น้ำนมแม่ สารอาหารสำคัญ ประโยชน์สำหรับลูกน้อย

เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
น้ำนมแม่ สารอาหารสำคัญ ประโยชน์สำหรับลูกน้อย

สารอาหารแรกที่มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับลูกน้อยตั้งแต่ลืมตาดูโลกคือ น้ำนมแม่ โดยเฉพาะน้ำนมสีเหลือง ซึ่งเป็นน้ำนมชุดแรกที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเด็ก และมีสารภูมิต้านทานที่ไม่สามารถหาได้จากนมวัวหรือนมชนิดอื่นใด ดังนั้นการให้ลูกน้อยดื่มนมตนเองตั้งแต่คลอดออกมา จนถึงเวลาที่เหมาะสม ก็จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กให้เจริญเติบโตได้ดี มีสุขภาพที่แข็งแรง ห่างไกลจากความเจ็บป่วย

นมแม่จึงเป็นอาหารสำคัญที่ควรให้ลูกน้อยได้ดื่มไปจนถึงช่วงหย่านมตามธรรมชาติเอง และคุณแม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการให้นมลูกอย่างถูกวิธี เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับเจริญเติบโตของเจ้าตัวน้อยต่อไปในอนาคต

นมแม่คืออะไร ?

นมแม่คือน้ำนมที่จะถูกสร้างขึ้นตามกระบวนการทางธรรมชาติ เป็นน้ำนมที่จะเอาไว้เป็นอาหารสำคัญของเด็กทารก ซึ่งพบได้ทั้งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและมนุษย์ เป็นสารอาหารอัศจรรย์ที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยที่อยู่ในช่วงแรกเกิดไปจนถึง 1 ปี การผลิตน้ำนมของคุณแม่จะเริ่มตั้งแต่การตั้งครรภ์ 16-22 สัปดาห์ ร่างกายจะกระตุ้นให้เต้านมมีการผลิตน้ำนมออกมา

แต่อยู่ในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ยิ่งอายุครรภ์มากขึ้น บางคนก็จะมีน้ำนมไหลออกมาที่หัวนมบ้างหากมีน้ำนมมาก ภายหลังการคลอดแล้ว ฮอร์โมนในร่างกายก็จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำนมมากขึ้นจนรู้สึกคัดตึงเค้านม แม้ในช่วงที่ลูกน้อยไม่ได้ดื่มนม ร่างกายก็ยังคงผลิตน้ำนมออกมาตามธรรมชาติ

สารอาหารที่พบในน้ำนมแม่

ในน้ำนมของคุณแม่จะประกอบไปด้วย

  1. โปรตีนขนาดเล็กที่เรียกว่า Feedback Inhibitor of Lactation (FIL) เป็นโปรตีนเวย์ชนิดหนึ่งที่จะถูกผลิตออกมาในช่วงแรก เหมาะสำหรับเป็นอาหารเสริมสร้างร่างกายให้กับลูกน้อยได้เป็นอย่างดี
  2. ทอรีน (Taurine) สารอาหารที่เป็นตัวช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองของลูกให้เจริญเติบโตได้ดี รวมำไปถึงการมองเห็น
  3. ดีเอชเอ (Docosahexaenoic Acid ; DHA) กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับโอเมก้า 3 คือส่วนประกอบหนึ่งของไขมันในสมองลูกน้อย ซึ่งสารอาหารชนิดนี้ยังสามารถเพิ่มปริมาณมากขึ้นได้อีกตามอาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไป
  4. ไลโซไซม์ (Lysozyme) เป็นเอนไซม์ที่พบในน้ำนมแม่ แน่นอนว่าแม้จะพบได้ในน้ำนมวัวเช่นกัน ทว่าปริมาณในน้ำนมแม่มีมากกว่าถึง 3 พันเท่าเลยทีเดียว คุณสมบัติของเอนไซม์ชนิดนี้คือช่วยกำจัดเซลล์เชื้อแบคทีเรีย และเป็นเอนไซม์ที่ไม่สามารถหาได้จากนมผง

คุณแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเอง

สารอาหารที่ให้ประโยชน์สำหรับลูกน้อย ที่ควรเป็นสาเหตุให้เด็กทารกดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด และอย่าเข้าใจผิดว่าเมื่อถึงช่วงอายุหนึ่งๆ เด็กจะต้องหย่านมได้แล้ว เพราะตามความเป็นจริง ลูกน้อยจะหย่านมเองตามธรรมชาติแบบไม่ต้องบังคับ ยิ่งลูกได้ดื่มนมแม่นานแค่ไหน ก็จะยิ่งช่วยเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น

น้ำนมคุณแม่ไม่พอต้องทำอย่างไร

ปัญหาน้ำนมไม่พอจนทำให้คุณแม่หลายคนเลือกที่จะให้นมผงหรือนมวัวเข้ามาทดแทน เพราะกลัวว่าลูกน้อยจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ คุณแม่ควรทำความเข้าใจใหม่เมื่อพบกับปัญหาน้ำนมไม่เพียงพอ มีน้ำนมออกมาน้อย ซึ่งพบได้มากในกลุ่มคุณแม่มือใหม่ สาเหตุหลักๆ ที่พบอาจมาจากการพักผ่อนน้อย อ่อนเพลียหลังคลอด

เครียด วิตกกังวล หรือเจ็บป่วย รวมไปถึงการให้นมแบบผิดวิธี ส่งผลให้ต่อมสร้างน้ำนมไม่ได้รับการกระตุ้น อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องไปพึ่งนมผงหรือนมวัว ด้วยการพักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำตัวเองให้ผ่อนคลาย และให้ลูกน้อยดื่มนมสลับกันไปมาทั้งสองข้างด้วย เพื่อกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมทำงานมากขึ้น หลีกเลี่ยงการให้นมลูกจากเต้าเพียงข้างใดข้างหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาหัวนมบอด และน้ำนมมีปริมาณน้อยตามมาด้วย

วิธีเก็บน้ำนมแม่

หากคุณแม่ท่านใดมีเวลาไม่เพียงพอ การปั๊มนมและเก็บรักษาเอาไว้ให้ลูกน้อยแทนการดื่มนมชนิดอื่นจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด การเก็บรักษานมแม่ให้มีคุณภาพอยู่ภายนอกได้นั้นไม่ใช่เรื่องยาก ด้วยการเก็บเอาไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาที่มีความสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือสิ่งสกปรก จะสามารถเก็บได้นานถึง 5 วัน

ส่วนต้องการเก็บให้นานขึ้นควรใส่ไว้ในช่องแช่แข็ง จะเก็บได้ประมาณ 14 วัน ด้วยการปั๊มเก็บใส่ถุงน้ำนม ที่สามารถนำออกมาให้ลูกน้อยดื่มได้ น้ำนมที่ผ่านการแช่แข็งในช่องฟรีซ คุณแม่ควรวางแผนเตรียมให้ลูกน้อยด้วยการย้ายมาไว้ทั้งชั้นในตู้เย็นธรรมดาก่อนประมาณ 1 คืน เพื่อให้น้ำนมละลายตัว หรือจนกว่าจะละลายกลายเป็นของเหลวทั้งหมด นมที่ละลายแล้วให้นำออกมาตั้งให้หายเย็นประมาณ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งนมที่นำออกมานี้ จะอยู่ได้ราว 4-6 ชั่วโมงในอุณหภูมิห้อง ดังนั้นคุณแม่จึงควรแบ่งปริมาณนมให้พอดีกับความต้องการของลูกน้อย

น้ำนมแม่ คือส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กตั้งแต่แรกคลอด คุณแม่มือใหม่จึงควรทำความเข้าใจการให้นมลูกน้อยอย่างถูกวิธี ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งต่อแม่และลูกน้อยที่จะได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอ พร้อมกับสารอาหารในน้ำนมอย่างครบถ้วนสมบูรณ์


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Review of Infant Feeding: Key Features of Breast Milk and Infant Formula. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4882692/)
The Benefits of Breastfeeding for Both Mother and Baby. WebMD. (https://www.webmd.com/parenting/baby/nursing-basics)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป