กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ท้องจริงไหม ทำไมตรวจไม่เจอ? สาเหตุที่ตั้งครรภ์แต่ตรวจไม่พบเกิดจากอะไรได้บ้าง?

เผยแพร่ครั้งแรก 13 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ท้องจริงไหม ทำไมตรวจไม่เจอ? สาเหตุที่ตั้งครรภ์แต่ตรวจไม่พบเกิดจากอะไรได้บ้าง?

สาวๆ ที่กำลังลุ้นจะเป็นคุณแม่มือใหม่ พอพบว่าประจำเดือนขาดไปหลายวันอาจรีบวิ่งเข้าร้านขายยาไปหาซื้อชุดตรวจครรภ์มาทดสอบ แต่ผลตรวจออกมากลับบอกว่าเราไม่ท้องซะนี่...มีโอกาสมากแค่ไหนนะ ที่เราจะท้องแต่ชุดทดสอบดันตรวจไม่เจอ?

ชุดทดสอบครรภ์คืออะไร?

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ กันก่อน หลักการที่นิยมใช้คือการตรวจหาฮอร์โมน Human Chorionic Gonadotropin หรือ HCG ในปัสสาวะ ซึ่งจะตรวจพบได้ในหญิงที่ตั้งครรภ์เท่านั้น เจ้าชุดทดสอบนี้มีความแม่นยำถึง 95% แต่ข้อจำกัดคือเราต้องมีอายุครรภ์ 1-2 สัปดาห์ หรือ 7-10 วันขึ้นไป ระดับฮอร์โมน HCG จึงจะมากพอให้ตรวจพบได้ ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่มีขายทั่วไป มีทั้งแบบหยดและแบบจุ่ม ซึ่งหลักการกับความแม่นยำไม่ต่างกันนัก และใช้ปัสสาวะในการตรวจเหมือนกัน 

ดูชุดตรวจครรภ์อย่างไรว่าท้องหรือไม่ท้อง?

ชุดทดสอบจะมีแถบตัวอักษร 2 แถบ คือ C ซึ่งย่อมาจาก Control และ T ซึ่งย่อมากจาก Test หากเราจุ่มหรือหยดปัสสาวะลงไปแล้วปรากฏขีด 2 ขีด ทั้งแถบ C และ T นั่นแสดงว่ามีการตั้งครรภ์ แต่หากมีเพียง 1 ขีดขึ้นที่แถบ C ก็แสดงว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือที่คนทั่วไปมักจำกันมาว่า

  • 2 ขีด = ท้อง
  • 1 ขีด = ไม่ท้อง

สาเหตุที่ตั้งครรภ์แต่ตรวจไม่พบมีอะไรบ้าง?

1. อายุครรภ์ไม่มากพอ

ชุดทดสอบจะตรวจพบการตั้งครรภ์ได้เมื่อมีอายุครรภ์เกินกว่า 1-2 สัปดาห์ ดังนั้น หากอายุครรภ์ยังไม่ครบสัปดาห์ โอกาสจะตรวจไม่เจอนั้นสูงมาก ทางที่ดีควรตรวจซ้ำในสัปดาห์ถัดไปจึงจะให้ผลที่แน่นอนได้

2. ปัสสาวะเจือจางเกินไป

ปัสสาวะที่เหมาะสมสำหรับการทดสอบควรมีความเข้มข้นมากพอ เช่น เป็นปัสสาวะที่เก็บตอนเช้าหลังตื่นนอน หากเก็บปัสสาวะหลังจากดื่มน้ำมากๆ ปัสสาวะที่ได้จะเจือจาง ยิ่งถ้าอายุครรภ์ยังไม่มากด้วยแล้ว ก็มีโอกาสตรวจไม่เจอได้เหมือนกัน

3. ปัสสาวะเก็บไว้นานเกินไป

ตามจริงแล้ว ปัสสาวะที่เอามาตรวจควรเป็นปัสสาวะที่เก็บใหม่ๆ แต่หากมีเหตุที่ทำให้ต้องเก็บค้างไว้นานแล้วค่อยเอามาตรวจทีหลัง โอกาสที่ผลตรวจจะผิดพลาดก็มีมากขึ้น เนื่องจากฮอร์โมน HCG ที่ต้องการตรวจอาจเสื่อมสภาพ หรือมีสารรบกวนเจือปนมาในปัสสาวะได้

