ป้องกันอ้วนตั้งแต่เด็ก

เผยแพร่ครั้งแรก 6 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ป้องกันอ้วนตั้งแต่เด็ก

เด็กและวัยรุ่นสมัยนี้มีแนวโน้มที่จะอ้วนตั้งแต่เด็กกันมากขึ้นเนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป จากการวิจัยพบว่า เด็กและวัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจในอนาคต

ดังนั้นการสร้างพฤติกรรมการกินที่ถูกต้องตั้งแต่แต่เด็กจึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้อย่างไม่ต้องสงสัย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

“เด็กอ้วน” เป็นปัญหาที่พบมากขึ้นทุกวัน องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่า ภายในปี 2025 ทั่วโลกมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนสูงถึง 70 ล้านคน หากปราศจากมาตรการป้องกัน ส่วนเด็กไทยพบปัญหาโรคอ้วนมากขึ้นในทุกกลุ่มอายุ หากไม่รีบป้องกัน อนาคตสุขภาพเด็กไทยน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

แพ้อาหารทำให้อ้วนได้อย่างไร

โรคอ้วนในเด็กมีสาเหตุจากการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ร่วมกันนิสัยการบริโภคอาหารของครอบครัวที่ไม่ถูกต้อง

มาดูกันว่าพฤติกรรมใดบ้างเป็นสาเหตุพอกพูนความอ้วน

  • เด็กในวัยเรียนดูทีวีโดยเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง หากรวมเวลาในการเล่นเกมหรืออินเทอร์เน็ตเข้าไปด้วย เฉลี่ยแล้วเด็กใช้เวลาประมาณวันละ 5 ชั่วโมง ขึ้นไปกับการนั่งอยู่กับที่ ทำให้ร่างกายไม่ได้ใช้พลังงาน
  • นักวิจัยพบว่า การดูทีวีระหว่างการกินรบกวนการรับรู้ความอิ่มและทำให้อยากกินอาหารที่มีพลังงานสูง ในกลุ่มเด็กประถมพบว่า หากดูทีวีระหว่างกินจะมีอัตราการกินเพิ่มมากขึ้น 17-35 เปอร์เซ็นต์จากปกติ และกินผักผลไม้น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับการกินขณะไม่ได้ดูทีวี
  • มีรายงานพบว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกในครอบครัวยุ่งจนไม่มีเวลากินอาหารเย็นร่วมกัน พฤติกรรมนี้อาจทำให้กินอาหารที่มีคุณภาพต่อสุขภาพน้อยลง เพราะยึดความสะดวกสบายเป็นหลัก
  • มีรายงานผลการวิจัยสรุปว่า การทะเลาะถกเถียงกันระหว่างกินอาหารเย็นมีความสัมพันธ์กับการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าหากบรรยากาศการกินไม่สุนทรีย์แล้ว ความสนใจที่จะเลือกอาหารที่มีประโยชน์ก็จะลดน้อยลงไปด้วย
  • อาหารที่ปรุงและบริโภคกันเองในบ้านมักมีใยอาหารและแคลเซียมสูงกว่าอาหารนอกบ้าน และมีไขมันต่ำกว่าอาหารนอกบ้านถึง 32 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นหากเด็กกินอาหารนอกบ้านบ่อยก็มีโอกาสรับไขมันจากอาหารสูงขึ้น
  • มีรายงานการวิจัยพบอีกว่า แม่ที่ไม่เต็มใจลองอาหารแปลกใหม่ ลูกสาวก็จะมีพฤติกรรมการกินที่ไม่ต่างกัน
  • นอกจากนั้นการวิจัยยังพบว่า ผู้ที่มีนิสัยจู้จี้จุกจิกในการกินจะกินผักน้อยในชีวิตประจำวัน
  • เครื่องดื่มของเด็กประมาณ 51 เปอร์เซ็นต์มีรสหวาน
  • เด็กที่ชอบเล่นอินเทอร์เน็ตทุกวัน 56 เปอร์เซ็นต์มักจะกินอาหารขณะเล่น

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดโรคอ้วนและโรคที่รอพร้อมจะมากับความอ้วนในวัยเด็ก ลองเริ่มพิจารณาปรับเปลี่ยนดังต่อไปนี้

ฝึกกินผักแก้อ้วน

การลดความอ้วนในเด็กไม่ใช่การจับเด็กอดอาหารหรือจำกัดอาหาร เพราะจะทำให้การเจริญเติบโตของเด็กช้าลงและส่งผลต่อสุขภาพได้ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยหันมาลดเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดี เช่น ลดอาหารไขมันสูง กินอาหารที่มีกากใยสูงอย่างธัญพืชไม่ขัดสี เพิ่มผักผลไม้แทนขนมหวานต่างๆ ที่มีน้ำตาลและไขมันสูง น้ำหวาน น้ำอัดลม อาหารทอด อาหารฟาสต์ฟู้ด ร่วมกับเพิ่มการออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยวการเป็นผู้ใหญ่อ้วนได้ ซึ่งเป็นที่มาของโรคเบาหวาน แต่การที่เด็กจะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคได้ ต้องอาศัยพ่อแม่สนับสนุนและช่วยดูแลอาหารการกิน

นั่นหมายความว่าพ่อแม่จะต้องเป็นแบบอย่างการกินที่ดีให้ลูก

ผักผลไม้ไม่มีไขมันและมีพลังงานต่ำเมื่อเทียบกับอาหารหมวดอื่นๆ และเป็นแหล่งสารอาหารจำเป็น เช่น วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต แข็งแรง เสริมสร้างภูมิต้านทาน มีใยอาหารช่วยการทำงานของระบบขับถ่าย ช่วยลดไขมัน และมีสารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมากมาย เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น

ปัญหาการกินที่พบมากในเด็กทุกชาติทุกภาษาทั่วโลกคือ การไม่กินผักและผลไม้อย่างเพียงพอ ยกเว้นชาวมังสวิรัติที่ได้รับการปลูกฝังนิสัยการบริโภคมาตั้งแต่เด็กๆ จึงมีภาษีดีกว่าเด็กที่ไม่ใช่ชาวมังสวิรัติทั้งนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่า เด็กยังบริโภคผักและผลไม้น้อยมาก มีเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ที่บริโภคผักผลไม้ ได้ตามคำแนะนำ และ 17 เปอร์เซ็นต์บริโภคผักได้ตามที่แนะนำทุกวันจากสถิติย้อนหลังพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมา ปริมาณการบริโภคผักและผลไม้ของคนไทยลดต่ำอย่างมาก อย่างไรก็ตามการไม่กินผักผลไม้ในเด็กอาจมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินและวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วย ลองมาดูวิธีการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้

