรายาพื้นบ้าน จะใช้ผักแขยงทั้งต้นและส่วนรากเป็นยาแก้พิษไข้ แก้ไข้หัวลม (ไข้ที่เกิดช่วงฤดูฝน มีอาการไข้ร่วมกับอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน) ก่อนนำมาใช้ให้ล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำกิน
  • ผักแขยงมีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอมฉุน จึงสามารถนำมารับประทานแบบสดๆ เป็นยาขับลมและบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยทำให้เจริญอาหาร ลดอาการเบื่ออาหาร
  • ต้นสดนำมาคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่มีอาการคัน กลาก และฝี 
  • แพทย์พื้นบ้านทางภาคอีสาน จะใช้ผักแขยงทั้งต้นเป็นยาช่วยขับน้ำนมของสตรี โดยนำผักแขยงทั้งต้นต้มในน้ำเดือด รับประทานก่อนวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 7-15 วัน

การนำผักแขยงมาปรุงอาหาร 

ทั้งต้น ยอดอ่อน และใบอ่อน สามารถรับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ ก้อย แจ่ว น้ำพริก ส้มตำ ซุปหน่อไม้ หรือนำไปเป็นเครื่องปรุงรสและแต่งกลิ่นช่วยดับกลิ่นคาวสำหรับ ต้มส้ม แกงหน่อไม้ แกงอ่อมต่างๆ 

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการรับประทานผักแขยง

มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ผักแขยงมีสารแคลเซียมออกซาเลตในปริมาณสูง ซึ่งสารชนิดนี้จะเข้าไปสะสมและกลายเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ไต กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น จึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
มาโนช วามานนท์, เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ผักพื้นบ้าน : ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชน, 2538
สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ผักพื้นบ้าน, 2540.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป