กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ควรได้รับของหญิงตั้งครรภ์

เผยแพร่ครั้งแรก 16 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 30 มิ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 11 นาที

ปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ควรได้รับของหญิงตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา  เพื่อรับการตั้งครรภ์  และทารกในครรภ์ยังมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว  จึงทำให้หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับสารอาหารและพลังงานเพิ่มมากขึ้น  ทั้งปริมาณและคุณภาพ  ดังนี้

1. ความต้องการพลังงาน

หญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น  เพราะการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ขึ้นกับน้ำหนักของมารดาที่เพิ่มขึ้น  เพื่อนำไปใช้สำหรับการเจริญเติบโตของทารกและเนื้อเยื่อต่าง ๆ  ของแม่  ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์  ดังแสดงในตารางที่  2.1  ซึ่งการเพิ่มน้ำหนักของหญิงตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับระยะของการตั้งครรภ์  โดยในไตรมาสแรก  (1-3  เดือน)  หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก  เนื่องจากยังมีอาการคลื่นไส้อาเจียน  ในหญิงที่มีสุขภาพดีอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นน้อยกว่า  2  กิโลกรัมก็เพียงพอ  ซึ่งได้จากการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานเพิ่มขึ้นวันละ  150-200  แคลอรี  สำหรับไตรมาสที่  2  (4-6  เดือน)  และไตรมาสที่  3  (7-9  เดือน)  การเพิ่มของน้ำหนักมารดามีความสำคัญ  เนื่องจากทารกในครรภ์เติบโตรวดเร็วมากในระยะนี้  ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายต้องทำงานเพิ่มขึ้น  จึงควรต้องเพิ่มพลังงานขึ้นเป็นวันละ  300  แคลอรี เพื่อให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น  1.4-1.8  กิโลกรัมในแต่ละเดือนจนถึงคลอด  (จุธาวดี,  ม.ป.ป.)  การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวหญิงตั้งครรภ์แต่ละคนจะไม่เท่ากัน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ว่าอยู่ในเกณฑ์ใด  ซึ่งสามารถคำนวณได้จากค่าดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI)  ดังได้กล่าวในตอนต้น  เพื่อหาว่ามีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ใด  ถ้าหญิงตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวน้อย  ระหว่างตั้งครรภ์ควรเพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้นกว่าปกติ  หรือถ้ามีน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์มาก  ควรเพิ่มน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป  ดังแสดงในตารางที่   2.2  โดยน้ำหนักตัวเฉลี่ยของหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวปกติจะเพิ่มขึ้นประมาณ  11.5-16  กิโลกรัม  ตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์ (Wardlaw and Smith, 2011)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

 

ตารางที่  2.1  น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของหญิงตั้งครรภ์  กรณีตั้งครรภ์ทารกคนเดียว

ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น น้ำหนัก (กิโลกรัม)
ทารก

เต้านมที่โตขึ้น

มดลูกที่โตขึ้น

รก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

น้ำคร่ำ

ปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้น

ปริมาณของเหลวที่เพิ่มขึ้น

ไขมันสะสมตามร่างกาย

3-3.5

0.5-1.4

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

1

0.5-1

1

1.4-1.8

1-1.4

2.7-3.5

ที่มา : สมเกียรติ, 2551

 

อาหารที่ให้พลังงานที่หญิงตั้งครรภ์ได้รับควรมาจาก  คาร์โบไฮเดรตจากข้าว  แป้ง  ธัญพืช  เผือก  มัน  โปรตีนจากเนื้อสัตว์  ปลา  ถั่วต่าง ๆ  ไขมันจากพืชและสัตว์  สำหรับวิตามินและเกลือแร่ได้จากการกินผักและผลไม้รวม  ซึ่งการใช้พลังงานของร่างกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์  ควรใช้พลังงานจากการเผาผลาญกรดไขมันและกลูโคส  สำหรับโปรตีนไม่ควรนำมาเป็นแหล่งพลังงาน  แต่ควรใช้เพื่อการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ  เอนไซม์  และฮอร์โมน  เป็นต้น  (พัทธนันท์, 2555)

 

ตารางที่  2.2  น้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์และน้ำหนักตัวที่ควรเพิ่มขึ้นเมื่อถึงวันครบกำหนดคลอด

น้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวที่ควรเพิ่มขึ้น (กิโลกรัม)
น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ (BMI < 19.8)

น้ำหนักตัวปกติ (BMI =  19.8-25.9)

น้ำหนักตัวมากกว่าปกติ (BMI =  26-29)

ภาวะอ้วน (BMI > 29)

กรณีตั้งครรภ์แฝด

12.5-18

11.5-16

7-11.5

7  หรือมากกว่า

16-20

ที่มา  :  Wardlaw and Smith, 2011

 

2. ความต้องการโปรตีน

ร่างกายของหญิงตั้งครรภ์มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น  เพื่อช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของทั้งมารดาและทารก  ความต้องการโปรตีนจะสูงสุดในระยะไตรมาสสุดท้ายหรือ 3  เดือนก่อนคลอด  เซลล์สมองของทารกจะมีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  ถ้ามารดาได้รับโปรตีนและแคลอรีไม่เพียงพอจะทำให้มีจำนวนเซลล์สมองน้อยและขนาดเล็ก  ซึ่งมีผลต่อสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต (มรรยาท, 2550)  ดังนั้นสภาอาหารและโภชนาการแห่งสหรัฐอเมริกาจึงได้แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับโปรตีนเพิ่มขึ้นจากที่กินอยู่ในภาวะปกติอีก  20  กรัม  ในขณะที่คณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย  ได้แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์  กินอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ  25  กรัม  เนื่องจากโปรตีนประมาณ  1.5  กรัม  ต่อน้ำหนักตัว  1  กิโลกรัม  และประมาณ  2  ใน  3  ของโปรตีนที่ได้รับควรเป็นโปรตีนจากสัตว์  เช่น  เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น  ไข่  นม  และผลิตภัณฑ์จากนม  รวมทั้งถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น

3. ความต้องการเกลือแร่

หญิงตั้งครรภ์มีความต้องการเกลือแร่ต่าง ๆ  เพิ่มมากขึ้นจากภาวะปกติ  เนื่องจากทารกในครรภ์ต้องนำเกลือแร่ต่าง ๆ ไปใช้ในการสร้างโครงสร้างหลักของร่างกาย  เช่น  กระดูกและฟัน  เป็นต้น  เกลือแร่ที่สำคัญที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับมากกว่าปกติ  ได้แก่  แคลเซียม  ฟอสฟอรัส  แมกนีเซียม  เหล็ก  ไอโอดีน  และสังกะสี  เป็นต้น

1)  แคลเซียม  ร่างกายต้องการแคลเซียมเพิ่มขึ้น โดยการดูดซึมในลำไส้เพิ่มขึ้นเป็น  2  เท่าในช่วงการตั้งครรภ์ระยะแรกและสะสมไว้ในกระดูกแม่  พอถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายทารกจะมีการสร้างกระดูกมากขึ้น  โดยดึงแคลเซียมจากเลือดของมารดามาใช้ประมาณวันละ  300  มิลลิกรัม  (มรรยาท, 2550)  โดยปริมาณแคลเซียมจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้น  เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน  การควบคุมการเต้นของหัวใจ  การแข็งตัวของเลือด  การหดตัวของกล้ามเนื้อ  และการรับส่งของกระแสประสาท  นอกจากนี้ยังพบว่าแคลเซียมช่วยป้องกันความดันโลหิตสูง  ช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์  (นวลอนงค์, 2552)  หญิงตั้งครรภ์มีต้องการแคลเซียมมากกว่าหญิงปกติ  1  เท่าตัว  ความต้องการแคลเซียมสัมพันธ์กับฟอสฟอรัส  โดยจำเป็นต้องมีสัดส่วนของแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสเท่ากับ  1 : 1  เสมอ  ร่างกายจึงจะดูดซึมแคลเซียมได้  โดยหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า  19  ปี  ควรได้รับแคลเซียม  800  มิลลิกรัมต่อวัน  (ตารางที่  2.3)  อาหารที่มีแคลเซียม  ได้แก่  น้ำนม  เนย  ปลาเล็กปลาน้อย  กุ้งแห้ง  และผักใบเขียวต่าง ๆ เช่น  ผักคะน้า  ผักกวางตุ้ง  ผักโขม  ผักกาด  และกะหล่ำปลี  เป็นต้น