  • สังเกตพฤติกรรมการกินของพ่อแม่และคนดูแลว่าเป็นตัวอย่างที่ดีหรือไม่ โดยผู้ใหญ่ควรกินผักวันละ 2 ถ้วยตวง (4 อุ้งมือ) และผลไม้ 1 ½-2 ถ้วยตวง (3-4 อุ้งมือ)
  • จากการวิจัยพบว่า ก่อนที่เด็กจะยอมรับอาหารใหม่ที่พ่อแม่พยายามทำให้กิน เด็กจะถูกเสนอหรือเชิญชวนซ้ำๆกันถึง 10-15 ครั้ง พ่อแม่จึงต้องอดทนในการปลูกฝังนิสัยการกินผักเริ่มจากการเติมผักปริมาณน้อยๆในอาหารหลายชนิดที่เด็กชอบ หากเด็กไม่ยอมกินในครั้งแรกๆ ก็ไม่ควรบ่นหรือต่อว่าแต่พยายามพูดชักชวนและกินให้ดูเป็นตัวอย่าง จากประสบการณ์ผู้เขียนพบว่า หากเราตอกย้ำด้วยการชักชวนบ่อยๆ จะพบว่า แม้เด็กจะไม่กินต่อหน้าในระยะแรกๆ แต่จะกินที่โรงเรียน และสอนเพื่อนที่ไม่กินให้กินผักไปด้วย แต่เวลาอยู่บ้านจะแสดงอาการต่อต้านการกินผัก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
  • เนื่องจากต่อมรับรสในลิ้นของเด็กมีความไวกว่าของผู้ใหญ่เด็กอาจจะรู้สึกถึงรสขมในผักบางชนิด ขณะที่ผู้ใหญ่ไม่รู้สึก จึงควรลองเปลี่ยนชนิดของผัก สูตร วิธีการปรุง และการตกแต่งจานให้ดูน่าสนใจ
  • เลือกผักที่นำมาปรุงให้มีสีสันน่ากิน หากเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทอดหรือชุบแป้งทอดควรมีผักโรยหน้า เลือกปรุงด้วยวิธีย่างหรืออบแทนการทอดบ่อยๆ
  • ดึงความสนใจของเด็กให้มีส่วนร่วม เช่น ให้เด็กเลือกซื้อผักผลไม้ที่ชอบ ให้ช่วยล้างผัก เตรียมผัก จัดโต๊ะอาหารเท่าที่จะทำได้ตามอายุ จะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจสำหรับครอบครัวที่มีบริเวณปลูกต้นไม้ อาจปลูกผักที่เด็กเลือก เด็กจะรอวันที่เก็บผักกินได้
  • การบังคับให้กินอาหารให้หมดจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกลบกับอาหารชนิดนั้น จึงควรให้อิสระกับเด็กในการตัดสินใจที่จะลองกินผักผลไม้ชนิดใหม่ๆ
  • เด็กบางคนไม่ชอบผักต้มสุก แต่จะชอบผักสดที่มีรสหวานกรอบ พ่อแม่จึงต้องคอยสังเกตด้วยว่าเด็กมีความชอบแบบใด
  • พ่อแม่ไม่ควรใช้วิธีติดสินบนว่า ถ้ากินผักแล้วจะให้กินขนมเค้กหรือน้ำหวาน เพราะวิธีนี้จะทำให้เด็กเห็นว่าขนมหรือน้ำหวานมีความสำคัญถึงขนาดที่ผู้ใหญ่ต้องติดสินบนและมองว่าการกินผักเป็นสิ่งที่ยาก จะต้องฝืนกินถึงถึงจะได้กินสิ่งที่ต้องการ
  • เสิร์ฟปริมาณให้เหมาะสมกับอายุเด็ก โดยปริมาณผักและผลไม้ที่แนะนำสำหรับ 1 มือคือ
  • เด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไปให้กินปริมาณเท่ากับผู้ใหญ่
  • เสิร์ฟผลไม้หลังอาหาร โดยอาจปอกเปลือกและหั่นแช่ตู้เย็นเตรียมไว้ก่อน เพื่อเพิ่มความสะดวก หรือหาโถใส่ผลไม้สวยๆ ที่หยิบกินเองได้ เช่น แอ๊ปเปิ้ล สาลี่ ชมพู่ ส้ม หรือกล้วย แทนการตุนขนมประเภทจั๊งค์ฟู้ด
  • นำผักผลไม้มาปั่นเป็นเครื่องดื่มหรือสมู้ตทีหลากสีแทนเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน หรือเครื่องดื่มประเภททรีอินวัน
  • พ่อแม่ควรอ่านฉลากข้อมูลโภชนาการทุกครั้งเพื่อเลือกอาหารที่มีไขมันต่ำ โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์

เมื่อปลูกฝังนิสัยการกินที่ดีให้เด็กแล้ว ต้องแนะนำปริมาณอาหารที่จะกินด้วย หมั่นชวนลูกไปออกกำลังกาย ลูกๆ ก็จะห่างไกลจากโรคอ้วน แม้ว่าครอบครัวจะมีประวัติพันธุกรรมความอ้วนก็ตาม

 

 


31 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Childhood obesity: prevention is better than cure. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4801195/)
Tips for Parents–Ideas to Help Children Maintain a Healthy Weight. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/healthyweight/children/index.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป