ค้นหาโรค อาการ หรือวิธีการรักษา

โรควัณโรคกระดูกสันหลัง (Spinal tuberculosis)

เผยแพร่ครั้งแรก 17 ธ.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 19 พ.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

โรควัณโรคกระดูกสันหลังคืออะไร

โรควัณโรคกระดูกสันหลัง เป็นการติดเชื้อวัณโรคที่บริเวณกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท หากเกิดในเด็กจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของกระดูกสันหลัง ทำให้หลังโก่งขึ้นเรื่อยๆ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

สาเหตุของโรควัณโรคกระดูกสันหลัง

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) โดยมีจุดเริ่มต้นการติดเชื้อจากอวัยวะอื่นแพร่กระจายไปที่กระดูก ทำให้ข้อกระดูกถูกทำลาย และมีการอักเสบจนเกิดเป็นฝี

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

พยาธิสรีรภาพ

  • ส่วนใหญ่จะมีการติดเชื้อวัณโรคที่เกิดจากอวัยวะส่วนอื่นอยู่ก่อนแล้ว เช่น มีจุดเริ่มต้นที่ต่อมน้ำเหลืองขั้วปอด วัณโรคของระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น แล้วแพร่กระจายมายังกระดูก และทางกระแสเลือด หรือต่อมน้ำเหลือง ทำให้เกิดการติดเชื้อวัณโรคเข้าสู่กระดูกสันหลัง ซึ่งมักเป็นกระดูกพรุน ส่งผลให้เกิดการอักเสบ
  • กระดูกจะถูกทำลาย และเยื่อบุข้อหนาขึ้น เนื่องจากมีเนื้อเยื่อเม็ดเล็กๆ (Granulation) เข้าไปแทนที่
  • มีเนื้อเยื่อตายและอักเสบ มีลักษณะเหนียวคล้ายครีมข้นรวมตัวกันเป็นฝี
  • หากมีแรงดันมากจะทำให้เอ็นหุ้มข้อแตก และมีหนองไหลออกมา
  • หากเกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังนอกตอนบน หนองอาจเซาะเข้าไปตามแนวกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านข้างของกระดูกสันหลังส่วนนอกต่อกับเอว
  • เมื่อกระดูกมีการอักเสบ และเนื้อกระดูกบางลงจนเกิดการยุบตัวจะทำให้มีอาการหลังโก่ง (Kyphosis)
  • เมื่อมีข้อและไขสันหลังถูกทำลายจากแรงกดของหนอง อาจทำให้ร่างกายส่วนล่างตั้งแต่เอวลงไปเป็นอัมพาตได้

อาการของโรควัณโรคกระดูกสันหลัง

ระยะอาการเบื้องต้น

ระยะที่มีการอักเสบของกระดูกสันหลัง

  • อาการปวดท้อง (เป็นอาการที่สำคัญ) จะปวดมากขึ้นเมื่อทำงาน หรือได้รับแรงกระทบกระเทือน หรือเวลาไอ จาม อาการจะดีขึ้นเมื่อนอนพัก
  • ปวดหลังมาก โดยเฉพาะเวลากลางคืน
  • มีอาการกดเจ็บ และบวมบริเวณผิวหนังรอบๆ
  • บางรายมีอาการหลังโก่ง
  • อาจมีอาการปวดร้าวไปที่ขา ในที่สุดจะเป็นอัมพาตบริเวณร่างกายส่วนล่าง
  • หากไปกดไขสันหลัง ผู้ป่วยอาจเดินกะเผลก หรือเดินไม่ได้

