ประโยชน์ของเนยถั่ว

อุดมไปด้วยโปรตีนและไขมันดี ต้องรับประทานให้ถูกวิธีจึงจะได้ประโยชน์ครบถ้วน และไม่อ้วนแน่นอน
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 11 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ประโยชน์ของเนยถั่ว

เนยถั่วหอมมันของโปรดของใครหลายๆ คนที่สามารถรับประทานได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะทาขนมปัง รับประทานคู่กับผลไม้ หรือจะรับประทานแบบเปล่าๆ ก็อร่อยไปอีกแบบ รู้ไหมว่า นอกจากเนยถั่วจะมีรสชาติอร่อยแล้วยังมากด้วยคุณค่าแถมยังช่วยลดน้ำหนักได้ดี หากรับประทานในปริมาณที่พอดี ดังนั้นผู้ที่รักสุขภาพจึงไม่ควรพลาดซื้อเนยถั่วติดไว้ที่บ้าน

ค.ศ.1890  นพ.เซนต์ หลุยส์ ได้คิดค้นวิธีทำ เนยถั่ว หรือ Peanut Butter  ขึ้น เพื่อทดแทนโปรตีนในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเคี้้ยว  วิธีทำไม่ยุ่งยากเพียงนำถั่วลิสงมาคั่วบดให้ละเอียด  

เนยถั่ว 2 ช้อนโต๊ะ มีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้ 

ประโยชน์ของเนยถั่ว

1. เนยถั่วเป็นแหล่งโปรตีนชั้นยอด

เนยถั่วอุดมไปด้วยโปรตีน (โปรตีน 8 กรัม ต่อ เนยถั่ว 2 ช้อนโต๊ะ) สำหรับปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวัน (Recommended Dietary Allowance (RDA))  ผู้ชายอยู่ที่ 56 กรัม ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ 46 กรัม (ขึ้นกับ เพศ อายุและกิจกรรมที่ทำ) ตามที่เราทราบโปรตีนเป็นสารที่ช่วยเสริมสร้าง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอให้กับร่างกาย และยังมีส่วนช่วยเพิ่มกระบวนการเผาผลาญ โปรตีนแบ่งเป็น 2 ประเภท คือโปรตีนจากสัตว์และจากพืช โดยเนยถั่วเป็นแหล่งโปรตีนจากพืช เราควรบริโภคโปรตีนจากพืชหลายแหล่ง / ชนิด เพื่อให้ได้กรดอะมิโนจำเป็นที่เพียงพอ เช่น รับประทานเนยถั่วคู่กับขนมปังโฮลวีท หรือกับนม กับผักผลไม้  ก็จะทำให้ร่างกายได้รับโปรตีนครบถ้วน

2. เนยถั่วอุดมไปด้วยไขมันดี

ถึงแม้ว่า เนยถั่วจะถือเป็นอาหารที่มีไขมันสูง หากก็เป็นไขมันชนิดที่ดีต่อร่างกายเพราะเป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว พบในน้ำมันมะกอก น้ำมันงา ถั่วเปลือกแข็งต่างๆ เนยถั่ว 2 ช้อนโต๊ะ จะมีไขมันชนิดนี้ถึง 12.3 กรัม  ช่วยเพิ่มระดับไขมันตัวดี (เอชดีแอล - คอเลสเตอรอล) ลดระดับไขมันตัวร้าย (แอลดีแอล – คอเลสเตอรอล) ลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลกลูโคสไปใช้ได้ดีขึ้น และช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินในผู้เป็นเบาหวาน

3. เนยถั่วมีไฟเบอร์สูง

หากใครที่มีปัญหาในเรื่องการขับถ่าย เนยถั่วถือเป็นตัวช่วยที่ดีไม่น้อย เนื่องจากมีไฟเบอร์ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบขับถ่าย จึงช่วยแก้ปัญหาท้องผูก หรือลำไส้แปรปรวนได้ แต่หากต้องการประโยชน์มากขึ้นก็ควรรับประทานเนยถั่วคู่กับขนมปังโฮลวีท หรือแอปเปิ้ล  หรือผักและผลไม้ ก็จะยิ่งได้ไฟเบอร์มากขึ้นไปอีกจึงทำให้อยู่ท้องนาน ช่วยระบบขับถ่าย และลดน้ำหนักได้

4. เนยถั่วมีโพแทสเซียมสูง

โพแทสเซียมช่วยรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย ช่วยรักษาระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ อีกทั้งยังดีกับหัวใจ ซึ่งเนยถั่ว 100 กรัม จะมีโพแทสเซียมมากถึง 70 มิลลิกรัม

5. เนยถั่วอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามิน

เนื่องจากในเนยถั่วมีแร่ธาตุและวิตามินหลายชนิด  วิตามินชนิดที่สำคัญและมีมาก ได้แก่ วิตามินอี  ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายได้ดีในไขมัน ช่วยป้องกันการแตกของเม็ดเลือดแดง ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและการอุดตันของเส้นเลือด  และวิตามินบี 3 (Niacin) ช่วยเพิ่มระดับไขมันตัวดี (เอชดีแอล - คอเลสเตอรอล) ลดระดับไขมันตัวร้าย(แอลดีแอล – คอเลสเตอรอล) ลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ช่วยในการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศ (เอสโทรเจน โพรเจสเทอโรน เทสทอสเทอโรน) เช่น เดียวกับคอร์ติซอล ไทรอกซิน และอินซูลิน จำเป็นต่อสุขภาพที่ดีของระบบประสาทและการทำงานของสมอง

แม้เนยถั่วจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายแต่ก็ให้พลังงานสูงมาก  ดังนั้นจึงควรเลือกเนยถั่วชนิดที่ผ่านการปรุงแต่งน้อยโดยเฉพาะสารให้ความหวาน รวมทั้งต้องรับประทานเนยถั่วในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 2 เสิร์ฟ (1เสิร์ฟ เท่ากับ 1 ลูกปิงปอง)  สำคัญที่สุด ควรรับประทานให้หลากหลาย หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนชนิดโปรตีนไปเรื่อยๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับกรดอะมิโนจำเป็นได้หลายชนิด 


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Richard D. Mattes, Impact of Peanuts and Tree Nuts on Body Weight and Healthy Weight Loss in Adults (https://academic.oup.com/jn/ar...), 12 May 2019
Natalie Olsen, Is peanut butter good for you? (https://www.medicalnewstoday.c...), 22 November 2018
Katherine Marengo, Can Eating Peanut Butter Help Me Lose Weight? ( https://www.healthline.com/hea...), 17 January 2019

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป