เทคนิคการแจ้งข่าวร้ายกับผู้ป่วยที่เป็นโรคระยะสุดท้าย

ทำอย่างไรให้กระทบกระเทือนจิตใจของผู้ป่วยน้อยที่สุด
เผยแพร่ครั้งแรก 7 ม.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
เทคนิคการแจ้งข่าวร้ายกับผู้ป่วยที่เป็นโรคระยะสุดท้าย

การแจ้งข่าวร้ายกับผู้ป่วยควร ทำเป็นขั้นตอนอย่างมีหลักการ วิธีที่ถูกต้งคือ การบอกเท่าที่ผู้ป่วยอยากจะรู้ ก่อนอื่นแพทย์มักถามผู้ป่วยก่อนว่าผู้ป่วยรู้เรื่องความเจ็บป่วยของตนเองอย่างไรบ้าง แล้วจึงบอกเท่าที่คิดว่าผู้ป่วยจะรับได้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ  นอกจากนี้แพทย์ควรเลือกบอกในช่วงที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่พร้อมรับข้อมูล เช่น ไม่ได้มีอาการเจ็บ ปวด อาการคลื่นไส้อาเจียน หรืออาการไม่สบายทางกายอื่นๆ  หลังจากบอกกับผู้ป่วยแพทย์ ควรจะมีการติดตามดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และอาจถามถึงคนในครอบครัวว่าผู้ป่วยอยากให้ใครร่วมรับรู้บ้าง เช่นผู้ป่วยพอจะทราบอยู่บ้างว่าตัวเองมีโอกาสเป็นมะเร็ง การบอกความจริงกับผู้ป่วยกรณีนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ โดยสามารถใช้คำพูดที่ตรงไปตรงมาได้ เนื่องจากผู้ป่วยเป็นคนเริ่มใช้คำว่ามะเร็งมาก่อนแล้ว  สิ่งที่สำคัญหลังการแจ้งข่าวร้ายกับผู้ป่วยคือ แพทย์ควรสรุปผลการวินิจฉัยและแผนการรักษาให้ผู้ป่วยฟังอีกครั้ง เพราะหลังจากฟังข่าวร้ายๆ มาทั้งหมด ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการหูดับ จับใจความไม่ถูกได้

เทคนิคการพูดคุยกับญาติที่ไม่ต้องการให้บอกความจริงเรื่องโรคกับผู้ป่วย

ขั้นแรกเราควรทำความเข้าใจก่อนว่าการที่ญาติไม่อยากให้บอกผู้ป่วยนั้น เป็นเพราะเขารักและห่วงใยผู้ป่วยจึงอยากปกป้องความรู้สึกของผู้ป่วย เราอาจจะใช้วิธีลองคิดไปด้วยกันแบบสองทางว่าถ้าบอกผู้ป่วยไป จริงๆ จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และถ้าไม่บอกผู้ป่วยจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าผู้ป่วยเป็นผู้มีสิทธิในการตัดสินใจในตัวของเขา และควรมีสิทธิเลือกที่จะใช้เวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีและมีความหมาย ญาติอาจจะลองคิดแทนว่าถ้าตัวเราเป็นผู้ป่วยเราจะอยากรู้ความจริงไหม และหากผู้ป่วยเสียชีวิตไปโดยไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีเวลาอยู่จำกัดอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ได้ทำในสิ่งที่ติดค้างหรืออยากทำได้ นอกจากนี้การบอกเรื่องโรคกับผู้ป่วยเราอาจจะเลี่ยงไปใช้คำที่ไม่น่ากลัวแทนได้ เช่นบางคนสะดวกให้แพทย์ใช้คำว่า“เนื้อไม่ดี”แทนคำว่า “มะเร็ง”แต่สิ่งสำคัญคือควรสื่อความหมายให้ผู้ป่วยทราบได้ว่าผู้ป่วยมีเวลาเหลืออยู่จำกัด
ดังนั้นแพทย์จึงควรทำความเข้าใจก่อน ว่าทำไมญาติถึงไม่อยากบอก ผู้ป่วย ก่อนจะเกลี้ยกล่อมถึงข้อดีในการบอก

เทคนิคพรสามประการ

เมื่อทราบว่ามีเวลาอย่เูหลือจำกัด ผู้ป่วยบางคนอาจรู้ความต้องการของตัวเองว่ายังมีสิ่งใดที่คั่งค้าง ทำไม่เสร็จ และอยากทำให้เสร็จสิ้นก่อนที่ตัวเองจะจากไป เช่นผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากรายหนึ่งมีความตั้งใจในการทำหนังสือประจำครอบครัวที่รวบรวมข้อคิดดีๆ ที่ตนเคยได้เรียนรู้มาเพื่อถ่ายทอดไปยังลูกหลาน และรวมรวมประวัติลูกหลานทุกคนในครอบครัวไว้ในหนังสือ เราอาจจะเรียกสิ่งที่ยังคั่งค้างนี้ได้ว่า“ธุรกรรมที่ยังทำไม่เสร็จ” (Unfinished Business) ผู้ป่วย ทุกคนหรือแม้แต่คนที่ไม่ป่วยก็คงมี “ธุรกรรมที่ยังทำไม่เสร็จ” ที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ความฝัน ความหวัง เป้าหมาย และความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิต ธุรกรรมของบางคนอาจจะเป็นเรื่องของตนเองใน ขณะที่บางคนอาจจะเป็นเรื่องของคนในครอบครัวการได้ช่วยให้ผู้ป่วยได้ทำในสิ่งที่คั่งค้างถือเป็นการช่วยลดทุกข์ของผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยหลายๆ คนก็อาจจะไม่ได้มีอะไรที่คั่งค้างที่ต้องทำ แต่อาจจะมีสิ่งที่ปรารถนาอยากจะทำแทนช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยหลายคนได้ทำตามความฝัน ด้วยรู้ว่าตัวเองมีเวลาจำกัด จึงทุ่มเทพลังงานที่มีทั้งหมดเพื่อทำความฝันบางอย่างให้สำเร็จ เช่น Dr. Randy Pausch ผู้โด่งดังจากหนังสือและปาฐกถาชุด The Last Lecture ผู้มีความฝันอยากให้ลูกๆ จดจำเขาในรูปแบบที่มีความหมายที่สุด ได้เขียนหนังสือและพูดเรื่องราวที่กินใจให้ผู้คน กล่าวขวัญถึงเรื่องราวความฝันที่ตนเองทำสำเร็จในวัยเยาว์เพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่

เทคนิคพรสามประการณ์ จึงอาจนำเอามาใช้กับผู้ป่วยที่อาจจะมเีวลาเหลืออยู่จำกัด เพื่อช่วยสานฝันบางอย่างของผู้ป่วยให้เป็นจริง เราพบว่าคนส่วนใหญมักจะขอดังต่อไปนี้ 1) ขอใหห้ายจากโรคที่เป็นอยู่ 2) ขอใหจ้ากไปอย่างสงบไม่ทุกข์ทรมาน 3) ขอให้คุณภาพชีวิตดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เทคนิคพรสามประการ (3 wishes) ให้อะไรมากกว่าการได้ทราบความปรารถนาของคนไข้ หลายๆ ครั้งกับการพูดคุยกับคนไข้ที่ใกล้เสียชีวิต เวลามักเป็นสิ่งที่มีอยู่จำกัด คำถามที่เรามียาวเป็นหางว่าวมักแปรผกผันกับพละกำลังของผู้ป่วยที่จะตอบได้ การใช้เทคนิคพรสามประการนี้จึงเหมือนเป็นทางลัดให้เข้าใจความต้องการของผู้ป่วยได้ในระยะเวลาอันสั้น คนเรามีสิ่งที่ต้องการในแต่ละช่วงของชีวิตไม่เหมือนกัน ตอนที่เราสบายดีเราอาจจะต้องการ ความก้าวหน้าทางการงาน คู่ครองที่ดี เงินทองทรัพย์สิน แต่พอเจ็บป่วย ความต้องการหลายๆ อย่างอาจจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ พรสามประการ ที่คนไข้พูดออกมายังช่วยให้เราเชื่อมโยงบทสนทนาไปสู่สิ่งต่างๆ ที่สำคัญในชีวิตของคนไข้ และสื่อสารสิ่งสำคัญเหล่านั้นไปยังครอบครัวได้อีกด้วย

กรณีศึกษา (เกิดขึ้นจริง)

คุณกุ๊กคนไข้โรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายคนหนึ่งที่ฉันได้มีโอกาสเจอครั้งแรกและเพียงครั้งเดียวนอนอยู่บนเตียงที่โรงพยาบาล  คุณกุ๊กมีอาการอ่อนเพลียลงเรื่อยๆ และมีโลหิตจางมากขึ้นญาติๆ พาคุณกุ๊กมานอนโรงพยาบาลเพราะอยากให้คุณกุ๊กรับเลือดรับน้ำเกลือ ด้วยหวังว่ามันจะช่วยให้คุณกุ๊กรู้สึกสดชื่น มีแรงมากขึ้น ระหว่างที่คุยกัน คุณกุ๊กหลับไปเป็นช่วงๆ ด้วยความอ่อนเพลีย พูดได้เป็นประโยคๆ แล้วต้องหยุดพัก มีครอบครัวประกอบด้วยสามี แม่ น้องสาว และน้าอยู่ข้างเตียง ฉันคิดว่าอาจจะคุยได้ไม่มากจึงให้คุณกุ๊กได้ลองขอพรสามประการ คุณกุ๊กขอพร ดังต่อไปนี้ 1) ขอให้เหมือนเดิม 2) ขอให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีอย่างมีสติ 3) ไม่อยากได้น้ำเกลือและเลือด การที่คุณกุ๊กขอข้อ 1 และ ข้อ 2 ไปในทิศทางตรงกันข้ามกันคือ ข้อ 1 เหมือนอยากให้โรคหาย แต่พอพูดถึงข้อ 2 กลับบอกเหมือนกับยอมรับ ความตายได้ คำพูดเหล่านี้พอจะบอกเราได้ว่าคุณกุ๊กน่าจะยอมรับระยะ ของโรคได้ดีพอสมควร แต่ก็ยังมีสิ่งที่ติดค้างอยู่ที่ทำให้ไม่อยากจากไปด้วย เช่นกัน ระหว่างที่คุณกุ๊กหลับไปอีกครั้ง น้องสาวของคุณกุ๊กถามว่า เราจะบอกคนไข้ได้ไหมว่า สิ่งที่เหมือนเดิมคือความรักของคนในครอบครัว ที่มีให้กับคุณกุ๊ก ฉันไม่เคยนึกถึงมุมนี้มาก่อน แต่รู้สึกว่าเป็นเรื่องยอดเยี่ยมมากๆ ที่จะเชื่อมโยงความรักของคนในครอบครัวกับพรข้อที่ 1 เข้าด้วยกัน เมื่อได้ฟังพรข้อที่ 2 จะรู้ว่าคุณกุ๊กรู้ตัวว่าป่วยหนัก จริงๆ แล้วคุณกุ๊กพูดถึง พรแค่ 2 ข้อเท่านั้น แต่ระหว่างการสนทนากัน มีบางตอนที่คุณกุ๊กถามขึ้น มาว่าถ้าไม่ต้องให้น้ำเกลือจะเป็นอะไรไหม? จึงทำให้เชื่อมโยงมาถึงความต้องการที่แท้จริงในพรข้อที่ 3 ได้ว่า จริงๆ แล้วคุณกุ๊กไม่ต้องการได้รับน้ำเกลือ เลือด หรือการรักษาใดๆ ก็ตามที่จะ ยืดชีวิตออกไปมากกว่าที่ ธรรมชาติให้มา เมื่อคนในครอบครัวทราบ ความปรารถนาข้อ 3 จึงไม่ขอให้หมอให้น้ำเกลือหรือเลือดอีก 

 

ที่มา: ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก หมอเป้ พญ.ดาริน จตุรภัทรพร
ผู้แต่งหนังสือ  สุข รัก เข้าใจ ในช่วงสุดท้ายของชีวิต | Facebook Page: รักก่อนกำเนิด เกิดก่อนกำหนด | @Lynlanara


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Delivering bad news to patients. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4677873/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)