การรักษาสะเก็ดเงิน

การรักษาแต่ละแบบมีประสิทธิภาพแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน
เผยแพร่ครั้งแรก 12 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
การรักษาสะเก็ดเงิน

การรักษาสะเก็ดเงิน

นอกจากการฉายแสงและยาทาภายนอกแล้ว ยังมียาชนิดใหม่ ๆ ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยตรงเพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงิน การรักษาแต่ละแบบมีประสิทธิภาพแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ดังนั้นอาจต้องทดลองรักษาหลายวิธีก่อนที่จะพบวิธีรักษาที่ได้ผลที่สุดกับผู้ป่วยรายนั้น ๆ โดยทั่วไปแล้ว แพทย์มักเริ่มจากยาที่มีฤทธิ์อ่อนที่สุดก่อน ได้แก่ ยาทาเฉพาะที่ จากนั้นจึงค่อยเพิ่มความแรงของการรักษาหากยังได้ผลไม่เป็นที่พอใจ

ยาทาภายนอก

ยาทาภายนอกเป็นยาที่ใช้บ่อยที่สุดในการรักษาโรคสะเก็ดเงินที่ไม่รุนแรง หรือปานกลาง ยาทาเหล่านี้ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันบริเวณใต้ผิวหนัง ทำให้อัตราการสร้างเซลล์ผิวหนังใหม่ลดลง ลดอาการอักเสบ และลดอาการคัน ยาทาเฉพาะที่มีหลายชนิด บางชนิดสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป แต่บางชนิดต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ โดยยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เป็นยาทาเฉพาะที่ซึ่งใช้กันแพร่หลายที่สุด เพื่อลดอาการอาการบวมแดงของผื่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ยาทาภายนอกชนิดอื่น ๆ ได้แก่

  • แอนทราลิน (ซิทรานอล- อาร์อาร์) [Anthralin (Zithranol-RR)]
  • วิตามินดีสังเคราะห์
  • วิตามินเอสังเคราะห์

ยาที่วางขายตามร้านขายยาทั่วไป อาจมีส่วนประกอบของกรดซาลิซิลิก และน้ำมันดิน เพื่อช่วยให้ผื่นหายเร็วขึ้น ผลิตภัณฑ์บางชนิดมีส่วนประกอบของว่านหางจระเข้, โฮโฮบา, ซิงค์ ไพริไทโอน (Zinc Pyrithione)แคปไซซิน (Capsaicin) จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังนุ่มขึ้น สะเก็ดหลุดลอกออกง่ายขึ้น หรือช่วยลดอาการคัน

ยาชีวภาพ

ยาชีวภาพ หมายถึง ยาที่ผลิตจากโปรตีนซึ่งได้จากการสังเคราะห์เซลล์มีชีวิตซึ่งเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง ยาชีวภาพเหล่านี้ เป็นยาที่ใช้ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ และจะไปออกฤทธิ์กับระบบภูมิคุ้มกันเฉพาะส่วนเพื่อยับยั้งการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันบางชนิด และโปรตีนในระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดผื่นสะเก็ดเงินและอาการข้ออักเสบจากสะเก็ดเงิน

ยาชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่าง

ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย มีใช้มานานกว่า 10 ปี โดยอยู่ในรูปยาเม็ด หรือยาน้ำ สำหรับรับประทาน หรือบางชนิดเป็นยาฉีด มักใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดปานกลางถึงรุนแรงมาก และอาการข้ออักเสบจากสะเก็ดเงิน ยาชนิดนี้มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาอื่นเพิ่มเติมจากยาทาเฉพาะที่หรือการฉายแสงยูวี

ยาชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่าง ได้แก่

  • เมโทเทรกเซท (เทรซาล) [Methotrexate (Trexall)]
  • เรตินอยด์ (Retiniods)
  • ไซโคลสปอริน (Cyclosporine)
  •  6-ไธโอกัวนีน  (6-Thioguanine)
  • ไฮดรอกซียูเรีย (Hydroxyurea)

การรักษาโดยการฉายแสง

เรียกอีกอย่างว่า Phototherapy เป็นการฉายแสงเฉพาะจุดลงไปบนบริเวณผิวหนังที่เกิดผื่นสะเก็ดเงิน โดยรังสียูวีที่นำมาใช้ในการรักษาโรงสะเก็ดเงิน คือ รังสียูวีบี (Ultraviolet Light B-UVB) พูว่า (Psoralen UVA - PUVA) และเลเซอร์ การฉายแสงนี้ สามารถทำได้ทั้งในห้องตรวจ ในคลินิกโรคสะเก็ดเงิน หรือแม้แต่ทำเองที่บ้าน โดยใช้เครื่องฉายแสงสำหรับโรคสะเก็ดเงิน อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะรับการฉายแสง จำเป็นต้องบอกแพทย์ผู้รักษาว่าคุณทานยาอะไรอยู่บ้าง โดยเฉพาะยาชนิดใหม่ ๆ และพยายามป้องกันบริเวณผิวหนังรอบ ๆ ที่ไม่ได้เป็นผื่นสะเก็ดเงินจากการโดนรังสีแสงยูวีด้วย

