ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD
เขียนโดย
ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD

ผักกวางตุ้ง (Pakchoi)

รู้จักผักกวางตุ้งครบทุกแง่มุม ประโยชน์ คุณค่าทางอาหารของผักกวางตุ้ง วิธีปรุงที่ควร-ไม่ควร ซึ่งจะทำให้ได้สารอาหารเต็มที่ และเลี่ยงการเกิดสารที่เป็นอันตราย
เผยแพร่ครั้งแรก 28 ต.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ผักกวางตุ้ง (Pakchoi)

ผักกวางตุ้ง เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กในตระกูลกะหล่ำ มีก้านใบเรียวยาว สีเขียวอ่อน ต้นอวบน้ำเรียงสลับกัน ใบกว้าง รูปรี มีลักษณะคล้ายผักคะน้า แต่ใบบางกว่า ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองเล็กๆ

ผักกวางตุ้งมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน ปัจจุบันเป็นที่นิยมบริโภคกันมาก เนื่องจากเป็นผักที่ปลูกง่าย โตเร็ว และนำมาประกอบอาหารได้หลายประเภท อีกทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย

ประโยชน์ของผักกวางตุ้ง

ผักกวางตุ้งอุดมไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุ ให้ประโยชน์แก่ระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังนี้

  • เส้นใยหรือไฟเบอร์ เป็นคุณค่าทางโภชนาการสำคัญที่มีในผักกวางตุ้ง มีส่วนช่วยในการขับถ่าย ป้องกันท้องผูก ทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ลดน้ำหนักและควบคุมความอยากอาหาร
  • วิตามินเอและแคโรทีนอยด์ สารอาหารนี้มีอยู่ในผักกวางตุ้งเช่นกัน ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นสารเรตินาลดีไฮด์ (Retinaldehyde) ซึ่งเป็นวิตามินที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยบำรุงสายตา

    ข้อมูลจากวารสารสมาคมการแพทย์ในประเทศอเมริกา ในปี ค.ศ. 1994 ชี้ให้เห็นว่า การบริโภคแคโรทีนอยด์สามารถช่วยลดการเสื่อมสภาพของดวงตา ช่วยป้องกันการเกิดต้อกระจก และลดความรุนแรงโรคต้อหินได้
  • วิตามินซี ผักกวางตุ้ง 100 กรัมมีวิตามินซีสูงถึง 45 มิลลิกรัม วิตามินนี้มีประโยชน์คือช่วยเสริมภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ ป้องกันการอักเสบ นอกจากนียังมีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้
  • วิตามินเคและแคลเซียม ในผักกวางตุ้งมีวิตามินเคและแคลเซียมสูง ซึ่งเมื่อสองอย่างนี้ทำงานร่วมกัน จะช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง และช่วยในการเรียงตัวของกระดูก เพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน และยังช่วยรักษาอาการตะคริวได้อีกด้วย
  • โพแทสเซียม ในผักกวางตุ้งมีโพแทสเซียม ช่วยเพิ่มระดับของธาตุเหล็กในร่างกาย ซึ่งธาตุเหล็กและวิตามินเคเป็นสารอาหารจำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจางได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้นโพแทสเซียมยังช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ผักกวางตุ้งกับผักกาดจอของภาคเหนือ เป็นผักชนิดเดียวกันหรือไม่?

เมนู ผักกาดจอ ของภาคเหนือ คือแกงใส่ผักกับกระดูกหมูหรือซี่โครงหมู ลักษณะเป็นแกงน้ำใสๆ รสเปรี้ยวเค็ม ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้าหรือกะปิ กับน้ำมะขามเปียก

ถ้าแยกเป็นคำๆ แล้ว “ผักกาด” ของผักกาดจอ ก็คือผักที่ชาวเหนือเรียกกันว่า “ผักกาดจ้อน” ซึ่งหมายถึงผักกวางตุ้งที่กำลังออกดอก ส่วน “จอ” หมายถึงวิธีการปรุงอาหารแบบหนึ่ง

สรุปคือ ผักที่ใส่ในผักกาดจอ ก็คือ ผักกวางตุ้งที่กำลังออกดอก นั่นเอง

กินผักกวางตุ้งอย่างไรถึงได้ประโยชน์มากที่สุด?

เนื่องจากผักกวางตุ้งอุดมไปด้วยวิตามินเอและซี ดังนั้นขั้นตอนการปรุงอาหารไม่ควรใช้ความร้อนสูง เพราะเมื่อวิตามินซีและวิตามินเอโดนความร้อน จะทำให้คุณค่าทางโภชนาการสูญเสียไป

คำแนะนำการกินผักกวางตุ้งอย่างปลอดภัย

ข้อควรระวังที่สำคัญในผักตระกูลกะหล่ำคือความสะอาด เนื่องจากผักตระกูลนี้ใบจะเรียงสลับกัน ดังนั้นควรคลี่ใบแล้วล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุงอาหารทุกครั้ง ไม่ว่าจะแช่ในน้ำส้มสายชู แช่ในด่างทับทิม หรือการล้างจากน้ำที่ไหลนานประมาณ 2 นาทีจะ ช่วยลดสารพิษในผักและป้องกันการตกค้างของแมลง ไข่พยาธิ และสิ่งแปลกปลอมได้

นอกจากนี้ ควรระมัดระวังการปรุงผักกวางตุ้งด้วยวิธีต้ม เนื่องจากหากต้มนานเกินไปอาจเกิดสารตัวใหม่ขึ้น ชื่อว่าสาร “ไทโอไซยาเนต” สารชนิดนี้สามารถระเหยไปกับไอน้ำได้เมื่อเปิดฝาหม้อทิ้งไว้ แต่หากเข้าสู้ร่างกายในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการท้องเสีย ความดันต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
รัตนา พรหมพิชัย, ชอผักกาด/ผักกาดชอ, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ, เล่มที่ 4 , กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย, 2542.
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ผักกาดเขียวกวางตุ้ง FLOWERING WHITE CABBAGE (https://www.acfs.go.th/standard/download/FLOWERING-WHITE-CABBAGE.pdf), 6 กันยายน 2561.
Paramita Retno, 9 Best Health Benefits of Choy Sum (https://drhealthbenefits.com/food-bevarages/vegetables/health-benefits-of-choy-sum), 23 December 2017.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป