ไขข้อข้องใจ บริจาคอวัยวะ VS บริจาคร่างกาย

บริจาคอวัยวะกับบริจาคร่างกาย เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เราจะบริจาคทั้งสองอย่างได้ไหม? หาคำตอบได้ที่นี่
เผยแพร่ครั้งแรก 6 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ไขข้อข้องใจ บริจาคอวัยวะ VS บริจาคร่างกาย

มีคนมากมายที่เข้าใจว่า การบริจาคอวัยวะและการบริจาคร่างกายคือสิ่งเดียวกัน โดยมีจุดหมายปลายทางคือการเป็นอาจารย์ใหญ่ในวันที่หมดลมหายใจ ให้เหล่านักศึกษาแพทย์ใช้ร่างของเราเรียนรู้เรื่องกายวิภาค แต่ความจริงแล้ว การบริจาคสองอย่างนี้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งเรื่องของวัตถุประสงค์ เงื่อนไขในการบริจาค รวมถึงขั้นตอนที่เกิดขึ้นภายหลังจากผู้บริจาคเสียชีวิตแล้ว

ความแตกต่างของการบริจาคอวัยวะกับการบริจาคร่างกาย

การบริจาคอวัยวะ คือการนำอวัยวะที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ของผู้บริจาค (ที่เสียชีวิตจากภาวะสมองตายเท่านั้น) เช่น หัวใจ ปอด ตับ ไต ไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีอื่น ให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ส่วนการบริจาคร่างกายนั้น คือการอุทิศร่างกายของผู้บริจาคเพื่อการศึกษา การวิจัย และการฝึกอบรมทำหัตถการต่างๆ เช่น การผ่าตัด ของนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน โดยทั่วไปแล้วร่างกายของผู้บริจาคในฐานะ "อาจารย์ใหญ่" จะถูกนำไปใช้เพื่อการศึกษาประมาณ 2-3 ปี จากนั้นจะได้รับการพระราชทานเพลิงศพ แต่ในบางกรณีก็อาจมีการเก็บโครงกระดูกไว้เพื่อการศึกษาเฉพาะทางต่อไป

เช็กคุณสมบัติ...เราสามารถบริจาคอะไรได้บ้าง?

ผู้ที่มีความประสงค์จะบริจาคอวัยวะ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • บริจาคได้ตั้งแต่อายุ 17 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี (บางสำหรับบางอวัยวะอาจรับผู้มีอายุเกินนี้ได้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดและการขาดแคลนอวัยวะนั้นๆ เช่น ผู้บริจาคตับอาจมีอายุได้มากถึง 75 ปี ผู้บริจาคไตอาจมีอายุได้มากถึง 70 ปี ขณะที่ผู้บริจาคหัวใจควรมีอายุน้อยกว่า 50 ปี เป็นต้น)
  • ไม่ได้เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต และโรคติดสุราเรื้อรัง
  • ปราศจากเชื้อที่สามารถถ่ายทอดในการปลูกถ่ายอวัยวะได้ เช่น HIV หรือ ไวรัสตับอักเสบบี

แม้จะแสดงความจำนงในการบริจาคอวัยวะแล้ว แต่การนำอวัยวะไปปลูกถ่ายจะเกิดขึ้นได้ ก็เมื่อผู้บริจาคเสียชีวิตจากภาวะสมองตายเท่านั้น โดยภาวะสมองตายหมายถึงภาวะที่ร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่อการกระตุ้นใดๆ ไม่สามารถหายใจได้เอง และไม่มีโอกาสฟื้นกลับมาอีก ยังมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งทางการแพทย์จะถือว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 

ในส่วนของการบริจาคร่างกาย สามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 17 ปีขึ้นไป (หากอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษร) แต่เนื่องจากร่างที่จะนำมาศึกษาควรมีความสมบูรณ์ที่สุด หน่วยงานและสถาบันต่างๆ จึงอาจจะปฏิเสธการรับร่างของผู้บริจาค หากมีปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ร่างกายมีน้ำหนักน้อยกว่า 40 กิโลกรัม หรือมีน้ำหนักมากกว่า 70 กิโลกรัม
  • ร่างกายไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ศึกษา เช่น เน่าเปื่อย มีกลิ่นเหม็น มีแผลพุพองตามร่างกาย รวมถึงมีความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูก เช่น แขน ขา หรือหลังโก่ง
  • เสียชีวิตจากการติดเชื้อ และโรคติดต่อที่มีความรุนแรง เช่น โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบบี 
  • เสียชีวิตด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับสมอง เช่น เลือดออกในสมอง มะเร็งสมอง 
  • เสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุ ได้รับการผ่าตัดก่อนเสียชีวิต
  • เป็นศพที่เกี่ยวข้องกับคดีความ และยังต้องมีการผ่าพิสูจน์ในอนาคต
  • มีอวัยวะภายในไม่ครบถ้วน หรือไม่สมบูรณ์
  • ฉีดน้ำยารักษาสภาพศพก่อนมาถึงหน่วยงานและสถาบัน

อยากบริจาคอวัยวะและบริจาคร่างกายทั้งคู่ได้หรือไม่?