2)  ฟอสฟอรัส  จากที่กล่าวมาแล้วว่าทารกในครรภ์ต้องการฟอสฟอรัสควบคู่กับแคลเซียมในอัตรา  1:1  ร่างกายจึงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้  ฟอสฟอรัสช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง  และช่วยสร้างเซลล์อื่น ๆ เนื่องจากฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกรดนิวคลีอิก  ที่มีความสำคัญต่อการถ่ายทอดพันธุกรรมและควบคุมกระบวนการเมแทบอลิซึมของเซลล์  โดยหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า  19  ปี  ควรได้รับฟอสฟอรัส  700  มิลลิกรัมต่อวัน  (ตารางที่  2.3)  อาหารที่มีฟอสฟอรัสมาก  ได้แก่  ปลา  นม  ไข่  เนย  และผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ

3)  เหล็ก  เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นมากสำหรับภาวะตั้งครรภ์  เพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง  และเป็นองค์ประกอบของฮีโมโกลบินที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจน  การได้รับเหล็กในปริมาณไม่เพียงพอทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง  ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์และในระหว่างคลอดได้ง่าย  เนื่องจากมารดาที่เป็นโรคโลหิตจางจะทนต่อการสูญเสียเลือดในระหว่างการคลอดได้น้อย  ทำให้เป็นอันตรายแก่มารดาและทารกได้  รวมทั้งเกิดความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อหลังคลอดได้  ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจางในระหว่างตั้งครรภ์  เมื่อรู้ตัวว่าเริ่มตั้งครรภ์  ควรรับประทานอาหารที่มีเหล็กเพียงพอ  เช่น  เครื่องในสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะตับ  ไต  ม้าม  ไข่แดง ผักใบเขียวต่าง ๆ นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารร่วมกับปัจจัยการส่งเสริมการดูดซึมเหล็ก เช่น  วิตามินซี  โปรตีน  เป็นต้น  นอกจากนี้ในระยะตั้งครรภ์จะมีการถ่ายเทเหล็กจากมารดาไปสู่ทารกโดยเฉพาะในไตรมาสที่  3  ประมาณวันละ  3-4  มิลลิกรัม  และหญิงตั้งครรภ์จะสูญเสียเหล็กในระหว่างคลอดประมาณ  150  มิลลิกรัม (รวิโรจน์, 2542)  ดังนั้นคณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย  พ.ศ. 2546  แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับยาเม็ดธาตุเหล็กเสริมวันละ  60  มิลลิกรัม  (ตารางที่  2.3)  เสริมจากการได้รับธาตุเหล็กจากอาหาร

4)  ไอโอดีน  ในระยะตั้งครรภ์ร่างกายต้องการพลังงานมากกว่าปกติ  ร่างกายจึงต้องมีการเผาผลาญอาหารมากกว่าปกติ  ทำให้ร่างกายต้องการไอโอดีนเพิ่มมากขึ้น  เนื่องจากไอโอดีนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างฮอร์โมนไทรอกซินจากต่อมไทรอยด์  ซึ่งมีความสำคัญต่อการควบคุมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตเพื่อใช้เป็นพลังงาน  ฮอร์โมนไทรอกซินจึงมีความเกี่ยวข้องในการควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายและเซลล์สมอง  ดังนั้นหากขาดฮอร์โมนนี้ในช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้แท้งหรือเสียชีวิตในระหว่างคลอด  แต่ถ้ารอดชีวิตและเติบโตได้การพัฒนาทางสมองของเด็กลดลง  การพัฒนาการทางด้านร่างกายน้ำ  ถ้าขาดรุนแรงพัฒนาการด้านประสาทจะบกพร่องทารกที่คลอดมาจะมีลักษณะเป็นเด็กปัญญาอ่อน  หรือที่เรียกว่า “โรคเอ๋อ”  ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับไอโอดีนเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  50  ไมโครกรัม  หรือควรได้รับวันละ  200  ไมโครกรัม  (ตารางที่  2.3)  อาหารที่มีสารอาหารไอโอดีนสูง  ได้แก่  อาหารทะเล  เช่น  ปลา  ปู  กุ้ง  และหอยทะเล  นอกจากนี้อาจได้จากการกินเกลือผสมไอโอดีน  หรือที่เรียกว่า  เกลืออนามัย  หรือผลิตภัณฑ์ที่เสริมเกลือไอโอดีน  เป็นต้น

5)  สังกะสี  มีความสำคัญต่อการทำงานของเอนไซม์โปรตีน  และการแสดงออกของหน่วยพันธุกรรมในทุกระบบของสิ่งมีชีวิต  นอกจากนี้สังกะสียังมีความสำคัญต่อกระบวนการเมแทบอลิซึมของกรดนิวคลีนิก  และโปรตีน  ช่วยในการเจริญเติบโต  และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น  ทำให้ร่างกายนำวิตามินเอที่สะสมในตับมาใช้ให้ภูมิคุ้มกันโรค  และยังทำให้อวัยวะเพศและกระดูมีการพัฒนาตามปกติ  ภาวะขาดสังกะสีก่อให้เกิดความผิดปกติของการเจริญเติบโต  ระบบภูมิคุ้มกันการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์  และระบบประสาทที่ควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ  (สำนักโภชนาการ, 2550)  ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับสังกะสีเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  2  มิลลิกรัม  หรือควรได้รับวันละ  9  มิลลิกรัม  (ตารางที่  2.3)  อาหารที่มีสารอาหารสังกะสีสูง  ได้แก่  หอยนางรม  จมูก  ข้าว  ปู  กุ้ง  เนื้อสัตว์  ตับ  เห็ด  อาหารที่มีโปรตีนสูงมักมีสังกะสีเป็นส่วนประกอบ

6)  แมกนีเซียม  มีบทบาทสำคัญต่อร่างกายโดยเป็นโคแฟกเตอร์ของเอนไซม์จำนวนมาก  มีบทบาทในการควบคุมอุณหภูมิ  การยืดหดของกล้ามเนื้อ  การสังเคราะห์โปรตีน  ถ้าปริมาณแมกนีเซียมในเลือดน้ำจะมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น  โรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคความดันโลหิตสูง  และโรคกระดูกพรุน  เป็นต้น  (สำนักโภชนาการ,  2550)  เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ ในหญิงตั้งครรภ์  จึงมีการแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับแมกนีเซียม  เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  30  มิลลิกรัม  หรือควรได้รับวันละ  280  มิลลิกรัม  (ตารางที่  2.3)  อาหารที่มีสารอาหารแมกนีเซียมสูง  ได้แก่  ผักใบเขียว  ผลไม้  ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง นม  เป็นต้น

 

ตารางที่  2.3  ความต้องการเกลือแร่ของหญิงตั้งครรภ์เปรียบเทียบกับหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

ชนิดของเกลือแร่ ความต้องการต่อวัน
หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
แคลเซียม (มิลลิกรัม)

ฟอสฟอรัส  (มิลลิกรัม)

แมกนีเซียม  (มิลลิกรัม)

เหล็ก  (มิลลิกรัม)

สังกะสี  (มิลลิกรัม)

ไอโอดีน  (ไมโครกรัม)

800

700

280

ยาเสริม  60  มิลลิกรัม

9

200

800

700

250

24.7

7

150

ที่มา  :  สำนักโภชนาการ, 2550

4. ความต้องการวิตามิน

วิตามินเป็นสารอาหารที่ช่วยในการเผาผลาญอาหารของร่างกาย  ในวันหนึ่ง ๆ ร่างกายต้องการปริมาณเล็กน้อย  แต่การขาดอาจส่งผลให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับวิตามิน  และส่งผลต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ได้โดยตรง  วิตามินที่สำคัญที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ  ได้แก่

1)  วิตามินเอ  เป็นวิตามินที่ช่วยในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์  ช่วยในการสร้างกระดูกและฟัน  ส่งเสริมสุขภาพของผิวหนังและพัฒนาการของเซลล์เยื่อบุผิว  ช่วยบำรุงสุขภาพของตาและการมองเห็นของหญิงตั้งครรภ์  บำรุงผิวหนังและเพิ่มความต้านทานโรค  รวมทั้งการเพิ่มภูมิต้านทานซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเกิดมะเร็งด้วย (รวีโรจน์, 2542)  เพื่อช่วยต้านทานการเกิดโรคต่าง ๆ ในหญิงตั้งครรภ์  จึงมีการแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับวิตามินเอ  เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  200  ไมโครกรัม  หรือควรได้รับวันละ  800  ไมโครกรัม  (ตารางที่ 2.4)  อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินเอ  ได้แก่  ไข่แดง  ตับ  และผักที่มีสารแคโรทีน  ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้  ประกอบด้วย  ผักใบเขียว  และผลไม้ที่มีสีเหลืองเข้ม  เช่น  ผักตำลึง  ผักคะน้า  ผักหวาน  แครอท  ฟักทอง  มะละกอสุก  เป็นต้น

2)  วิตามินดี  มีความสำคัญต่อการควบคุมเมแทบอลิซึมของแคลเซียมและกระดูก  การที่ร่างกายมีวิตามินดีเพียงพอในร่างกายจะช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ทางเดินอาหาร  และการทำงานของเซลล์กระดูกเป็นปกติ  ซึ่งเป็นผลให้ระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือด  ปริมาณมวลกระดูก  รวมทั้งโครงสร้างและความแข็งแรงของกระดูดอยู่ในเกณฑ์ปกติ  วิตามินดีในร่างกายส่วนใหญ่ได้มาจากการสังเคราะห์ขึ้นเองของร่างกายที่ผิวหนังโดยอาศัยแสงแดดเป็นตัวกระตุ้น (สำนักโภชนาการ, 2550)  หญิงตั้งครรภ์เป็นภาวะที่ร่างกายต้องการวิตามินดีเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยในการสร้างกระดูกของทารกในครรภ์  แต่ในภาวะที่ร่างกายได้รับแสงแดดเพียงพอผิวหนังสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้ในปริมาณที่เพียงพอ  การศึกษาในคนไทยที่มีสุขภาพแข็งแรงดีซึ่งได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอตลอดปีจะมีปริมาณวิตามินดีสะสมในร่างกายอย่างเพียงพอตลอดปี  ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินดีวันละ  5  ไมโครกรัม  (ตารางที่  2.4)  อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินดี  ได้แก่  น้ำมันตับปลา  เนื้อปลาที่มีไขมัน  ตับ  นม  และไข่แดง  เป็นต้น

3)  วิตามินอี  หรือโทโคเฟอรอล (tocopherol)  เป็นวิตามินที่ละลายในไขมันชนิดที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์และสัตว์  วิตามินอีพบได้ในผนังเซลล์ทุกชนิดและในหยดไขมัน  มีบทบาทในการป้องกันออกซิเดชัน (autioxidation)  มากที่สุด  โดยเฉพาะในรูปแอลฟา-โทโคเฟอรอล (Muller, Theile, and Bohm, 2010)  จะต่อต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดขึ้นกับสารต่าง ๆ ที่อยู่ในร่างกาย  เช่น  บนผนังเซลล์เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกทำลาย  นอกจากนี้วิตามินอี  ยังมีความสำคัญต่อการผลิตพลังงานในร่างกาย  โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ  ช่วยให้กล้ามเนื้อและประสาทที่เกี่ยวข้องทำงานได้ในภาวะที่มีออกซิเจนน้อย  เพิ่มความทนทานและช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้สะดวกขึ้น  ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีระดับวิตามินอีน้อย  ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินอีวันละ  15  ไมโครกรัม  (ตารางที่  2.4)  อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินอี  ได้แก่  น้ำมันพืชต่าง ๆ เมล็ดพืชต่าง ๆ เช่น  เมล็ดดอกทานตะวัน  เมล็ดแตงโม  อัลมอนด์  ถั่วเหลือง  รวมทั้งจมูกข้าวสาลี  ตลอดจนตับ  หัวใจ  และไข่แดง