ยารับประทาน

ยาสำหรับรับประทานชนิดใหม่ ๆ ออกฤทธิ์ภายในโมเลกุลของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน จึงสามารถนำมาใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินได้ การรักษาชนิดนี้เป็นการแก้ไขการทำงานที่มากเกินไปของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นผลให้ผิวหนังและข้ออักเสบจนเกิดโรคสะเก็ดเงินขึ้น ยาใหม่ล่าสุดที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน คือ ยาอะพรีไมลาสท์ (โอเทซลา) [Apremilast (Otezla)] ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ เช่น การฉายแสง ยาทาภายนอก และใช้ร่วมกับยาเมโทเทรกเซทได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การรักษาทางเลือก

การรักษาทางเลือก เป็นการรรักษาเพื่อลดอาการเห่อของผื่นสะเก็ดเงิน และลดอาการเจ็บปวด ได้แก่

  • อาหาร สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
  • การรักษาทางจิตใจ เช่น การรักษาด้วยกลิ่น (Aromatherapy) โยคะ และการนั่งสมาธิ
  • กายภาพบำบัดและการออกกำลังกาย
  • การฝังเข็ม และมวยไทเก็ก

ยังไม่มีผลการวิจัยสนับสนุนว่าอาหาร หรือการรักษาทางเลือกจะได้ผลดีในการรักษาโรคสะเก็ดเงินจริงหรือไม่ และถึงแม้ว่าการรักษาทางเลือกส่วนมากมักจะไม่มีอันตราย แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะทดลองใช้วิธีรักษาเหล่านี้

การรักษาด้วยตนเองที่บ้าน

การปรับพฤติกรรมบางอย่างซึ่งอาจเรียกว่าการรักษาด้วยตนเองที่บ้านนั้นแม้จะไม่สามารถรักษาโรคสะเก็ดเงินให้หายได้ แต่อาจช่วยให้ผื่นดูดีขึ้น และอาจลดอาการที่เกิดจากผื่นได้ด้วย เช่น การแช่น้ำเป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้สะเก็ดผิวหนังหลุดลอกออก และลดการอักเสบของผิวหนัง โดยมีเคล็ดลับ ได้แก่

  • เติมน้ำมันอาบน้ำ (Bath Oil) โอ๊ตมีลสำหรับอาบน้ำ (Colloidal Oatmeal) เกลือเอพซอม (Epsom Salts) หรือเกลือจากทะเลสาบเดดซี (Dead Sea Salts) ลงในน้ำที่แช่
  • หลีกเลี่ยงการแช่น้ำร้อน และไม่ใช้สบู่ที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง เนื่องจากจะทำให้อาการผื่นแย่ลง ควรอาบน้ำอุ่น และใช้สบู่ที่ไม่เป็นด่าง
  • ควรทาครีมบำรุงผิว เพื่อให้ผิวชุ่มชื้น หลังการแช่น้ำทุกครั้ง โดยเช็ดตัวให้แห้ง ก่อนทาครีมบำรุงผิวชนิดที่เป็นขี้ผึ้ง
  • น้ำมันบำรุงผิวอาจช่วยบรรเทาอาการได้ดีกว่าครีมบำรุงผิว เนื่องจากสามารถเก็บความชุ่มชื้นให้ผิวได้มากกว่า
  • อาจต้องหมั่นทาครีมบำรุงผิวซ้ำหลาย ๆ ครั้งต่อวัน

การสัมผัสแสงแดดบ้างอาจช่วยให้อาการผื่นดีขึ้น แต่การถูกแสงแดดมากเกินไปอาจยิ่งทำให้ผื่นเห่อมากขึ้น และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังอีกด้วย จึงควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาคุณว่าคุณควรสัมผัสแสงแดดหรือ ไม่ ในปริมาณเท่าใด และจำเป็นต้องโดนแดดบ่อยหรือไม่ และบ่อยเพียงใด โดยโปรดจำไว้ว่า

  • จับเวลาทุกครั้งว่าคุณอยู่กลางแดดนานเท่าไรแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดมากเกินไป
  • ปกป้องผิวบริเวณที่ไม่ได้เป็นผื่น โดยการทาครีมกันแดด SPF 30 ขึ้นไป
  • ทาครีมกันแดดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ทาซ้ำทุกสองชั่วโมง หากคุณไปว่ายน้ำ หรือเหงื่อออกมาก ต้องทาครีมกันแดดบ่อยขึ้นอีก
  • พยายามหาว่าปัจจัยใดบ้าง ที่กระตุ้นให้เกิดผื่นสะเก็ดเงินสำหรับคุณ และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเหล่านั้น เช่น งดดื่มเหล้า และงดสูบบุหรี่ ซึ่งปัจจัยที่เป็นสาเหตุกระตุ้นการเกิดผื่นสะเก็ดเงินที่พบได้บ่อย ได้แก่ ความเครียด การทำสมาธิและเล่นโยคะอาจช่วยให้จิตใจสงบลง ช่วยผ่อนคลายร่างกาย และบรรเทาความวิตกกังวล

นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารเคมี เอ็นโดรฟิน (endorphins) ซึ่งช่วยเพิ่มพละกำลัง ทำให้อารมณ์ดี ลดความวิตกกังวล และยังสามารถช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้นอีกด้วย คุณอาจพิจารณาเข้าอบรมเกี่ยวกับการจัดการความเครียด หรือนัดพบนักบำบัดที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเครียด



40 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Psoriasis - Treatment. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/psoriasis/treatment/)
Psoriasis: 12 home remedies and how to avoid triggers. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/314525)
The Patient’s Guide to Psoriasis Treatment. Part 2: PUVA Phototherapy. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4972736/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)