4. ชุดทดสอบเสื่อมคุณภาพ

หลายๆ ครั้ง ชุดทดสอบที่เสื่อมคุณภาพก็ทำให้ผลตรวจผิดพลาดได้ ดังนั้น ก่อนตรวจให้เชคก่อนว่าชุดทดสอบนั้นหมดอายุหรือไม่ ที่ซองมีรอยฉีกขาด หรือเก็บไว้ในที่ที่มีความชื้นหรือเปล่า ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ในการตรวจทุกครั้ง จะต้องปรากฏขีดที่แถบ C เสมอ หากตรวจแล้วพบว่ามีขีดขึ้นขีดเดียวที่แถบ T นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่ท้อง แต่เป็นเพราะชุดทดสอบนั้นเสื่อมคุณภาพแล้วต่างหาก

5. ไม่ปฏิบัติตามคู่มือของชุดทดสอบ

ชุดทดสอบแต่ละแบบ แต่ละยี่ห้อ จะมีวิธีการใช้ระบุไว้ ซึ่งเราต้องทำตามอย่างเคร่งครัด เช่น ชุดทดสอบแบบจุ่ม ต้องจุ่มไม่ให้เกินขีดที่กำหนด ไม่เช่นนั้นจะอ่านผลไม่ได้ ส่วนชุดทดสอบแบบหยด ต้องหยดปัสสาวะ 3-5 หยด ตามที่กำหนดไว้ หากหยดน้อยเกินไปก็อาจทำให้ตรวจไม่พบ นี่รวมถึงเวลาในการอ่านผลด้วย บางชุดทดสอบจะกำหนดให้อ่านผลภายใน 5-10 นาที หลังหยดหรือจุ่มปัสสาวะ หากเราอ่านผลเร็วหรือช้าเกินไป ก็อาจได้ผลที่ไม่ถูกต้องได้

ข้อแนะนำอีกข้อหนึ่งในการตรวจครรภ์ด้วยตนเอง คือควรตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์มากกว่า 1 ยี่ห้อในแต่ละครั้ง เพื่อเปรียบเทียบผลที่ได้ว่าต่างกันหรือไม่ และหากตรวจพบว่าไม่ท้อง ก็ควรตรวจซ้ำอีกครั้งในสัปดาห์ถัดไป เพื่อยืนยันผลที่แน่ชัด

 


17 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Strips of Hope: Accuracy of Home Pregnancy Tests and New Developments. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4119102/)
Pregnancy Test Lab Test Information. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/lab-tests/pregnancy-test/)
Pregnancy Test: Home & Blood Test Results, Accuracy & Timing. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/pregnancy_test/article.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า อันตรายหรือไม่
ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า อันตรายหรือไม่

เรื่องง่ายๆ ที่คุณแม่ทุกคนต้องใส่ใจเพราะอัตราการเต้นของหัวใจสัมพันธ์กับความปลอดภัยของลูกน้อย

อ่านเพิ่ม
ทำความเข้าใจกับภาวะตั้งครรภ์ที่ไข่ที่ปฏิสนธิไม่ฝังตัว (Chemical Pregnancy) ใช่หรือไม่ใช่?
ทำความเข้าใจกับภาวะตั้งครรภ์ที่ไข่ที่ปฏิสนธิไม่ฝังตัว (Chemical Pregnancy) ใช่หรือไม่ใช่?

การตั้งครรภ์ที่เร็วเกินไปที่จะยืนยันด้วยวิธีการทางชีวเคมี

อ่านเพิ่ม
อารมณ์แปรปรวน? บางทีคุณอาจจะกำลังตกไข่อยู่
อารมณ์แปรปรวน? บางทีคุณอาจจะกำลังตกไข่อยู่

ความต้องการทางเพศของผู้หญิง รอบประจำเดือน และการตั้งครรภ์

อ่านเพิ่ม