ลูกท้อ (Peach)

ลูกท้อไทย-จีน แตกต่างกันอย่างไร สรรพคุณทางยาของลูกท้อมีไหม? กินอย่างไรให้ปลอดภัย หาคำตอบได้ที่นี่
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 4 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ลูกท้อ (Peach)

ลูกท้อ เป็นผลไม้ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศจีน ซึ่งในภาษาจีนเรียกกันว่า ซิวท้อ ในสมัยก่อนเชื่อว่าลูกท้อนั้นเป็นของมงคล จึงนิยมนำมาทำเป็นขนมเพื่ออวยพรให้แก่ผู้สูงอายุ และด้วยคุณประโยชน์ที่มากมาย ลูกท้อจัดจึงเป็นสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณมาก จนถูกขนานนามเป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Prunus persica (L.) Batsch

ชื่อวงศ์ ROSACEAE

ชื่อพ้อง Prunus persica (L.) Stokes

ชื่ออังกฤษ Nectarine, Peach

ชื่อท้องถิ่น มะฟุ้ง มักม่น มักม่วน หุงคอบ หุงหม่น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นท้อ

ต้นท้อ เป็นพรรณไม้พุ่มผลัดใบ สูง 4-8 เมตร ลำต้นและกิ่งมีเปลือกผิวเกลี้ยง กิ่งก้านเป็นสีเขียว หรือสีน้ำตาลอมแดง ไม่มีขน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปรียาว ปลายใบแหลม ขอบใบหยักฟันเลื่อยเล็กน้อย ใบยาว 8-15 เซนติเมตร กว้าง 2-4 เซนติเมตร ก้าวใบยาว 1 เซนติเมตร ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวตามกิ่ง ดอกสีชมพูอ่อน มี 5 กลีบ กลีบดอกรูปมนรี ปลายกลีบสีแดง เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร กลีบดอกยาว 2 เซนติเนตร มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก โคนดอกมีกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ผลรูปกลมรีปลายค่อนข้างแหม ผลมีสีเหลืองอ่อน ปลายผลมีสีแดงเล็กน้อย มีขนสั้นๆสีขาวปกคลุม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-7 เซนติเมตร เนื้อในนิ่มและชุ่มน้ำ ภายในผลมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดรูปร่างกลมรี สีแดง คล้ายรูปหัวใจ มีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร

คุณค่าทางโภชนาการของลูกท้อ

ลูกท้อน้ำหนัก 100 กรัม ให้พลังงาน 39 กิโลแคลลอรี่

  • คาร์โบไฮเดรต 9.54 กรัม
  • น้ำตาล 8.39 กรัม
  • เส้นใย 1.5 กรัม
  • ไขมัน 0.25 กรัม
  • โปรตีน 0.91 กรัม
  • วิตามินเอ 16 ไมโครกรัม 2%
  • เบตาแคโรทีน 162 ไมโครกรัม 2%
  • วิตามินบี 1 0.024 มิลลิกรัม 2%
  • วิตามินบี 2 0.031 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินบี 3 0.806 มิลลิกรัม 5%
  • วิตามินบี 5 0.153 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินบี 6 0.025 มิลลิกรัม 2%
  • วิตามินบี 9 4 ไมโครกรัม 1%
  • วิตามินซี 6.6 มิลลิกรัม 8%
  • วิตามินอี 0.73 มิลลิกรัม 5%
  • วิตามินเค 2.6 ไมโครกรัม 2%
  • ธาตุแคลเซียม 6 มิลลิกรัม 1%
  • ธาตุเหล็ก 0.25 มิลลิกรัม 2%
  • ธาตุแมกนีเซียม 9 มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุแมงกานีส 0.061 มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุโพแทสเซียม 190 มิลลิกรัม 4%
  • ธาตุโซเดียม 0 มิลลิกรัม 0%
  • ธาตุสังกะสี 0.17 มิลลิกรัม 2%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

ลูกท้อไทยกับลูกท้อจีนแตกต่างกันอย่างไร?

เนื่องด้วยลูกท้อเป็นสมุนไพรเมื่องหนาว ดังนั้นลูกท้อที่ปลูกในประเทศไทย จะสามารถปลูกได้เฉพาะบริเวณภูเขาสูง หรือที่ราบสูงที่มีอากาศค่อนข้างเย็นเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากลูกท้อที่ปลูกในประเทศจีนซึ่งมีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมในการเพาะปลูกมากกว่าประเทศไทย ทำให้ลูกท้อจากจีนมีคุณภาพมากกว่าและอุดมไปด้วยสารสำคัญที่นำมาใช้เป็นยามากกว่า

ประโยชน์และสรรพคุณทางยาของท้อ

ส่วนต่างๆ ของต้นท้อมีสรรพคุณแตกต่างกัน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนเมล็ด ใบ ดอก หรือผล ที่เรียกกันว่าลูกท้อ

  • แพทย์แผนจีนกล่าวว่า เมล็ดของลูกท้อมีรสขม หวานเล็กน้อย เป็นยารสสุขุมเย็น ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ตับ ม้าม และลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นเข้าตำรับยาฟอกเลือด ขับเลือด แก้ประจำเดือนไม่ปกติ แก้ซีสต์ในมดลูก แก้เลือดคั่งอุดตัน แก้ฟกช้ำ แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้เลือดกำเดาไหล แก้ริดสีดวง ช่วยทำให้ลำไส้หล่อลื่น ช่วยทำความสะอาดลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ โดยใช้เมล็ด 5-10 กรัม ต้มน้ำรับประทาน หรือผสมกับตัวยาอื่นๆในตำรับ
  • ใบ รสขม ใช้แก้ปวดหัว ตัวร้อน แก้มึนศีรษะ แก้เหน็บชา แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้มาลาเรีย โดยใช้ใบต้มน้ำรับประทาน นอกจากนี้ยังสามารถนำมาโขลกให้แหลกแล้วพอกที่ผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน แก้ผดผื่น แก้ฝีหนอง
  • เนื้อลูกท้อ สามารถนำมาใช้ประมาณครึ่งลูก หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปปั่นให้ละเอียดจนเป็นเนื้อครีม แล้วนำมาพอกใบหน้าหรือผิวกาย พอกทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วล้างออก ช่วยบำรุงผิวพรรณ
  • ดอกท้อ รสขม ใช้ขับปัสสาวะ แก้ปวดท้อง ท้องเสียแก้บวมน้ำ ใช้ดอกแห้งบดเป็นผง รับประทานขณะท้องว่าง หรือใช้ดอกแห้ง 4-8 กรัมต้มน้ำรับประทาน
  • กิ่งและราก แก้ดีซ่าน แก้ตัวเหลือง ตาเหลือง ใช้กิ่งและรากหั่นฝอย 50 กรัม ต้มกับน้ำ 500 มิลลิลิตร ต้มจนเหลือน้ำ 200 มิลลิลิตร รับประทานติดต่อกัน 3-5 วัน
  • ดอกและเมล็ด แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยนำส่วนดอกและเมล็ด เข้าตำรับกับดอกคำฝอย โกฐเชียง หญ้าพันงู ใช้ในอัตราส่วนเท่ากันนำมาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 10 กรัม ติดต่อกันจนกว่าประจำเดือนจะกลับมาเป็นปกติ แต่รับประทานติดต่อกันไม่เกิน 30 วัน

การรับประทานลูกท้อดอง อันตรายหรือไม่?

ลูกท้อสุกนำมารับประทานได้ทั้งแบบสดหรือแบบแปรรูปก็ได้ ให้รสชาติหวานอมเปรี้ยว ซึ่งลูกท้อที่นำมาแปรรูปนี้สามารถแปรรูปได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งลูกท้อแห้ง ลูกท้อดอง หรือลูกท้อแช่อิ่ม การรับประทานลูกท้อดองไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยตรง แต่ลูกท้อดองจะมีโซเดียมมากกว่าลูกท้อสด เนื่องจากใช้เกลือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการหมักดอง อาจมีผลทำให้ลำไส้เกิดอาการเกร็ง ถ้ากินในช่วงที่มีประจำเดือนคุณจะปวดท้องมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วง 1-2 วัน ฉะนั้นจึงแนะนำให้รับประทานลูกท้อแบบสดจะเป็นโยชน์มากกว่าในรูปแบบแปรรูปต่างๆ โดยเฉพาะแบบดอง

ข้อควรระวังในการรับประทานลูกท้อ

ลูกท้อมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย มีฤทธิ์ช่วยระบายอ่อนๆ หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้ ฉะนั้นจึงควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม

ลูกท้อกับความเชื่อของชาวจีน

ลูกท้อเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ มีสารต้านอนุมูลอิสระเป็นจำนวนมาก และยังเป็นผลไม้ที่ให้กากใย ซึ่งช่วยในการขับถ่าย นอกจากจะเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์และคุณค่าทางอาหารแล้ว ชาวจีนมีความเชื่อว่า ลูกท้อเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาว ช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายอีกด้วย ถ้าดอกท้อบานในระหว่างการฉลองวันปีใหม่ มีความเชื่อว่าปีต่อไปจะเป็นปีแห่งโชคลาภ นอกจากนี้แล้วชาวจีนยังมีการเขียนป้ายคำอวยพรลงไม้ที่ทำมาจากต้นท้อเพื่อความเป็นสิริมงคลและนำเป็นของตกแต่งประดับบ้าน


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
วิทยา บุญวรพัฒน์. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย, 2554.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
วิตามินกับการรับประทานอาหาร ที่มีสารต่อต้านริ้วรอย
วิตามินกับการรับประทานอาหาร ที่มีสารต่อต้านริ้วรอย

รับประทานวิตามินเพื่อการชะลอวัยอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

อ่านเพิ่ม