แม้จุดประสงค์และคุณสมบัติของการบริจาคอวัยวะและการบริจาคร่างกายจะแตกต่างกัน แต่ผู้บริจาคสามารถแสดงความจำนงบริจาคทั้งอวัยวะและร่างกายได้พร้อมกัน ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยภายหลังจากการเสียชีวิตของผู้บริจาค จะมีเจ้าหน้าที่และญาติเป็นผู้ตัดสินใจร่วมกันว่าจะนำร่างกายไปใช้ประโยชน์ด้านใดได้บ้าง หากสามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายต่อได้ ก็จะไม่สามารถนำร่างไปศึกษาต่อได้

ดาวน์โหลดแบบฟอร์มและอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้ที่เว็บไซต์นี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ดาวน์โหลดแบบฟอร์มและอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงความจำนงบริจาคร่างกายได้ที่เว็บไซต์นี้

ในกรณีที่ผู้บริจาคร่างกายได้แสดงความจำนงบริจาคดวงตา และได้นำกระจกตาไปปลูกถ่ายแล้ว กรณีนี้ยังสามารถนำร่างกายไปใช้ศึกษาต่อได้ ขึ้นอยู่ดุลพินิจของหน่วยงานและสถาบันที่รับบริจาค

คนข้างหลังควรปฏิบัติอย่างไร เมื่อผู้บริจาคเสียชีวิต?

ผู้ที่มีภาวะสมองตายด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น เลือดออกในสมอง หรือได้รับบาดเจ็บที่สมอง มักจะได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว ในกรณีนี้เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่ามีการบริจาคอวัยวะไว้หรือไม่ หากมีก็จะดำเนินการขอรับบริจาคอวัยวะจากญาติ โดยจะต้องมีการลงลายมือชื่อยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร (หากญาติไม่ยินยอม ถือว่าการบริจาคอวัยวะเป็นโมฆะทันที) 

ในกรณีที่ผู้บริจาคอวัยวะเสียชีวิตที่อื่น ให้โทรศัพท์แจ้งที่สายด่วน 1666 เพื่อให้ทีมแพทย์เดินทางมาตรวจสภาพร่างกายของผู้เสียชีวิตโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะผู้บริจาคจะเสียชีวิตที่ใด หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าสามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายได้ จะมีการนำร่างของผู้บริจาคไปผ่าตัดเพื่อนำอวัยวะออก หลังจากนั้นจะนำร่างคืนให้ญาติ เพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป

ส่วนในกรณีที่ผู้บริจาคร่างกายเสียชีวิต (และตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้มีการบริจาคอวัยวะ หรือไม่สามารถบริจาคอวัยวะได้) ให้โทรศัพท์ไปแจ้งตามเบอร์โทรที่อยู่ในบัตรประจำตัวของผู้บริจาคร่างกายภายใน 24 ชั่วโมง เช่น

  • ศูนย์การรับศพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เบอร์โทรศัพท์ 083-829-9917
  • เจ้าหน้าที่รับร่างผู้อุทิศ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เบอร์โทรศัพท์ 081-841-6830

ซึ่งในระหว่างนี้จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำในการดูแลร่างของผู้เสียชีวิต และมักจะมีการอำนวยความสะดวกด้วยการจัดเจ้าหน้าที่และรถไปรับร่างของผู้เสียชีวิต หากอยู่ในระยะที่กำหนดไว้ (มักไม่เกิน 100 กิโลเมตร หากเกินกว่านั้นญาติต้องเป็นผู้นำร่างมายังหน่วยงานหรือสถาบันเอง)

คงจะดีไม่น้อย ถ้าอวัยวะและร่างกายของเราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้แม้จะจากโลกนี้ไปแล้ว และยิ่งถ้าหากอวัยวะที่บริจาคไป สามารถนำไปใช้ปลูกถ่ายได้ ทายาทของเรา 1 คนจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีอุปการะคุณสภากาชาดไทยระดับทอง 4.4 ซึ่งจะได้รับการลดหย่อนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) 50% และค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน (IPD) 50% ในโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาดไทย ได้รับการลดหย่อนค่าห้องพิเศษ และค่าอาหารพิเศษ มื่อเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และยังได้ตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลในสังกัดสภากาชาดฟรีปีละ 1 ครั้งอีกด้วย


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย, ความดีที่ไม่สิ้นสุด (http://www.organdonate.in.th/), 2019.
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, บริจาคร่างกายและอวัยวะ (https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/donations/body-donation/), 2019.
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คำแนะนำเกี่ยวกับผู้อุทิศร่างกายเพื่อประโยชน์ในการศึกษา (http://www.sc.mahidol.ac.th/scan/pdf/BodyDonationForm.pdf), 2019

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
เพราะการให้ไม่มีสิ้นสุด วันนี้… คุณบริจาคอวัยวะแล้วหรือยัง?
เพราะการให้ไม่มีสิ้นสุด วันนี้… คุณบริจาคอวัยวะแล้วหรือยัง?

ร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งมหัศจรรย์ แม้จะจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ยังสามารถนำอวัยวะไปต่อชีวิตให้ผู้อื่นได้

อ่านเพิ่ม
บริจาคอวัยวะ...การให้ที่ยิ่งใหญ่ อวัยวะของคุณช่วยชีวิตใครได้บ้าง?
บริจาคอวัยวะ...การให้ที่ยิ่งใหญ่ อวัยวะของคุณช่วยชีวิตใครได้บ้าง?

เมื่อตายไปแล้ว ร่างกายก็ไม่ได้เป็นของเราอีกต่อไป... จะดีแค่ไหนหากอวัยวะของเราช่วยให้ผู้อื่นมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

อ่านเพิ่ม