ชงโค (Purple orchid tree)

สายพันธุ์ของ ชงโค วิธีใช้ชงโคเพื่อสุขภาพ สรรพคุณทางยาน่ารู้ของชงโค
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 3 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ชงโค (Purple orchid tree)

ชงโคนิยมปลูกเป็นไม้มงคล เนื่องจากตามศาสนาฮินดูเชื่อกันว่าเป็นต้นไม้ของพระนารายณ์ ส่วนคนไทยเชื่อว่าชงโคจะช่วยปกปักษ์รักษาให้คนในครอบครัวมีความสุข ไม่มีอันตรายเข้ามา แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ ชงโคยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางยาได้อีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia purpurea L.
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE
ชื่ออังกฤษ Orchid tree, Purple orchid tree, Butterfly tree, Purple bauhinia, Hong Kong orchid tree
ชื่อท้องถิ่น ดอกตีนวัว เสี้ยวหวาน กะเฮอ สะเปซี เสี้ยวดอกแดง เสี้ยวเลื่อย

หมายเหตุ สำหรับบทความนี้ พรรณไม้ที่กล่าวถึงเป็นคนละชนิดกับต้นชงโคดอกเหลือง ซึ่งอยู่ในวงศ์ Leguminosae (Fabaceae) - AESALPINIOIDEAE เช่นกัน แต่ชงโคดอกเหลืองมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia tomentosa L.

ถิ่นกำเนิดและสภาพแวดล้อมในการปลูก

มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศจีนรวมถึงฮ่องกง และทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศสหรัฐอเมริกานิยมปลูกกันที่รัฐฮาวาย รัฐแคลิฟอร์เนีย ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐฟลอริดา และทางตอนใต้ของรัฐเทกซัส ทำให้เป็นไม้ที่ชอบแดด ควรปลูกในที่ได้รับแสงแดดทั้งวัน ดินปลูกควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำดี มีความชื้นสูง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ชงโคเป็นพรรณไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 10 เมตร เป็นไม้ผลัดใบในช่วงสั้นๆ ใบ ใบเรียงสลับ ใบเดี่ยว รูปมนเกือบกลม กว้าง 8-10 เซนติเมตร ยาว 10-14 เซนติเมตร ปลายใบแยกเป็น 2 พู โคนใบมนหรือเว้า ขอบใบเรียบ สีเขียว ดอกมีลักษณะเป็นช่อ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอกมี 5 กลีบ สีชมพูถึงม่วงเข้ม รูปรีกว้างตรงส่วนกลาง เมื่อบานวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ 6-8 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อันอยู่ตรงกลางดอก รังไข่มีขน ดอกจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกเป็นช่วงๆ ตลอดปี ผล ผลเป็นฝักแบน กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 20-25 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกเป็นสองซีก เมล็ดกลม มี 10 เมล็ด

ชงโคแต่ละสายพันธุ์ แต่ละชนิด แตกต่างกันอย่างไร?

ชงโคที่กล่าวในบทความนี้เป็นชนิดดอกสีชมพู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia purpurea L. ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่งคือ ชนิดดอกสีเหลือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia tomentosa L. แตกต่างจากชนิดดอกสีชมพูคือ ด้านล่างของใบจะมีขนสีน้ำตาลประปราย ช่อดอกสั้นกว่า มีจำนวนดอกน้อยกว่า เมล็ดเมื่อแก่จะแตก มีเมล็ด 4-6 เมล็ด ซึ่งน้อยกว่าชนิดดอกสีชมพู ส่วนด้านสรรพคุณทางยานั้น จะนิยมใช้ชนิดดอกสีชมพูมากกว่า

สรรพคุณของชงโค

ชงโคมีสรรพคุณดังนี้

  • แพทย์พื้นบ้านชาวล้านนา ใช้รากสด 10-15 กรัม หรือรากแห้งประมาณ 5-7 กรัม นำมาต้มในน้ำสะอาด เคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง ดื่มหรือจิบแทนน้ำชา ใช้เป็นยาเจิญอาหาร ช่วยแก้พิษไข้ร้อนจากเลือดและน้ำดี
  • แพทย์พื้นบ้านโบราณ โดยใช้ใบสด 10 กรัม ล้างให้สะอาดนำมาต้มในน้ำ แล้วกรองเอาน้ำจิบและอมกลั้วคอ ช่วยรักษาอาการไอ ช่วยขับปัสสาวะได้
  • ใช้ส่วนดอก อบแห้งแล้วบดเป็นผง ผสมเข้าตำรับยาหอม แก้วิงเวียน หน้ามืด และช่วยให้นอนหลับ
  • เปลือกของต้นนำไปต้มน้ำดื่มได้ มีสรรพคุณช่วย แก้ท้องเสีย แก้ปวดบิด
  • ใบอ่อนของชงโค เป็นผักที่ชาวเหนือนิยมรับประทานนำไปลวกจิ้มน้ำพริกหรือนำไปแกง เช่นแกงกับปลา แกงกับเนื้อนิยมแกงกับผักเชียงดา ผักชะอม มีรสอร่อย ช่วยระบาย แก้อาการท้องผูก
  • ชาวอินเดียใช้ส่วนรากและใบ เข้าตำรับยาขับระดูและยาระบาย โดยใช้รากและใบล้างสะอาด ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย ช่วยขับประจำเดือน

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการบริโภคชงโค

สำหรับต้นชงโค ยังไม่พบการศึกษาความเป็นพิษในคนหรือรายงานความเป็นพิษในคน แต่อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเจ็บป่วยแล้วประสงค์จะรับประทานต้นชงโค หรือยาที่มีต้นชงโคเป็นส่วนผสมในปริมาณสูง หรือติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์ก่อน แต่ถ้าหากรับประทานเป็นอาหารทั่วๆ ไป ก็ไม่มีอันตรายใดๆต่อร่างกาย สำหรับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรหลีกการรับประทานต้นชงโคในลักษณะรับประทานเพื่อรักษาโรค เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยรองรับ


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
เสงี่ยม พงษ์บุญรอด, ไม้เทศเมืองไทย, 2522.
มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม, โรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ตำราการแพทย์แผนไทยเดิม(แพทยศาสตร์สงเคราะห์ฉบับอนุรักษ์) เล่มที่ ๑ ฉบับชำระ พ.ศ.๒๕๕๐, 2550.
มูลนิธิส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิมฯ, ตำราเภสัชกรรมไทย, 2547.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)