อาการเมารถ เมาเรือ (Motion sickness)

อาการเมารถเกิดจากอะไร ทำไมบางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย บรรเทาอาการได้อย่างไร มียาป้องกันไหม?
เผยแพร่ครั้งแรก 31 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
อาการเมารถ เมาเรือ (Motion sickness)

เมารถ เมาเรือ อาการที่หลายคนคงเคยเป็น แต่ถ้าเลือกได้คงไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะอาจทำให้การเดินทางครั้งนั้นหมดสนุกลงได้ แต่เคยสงสัยกันไหมว่า นั่งรถคันเดียวกัน ตำแหน่งใกล้เคียงกันแท้ๆ ทำไมบางคนจึงมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อยากอาเจียน แต่อีกคนกลับไม่มีอาการใดๆ เลยสักอย่าง อาการเมารถ เมาเรือ เกิดจากอะไร หากมีอาการขึ้นแล้วจะบรรเทาอาการนั้นได้อย่างไร หาคำตอบได้ข้างล่างนี้

อาการเมารถ เมาเรือ เกิดจากอะไร?

อาการเมารถ เมาเรือ หรืออาการวิงเวียนเวลาโดยสารพาหนะใดๆ จัดอยู่ในกลุ่มอาการที่เรียกว่า “Motion Sickness” เกิดได้ทั่วไปกับคนทุกเพศทุกวัย สาเหตุของมันเกิดจากประสาทส่วนที่ควบคุมการทรงตัวซึ่งอยู่บริเวณหูชั้นใน ทำงานไม่สมดุลกับข้อมูลจากประสาทตา ซึ่งความไม่สมดุลนี้เป็นผลมาจากการได้รับแรงกระตุ้นมากเกินไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

แรงกระตุ้นอาจเกิดจากสิ่งเหล่านี้

  • การเคลื่อนไหวแบบร่างกายอยู่กับที่ แต่สิ่งเวดล้อมมีการเคลื่อนที่ เช่น นั่งรถแล้วมีการเหวี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวลานั่งเบาะหลัง เพราะจะมีเหวี่ยงมากกว่าด้านหน้า 
  • การดูภาพเคลื่อนไหวเร็วๆ เช่น นั่งรถยนต์ด้านหลังและมองเห็นแต่สิ่งแวดล้อมด้านข้างที่เคลื่อนผ่านตาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง 

แรงกระตุ้นที่ผิดปกติเหล่านี้จะไปกระตุ้นประสาทส่วนที่ควบคุมการทรงตัว หากประสาทส่วนนี้ทำงานปกติ อาจจะไม่มีอาการใดๆ ปรากฏ แต่ในผู้ที่ประสาทส่วนที่ควบคุมการทรงตัวทำงานไวผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อยากอาเจียน หากเป็นมากอาจมีอาการหน้ามืด ตัวเย็นคล้ายจะเป็นลม ยิ่งถ้าบริเวณนั้นอากาศไม่บริสุทธิ์ หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น อากาศร้อนอบอ้าว มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ มีกลิ่นควันรถยนต์ มีกลิ่นบุหรี่ ก็จะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการเมารถ เมาเรือได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้นอีก

เมื่อมีอาการเมารถ เมาเรือ จะบรรเทาอาการได้อย่างไร?

อาการเมารถ เป็นอาการที่ไม่ร้ายแรงและสามารถบรรเทาได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง วิธีที่ดีที่สุดคือการลงจากรถเพื่อขจัดแรงกระตุ้น แต่หากทำไม่ได้ แนะนำให้ปฏิบัติตัวดังนี้

  1. หากตำแหน่งที่นั่งอยู่เป็นบริเวณด้านหลัง ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ย้ายที่นั่งมานั่งด้านหน้า 
  2. พยายามสูดหายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ หรือเปิดกระจกให้ลมปะทะหน้า หากมีผ้าเย็นแนะนำให้นำมาประคบบริเวณใบหน้า ข้อพับต่างๆ จะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะลงได้
  3. พยายามตั้งศีรษะให้ตรงและนิ่งที่สุด เพราะหากเกิดการเคลื่อนไหวมาก จะยิ่งทำให้เกิดอาการมากขึ้น
  4. ดมยาดมสมุนไพร รับประทานผลไม้รสเปรี้ยว เช่น เปลือกส้ม เปลือกมะนาว มะม่วงเปรี้ยว มะดัน มะขาม หรือเคี้ยวหมากฝรั่งสูตรเย็น ก็สามารถช่วยเรียกความสดชื่นได้
  5. ขิง นับว่ามีสรรพคุณในการช่วยบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือได้ ดังนั้นหากมีอาการให้ลองดื่มน้ำขิงหรืออมลูกอมขิง
  6. นอนพัก หากลองทุกวิธีแล้วไม่ได้ผล แนะนำให้หลับตาและนอนพัก เพื่อปิดรับสัญญาณภาพ จะช่วยบรรเทาอาการได้

อาการเมารถป้องกันได้อย่างไร? 

หากไม่อยากนั่งรถแล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ จนต้องหาสารพัดวิธีมาแก้อาการ แนะนำให้ป้องกันแต่เนิ่นๆ ดังนี้

  1. พักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทาง
  2. รับประทานอาหารให้พอดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะจะทำให้รู้สึกเลี่ยน พะอืดพะอม กระตุ้นให้อยากอาเจียนได้ง่ายขึ้น แนะนำให้รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด เพราะหากเกิดการอาเจียนจะได้ไม่รู้สึกระคายคอ 
  3. ห้ามอดอาหาร เพราะถ้าท้องว่างจะยิ่งทำให้เกิดอาการเมารถเร็วยิ่งขึ้น 
  4. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
  5. สวมเสื้อผ้าสบายๆ ไม่รัดแน่น
  6. หากนั่งรถยนต์ พยายามนั่งด้านหน้า ในตำแหน่งที่มองเห็นทางข้างหน้าชัดเจน หรือนั่งในตำแหน่งที่อากาศถ่ายเทสะดวก โดยนั่งหลังตรง ตัวตรง มองตรง 
  7. ห้ามอ่านหนังสือ เล่นเกม ใช้โทรศัพท์หรือดูโทรทัศน์ขณะโดยสารรถ
  8. รับประทานยาแก้เมารถล่วงหน้า 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง

ยาแก้เมารถ เมาเรือ คืออะไร ควรรับประทานอย่างไร?

หลายคนคงคุ้นเคยกับการรับประทานยาแก้เมารถ เมาเรือ มาบ้าง ยานี้มีชื่อว่า ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) จัดอยู่ในกลุ่มยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) หรือที่เรียกว่ากลุ่มยาแก้แพ้ ออกฤทธิ์โดยตรงที่อวัยวะควบคุมการทรงตัวบริเวณหูชั้นใน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเมารถ เมาเรือ

นอกจากนี้ยาไดเมนไฮดริเนตยังนำมาใช้รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากการแพ้ท้อง หรืออาการบ้านหมุนได้ด้วย โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุดคือ อาการง่วงนอน มึนงง ดังนั้นหากรับประทานยาชนิดนี้แล้วห้ามขับขี่พาหนะใดๆ หรือใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักร ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายโดยเด็ดขาด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

โดยทั่วไปยาแก้เมารถ เมาเรือ จะรับประทานเป็นเม็ด ขนาด 50 มิลลิกรัม

  • ผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด (50 มิลลิกรัม) ก่อนโดยสารพาหนะประมาณ 30 นาที รับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ ½ เม็ด (25 มิลลิกรัม) ก่อนโดยสารพาหนะประมาณ 30 นาที รับประทานซ้ำได้ทุก 6-8 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 150 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เด็กอายุ 2-6 ปี ให้รับประทานครั้งละ ¼  เม็ด (12.5 มิลลิกรัม) ก่อนโดยสารพาหนะประมาณ 30 นาที รับประทานซ้ำได้ทุก 6-8 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 75 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรรับประทาน
  • ผู้หญิงที่อยู่ในระยะให้น้ำนมบุตรไม่ควรรับประทาน

ยาแก้เมารถ เมาเรือ นับเป็นยาสามัญที่หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อ แม้จะไม่ใช้ยาอันตรายแต่ก็ควรอ่านฉลากยาโดยละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากมีโรคประจำตัวใดๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้

นอกจากยารับประทานแล้ว ยาแก้เมารถ เมาเรือ ยังมีแบบชนิดพลาสเตอร์ปิดลงบนผิวหนัง รู้จักกันในชื่อ ทรานสเดิร์ม สค็อป (Transderm scop) ลักษณะเป็นพลาสเตอร์บรรจุตัวยาสโคโปลามีน (Scopolamine) วิธีใช้คือ 

  • แปะพลาสเตอร์ที่หลังใบหูก่อนออกเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้เต็มที่ เพราะยาจะค่อยๆ ซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังทีละน้อยๆ มีอายุการใช้งานนานถึง 3 วัน แต่หากต้องการใช้ยาสโคโปสามีนนานกว่า 3 วัน ควรดึงแผ่นเดิมทิ้ง และแปะแผ่นใหม่ที่ผิวหนังบริเวณอื่น
  • ควรเลือกบริเวณหลังใบหูที่ไม่มีผม และเช็ดทำความสะอาดผิวหนังก่อนแปะพลาสเตอร์ หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีผื่นหรือแผล เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง หรือยาอาจถูกดูดซึมมากเกินไปได้
  • ทำความสะอาดมือทั้งก่อนและหลังปิดพลาสเตอร์ เพื่อไม่ให้ตัวยาติดมือแล้วเข้าตา ซึ่งอาจทำให้ตาพร่ามัวได้ เนื่องจากสโคโปลามีนมีฤทธิ์ขยายม่านตาด้วย

อาการข้างเคียงที่อาจพบได้คือ ปากแห้ง ตามัว ม่านตาขยายกว้าง ง่วงนอน ซึม มึนงง แต่จะหายได้เองในภายหลัง

อาการเมารถ เมาเรือ แม้ไม่ใช่อาการที่ร้ายแรง แต่ก็นับเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่สร้างความกังวลใจให้ใครหลายคน จนไม่อยากออกเดินทางเลยก็ได้ การเรียนรู้ลักษณะอาการ วิธีบรรเทาอาการในเบื้องต้น รวมไปถึงการป้องกันอย่างเหมาะสม ถือเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คุณรู้สึกสนุกและมีความสุขกับการเดินทางมากยิ่งขึ้น เพราะจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดอาการเมารถลงไปได้


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
หมอชาวบ้าน, ยาแก้อาเจียน แก้เมารถ เมาเรือ วิงเวียน, (https://www.doctor.or.th/doctorme/medicine/12530)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, เมารถเมาเรือทำอย่างไร, (https://www.thaihealth.or.th/Content/47791-เมารถ%20เมาเรือ%20ทำอย่างไร.html), 5 มีนาคม 2562.
ศ. พญ. สุจิตรา ประสานสุข ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, เมารถ เมาเรือ, (https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/107_1.pdf)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป