นพ. ชาคริต หริมพานิช แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์
เขียนโดย
นพ. ชาคริต หริมพานิช แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์

อาการท้องเสียอาเจียน เกิดจากอะไร แก้อย่างไรให้ถูกต้อง?

เข้าใจสาเหตุของการท้องเสียอาเจียน เพื่อรักษาเบื้องต้นอย่างถูกต้อง และรู้วิธีสังเกตภาวะอันตรายที่หากเป็นแล้วควรไปพบแพทย์
เผยแพร่ครั้งแรก 18 มี.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 8 ธ.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
อาการท้องเสียอาเจียน เกิดจากอะไร แก้อย่างไรให้ถูกต้อง?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการอาเจียน เป็นอาการที่แยกจากกันกับอาการถ่ายเหลว แต่หากอาการทั้งสองนี้มาเกิดร่วมกัน เรียกว่า ท้องเสียอาเจียน 
  • สาเหตุท้องเสียอาเจียนจากทางเดินอาหารที่พบบ่อย มาจาก 3 สาเหตุ คือ การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียจากสุขอนามัยในการประกอบอาหาร สารพิษในอาหาร และจากการแพ้อาหาร 
  • เมื่อร่างกายพบว่าระบบทางเดินอาหารอักเสบ ร่างกายจะทำการต่อต้านการระคายเคือง ทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว (ลำไส้ไม่สามารถดูดสารอาหารและน้ำได้)
  • การรักษาทำได้โดยประคองอาการด้วยการชดเชยสารน้ำที่สูญเสีย ส่วนมากเป็นเกลือแร่ รายที่อาเจียนรุนแรงาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ 
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

อาการอาเจียน เป็นอาการที่แยกจากกันกับอาการถ่ายเหลว แต่หากอาการทั้งสองนี้มาเกิดร่วมกัน เรียกว่า ท้องเสียอาเจียน เกือบทั้งหมดเกิดจากการอักเสบและเกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร ที่เรียกว่า ทางเดินอาหารอักเสบ (Gastro-enteritis)

การอักเสบของทางเดินอาหาร เกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากการกินหรือชนิดอาหารที่เข้าไปในร่างกาย มีส่วนน้อยมากที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของทางเดินอาหารที่ผิดปกติหรือเกิดจากฮอร์โมนในร่างกายที่ผิดปกติ

สาเหตุของท้องเสียอาเจียนจากทางเดินอาหาร

อาการท้องเสียอาเจียนจากทางเดินอาหารที่พบบ่อย มาจาก 3 สาเหตุ ดังนี้

1. การติดเชื้อ

เป็นสาเหตุหลักที่พบในประเทศเขตร้อนเช่นประเทศไทย สุขอนามัยในการประกอบอาหารและการล้างมือคือปัจจัยสำคัญของการติดเชื้อ

เชื้อก่อโรคที่พบเป็นหลักของการเกิดทางเดินอาหารอักเสบคือเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นไวรัสที่ก่อโรคทางเดินอาหารอักเสบ หรือไวรัสทางเดินหายใจก็สามารถทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ได้ทั้งสิ้น

ส่วนสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียพบไม่มากเท่าไวรัส ดังนั้นการติดเชื้อส่วนมากจึงไม่ได้ต้องการยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

2. จากสารพิษในอาหาร

สารพิษในอาหารอาจจะมาจากการปนเปื้อนสารเคมี การแปรรูปของสารเคมีเมื่อได้รับความร้อนหรือความชื้น สารเคมีจากการหมักตัวของจุลชีพในอาหาร หรือสารพิษที่แบคทีเรียสร้างขึ้นมา

การอักเสบจากสารพิษนี้ ร่างกายจะตอบสนองเร็ว อาการหลักที่พบคืออาการคลื่นไส้อาเจียน มักจะอาเจียนรุนแรงเป็นอาหารที่รับประทานเข้าไป ส่วนอาการถ่ายเหลวจะไม่รุนแรงและเกิดตามมาทีหลัง

3. จากการแพ้อาหาร

ปฏิกิริยาภูมิแพ้สามารถเกิดได้หลายรูปแบบ รูปแบบที่ไม่รุนแรงแต่พบบ่อยมากคือคลื่นไส้อาเจียนและถ่ายเหลว อาการจะแยกยากจากสารพิษในอาหาร

สิ่งที่พอจะแยกได้คือ หากรับประทานอาหารแบบเดียวกันซ้ำอีกจะเกิดอาการเหมือนเดิม และเมื่อหลีกเลี่ยง อาการจะดีขึ้น

สาเหตุจากนอกทางเดินอาหารพบได้น้อยกว่ามาก และจะต้องพิสูจน์หลักฐานที่ชัดเจนว่าทำให้เกิดอาการ จึงจะสามารถระบุได้ว่ามาจากนอกทางเดินอาหารจริงๆ

เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือดโดยที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากทางเดินอาหาร สามารถทำให้คลื่นไส้อาเจียนถ่ายเหลวได้เช่นกัน ปฏิกิริยาแพ้ยาก็สามารถเกิดอาการได้เช่นกัน

ข้อสังเกตของโรคที่มีสาเหตุนอกทางเดินอาหารคือ มักจะมีอาการในระบบอวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่เพียงแค่เด่นที่ระบบทางเดินอาหารเพียงอย่างเดียว

อาการของระบบทางเดินอาหารอักเสบ

หลักการคือ ร่างกายจะมีการต่อต้านต่อการระคายเคือง โดยมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อันเป็นอาการของการเคลื่อนที่ที่ผิดปกติของกระเพาะอาหารและลำไส้ เพื่อบีบไล่ของเสียออกนอกร่างกายแบบย้อนทาง

