มะเขือพวง (Pea eggplant)

มะเขือพวง จากวัชพืชในอเมริกาใต้ สู่ผักพื้นบ้านหาง่าย มากสรรพคุณเพื่อสุขภาพ ของทวีปเอเชีย
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ธ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
มะเขือพวง (Pea eggplant)

มะเขือพวง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดจากทวีปอเมริกาใต้ จัดอยู่ในพวกวัชพืช แต่เมื่อกระจายพันธุ์มาแถบทวีปเอเชียกลับกลายเป็นผักพื้นบ้าน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น แกงเขียวหวาน น้ำพริก ส่วนใหญ่คนไม่ชอบรับประทานเพราะมีรสขม แต่รู้หรือไม่ว่ามะเขือพวงนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คิด

มะเขือพวง ลักษณะเป็นอย่างไร รสชาติเป็นอย่างไร?

ต้นมะเขือพวงเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นมีหนาม ใบกว้างรูปไข่ มีขนเล็กๆปกคลุม ขอบใบเรียบหรืออาจจะมีรอยหยักก็ได้ ผลของมะเขือพวงมีลักษณะเป็นทรงกลม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร สีเขียวคล้ายเมล็ดถั่วลันเตา รสขมเฝื่อน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

หลายคนสับสนแยกมะเขือพวงออกจากมะแว้งเครือได้ยาก เพราะมีลักษณะคล้ายกันมาก ขนาดใกล้เคียงกัน และมีรสขมเหมือนกัน แต่จุดสังเกตคือ ผลมะแว้งเครือจะมีสีเขียวและมีริ้วสีขาวอยู่ด้วย

มะเขือพวง รักษาโรคและอาการใดได้บ้าง?

ในมะเขือพวงมีสารอาหารและแร่ธาตุหลายอย่าง ซึ่งออกฤทธิ์รักษาและบรรเทาโรคและอาการดังนี้

  1. ในมะเขือพวงอุดมไปด้วยสารเพกทินมากกว่ามะเขือเปราะถึง 65 เท่า ซึ่งหากสารดังกล่าวละลายในน้ำแล้วจะมีลักษณะคล้ายวุ้น เมื่อเข้าสู่กระเพราะอาหารและลำไส้จึงช่วยทำให้ผนังลำไส้ดูดซึมอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง ทำให้ในกระแสเลือดไม่มีน้ำตาลส่วนเกิน

    มีประโยชน์กับผู้ป่วยเบาหวาน ไม่เพียงเท่านี้ สารเพกทินยังช่วยดูดซับไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดและโรคคอเลสเตอรอลสูง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี
  2. มีสารทราโวไซด์เอ (Torvoside A) ที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดได้ และช่วยกระตุ้นให้ตับนำคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดไปใช้ได้มากขึ้น และยังมีทราโวไซด์เอช (Torvoside H) มีฤทธ์ในการต่อต้านเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม และมีการศึกษาที่ให้ผลว่าทราโวไซด์เอชนี้มีประสิทธิภาพกว่าการใช้ยาอะไซโคลเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่ยับยั้งการเจริญเติบโตและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ที่เป็นสาเหตุโรคเริมและงูสวัด มากถึง 3 เท่า
  3. มีสารโซลาโซนีน (Solasonine) ซึ่งพบมากในผักตระกูลมะเขือ มีคุณสมบัติในการยับยั้งการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง
  4. มีสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย ลดความชราก่อนวัย และช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้
  5. เนื้อของมะเขือพวงมีกากใยอาหารอยู่มาก มีคุณสมบัติช่วยดึงน้ำ มีประโยชน์ในผู้ที่ขับถ่ายยาก ท้องผูก ไปจนถึงโรคริดสีดวงทวาร ช่วยทำให้อุจจาระเหลวและขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
  6. มีสารไฟโตนิวเทรียนท์ ช่วยฟื้นฟูร่างกายในผู้ป่วยโรคขาดสารอาหาร ทำให้น่างกายกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
  7. ประเทศบังคลาเทศ ใช้น้ำต้มจากรากและใบมะเขือพวง รักษาอาการหอบหืด เบาหวาน และลดความดันโลหิตสูง
  8. ประเทศบลาซิล ใช้น้ำต้มจากราก รักษาอาการจากโรคตับ โรควัณโรค และรักษาภาวะโลหิตจาง

สรรพคุณของมะเขือพวง

มะเขือพวงมีรสขม ตามหลักของแพทย์แผนไทยนั้นจะช่วยทำให้เจริญอาหาร กระตุ้นความอยากอาหารได้ ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น จึงช่วยบำรุงธาตุต่างๆ ในร่างกายและทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้มะเขือพวงเป็นยารักษาโรคและอาการต่างๆ อย่างแพร่หลาย ดังที่ปรากฏตามหลักการแพทย์พื้นบ้านและศาสตร์อายุรเวทอินเดีย เช่น

  • น้ำต้มจากผล แก้อาการตับม้ามโต และช่วยขับพยาธิ
  • ใบมะเขือพวงผสมดื่มกับนมวัว หรือผลมะเขือพวงต้มน้ำ หรือคั่วไฟอ่อน รักษาอาการไอ
  • สารสกัดจากรากมะเขือพวง ใช้ทาแก้อาการเท้าแตก
  • ใบของต้นมะเขือพวง นำมาต้มน้ำ พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดอาการปวดได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย
  • ผลและใบมะเขือพวง นำมาผ่านกระบวนการสกัด (Methanolic extracts) พบว่าให้สารสำคัญมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ (Anti-microbial) ทั้งในคนและสัตว์
  • ต้นมะเขือพวง นำไปสกัด ให้สารที่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น E.Coli, V. cholera, S.aurenus ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคในระบบขับถ่ายที่ทำให้มีอาการท้องเสีย ช่วยลดการเกิดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่ต้นไม้ รวมถึงCandida albicans ที่เป็นต้นเหตุของโรคเชื้อราในระบบทางเดินอาหารและช่องคลอด

มะเขือพวง กินสดหรือสุก ดีกว่ากัน?

การรับประทานมะเขือพวงนั้น แนะนำให้กินสุก เพราะมะเขือพวงมียางมาก หากรับประทานแบบสดอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปากและลำคอได้

ที่สำคัญควรล้างให้สะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง ก่อนนำไปปรุงอาหาร อีกทั้งการผ่านความร้อนยังช่วยลดอาการแพ้สารโซลานีนได้อีกด้วย

การกินมะเขือพวงให้ดีต่อสุขภาพ

ในมะเขือพวงมีสารที่ชื่อว่า โซลานีน (Solanine) ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์ที่พบมากในผักตระกูลมะเขือ เช่น มะเขือเปราะ มะเขือยาว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ผู้ที่มีอาการปวดบริเวณข้อต่างๆ ในร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสารนี้ เพราะจะรบกวนสภาวะสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย ทำให้มีอาการปวดและเป็นตะคริวได้

นอกจากนี้สารดังกล่าวสามารถทำให้เกิดอาการในระบบทางเดินอาหารและระบบประสาทได้ เช่น เวียนศรีษะ มึนงง หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน

ชามะเขือพวงดีจริงหรือ?

ปัจจุบันมีมะเขือพวงในรูปแบบชา ชามะเขือพวงมีฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ลดความดันโลหิตสูง ลดน้ำตาลในเลือด และยังเหมาะสำหรับผู้ที่ขับถ่ายยากหรือท้องผูก สามารถทำเองได้ง่ายๆ 2 วิธี ดังนี้

  1. นำมะเขือพวงและใบเตยมาล้างให้สะอาด ใช้สัดส่วนของทั้งสองอย่างเท่าๆ กัน เมื่อล้างแล้วทุบผลมะเขือพวงพอแหลก และหั่นใบเตยเป็นชิ้นเล็ก นำไปตากแดดจนแห้ง จากนั้นคั่วในกะทะ โดยใช้ไฟอ่อนประมาณ 5 นาทีจนมีกลิ่นหอม แล้วจึงนำไปตำในครกให้เป็นผง พร้อมนำไปชงกับน้ำร้อน
  2. หรือนำมะเขือพวงสดไปคั่วไฟอ่อนในกระทะ จนมีกลิ่นหอม จากนั้นทุบให้มะเขือพวงแตก แล้วจึงนำไปต้มจนเดือด ใช้กระชอนกรองกากออก พร้อมดื่ม สามารถใส่ใบเตยสดหรือหญ้าหวานเพิ่มได้

ทั้งสองวิธีดื่มเป็นชาวันละ 1-2 แก้ว รับประทานติดต่อกัน 7-10 วัน

อย่างไรก็ตาม การรับประทานผักเป็นยารักษาโรคมีข้อจำกัดการใช้หลายอย่าง ทั้งสภาพร่างกาย ภูมิต้านทาน และโรคประจำแต่ละบุคคล ดังนั้นหากต้องการรับประทานเป็นยาควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือหากมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยและลดผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นได้


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช, เทคโนโลบีชาวบ้าน ปีที่ 31 ฉบับที่ 700, พืชพื้นบ้านเป็นทั้งอาหารและยา (https://books.google.co.th/books?idfae), สิงหาคม 2562.
กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ, นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 371, ,มะเขือพวง จิ๋วแต่แจ๋ว (https://www.doctor.or.th/article/detail/10763), มีนาคม 2553.
Zubaida Yousaf, Ying Wang and Elias Baydoum, Phytochemistry and Pharmacological Studies on Solanum torvum Swartz (https://japsonline.com/admin/php/uploads/868_pdf.pdf), April 2013.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป