กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด
เขียนโดย
กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

“กระดูกทับเส้น” เป็นแล้วผ่าตัดดีไหม หรือกายภาพบำบัดจะช่วยได้?

ทำความเข้าใจอาการ “กระดูกทับเส้น” หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทางเลือกในการรักษา และวิธีป้องกัน
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 5 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
“กระดูกทับเส้น” เป็นแล้วผ่าตัดดีไหม หรือกายภาพบำบัดจะช่วยได้?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • กระทับเส้น เป็นอาการปวดหลังส่วนล่างและอาจปวดร้าวลงไปที่ขาด้วย เนื่องจากหมอนรองกระดูกสันหลังที่ทำหน้าที่รับน้ำหนัก ปลิ้นออกมาด้านนอกและไปกดทับเส้นประสาทจนเกิดอาการปวดร้าว
  • สาเหตุมักเกิดจากอายุที่มากขึ้น หรือได้รับแรงกระทำต่อกระดูกสันหลงซ้ำๆ เช่น นั่งผิดท่า เล่นกีฬา ยกของหนัก เป็นต้น
  • วิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัดคือการกินยาร่วมกับทำกายภาพบำบัด แต่หากมีอาการรุนแรงแล้วอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับการทำกายภาพบำบัด
  • หากจำเป็นต้องนั่งทำงานนานๆ ควรเปลี่ยนท่า ขยับร่างกายทุก 30 นาที หลีกเลี่ยงการยกของหนักเกินกำลัง
  • ดูแพ็กเกจกายภาพบำบัดได้ที่นี่

กระดูกทับเส้น” เป็นคำที่ได้ยินบ่อยๆ จากผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง ที่จริงแล้วเป็นภาษาชาวบ้านที่ใช้เรียกกลุ่มอาการปวดหลังร่วมกับมีอาการชาร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง และอาจจะมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย

อาการแสดงที่ว่านี้สามารถเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันมากมาย เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • ตัวกระดูกสันหลัง (vertrebral body) แตกหรือหัก (spondylolysis)
  • กระดูกสันหลังส่วนข้อต่อเล็กๆ (pars Interarticularis) หักและมีการเคลื่อนตัว (spondylolisthesis)
  • กระดูกสันหลังเสื่อมจนมีหินปูนมาเกาะที่ช่องระหว่างกระดูกสันหลัง และหินปูนนั้นกดทับเส้นประสาท (spondylosis)
  • หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Disc)

ในที่นี้จะเน้นที่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เนื่องจากเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการปวดหลังส่วนล่างในวัยทำงาน และมีหลายเรื่องที่ผู้ที่มีอาการยังเข้าใจคลาดเคลื่อน

สาเหตุของอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Disc)

หมอนรองกระดูก (Intervertebral Disc) เป็นอวัยวะที่ช่วยรองรับแรงกระแทกของร่างกาย แทรกอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ตั้งแต่ระดับคอจนถึงเอว มีลักษณะเหมือนลูกโป่งใส่วุ้น จึงสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้เล็กน้อยเมื่อได้รับแรงกด หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือ การที่เปลือกนอกของหมอนรองกระดูก (Annulus Fibrous) ฉีกขาด ทำให้ของกึ่งเหลวลักษณะคล้ายวุ้น (Nucleus pulposus) ภายในเคลื่อนตัวออกมากดทับเส้นประสาท ก่อให้เกิดอาการปวดหลังร้าวลงขา ชาขาถึงปลายเท้า หรืออาจมีอาการขาอ่อนแรงร่วมด้วย

สาเหตุของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

  1. ความเสื่อมตามอายุของตัวหมอนรองกระดูก เมื่ออายุมากขึ้น ความยืดหยุ่นของหมอนรองกระดูกจะน้อยลง ทำให้เมื่อรับแรงกระแทกซ้ำๆ ในชีวิตประจำวันก็ได้รับความเสียหายและฉีกขาดในที่สุด สาเหตุจึงนี้พบได้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไปเป็นหลัก
  2. การได้รับแรงกระทำต่อกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลังที่มากเกินไป หรือได้รับแรงกดซ้ำๆ เป็นเวลาต่อเนื่อง เช่น การเล่นกีฬา การออกกำลังกาย สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ การยกของหนัก หรือนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ

การรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาททำได้อย่างไรบ้าง เมื่อไหร่จึงควรพิจารณาผ่าตัดรักษา?

การรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในปัจจุบันสามารถทำได้สองทางใหญ่ๆ ได้แก่

  1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด โดยมุ่งเน้นไปที่การทำกายภาพบำบัด ร่วมกับการรับประทานยาเพื่อประคับประคองอาการ ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมากกว่า 90 % สามารถรักษาได้ด้วยวิธีนี้ ภายใน 6-12 สัปดาห์ อาการปวดควรจะลดลงจนสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เกือบปกติ

    การรักษาโดยวิธีนี้มีข้อดีคือ ผู้ป่วยไม่ต้องรับความเจ็บปวดเพิ่มเติมจากการผ่าตัด ไม่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล ค่ารักษาพยาบาลถูกกว่า แต่ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ผลการรักษาจะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และไม่เหมาะกับผู้ที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนออกมามากจนมีอาการรุนแรง เช่น ขาออ่อนแรงทั้งสองข้างจนไม่สามารถเดินได้

  2. การรักษาแบบพึ่งพาการผ่าตัด วิธีนี้จะถูกนำมาพิจารณาใช้เมื่อให้การรักษาด้วยวิธีแรกไม่ได้ผลเลยหรือผลการรักษาไม่เป็นที่น่าพอใจ กล่าวคือผู้ป่วยไม่สามารถกลับไปดำรงกิจวัตรประจำวันใกล้เคียงปกติได้ เมื่อผ่านระยะเวลา 6 สัปดาห์ขึ้นไป หรือในผู้ที่ถูกตรวจพบว่าอาการอยู่ในระยะรุนแรงจนไม่สามารถให้การรักษาด้วยวิธีแรกได้

    การผ่าตัดมีรายละเอียด ขั้นตอนการคัดกรองที่ซับซ้อน และต้องอาศัยการประเมินจากศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแพทย์ต้องพิจารณาแล้วว่าการผ่าตัดเป็นประโยช์ต่อผู้ป่วยมากกว่าการรักษาแบบไม่ผ่าตัด

    ข้อดีของการผ่าตัดรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคืออาจจะสามารถใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้ แต่มีค่าจ่ายจำนวนมาก หลังการผ่าตัดยังต้องการการพักฟื้นอย่างน้อย 7-10 วันในโรงพยาบาล นอกจากนี้หลังจากผ่าตัดผู้ป่วยต้องเรียนรู้วิธีการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมกับวิธีการรักษาที่ตัวเองได้รับด้วย เช่น ไม่สามารถก้มหลังได้ ไม่สามารถออกกำลังกายหนักๆ ได้ในช่วงแรกหลังการผ่าตัด อีกทั้ง ยังมีผู้ป่วยบางรายที่รับการผ่าตัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น

กายภาพบำบัดที่สามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้านมีอะไรบ้าง?

โดยทั่วไป หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แพทย์จะให้ผู้ป่วยไปทำกายภาพบำบัดที่คลีนิคกายภาพบำบัด ความถี่ขึ้นกับอาการ โดยมากจะอยู่ที่สัปดาห์ละ 3-4 วัน การรักษาทางกายภาพบำบัดมีหลายวิธี เช่น การขยับข้อต่อ การออกกำลังกายเพื่อรักษา (โดยการออกกำลังสำหรับผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่เป็นที่นิยมคือ McKenzie Exercise) และการรักษาด้วยเครื่องมือทางการภาพบำบัด เช่น อัลตราซาวนด์ การกระตุ้นไฟฟ้า และการให้อุณหภูมิเพื่อการรักษา นอกจากการรักษาที่คลีนิคแล้ว นักกายภาพบำบัดอาจแนะนำวิธีดูแลอาการเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทำเองที่บ้านด้วย เช่น ให้ใส่อุปกรณ์พยุงหลัง (Back support) และหลีกเลี่ยงท่าทางก้มๆ เงยๆ รวมถึงการนั่งทำงานท่าเดิมนานๆ ให้ยืดกล้ามเนื้อน่อง ให้ประคบร้อน

ทั้งนี้ คำนำแนะจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย ต่างกันไปตามอาการและระยะของอาการ

วิธีหลีกเลี่ยงและป้องกันหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้นเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเป็นหลัก ดังนั้นการปรับเปลี่ยนท่าทาง และกิจกรรมที่ทำให้เหมาะสม จึงช่วยได้อย่างมาก เช่น

  1. หากต้องนั่งทำงานนานๆ ควรปรับระดับความสูงของเก้าอี้ให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการหมุนเอว ก้ม และเงยบ่อยๆ นอกจากนี้ควรเปลี่ยนอิริยาบททุกๆ 30 นาที
  2. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือเล่นกีฬาที่ต้องรับแรงกระแทกมากๆ

หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเป็นอาการที่มีความซับซ้อน แต่สามารถรักษาให้หายขาดและป้องกันการเกิดซ้ำได้ เมื่อสงสัยว่าอาจจะมีอาการนี้ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างถูกต้องและเข้ารับการรักษาทางกายบำบัดอย่างทันท่วงที เพื่อที่จะสามารถลดความรุนแรงและภาวะพิการที่อาจเกิดขึ้นได้


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
North American Spine society. Evidence-Based Clinical Guidelines for Multidisciplinary Spine Care Diagnosis and Treatment of Lumbar Disc Herniation with Radiculopathy. 2012.
Michael Luchtmann and Raimund Firsching. Lumbar disc herniation: Evidence-based guidelines–a review. The Indian Practitioner Vol.69 No.3. 2016.
D. Scott Kreiner, Steven W. Hwang, John E. Easa et al. An evidence-based clinical guideline for the diagnosis and treatment of lumbar disc herniation with radiculopathy. Spine Journal. 2014.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)