ส่วนการถ่ายเหลวนั้น นอกจากเป็นปฏิกิริยาต่อการระคายเคืองแล้ว ยังจะเกิดจากการอักเสบทำลายของเยื่อบุผนังลำไส้ เมื่อลำไส้ไม่สามารถดูดสารอาหารและน้ำได้ จึงถ่ายเหลวและสูญเสียเกลือแร่ทางอุจจาระ

อาการอื่นที่อาจพบได้ร่วมกับอาการอาเจียนถ่ายเหลว

ระหว่างถ่ายเหลวอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ดังนี้

  1. เกิดอาการปวดท้อง จากการบีบตัวที่เพิ่มขึ้นทั้งจากสารระคายเคืองและจากฮอรืโมนของร่างกายเพื่อต้านการอักเสบ
  2. เป็นไข้ ในช่วงแรกของการอาเจียนถ่ายเหลวจะมีไข้ต่ำๆ ได้จากปฏิกิริยาการอักเสบและการขาดน้ำ เมื่อร่างกายขับของเสียและชดเชยน้ำและเกลือแร่ได้ดีพอ อาการไข้จะลดลงเอง ดังนั้นไม่อาจใช้อาการไข้มาเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ จะต้องสังเกตอาการไข้ว่าต่อเนื่องหรือไม่ หากเกิน 2-3 วันหรือมีอาการร่วมอื่นๆ จะพิจารณาเรื่องการติดเชื้อมากขึ้น
  3. ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ปวดศีรษะ พบอาการเช่นนี้ได้จากปฏิกิริยาของร่างกายเพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม และบางส่วนเกิดจากการขาดสารน้ำในร่างกาย
  4. เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน ใจสั่น เกิดจากการขาดสารน้ำในร่างกาย เพราะสูญเสียไปจากทางเดินอาหาร โดยเฉพาะการถ่ายเหลว จะมีอาการอ่อนเพลียได้มาก เพราะร่างกายขาดความสามารถในการดูดซึมสารน้ำและเกลือแร่ไป

การรักษาโรคอาเจียนถ่ายเหลวเบื้องต้น

การรักษาประกอบด้วยการรักษาสาเหตุ การชดเชยสารน้ำที่สูญเสีย และการประคับประคองอาการ

การใช้ยาเพื่อหยุดการเคลื่อนที่ของลำไส้จะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ถ้าให้การรักษาประคับประคองที่ดี อาการนี้มักจะหายเองใน 2-3 วัน

การรักษาหลักคือการชดเชยสารน้ำ

การชดเชยสารน้ำที่สูญเสียไป แนะนำให้ดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่ สำหรับรักษาอาการถ่ายเหลวเท่านั้น ห้ามใช้ผงเกลือแร่สำหรับสูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย

โดยผสมน้ำดื่มตามสัดส่วน โดยทั่วไปคือหนึ่งซองต่อน้ำสุก 200 ซีซี ดื่มทีละน้อยแต่ดื่มบ่อยๆ ประมาณปริมาณเท่าๆ กับที่ถ่ายเหลวอาเจียนออกมา

ในกรณีอาเจียนรุนแรงหรือมีอาการหน้ามืดรุนแรง อาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ

การรักษาที่สาเหตุ

เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคส่วนมากไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นจึงไม่มีคำแนะนำให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียทันทีเมื่อเกิดอาการ จะพิจารณาให้ต่อเมื่อมีความจำเป็น เช่น ติดเชื้อรุนแรง ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด หรือเป็นผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี

ในกรณีเกิดจากการพิษ หรือการปนเปื้อนในอาหาร หรือการแพ้อาหาร หากเลี่ยงอาหารนั้น อาการจะค่อยๆ ลดลงจนหายดีในที่สุด ยกเว้นอาการรุนแรงมากจึงพาไปพบแพทย์

การประคับประคอง

สามารถใช้ยาลดอาการอาเจียน ทั้งยาฉีดและยากิน หากอาการอาเจียนมากจนดื่มน้ำเกลือแร่ไม่ได้

ไม่แนะนำให้ยาหยุดถ่าย ยกเว้นจะได้รับการประเมินแล้วว่าไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อรุนแรง เพราะอาจเป็นการเพิ่มโอกาสการติดเชื้อหากไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระและเชื้อโรคออกมาได้

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
GENEVIEVE W. RESSEL. CDC Issues Recommendations for Diagnosing, Managing, and Reporting Foodborne Illnesses. Am Fam Physician. 2004 Sep 1;70(5):981-985.
Andi L Shane, MD, Rajal K Mody, MD, John A Crump, MD, Phillip I Tarr, Theodore S Steiner, MD, Karen Kotloff, MD, Joanne M Langley, MD, Christine Wanke, MD, Cirle Alcantara Warren, MD, Allen C Cheng, PhD, Joseph Cantey, MD, Larry K Pickering, MD, 2017 Infectious Diseases Society of America Clinical Practice Guidelines for the Diagnosis and Management of Infectious Diarrhea, Clinical Infectious Diseases, Volume 65, Issue 12, 15 December 2017, Pages e45–e80
Mark S. Riddle, Bradley A. Connor, Nicholas J. Beeching, Herbert L. DuPont, Davidson H. Hamer, Phyllis Kozarsky, Michael Libman, Robert Steffen, David Taylor, David R. Tribble, Jordi Vila, Philipp Zanger, Charles D. Ericsson, Guidelines for the prevention and treatment of travelers’ diarrhea: a graded expert panel report, Journal of Travel Medicine, Volume 24, Issue suppl_1, 1 April 2017, Pages S63–S80

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)