กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ยาคุมผู้ชายปลอดภัยในคนแล้ว แต่ยังไม่มีวางจำหน่าย

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการเผยผลการวิจัยยาคุมกำเนิดเพศชายที่มีสาร 11-Beta-MNTDC ที่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์แต่ยังไม่สามารถวางจำหน่ายได้ โดยทีมนักวิจัยคาดว่าจะสามารถวางจำหน่ายได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ธ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ยาคุมผู้ชายปลอดภัยในคนแล้ว แต่ยังไม่มีวางจำหน่าย

ที่ผ่านมา การคุมกำเนิดดูเหมือนจะตกเป็นภาระของผู้หญิงเสียส่วนใหญ่ เห็นได้จากวิธีคุมกำเนิดของผู้หญิงที่มีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยาคุมกำเนิดแบบเม็ด การแปะแผ่นยาคุมกำเนิด การฝังยาคุมกำเนิด และการฉีดยาคุมกำเนิด ส่วนในผู้ชายมีเพียงการใส่ถุงยางอนามัยเพียงอย่างเดียว และไม่ใช่ทุกคนที่จะให้ความร่วมมือ

แต่เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม 2019 สถาบัน Los Angeles Biomedical Research Institute และ Univesity of Washington ได้เปิดเผยผลการวิจัยยาคุมกำเนิดเพศชาย ที่ได้ทดลองกับมนุษย์ ยาคุมกำเนิดที่ได้นำมาทดลองนี้มีลักษณะเป็นแคปซูล ภายในมีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า 11-Beta-MNTDC ซึ่งมีส่วนผสมของฮอร์โมนสำคัญ 2 ชนิด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ส่วนผสมของฮอร์โมนสำคัญในยาคุมผู้ชาย

  1. Progesterone ที่จะไปยับยั้งการผลิต Luteinizing Hormone (LH) และ Follicle-Stimulating Hormone (FSH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการสร้างอสุจิในเพศชาย
  2. Androgen เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่เกิดจากปริมาณเทสโทสเตอโรนที่ลดลง

งานวิจัยครั้งนี้ใช้เวลา 30 วัน มีอาสาสมัครเข้าร่วมทดลองทั้งหมด 50 คนซึ่งเป็นผู้ชายอายุระหว่าง 18-50 ปี เมื่อครบระยะเวลาวิจัย ผลปรากฎว่า ผู้ที่ได้รับยาจริงทั้งหมด 40 คนมีปริมาณฮอร์โมน LH และ FSH ลดลง แต่ก็ยังพบผลข้างเคียงเล็กน้อย ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย ความต้องการทางเพศลดลง และอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถพบได้ตามปกติ

จากผลการทดลองครั้งนี้สรุปได้ว่า ยาคุมกำเนิดเพศชายที่มีสาร 11-Beta-MNTDC ปลอดภัยสำหรับใช้ในมนุษย์แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถวางจำหน่ายได้ภายในปีนี้ เนื่องจากระยะเวลาในการวิจัยยังน้อยเกินไปที่จะสังเกตคุณภาพอสุจิ และยังต้องหาปริมาณของตัวยาที่เหมาะสมที่สุด โดยเหล่านักวิจัยคาดว่าระยะเวลาเร็วที่สุดที่จะวางจำหน่ายได้คืออีก 10 ปีข้างหน้า

ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ทีมวิจัยชุดเดียวกันนี้ได้ตีพิมพ์งานวิจัยความปลอดภัยของยาคุมกำเนิดเพศชาย Dimethandrolone Undecanoate (DMAU) ที่ให้ผลใกล้เคียงกับยาคุมกำเนิดในเพศหญิง ลงในวารสาร The Journal of Clinical Endocrinology and Metabolism ยาชนิดนี้ได้รับการวิจัยต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี และยังมีการวิจัยต่อจนถึงปัจจุบัน

เป้าหมายหลักของนักวิจัยคือ การค้นหายาคุมกำเนิดเพศชายที่ให้ประสิทธิภาพดีที่สุด และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ทั้ง DMAU และ 11-Beta-MNTDC จะได้รับการพัฒนาควบคู่กันต่อไป เพื่อให้สามารถวางจำหน่ายได้ในอนาคต

นอกจากยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน ปัจจุบันยังมีการวิจัยเจลคุมกำเนิดในเพศชาย ซึ่งได้ผ่านการทดลองในลิงเป็นที่เรียบร้อย ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยในมนุษย์ โดยเจลชนิดนี้ประกอบไปด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่โพรเจสเตอโรน ที่ไปยับยั้งการสร้างอสุจิ และเทสโทสเตอโรน ที่ช่วยลดผลข้างเคียงจากการทำงานของโพรเจสเตอโรน

ในการใช้งานเจลคุมกำเนิด เพียงแค่ทาเจลประมาณ 1 ช้อนชาลงบนหัวไหล่และแขนด้านบนทุกวัน จะช่วยยับยั้งการสร้างอสุจิได้ประมาณ 48-72 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้ได้มีอาสาสมัครชายหญิงจากทั่วโลก 400 คู่ เข้าร่วมการทดลองนี้อยู่

หากการทดลองทั้ง 3 วิธีนี้ประสบความสำเร็จ ผู้ชายก็จะมีทางเลือกในการคุมกำเนิดมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ทั้งยาเม็ดคุมกำเนิด และเจลคุมกำเนิด สามารถป้องกันเพียงการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ แต่ไม่ได้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การสวมถุงยางเมื่อมีเพศสัมพันธ์ก็ยังคงจำเป็นอยู่เช่นเดิม


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Technology Networks, Male Birth Control Pill Passes Human Safety Tests (https://www.technologynetworks.com/drug-discovery/news/male-birth-control-pill-passes-human-safety-tests-317223), 25 March 2019.
Susan Brickell, Male Birth Control Gel Might Become a Thing–Here's What You Need to Know (https://www.health.com/birth-control/male-birth-control-gel-clinical-trial), 29 November 2018.
Science Blog, Second Male Birth Control Pill Passes Human Safety Tests (https://scienceblog.com/507059/second-male-birth-control-pill-passes-human-safety-tests/), 3 April 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)