การวินิจฉัยโรควัณโรคกระดูกสันหลัง

  • หากมีอาการปวดหลังต่อไปนี้ ต้องมาพบแพทย์โดยด่วน ได้แก่ ปวดหลังมากตอนกลางคืน นอนไม่ค่อยหลับ มีอาการกดเจ็บ และบวมบริเวณผิวหนังรอบๆ กระดูกสันหลัง
  • แพทย์จะเจาะเลือดตรวจหาจำนวนเม็ดเลือด (Complete blood count: CBC) มักพบค่าฮีโมโกลบิน (Hemoglobin:  Hb) ต่ำ ค่าฮีมาโทคริต  (Hematocrit: Hct) ต่ำ ค่าเซลล์เม็ดเลือดขาว (White blood cells: WBC) ปกติ และการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงใน 1 ชั่วโมง (Erythrocyte sedimentation rate: ERS) สูง
  • ตรวจปัสสาวะเพื่อหาการติดเชื้อวัณโรคระบบทางเดินปัสสาวะ
  • การทดสอบทูเบอร์คิวลิน (Tuberculin test) ให้ผลบวก
  • หากตัดชิ้นกระดูก (Biopsy) หรือตัดเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆ ที่เป็นวัณโรคจะพบลักษณะของวัณโรค
  • การถ่ายภาพรังสีจะพบการยุบของกระดูกเป็นเงา หากพบเงาทึบในเนื้อเยื่ออ่อนแสดงว่า มีการเกิดหนองในเนื้อเยื่ออ่อน
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Magnetic resonance imaging: MRI) จะช่วยค้นพบความผิดปกติในระยะแรกได้ เพราะมีความสามารถในการหาความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อสูง ทำให้แยกระหว่างเนื้อเยื่อปกติ และเนื้อเยื่อผิดปกติได้

การรักษา

  • ให้ผู้ป่วยพักผ่อน โดยใช้เครื่องพยุงหลังร่วมด้วย
  • ให้ยาต้านวัณโรค เช่น INH (ไอเอ็นเอช) Rifampicin (ไรแฟมพิซิน) Pyrazinamide (ไพราซินาไมด์) Ethambutol (อีแทมบูทอล) Streptomycin (สเตรปโตมัยซิน) เป็นต้น ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี
  • บำรุงร่างกายให้แข็งแรง
  • หากมีการกดทับไขสันหลัง หรือเส้นประสาท อาจผ่าตัดเปิดเข้าไปในข้อ เพื่อขูดเนื้อเยื่อและกระดูกตายออกให้หมด หรือผ่าตัดเพื่อเอาส่วนที่กดไขสันหลัง หรือเส้นประสาทออก

การพยาบาล

  • ดูแลให้รับประทานยาตามแผนการรักษา
  • พักผ่อนให้เพียงพอ จัดให้นอนพักบนที่นอนที่แน่น ในท่านอนหงาย ให้ใช้หมอนรองใต้เข่า เพื่อช่วยลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อต้นขา ด้านหลัง และลดการแอ่นของหลัง ส่วนในท่านอนตะแคง ให้ใช้หมอนรองใต้ขาบน และใช้หมอนพยุงทางด้านหลังตามแนวความยาวของหลัง เวลาพลิกตะแคงตัว ให้พลิกไปทั้งตัวเพื่อไม่ให้หลังบิด
  • บำรุงร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โปรตีนสูง ดื่มน้ำให้มากๆ 2,000– 3,000 มิลลิลิตรต่อวัน
  • อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ผ่อนคลายความเครียด
  • เตรียมผู้ป่วยให้พร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ก่อน และหลังการผ่าตัด
  • สังเกตอาการผิดปกติ เช่น แผลผ่าตัดติดเชื้อ แผลมีการอักเสบ เช่น ปวด บวม แดง ร้อน มีสิ่งขับหลั่งจากแผล มีไข้ เป็นต้น
  • หากมีอาการปวดหลังมากขึ้น ชาที่ขามากขึ้น ขาไม่มีแรง หรือพบสิ่งผิดปกติต่างๆ ให้มาพบแพทย์ก่อน
  • ยืนให้ตัวตรง โดยน้ำหนักลงที่ขาทั้ง 2 ข้าง ไม่ยืนหลังค่อม หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ ควรย่อเข่าเมื่อต้องยืน หรือเดินนานๆ ไม่สวมรองเท้าส้นสูง
  • ควรนั่งเก้าอี้ที่สูงพอดี มีพนักพิงหลัง เมื่อนั่งแล้วเท้าทั้งสองแตะพื้น นั่งตัวตรง หลังพิงเก้าอี้ และไม่ควรนั่งนานๆ

 

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความก่อนหน้า
ข้ออักเสบรูมาตอยด์  (Rheumatoid arthritis)
ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
บทความต่อไป
เส้นเอ็นอักเสบ  (Tennis elbow; Tendinitis)
เส้นเอ็นอักเสบ (Tennis elbow; Tendinitis)