เงาะ (Rambutan)

เงาะสายพันธุ์หลักๆ ที่นิยมปลูกกันในประเทศไทยมี 3 สายพันธุ์ ที่มีชื่อที่สุดคือพันธุ์นาสาร หรือที่เรียกกันว่า เงาะโรงเรียน นอกจากอร่อยแล้วยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
เงาะ (Rambutan)

เงาะ เป็นผลไม้เมืองร้อน ที่ลักษณะต้นเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีถิ่นกำเนิดมาจากแถบอินโดนีเซีย เจริญเติบโตได้ดีในพื้นดินที่มีความชื้นค่อนข้างสูง ประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส

นิยมปลูกกันมากบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทย เป็นพืชเศรษฐกิจ มีการส่งออกผลเงาะไปยังต่างประเทศ ทำรายได้ให้เกษตรกรอย่างมาก

สายพันธุ์เงาะที่นิยมปลูกในประเทศไทยเพื่อการค้ามีเพียง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เงาะสีทอง เงาะสีชมพู และเงาะโรงเรียน

เงาะแต่ละสายพันธุ์ต่างกันอย่างไร?

เงาะสีทอง เงาะสีชมพู และเงาะโรงเรียน มีลักษณะผลอ่อน ผลแก่ และเนื้อใน แตกต่างกันดังตารางด้านล่าง

ลักษณะ/สายพันธุ์

เงาะนาสาร

เงาะสีชมพู

เงาะสีทอง

ผลอ่อน

เปลือกสีเหลืองปนชมพู

เปลือกสีเหลือง

ขนาดใหญ่กว่าเงาะทั้สองสายพันธุ์ ผิวเปลือกสีเหลืองปนชมพู

ผลแก่

เปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ขนสีเขียว แต่ถ้าผลแก่มากๆจะเปลี่ยนเป็นสีแดงทั้งลูก

ผิวเปลือกค่อนข้างหนา จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูปนเหลือง ถ้าแก่จัดจะมีสีชมพูอ่อน ปลายขนสีเขียว

เปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ขนสีเขียว หากแก่จัดขนจะเปลี่ยนเป็นสีแดงปลายสีเขียว

เนื้อใน

สีขาวขุ่น ย่นเล็กน้อย กรอบ เนื้อแห้งไม่ติดเมล็ด รสหวานฉ่ำ

มีลักษณะคล้ายเงาะนาสาร แต่เนื้อจะไม่ล่อนจากเมล็ด รสหวาน

เนื้อสีเหลือง ล่อนจากเมล็ดได้ง่าย แต่รสหวานอมเปรี้ยวต่างจากพันธุ์อื่นๆ

ชื่อเงาะ นาสาร มาจากไหน?

หลายคนคุ้นเคยกับชื่อ เงาะนาสาร แต่น้อยคนที่จะรู้จักที่มาของชื่อนี้

คำว่า นาสาร เป็นชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยพืชที่เกษตร สวนไม้ผล สวนยางพาราและเหมืองแร่

ด้วยแร่ธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในดิน จึงเป็นจุดกำเนิดของเงาะรสหวานกรอบ เปลือกบาง เนื้อร่อน แห้ง ไม่ติดเม็ด มีรสชาติอร่อย

แต่เดิมพันธุ์เงาะขึ้นชื่อนี้ปลูกอยู่ในพื้นที่โรงเรียนนาสาร จึงกลายเป็นชื่อที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินว่า เงาะโรงเรียน จัดเป็นสายพันธุ์เงาะที่อร่อยและพันธุ์ดีที่สุดในประเทศไทย

เงาะ มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร?

เงาะ เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม วิตามินบีรวม

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีวิตามินซีสูงถึง 4.9 มิลลิกรัม ช่วยให้ดูดซึมธาตุเหล็ก ซึ่งช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงได้ดียิ่งขึ้น

วิตามินซีมีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ก่อนถึงวัยอันควร และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี เพียงรับประทานเงาะประมาณ 5-6 ผลต่อวัน

ส่วนเนื้อของเงาะอุดมไปด้วยไฟเบอร์ มีทั้งไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ

ไฟเบอร์แบบละลายน้ำในเนื้อเงาะช่วยเพิ่มเจลหรือสารเคลือบระบบทางเดินอาหาร ลดการดูดซึมไขมันเข้าสู้กระแส เลือด ช่วยชะลอการย่อย จึงช่วยให้อิ่มท้อง ลดความอยากอาหาร เหมาะสำหรับผู้ควบคุมน้ำหนัก

นอกจากนี้ช่วยให้แบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายผลิตกรดไขมันสายสั้น อย่างแอกเทต (Actate) โพรพิโอเนต (Propionate) และบูทีเรต (Butyrate) มีผลช่วยลดอาการอักเสบ ลดอาการที่เกิดจากโรคลำไส้แปรปรวน รวมถึงโรคเรื้อรังในลำไส้ใหญ่ได้

ส่วนเส้นใยแบบไม่ละลายน้ำนั้นจะช่วยเพิ่มกากอาหารในลำไส้ใหญ่ ทำให้อุจจาระนุ่ม ช่วยให้ขับถ่ายง่าย ลดอาการท้องผูก ไม่ต้องออกแรงเบ่ง ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดริดสีดวงทวาร

ในผู้มีอาการท้องเสียหรือเสียเกลือแร่มาก ก็สามารถชดเชยด้วยการรับประทานเงาะได้ เนื่องจากเงาะมีแร่ธาตุที่จำเป็นหลายชนิดอย่างที่กล่าวไปแล้ว

สารสำคัญอีกอย่างในเนื้อเงาะ ได้แก่ ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย เป็นสารสำคัญที่ช่วยต้านการเกิดโรคมะเร็ง

กินเงาะอย่างไรให้ปลอดภัย?

ในเงาะมีน้ำตาลจากธรรมชาติ เมื่อรับประทานเข้าไปสามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้

เช่นเดียวกับการรับประทานผลไม้อื่นที่มีรสหวาน เช่น มะม่วงสุก ลำไย ลองกอง หรือแตงโม

ดังนั้นจึงควรจำกัดปริมาณให้เหมาะสม ไม่ควรรับประทานเงาะเกิน10 ผลต่อวัน หรือหากต้องการปริโภคมากกว่านี้ ควรลดสัดส่วนการรับประทานของหวานอื่นๆ และเพิ่มการออกกำลังกาย ช่วยให้เผาผลาญน้ำตาลในร่างกายได้ดียิ่งขึ้น

ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเงาะกระป่๋อง เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลสูงและยังอาจมีสารกันบูดที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย

ไขคำตอบ เมล็ดเงาะรักษาโรคเบาหวานได้จริงหรือ?

ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยรับรองเรื่องดังกล่าว มีเพียงการวิจัยในสัตว์ทดลองที่ระบุว่า เมล็ดและเปลือกเงาะจะช่วยดุดซึมคาร์โบไฮเดรต ไม่ให้แตกตัวกลายเป็นน้ำตาล จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในลำไส้ได้

ยังไม่มีการทดสอบในคน ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ประโยชน์จากเงาะในการรักษาผู้ป่วยเบาหวาน


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักข่าวไทย TNAMCOT. ชัวรืก่อนแชร์ : เมล็ดเงาะรักษาเบาหวาน จริงหรือ? (https://www.youtube.com/watch?v=P3UBXYiVUsU), 11 มิถุนายน 2562.
Shaun DMello, B.A.,Health Benefit of Rambutan (https://www.medindia.net/patients/lifestyleandwellness/health-benefits-of-rambutan.html), 18 April 2019.
Seerat Chabba. Health Benafit Of Rambutan (https://www.medicaldaily.com/health-benefits-rambutan-399876), 4 October 2016.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)