4)  วิตามินบีหนึ่ง  เป็นส่วนประกอบของโคเอนไซม์  ที่ใช้ในกระบวนการเมแทบอลิซึม  คาร์โบไฮเดรต  ถ้ามีวิตามินบีหนึ่งไม่เพียงพอคาร์โบไฮเดรตจะไม่ถูกย่อย  ดังนั้นถ้าใช้พลังงานมากหรือกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมาก  ควรได้รับวิตามินบีหนึ่งเพิ่มขึ้นด้วย  การขาดวิตามินบีหนึ่งส่งผลให้เกิดโรคเหน็บชา  ซึ่งอาจพบในหญิงตั้งครรภ์ที่เกิดจากแพ้ท้อง  (pregnant beriberi)  มากจนไม่สามารถบริโภคอาหารได้  ประกอบกับต้องใช้พลังงานมาก  ทำให้เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า  ถ้าไม่รักษาอาจเกิดการแท้งบุตรได้ (อัจฉรา, 2556) ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบีหนึ่ง  เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  0.4  มิลลิกรัม  หรือควรได้รับวันละ  1.4  มิลลิกรัม  (ตารางที่  2.4  อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินบีหนึ่ง  ได้แก่  จมูกข้าว  ยีสต์  พืชตระกูลถั่ว  เนื้อหมู  ไข่  และเครื่องในสัตว์โดยเฉพาะตับ  เป็นต้น

5) วิตามินบีสอง เป็นส่วนประกอบของโคเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญสารอาหารคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ช่วยบำรุงผิวหนัง การขาดมีผลทำให้ผิวหนังแตกเป็นขุย และแดงอักเสบ บำรุงนัยน์ตา ลดอาการตาไม่กล้าสู้แสง ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก หรือรอยแผลแตกที่มุมปาก (angular stomatitis) นอกจากนี้การขาดวิตามินบีสองจะเกี่ยวข้องกับโรคขาดโปรตีนและพลังงาน ช่วยป้องกันโรคไมเกรน ช่วยขจัดอนุมูลอิสระ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบีสอง เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ 0.3 มิลลิกรัม หรือควรได้รับวันละ 1.4 มิลลิกรัม (ตารางที่ 2.4) อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินบีสอง ได้แก่ ตับ และผักใบเขียว

6) โฟเลต เป็นสารอาหารที่จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบีชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ในปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับกรดนิวคลีอิกและกรดแอมิโน เมื่อร่างกายได้รับโฟเลตไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการขาดซึ่งแสดงออกด้วยอาการโลหิตจาง โฟเลตเป็นวิตามินที่มีความสำคัญมากต่อหญิงตั้งครรภ์ ช่วยในการสร้างและพัฒนาเม็ดเลือดแดง ช่วยการสังเคราะห์สารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอจำเป็นสำหรับการแบ่งเซลล์และการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงมีความต้องการโฟเลตเพิ่มขึ้น เพราเป็นช่วงที่ร่างกายสร้างเม็ดเลือดและเนื้อเยื่อใหม่ ๆ โดยเฉพาะมีการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อย่างรวดเร็วทั้งร่างกายและสมอง เพื่อลดอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดประสาทของทารกในครรภ์เปิด หรือ neural defects : NTDs (สำนักโภชนาการ,2550) โดยหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับโฟเลต เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ 200 ไมโครกรัม หรือควรได้รับวันละ 600 ไมโครกรัม (ตารางที่ 2.4) อาหารที่เป็นแหล่งของโฟเลต ได้แก่ ตับ ผักใบเขียว ผลไม้สด ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดดอกทานตะวัน และจมูกข้าว เป็นต้น

7) วิตามินบีสิบสอง  จำเป็นสำหรับการทำงานของเซลล์ในไขกระดูก ระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร ทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุตามปกติ ใช้รักษาระบบเลือดผิดปกติ และอาการทางประสาทของคนไข้ที่เป็นโรคโลหิตจางเป็นพิษชนิดเพอร์นิเซียส (pernicious anemia) วิตามินบีสิบสองทำงานร่วมกับโฟเลต เหล็ก ในการผลิตเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์ (อัจฉรา, 2556) ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบีสิบสอง เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ 0.2 ไมโครกรัม หรือควรได้รับวันละ 2.6 ไมโครกรัม (ตารางที่ 2.4) อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินบีสิบสอง ได้แก่ ตับ ไต หัวใจ เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เป็นต้น

8) วิตามินซี มีความสำคัญต่อการสังเคราะห์คอลลาเจน คาร์นิทีน สารเหนี่ยวนำกระแสประสาท (neurotransmitter) และเมแทบอลิซึมของกรดแอมิโนและคาร์โบไฮเดรต เพิ่มภูมิต้านทานและช่วยในการดูดซึมเหล็ก ยับยั้งการสร้างสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน (nitrosamine) มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของลิพิด (lipid peroxidation) ถ้ามีการขาดวิตามินซีอย่างรุนแรงจะเกิดโรคลักปิดลักเปิด (scurvy) (สำนักโภชนาการ, 2550)

นอกจากนี้การขาดวิตามินซีจะมีผลต่อการสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินซี เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ 10 มิลลิกรัม หรือควรได้รับวันละ 85 มิลลิกรัม (ตารางที่ 2.4) วิตามินซีพบมากในผลไม้ เช่น เชอรี ฝรั่ง ส้ม มะนาว และผัก เช่น คะน้า สะเดา ผักหวาน เป็นต้น

 

ตารางที่ 2.4 ความต้องการวิตามินของหญิงตั้งครรภ์เปรียบเทียบกับหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

ชนิดของวิตามิน ความต้องการต่อวัน
หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
วิตามินเอ (ไมโครกรัม) 800 600
วิตามินดี (ไมโครกรัม) 5 5
วิตามินอี (มิลลิกรัม) 15 15
วิตามินเค (ไมโครกรัม) 90 90
วิตามินบีหนึ่ง (มิลลิกรัม) 1.4 1.1
วิตามินบีสอง (มิลลิกรัม) 1.4 1.1
ไนอะซีน (มิลลิกรัม) 18 14
วิตามินบีหก (มิลลิกรัม) 1.9 1.3
โฟเลต (ไมโครกรัม) 600 400
วิตามินบีสิบสอง (ไมโครกรัม) 2.6 2.4
วิตามินซี (มิลลิกรัม) 85 75

ที่มา : สำนักโภชนาการ, 2550

 

 


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Energy Requirements, Energy Intake, and Associated Weight Gain during Pregnancy. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK235247/)
Eating During Pregnancy (for Parents). Nemours KidsHealth. (https://kidshealth.org/en/parents/eating-pregnancy.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า อันตรายหรือไม่
ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า อันตรายหรือไม่

เรื่องง่ายๆ ที่คุณแม่ทุกคนต้องใส่ใจเพราะอัตราการเต้นของหัวใจสัมพันธ์กับความปลอดภัยของลูกน้อย

อ่านเพิ่ม
อะไรคือสัญญาณการฉีกขาดในภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก?
อะไรคือสัญญาณการฉีกขาดในภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก?

เรียนรู้สัญญาณการตั้งครรภ์นอกมดลูกก่อนที่มันจะฉีกขาด

อ่านเพิ่ม
ทำความเข้าใจกับภาวะตั้งครรภ์ที่ไข่ที่ปฏิสนธิไม่ฝังตัว (Chemical Pregnancy) ใช่หรือไม่ใช่?
ทำความเข้าใจกับภาวะตั้งครรภ์ที่ไข่ที่ปฏิสนธิไม่ฝังตัว (Chemical Pregnancy) ใช่หรือไม่ใช่?

การตั้งครรภ์ที่เร็วเกินไปที่จะยืนยันด้วยวิธีการทางชีวเคมี

อ่านเพิ่ม