แปะตำปึง (Purple passion vine)

แปะตำปึง หรือ จักรนารายณ์ ไม้โบราณที่ชาวจีนนิยมใช้บำรุงร่างกาย มีสรรพคุณทางยาหลากหลาย
เผยแพร่ครั้งแรก 2 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 13 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
แปะตำปึง (Purple passion vine)

แปะตำปึง เป็นพรรณไม้โบราณที่ชาวจีนนิยมรับประทานเพื่อบำรุงร่างกาย เนื่องจากมีสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย แต่ในประเทศไทยจะเรียกพืชชนิดนี้ว่า จักรนารายณ์ 

ชื่อวิทยาศาสตร์   Gynura procumbens (Lour.) Merr.

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ชื่อวงศ์                 ASTERACEAE (COMPOSITAE)

ชื่อพ้อง                Gynura ovalis DC., Gynura auriculata Cass., Gynura sarmentosa (Blume) DC.

ชื่ออังกฤษ           Purple passion vine, Purple velvet plant

ชื่อท้องถิ่น           แป๊ะตังปึง แปะตังปุง ผักพันปี กิมกอยมอเช่า จินฉี่เหมาเยี่ย จักรนารายณ์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของแปะตำปึง

แปะตำปึงมีรากเป็นเหง้าใต้ดิน และมีรากฝอยแตกออกมามากมาย ลักษณะลำต้นและกิ่งก้านกลม กิ่งอ่อนมีสีม่วงอมแดง มีขนอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ทั่ว ขนาดความสูงของลำต้นมีประมาณ 30-50 เซนติเมตร ใบออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกันทั่วลำต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ โคนและปลายใบแหลม ขอบใบหยัก แผ่นใบหนามีสีเขียว ด้านล่างใบจะมีสีอ่อนกว่าด้านบนใบ หรืออาจเป็นสีขาวหม่นไปจนถึงสีม่วงอมแดง ขนาดความกว้างของใบมีประมาณ 8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร ก้านใบสั้น บางชนิดใบจะมีลักษณะกลม ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ในแต่ละช่อจะประกอบไปด้วยดอกย่อยสีเหลืองอมส้มจำนวนมาก กลีบดอกย่อยมีลักษณะเป็นเส้นฝอย มีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ในกลีบดอกจะมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ส่วนเกสรเพศเมียจะยื่นยาวออกมาเหนือกลีบดอก และภายในดอกจะมีผลอยู่

สรรพคุณของแปะตำปึง

ส่วนต่างๆ ของแปะตำปึงมีสรรพคุณหลากหลาย ดังนี้

  • ตามตำรายาไทยและจีน ใช้ใบสดตำละเอียดผสมสุราพอกปิดฝี แก้ฟกบวม แก้คัน แก้พิษอักเสบ แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย งูสวัด เริม 
  • ใบสด หากนำมาตำละเอียด สามารถใช้พอกที่หัวริดสีดวงทวาร จะช่วยบรรเทาอาการปวดและห้ามเลือดบริเวณทวารได้ และสามารถนำมาพอกแผล ใช้ห้ามเลือด รักษาแผลสด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก และใช้รักษาบาดแผลภายนอก หากนำใบมาคั้น จะสามารถนำมาหยอดตา แก้อาการตาอักเสบ ตาต้อ ตามัว หรือถ้ามีอาการปวดฟัน ปวดเหงือก มีแผลในปาก อาจเคี้ยวใบแปะตำปึงสดรับประทานก่อนเข้านอน จะช่วยบรรเทาอาการได้
  • ยอดอ่อน ใช้รับประทานสดเป็นอาหารเพื่อบำรุงร่างกาย หรือใช้ต้มกับตัวยาอื่นๆ เช่น โสมจีน กระชาย น้ำผึ้ง เป็นต้น ดื่มเป็นยาบำรุงร่างกายได้เช่นกัน
  • ทั้งต้นของแปะตำปึง ต้มในน้ำเดือด ดื่มเป็นยาแก้อาการตกเลือด แก้อาการอุดตันของเส้นเลือด ช่วยกระจายโลหิต ทำให้เลือดเย็น ช่วยฟอกโลหิตและทำให้ระบบน้ำเหลืองดีขึ้น ช่วยขับพิษออกทางปัสสาวะ แก้อาการร้อนใน แก้ไข้ แก้อาการไอเป็นเลือด ใช้รักษาโรคหลอดลมอักเสบ วัณโรคปอด แต่ส่วนใหญ่นิยมนำมารับประทานเฉพาะส่วนใบ โดยนำใบแปะตำปึง 20-30 ใบ มาล้าง ก่อนผึ่งให้แห้ง จากนั้นนำมาบดหรือตำให้ละเอียด แล้วนำไปต้มในน้ำเดือด หรือนำใบแห้ง 3-4 ใบบดให้ละเอียด เติมน้ำผึ้งเล็กน้อยประมาณ แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอน รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันไม่เกิน 7 วัน 

แปะตำปึงกับงานวิจัย

งานวิจัยสมุนไพรแปะตำปึงที่ได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 พบว่า สารสกัดจากต้นแปะตำปึงมีคุณสมบัติต้านอักเสบในสัตว์ทดลอง ต่อมามีการศึกษาอื่นๆ พบว่าสารที่ออกฤทธิ์ต้านอักเสบ คือสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ต่อมาจึงนำต้นแปะตำปึงไปพัฒนาสูตรเป็นเจลสำหรับต้านอักเสบที่มีสารสกัดแปะตำปึง 2.5% เป็นตัวยาสำคัญ ใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด ซึ่งมักจะมีอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ จากการทดลองพบว่าสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของอาการได้ดี แต่ยังไม่พบงานวิจัยที่ใช้ต้นแปะตำปึงหรือสารสกัดจากแปะตำปึงในการรักษาโรคมะเร็งโดยตรง นอกจากนี้แปะตำปึงยังมีฤทธิ์ต้านไวรัสเริมในหลอดทดลอง โดยมีการทดลองใช้เจลต้านอักเสบที่มีสารสกัดแปะตำปึงเป็นตัวยาในผู้ป่วยที่เป็นเริมที่ริมฝีปาก พบว่าปริมาณไวรัสมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับยาหลอก

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้แปะตำปึงเพื่อสุขภาพ

ในตำรายาแผนจีนระบุว่า สมุนไพรชนิดนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เป็นไข้ หรือธาตุไฟอ่อน ซึ่งในที่นี่น่าจะหมายถึง ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง สำหรับผู้ที่ต้องรับประทานยารักษาโรคประจำตัว ควรเลี่ยงการรับประทานแปะตำปึงกับยาชนิดนั้นๆ เพื่อให้ตัวยามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หากเลี่ยงไม่ได้ควรรับประทานแปะตำปึงก่อนหรือหลังยาชนิดนั้นๆ อย่างน้อย 2 ชั่วโมง


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
วิทยา บุญวรพัฒน์. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. 2554.
ดร.วีณา จิรัจฉริยากูล, บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน แป๊ะตำปึง. 2555.
ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต และ วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบาย ตำราพระโอสถพระนารายณ์, 2542.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)